ยุทธศาสตร์สู่ AEC ตอนที่ 3 ทีมงานดีมีชัยไปกว่าครึ่ง

0
494

ยุทธศาสตร์สู่ AEC ตอนที่ 3 ทีมงานดีมีชัยไปกว่าครึ่ง

นายกฯ ยิ่งลักษณ์ ได้กล่าวสุนทรพจน์ในพิธีเปิด World Economic Forum on East Asia  2012 เมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่าความท้าทายและโอกาสในปัจจุบันว่า มี หนึ่ง ปัญหาที่เกิดขึ้นที่ยุโรป สอง การเพิ่มขึ้นของราคาพลังงาน สาม ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สี่ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ห้า ความก้าวหน้าของการเดินหน้าสู่ประชาธิปไตย และ หก การกลายเป็นศูนย์กลางการเติบโตของภูมิภาค จากความท้าทายและโอกาสดังกล่าว การร่วมมือและการบูรณาการของอาเซียน ผ่านการ เชื่อมโยง จะเป็นหัวใจสำคัญของอนาคตภูมิภาคนี้

นายกฯ ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า ยุทธศาสตร์ที่หนึ่งของไทย คือจะให้ความสำคัญกับการสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงในภูมิภาค อาทิ ความเชื่อมโยงระหว่างเส้นทางเหนือกับใต้ ตะวันตกและตะวันออก และเส้นทางสู่ประตูเศรษฐกิจทางใต้ ซึ่งในประเด็นนี้นายกฯ ได้พูดถึง ท่าเรือน้ำลึกทวายและการสร้างถนนและทางรถไฟ เชื่อมโยงจากท่าเรือน้ำลึกทวายมายังกรุงเทพและท่าเรือแหลมฉบัง และโครงการรถไฟความเร็วสูงจากสิงคโปร์ ถึงคุนหมิง SKRL

ยุทธศาสตร์ที่สองที่นายกฯพูดถึงคือนอกจากการก่อสร้างเชิงกายภาพ เช่นถนนและรางรถไฟแล้ว ประเทศไทยจะให้ความสำคัญว่าสินค้าและคนจะเดินทางข้ามพรมแดนได้อย่างเสรี ดังนั้นประเทศไทยจะสนับสนุนกฎหมายและข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง ยุทธศาสตร์ที่สาม คือ ประเทศไทยจะสนับสนุนการเชื่อมโยงระหว่างอาเซียนกับเอเชียตะวันออก ต่อไป

นายกฯ บอกต่ออีกว่า ไทยจะเร่งพัฒนาโครงสร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานในอีก 5 ปีข้างหน้า อาทิ โครงข่ายรถไฟความเร็วสูงไปยังหัวเมืองหลักๆ การขยายสนามบินสุวรรณภูมิ โครงข่ายการคมนาคมใน กทม. ไทยจะลงทุนอีกกว่า 3 แสนล้านบาทเพื่อบริหารน้ำและป้องกันน้ำท่วม เพราะไทยเรายังให้ความสำคัญในเรื่องอาหารและการเกษตรกรรม และก็จะเน้นครัวไทยสู่ครัวโลก เน้นการส่งออกอาหารและสินค้าเกษตร

ด้านการลงทุนไทยสนับสนุนการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ ( FDI ) ในอุตสาหกรรมหลักๆ ในปัจจุบันอาทิ ยานยนต์ ฮาร์ดดิสก์ อุปกรณ์อิเลคโทรนิคส์ ในขณะเดียวกันก็จะเน้น อุตสาหกรรมบริการ อาทิ บริการทางการแพทย์ และอุตสาหกรรมทางด้านความคิดสร้างสรรค์ การสื่อสารโทรคมนาคม ด้านพลังงานสะอาด บริการด้านการเงินและการประกันภัย ด้านทรัพยากรมนุษย์ ประเทศไทยมุ่งมั่นที่จะพัฒนาสตรีด้วยการตั้งกองทุนพัฒนาสตรี มุ่งมั่นพัฒนาเด็ก ด้วยการแจกแท็บเล็ต และโครงการบริการสุขภาพดีถ้วนหน้า

นายกฯย้ำว่า ไทยไม่ได้เป็นเพียงประเทศหลักในการเชื่อมโยงภูมิภาคเข้าด้วยกันเพราะปัจจัยที่ตั้งทางภูมิศาสตร์เท่านั้น แต่ไทยยังเป็นศูนย์กลางการผลิตที่สำคัญเพราะไทยมีแรงงานที่มีฝีมือและทักษะที่ดีเยี่ยม

ท่านผู้อ่านคิดยังไงกับสุนทรพจน์อันนี้ครับ?

ผมเห็นว่า หนึ่ง สุนทรพจน์นี้ทำให้นายกฯยิ่งลักษณ์ “ดูเหมือน” เป็นคนมีความรู้ด้านเศรษฐศาสตร์เท่ากับนักศึกษาเศรษฐศาสตร์ปีต้นๆ คือรู้บ้างนิดหน่อย

สอง สุนทรพจน์อันนี้ทำให้นายกฯยิ่งลักษณ์ “ดูเหมือน” เป็นคนแคบ โลกทัศน์ไม่กว้าง ไม่เข้าใจว่า กลุ่มผู้เข้าร่วมประชุมของ World Economic Forum on East Asia  ครั้งนี้ ต้องการฟังอะไรจากนายกฯ

สาม สุนทรพจน์อันนี้ทำให้ นายกฯยิ่งลักษณ์ “ดูเหมือน” เป็นคนไม่มีความรู้เรื่อง “ยุทธศาสตร์” และไม่มีความเข้าใจอย่างลึกซึ้งกับ AEC

โดยสรุป สุนทรพจน์อันนี้ “ทำความเสียหาย” ให้กับภาพลักษณ์นายกฯยิ่งลักษณ์ มากกว่า “สร้างคุณค่า” ผมมั่นใจว่านายกฯไม่ได้เตรียมสุนทรพจน์อันนี้เอง ดังนั้นถ้าจะชมหรือตำหนิต้องทำกับหน่วยงานที่รับผิดชอบการเขียนสุนทรพจน์นี้ และคนอ่านคนสุดท้ายที่นายกฯไว้ใจให้ตัดสินใจว่าจะใช้สุนทรพจน์อันนี้หรือไม่

มีบางเรื่องที่นายกฯสามารถเรียนรู้และปรับปรุงให้ดีขึ้นได้จากสุนทรพจน์อันนี้

หนึ่ง นายกฯต้องเข้าใจว่า การกล่าวสุนทรพจน์ของบุคคลสำคัญเช่นผู้นำประเทศนั้น ผู้เขียนสุนทรพจน์นั้นมีความสำคัญมาก ผู้เขียนนอกจากจะต้องเข้าใจหัวใจของหัวข้อที่พูดอย่างลึกซึ้งแล้ว ผู้เขียนยังจะต้องเข้าใจกลุ่มผู้ฟัง ว่าเป็นใคร มีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับเรื่องที่นายกฯจะพูดแค่ไหน และผู้ฟังอยากมาฟังอะไร? และจะต้องเขียนแบบไหนจึงจะสามารถโน้มน้าวให้ผู้ฟังเกิดความเชื่อและมั่นใจ สุดท้ายแต่สำคัญที่สุดคือ ผู้เขียนสุนทรพจน์ต้องเขียนสุนทรพจน์ให้เข้ากับนายกฯ ทั้งสไตล์ ความสอดคล้องกับบุคคลิก ภาษาที่ใช้ต้องมีระดับแสดงถึงสติปัญญาของนายกฯและต้องคล่องปากนายกฯ เวลาออกเสียง รวมไปถึงประโยคเด็ดๆที่ผู้ฟังจะจดจำ ส่วนท่าทาง การยกไม้ยกมือ การสบตาผู้ฟัง การแต่งตัว นั้นจะต้องมีคนช่วยดูแลให้ดูดีมีระดับอีกคน

ในต่างประเทศ เรื่องการกล่าวสุนทรพจน์ของผู้นำนั้นถือเป็นเรื่องสำคัญสูงสุดเรื่องหนึ่งของบุคคลชั้นนำ เขาจะต้องมีทีมที่มีความเชี่ยวชาญด้านนี้โดยเฉพาะดูและทั้งเนื้อหาสาระและสไตล์ แต่ในเมืองไทย ผมพบว่าส่วนใหญ่ของสุนทรพจน์ของคณะรัฐมนตรีและนายกฯของไทย มักจะถูกเขียนโดยข้าราชการระดับล่าง แล้วถูกส่งต่อขึ้นมาเรื่อยๆ ซึ่งในระบบข้าราชการไทย เวลาสุนทรพจน์ถูกส่งจากระดับล่างขึ้นมา สุนทรพจน์พวกนี้จะแค่ถูกส่งผ่านมาเรื่อยๆ เจ้านายส่วนใหญ่ก็เซ็นต์ผ่านๆกันขึ้นมา ยิ่งถ้าจะต้องเขียนสุนทรพจน์เป็นภาษาอังกฤษด้วยแล้ว ผู้เขียนอาจจะเป็นแค่ลูกจ้างที่เก่งภาษามาก บางหน่วยงานที่สามารถจ้างคนต่างประเทศได้ ก็มักจะให้คนเหล่านั้น เขียนให้ จุดอ่อนก็คือคนเหล่านี้สามารถตอบโจทย์ที่ผมเขียนไว้ก่อนในย่อหน้าก่อนนี้ได้เพียงไหน?

ผมไม่ได้ดูแคลนความสามารถของข้าราชการระดับล่าง และก็ไม่ใช่ความผิดของเขาถ้าสุนทรพจน์จะไม่ดี แต่เป็นความผิดของผู้บริหารสูงสุดของหน่วยงานที่เขียนสุนทรพจน์นั้นว่ามี accountability พอที่จะดูแลให้สุนทรพจน์ออกมาดีเหมาะกับภาพลักษณ์นายกฯและภาพลักษณ์ประเทศแค่ไหน? และเป็นความรับผิดชอบของคนที่นายกฯไว้ใจให้อยู่ข้างตัวและดูแลเรื่องนี้

ในสัปดาห์ต่อๆ ไป ผมจะเสนอต่ออีกว่าสุนทรพจน์ที่ดีที่นายกฯยิ่งลักษณ์ควรกล่าว เป็นอย่างไร ทำไมผมถึงคิดว่าสุนทรพจน์นี้ถึงสะท้อนว่าไทยไม่มียุทธศาสตร์ในการเข้าสู่ AEC และ ยุทธศาสตร์ที่ดีควรเขียนอย่างไร

[smartslider3 slider="9"]