คนไทยเราภาคภูมิใจและมีความเชื่อตลอดมาว่าข้าวหอมมะลิไทยดีที่สุดในโลก แต่เชื่อมั้ยครับว่าวงการการค้าข้าว ของโลกซึ่งรวมผู้ค้าข้าวของไทยด้วย เขาจัดการประกวดข้าวที่ดีที่สุดในโลกกันมา 6 ครั้งแล้ว ปรากฎว่า ข้าวหอมมะลิของไทยเราคว้ารางวัลชนะเลิศได้เพียง 3 ครั้งเท่านั้นเอง
การประกวดข้าวที่ดีที่สุดในโลกนั้นเริ่มจัดครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2552 ที่เมืองเซบู ฟิลิปปินส์ ในการประกวดเขาจะ เชิญผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารและพ่อครัวที่มีชื่อเสียง มาทำการชิมข้าวแบบไม่ให้รู้ว่าข้าวที่ถูกส่งเข้าประกวดนั้นมา จากประเทศไหน ใครส่งประกวด โดยกรรมการจะตัดสินจากกลิ่น รสชาด ความเหนียวนุ่มและรูปร่างลักษณะของ เมล็ดข้าวทั้งก่อนและหลังการหุง
ในการประกวดสองครั้งแรกนั้น “ข้าวหอมมะลิ” ของไทยชนะเลิศตามความคาดหมาย แต่ในการประกวดปีที่ 3 คือในปี พ.ศ. 2554 ที่โฮจิมินห์ ประเทศเวียดนาม ผลปรากฎว่า “ข้าวปอซาน” จากเมียนมาสามารถเฉือนเอาชนะ ข้าวหอมมะลิของไทยไปได้อย่างหวุดหวิด ที่ข้าวปอซานเอาชนะใจกรรมการ ได้ก็เพราะรูปทรงก่อนและหลังหุง ของข้าวปอซานนั้นแตกต่างกันอย่างน่าอะเมซิ่ง ก่อนหุงนั้นข้าวปอซานจะมีลักษณะเมล็ด กลมหนา ป้อมๆสั้นๆ คล้ายๆไข่มุกหรือข้าวญี่ปุ่น ฝรั่งบางคนถึงกับเรียกข้าวปอซานว่า “Myanmar Pearl Rice หรือข้าวไข่มุกจาก เมียนมา” แต่พอหุงสุกแล้วเมล็ดข้าวกลับจะยาวขึ้นมากกว่าเดิมถึง 3-4 เท่าตัว ยาวจนดูเหมือนข้าวสวยที่คนไทย เราทานกันเป็นประจำ
สาเหตุที่พอหุงสุกแล้วเมล็ดยาวขึ้นมากได้ถึง 3 หรือ 4 เท่าก็เพราะข้าวปอซานนั้นมีค่าอะไมโลสค่อนข้างสูง มาก กว่าข้าวหอมมะลิของไทย การที่มีค่าอะไมโลสสูงนี่เองที่ทำให้ข้าวปอซานมีความแข็งกระด้างกว่าไม่นิ่มนวล เหมือนข้าวหอมมะลิของไทย สำหรับคนไทยผมคิดว่าส่วนมากน่าจะชอบข้าวหอมมะลิของเรามากกว่า แต่ถ้า เป็นคนชอบทานข้าวออกแข็งๆ นิดหน่อยแล้วได้ลอง ข้าวปอซานออกใหม่ๆหุงดีๆ เผลอๆก็อาจจะปันใจไปชอบ ข้าวปอซานของเขาได้เหมือนกัน ถ้าได้ไปเที่ยวเมียนมาแล้วอยากซื้อมาชิม ขอให้เลือกดูข้าวที่ใหม่นิดนึงนะครับ เพราะถ้าเป็นข้าวปอซานเก่าแล้วนอกจากกลิ่นจะไม่ค่อยหอมแล้ว พอหุงเสร็จข้าวจะไม่ค่อยหอมและจะออกร่วนๆ ไม่อร่อยครับ
ข้าวปอซานมีหลายพันธุ์ ที่รับความนิยมมากที่สุดคือ “ข้าวปอซานมุย” บริเวณที่ปลูกข้าวปอซานได้ดีและปลูกกัน เยอะอยู่ที่แคว้นสะกายและแคว้นเอยาวดี (คนไทยเรียกอิระวดี) แต่ก็ปลูกได้ไม่เยอะเท่าไหร่ ปีหนึ่งๆผลิตได้ไม่ถึง ล้านตันข้าวสาร หรือคิดเป็นเพียง 5 ถึง 6 % ของการผลิตข้าวสารทั้งหมดของเมียนมา เพราะผลิตได้น้อยเลยทำให้ ข้าวปอซานมีราคาแพงกว่าข้าวพันธุ์อื่นๆเกือบๆสองเท่าและมีเหลือพอส่งออกไม่กี่พันตันเท่านั้น
ความจริงในอดีตเมียนมานั้นเคยเป็นประเทศผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ แต่เพราะมีปัญหาภายในประเทศมายาวนาน เมียนมาเลยไม่ค่อยได้ส่งออกข้าวมากนัก ปัจจุบันเมื่อสถานการณ์ต่างๆเริ่มเข้าที่เข้าทาง เมียนมาก็เริ่มหันมาสนใจ พัฒนาพันธุ์ข้าวและเริ่มกลับมาส่งออกข้าวอีกครั้ง ก็ต้องจับตาดูกันต่อไปว่าเมียนมาจะกลับมาเป็นผู้ส่งออกข้าว รายใหญ่ของโลกได้เหมือนอดีตหรือไม่
ต่อมาในการประกวดในปีพ.ศ. 2555 ที่บาหลี ประเทศอินโดนีเซีย ปรากฎว่าข้าวผกามะลิ ข้าวหอมมะลิชั้นดี จากกัมพูชาชนะเลิศ ที่น่าประหลาดใจแกมน่าตกใจอย่างมากสำหรับข้าวหอมมะลิของไทยก็คือในการประกวด ในปีต่อมาที่ฮ่องกงปรากฎว่าข้าวผกามะลิก็ยังคงชนะเลิศติดต่อกันเป็นปีที่สองโดยมีข้าวแคลโรสจาก แคลิฟอร์เนียคว้าตำแหน่งชนะเลิศคู่กัน
ที่น่าตกใจมากไปกว่านั้นก็คือในการประกวดปีล่าสุด 2557 ที่กัมพูชาปรากฎว่าข้าวหอมมะลิของกัมพูชายัง สามารถเอาชนะใจกรรมการคว้ารางวัลข้าวที่ดีที่สุดในโลกติดต่อกันเป็นปีที่ 3 แต่คราวนี้ไม่ใช่ข้าวผกามะลิแต่ เป็นข้าวผกาลำดวน โชคของเรายังดีที่ข้าวกล้องหอมมะลิของไทยเรายังช่วยกู้หน้าคนไทยเราได้บ้างด้วยการคว้า ตำแหน่งชนะเลิศร่วมกับข้าวกัมพูชา
ผมได้ทานข้าวผกามะลิแล้วหลายครั้งต้องยอมรับครับว่าข้าวหอมมะลิพันธุ์นี้ของกัมพูชานั้นอร่อยสมศักดิ์ศรีข้าว หอมชนะเลิศของโลกสองปีซ้อน ไม่ว่าจะเป็นกลิ่นที่หอม เมล็ดข้าวที่สวย ความนุ่มนวลที่ถูกปากคนไทย ถ้าไม่ บอกกันก่อนผมมั่นใจว่าคนไทยไม่มีทางรู้หรอกครับว่ากำลังทานข้าวหอมมะลิของกัมพูชาอยู่ ยิ่งถ้าได้ข้าว ผกามะลิที่ออกใหม่ๆมาหุงให้ดีๆทานแล้วล่ะก็จะยิ่งติดใจ ถ้าคิดจะเอาข้าวหอมมะลิไทยมาสู้ก็จะต้องคัดเอา ข้าวหอมมะลิชั้นดีมาสู้นะครับ จะไปเอาข้าวหอมมะลิของไทยแบบพื้นมาสู้ มีโอกาสหน้าแตกสูงนะครับ

ส่วนข้าวผกาลำดวนที่คนกัมพูชาออกเสียงว่า “ผการุมดวล” แม้จะชนะเลิศในปีล่าสุดแต่ผมว่าความหอมและ ความนุ่มนวลยังสู้ข้าวผกามะลิไม่ได้ ถ้าไปถามคนกัมพูชาเขาก็จะบอกอย่างนี้เหมือนกันครับ
แหล่งปลูกข้าวที่สำคัญของกัมพูชาอยู่บริเวณพระตะบอง บันเตียเมียนเจย กำปงชะนำ กำปงสะปือ เสียมราฐ ซึ่งนอกจากจะเป็นแหล่งปลูกข้าวสำคัญยังเป็นพื้นที่เกษตรสำคัญเพาะปลูกพืชผักนานาชนิดเลี้ยงคนทั้งประเทศ อีกด้วยเพราะพื้นที่บริเวณเหล่านี้ดินดีและน้ำอุดมสมบูรณ์ การปลูกข้าวของกัมพูชานั้นยังใช้แรงงานคนเป็นหลัก และเนื่องจากดินยังอุดมสมบูรณ์ เขาจึงใช้ปุ๋ยและสารเคมีน้อยกว่าบ้านเรา ต้นทุนในการปลูกข้าวหอมมะลิ ของเขาจึงถูกกว่าเรา ทำให้ราคาข้าวหอมมะลิเขาจึงถูกกว่าเราทั้งราคาที่ขายในประเทศและราคาที่ส่งออก
สาเหตุที่คุณภาพข้าวหอมมะลิของกัมพูชานั้นพัฒนาขึ้นอย่างมากในระยะหลังๆก็เพราะรัฐบาลกัมพูชานั้นเน้นการพัฒนาสายพันธุ์ข้าวหอมมะลิเป็นอย่างมากทั้งพัฒนาด้วยตัวเองและไปร่วมมือกับเวียดนาม ซึ่งระยะหลังๆมานี้ เวียดนามได้ก้าวเข้ามามีบทบาทอย่างมากเกี่ยวกับเรื่องข้าวในกัมพูชาโดยจะเน้นเป็นพิเศษในเรื่องการพัฒนา พันธุ์ข้าวและการส่งออก
เวียดนามและกัมพูชามีข้อตกลงพิเศษในการซื้อขายข้าวหอมมะลิโดยไม่มีภาษีนำเข้าดังนั้นข้าวหอมมะลิชั้นดีจึง ไหลจากกัมพูชาไปยังเวียดนามเป็นจำนวนมาก ดังนั้นถ้าจะดูแต่ตัวเลขที่กัมพูชาส่งออกข้าวหอมมะลิปีหนึ่งๆ ไม่ถึง 3 แสนตันแล้วบอกจะบอกว่ายังห่างชั้นกับไทยที่ส่งออกข้าวหอมมะลิเกือบๆ 3 ล้านตันในช่วงปี 2550 แล้วค่อยๆลดลงมาเหลือราวๆ 1.3 ล้าน ตันเศษในปี 2557 นั้น ผมว่าจะดูแค่นั้นไม่ได้นะครับ แต่เราควรจะต้อง ย้อนกลับไปดูตัวเลขส่งออกข้าวหอมมะลิของเวียดนามที่เมื่อสามสี่ปีที่แล้วยังส่งออกไม่ถึง 5 แสนตันอยู่เลย แต่พอปี 2557 ตัวเลขการส่งออกข้าวหอมมะลิของเวียดนามนั้นน้อยกว่าการส่งออกของไทยแค่ 1 แสนตันนิดๆ เท่านั้นเอง ใครจะไปรู้ข้าวหอมมะลิที่เวียดนามส่งออกนั้นอาจจะเป็นข้าวผกามะลิของกัมพูชาที่ถูกจับมาใส่เสื้อ ให้เป็นข้าวเวียดนามก็เป็นไปได้

ที่สำคัญใครจะไปรู้ว่าข้าวหอมมะลิที่คนไทยเราทานกันอย่างเอร็ดอร่อยทุกวันนี้นั้นอาจจะเป็นข้าวผกามะลิ แปลงร่างมาก็เป็นได้
ถ้าไทยเรายังละเลยการพัฒนาสายพันธุ์ข้าวอยู่อย่างนี้ และยังไม่เร่งส่งเสริมให้ชาวนาเน้นการปลูกข้าวคุณภาพดี เห็นทีว่าอีกไม่นานคนไทยเราจะต้องสั่งข้าวหอมมะลิคุณภาพดีจากกัมพูชามาทานโดยแท้