มือสมัครเล่น – ยุทธศาสตร์สู่ AEC ตอนที่ 83

0
428

มือสมัครเล่น

เหตุระเบิดที่สี่แยกราชประสงค์นอกจากจะสร้างความเศร้าโศกสียใจไปทั่วประเทศแล้ว ยังได้สะท้อนยุทธศาสตร์ในการสื่อสารในภาวะวิกฤติของหน่วยราชการไทยว่ายังทำงานกันแบบ “ไม่เป็นมืออาชีพ” จริง ๆ ผมมีข้อสังเกตดังนี้

หนึ่ง เมื่อเกิดเหตุรัฐบาล และ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ได้จัดตั้ง “วอร์รูม” อย่างทันที เพื่อทำการสื่อสารอย่างเป็นระบบกับประชาชน และ สื่อมวลชน สะท้อนว่ารัฐบาล และ หน่วยราชการไทยไม่มีแผนสื่อสารในภาวะวิกฤติ เพราะว่าถ้ามีแผน ฯ ดังกล่าว แผนนั้นจะต้องระบุความเสี่ยงที่จะเกิดเหตุแบบนี้ และ จะต้องระบุอีกด้วยว่าเมื่อวิกฤติ เกิดขึ้นจะต้องมีการจัดตั้งวอร์รูมที่ไหน ใครจะเป็นคนสื่อสารกับประชาชนและสื่อมวลชนผ่านทางช่องทางใด

สอง การที่ประชาชน และ สื่อมวลชนทั้งแชร์ทั้งนำเสนอข่าวที่ผิดพลาดสับสนไปทั้งประเทศ เช่น ประกาศภาวะฉุกเฉิน ประกาศปิดสถาบันการเงิน ปิดโรงเรียน หรือ กระทั่งประกาศเขตห้ามไปนั้น สะท้อนว่าประชาชน และ สื่อมวลชนไม่ได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง และ เพียงพอในเวลาที่เหมาะสม เมื่อไม่ได้ข้อมูลเหล่านั้น มืออาชีพด้านการสื่อสารย่อมจะรู้ว่าการเผยแพร่ หรือ การแชร์ข้อมูลผิด ๆ ย่อมจะตามมาอย่างแน่นอน

สาม การที่ผู้หลักผู้ใหญ่ทั้งตำรวจ และ ทหารเลือกที่จะให้สัมภาษณ์ตามสถานที่เกิดเหตุ หรือ ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์แทนการแถลงข่าวที่เป็นระบบตามแผนการสื่อสารในภาวะวิกฤตินั้น เป็นการตอกย้ำว่านอกจากไทย เราจะไม่มีแผนดังกล่าวแล้ว ผู้ใหญ่ที่เห็น ๆ หน้ากันอยู่ยังไม่มีความรู้ในเรื่องการสื่อสารในภาวะวิกฤติอีกด้วย ว่า ต้องมีคนสื่อสารเพียงคนเดียวเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการสับสน และ ที่สำคัญจะต้องไม่คาดการณ์ในสิ่งที่กำลังสืบสวนสอบสวน หรือ ตรวจสอบข้อเท็จจริงอยู่ การคาดการณ์ของผู้ใหญ่หน้าสถานที่เกิดเหตุ หรือ ทางโทรศัพท์ ผ่านสื่อมวลชนนั้นเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องอย่างยิ่ง

สี่ การที่เจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการผลัดกันออกมาให้สัมภาษณ์ให้ข้อมูลเรื่องชนิดของระเบิด เรื่องหลักฐานต่าง ๆ นั้น สะท้อนว่าพวกเขาเหล่านั้นไม่ได้รับคำสั่งไม่ให้แถลงข่าวซึ่งควรจะมีอยู่ในแผนสื่อสารในภาวะวิกฤติ

ห้า ผู้ใหญ่บางคนใช้เฟซบุ๊คในการอธิบายการทำงานของตนเอง รวมไปถึงการประกาศปิดโรงเรียนด้วยก็ยิ่งสะท้อนว่า แม้แต่ในระดับเมืองหลวงของประเทศก็ไม่มีแผนการสื่อสารในภาวะวิกฤติเช่นกัน

หก การที่รัฐบาลไม่ได้ใช้โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแถลงข่าวอย่างเป็นกิจจะลักษณะ ในวิธีการที่ถูกต้องของการสื่อสารในภาวะวิกฤติ และ ไม่ได้ใช้สื่อของรัฐทั้งวิทยุ และ โทรทัศน์เป็นสื่อกลางในการสื่อสาร และ ทำให้ประชาชนทั้งประเทศรับรู้ร่วมกันว่า ถ้าคอยติดตามสื่อของรัฐสื่อนั้นแล้วประชาชน และ สื่อมวลชนจะได้ข่าวที่ถูกต้องตลอดเวลา และ ทันสถานการณ์ เป็นข้อสังเกตสุดท้ายสำหรับการเป็น “มือสมัครเล่น” ของผู้ใหญ่ในบ้านเมืองนี้ และ

เจ็ด การนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนไทยที่แข่งกันนำเสนอภาพที่ไม่เหมาะสม และ พยายามที่จะสัมภาษณ์ พยายามจะรายงานความคืบหน้าดังกับว่าพวกเขาเหล่านั้นเป็นเจ้าหน้าที่เสียเอง สะท้อนถึงความตกต่ำในจริยธรรมของคนเป็นสื่อมวลชนในยุคนี้อย่างแท้จริง

มือสมัครเล่น
[smartslider3 slider="9"]