ยุทธศาสตร์สู่ AEC ตอนที่ 33 PEMANDU อาวุธลับมาเลเซีย

0
469

เมื่อเห็นว่าคงไม่สามารถเป็นประเทศพัฒนาแล้วได้ทันปี 2563 ตามวิสัยทัศน์ 2020 มาเลเซียจึงได้ประกาศ ยุทธศาสตร์ใหม่คือ 1 Malaysia, People First, Performance Now

แต่ยุทธศาสตร์ใหม่นี้ไม่สำคัญเท่ากับหน่วยงานใหม่ที่ตั้งมาพร้อมๆกับการประกาศยุทธศาสตร์ใหม่นี้ ที่เรียกว่า PEMANDU (เพอมานดู) ซึ่งย่อมาจาก Performance Management and Delivery Unit มีซีอีโอคือ ดาโต๊ะ ซะรี อิดริส จาลา ซึ่งเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลนี้ด้วยเช่นกัน

ดาโต๊ะ ซะรี อิดริส จาลา ซึ่งเติบโตมาจากภาคเอกชนระดับโลกเมื่อโดนรัฐบาลมาเลเซียดึงตัวมาแก้ไขวิกฤติ ขาดทุนอย่างหนักของสายการบินมาเลเซียแอร์ไลน์ เขาใช้เวลาเพียงปีเดียวพลิกฐานะจากขาดทุนอย่างหนัก เป็นไม่ขาดทุนและทำกำไรได้ในปีต่อมา เมื่อเป็นรัฐมนตรีเขาจึงได้นำวิธีการที่เอกชนใช้ เข้ามาประยุกต์ใช้กับการบริหารประเทศ โดยการโน้นน้าวให้นายกฯ เห็นความสำคัญของการบริหารประเทศ อย่างมีประสิทธิภาพ มี KPI ที่ชัดเจน มีการติดตามประเมินผล มีการเปิดเผยผลการทำงานและมีการให้รางวัล และลงโทษ นายกฯเห็นด้วยจึงตั้ง PEMANDU ขึ้นเป็นหน่วยงานในสำนักนายกฯและให้เขาเป็นซีอีโอ อีกหนึ่งตำแหน่ง

วิธีการทำงานของ  PEMANDU  น่าสนใจมากครับ ขอลองยกตัวอย่างการปฏิรูปการบริหารจัดการของภาครัฐ เพื่อให้ตอบสนองประชาชนให้ดีที่สุดดูนะครับ เขามี 8 ขั้นตอนด้วยกันคือ

หนึ่ง กำหนดเรื่องที่ปฏิรูปด้วยการทำการสำรวจ ทั้งวงกว้าง โฟกัสกรุ๊ป ประเมินจากสื่อมวลชนและผู้เชี่ยวชาญ หลังจากได้หัวข้อที่ประชาชนเดือร้อนมากที่สุดทั้งหมด เขาก็จับมาวิเคราะห์และเรียงลำดับความสำคัญ และเสนอคณะรัฐมนตรีให้เห็นชอบเพื่อกำหนดเป็นทิศทางที่จะปฏิรูปต่อไป

สอง นำหัวข้อดังกล่าวมาเข้า “แล็ป” ซึ่งประกอบไปด้วยคนเก่งในด้านนั้นๆมาจากทุกภาคส่วน ข้าราชการ เอกชน นักวิชาการ NGO นักศึกษา  นั่งวิเคราะห์ปัญหาและหาวิธีการแก้ไขที่เป็นรูปธรรม พร้อมกำหนดตัวชี้วัด (KPI)

สาม นำผลจาก “แล็บ” มาเปิดรับฟังประชาชนและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้คนเหล่านั้นวิจารณ์แนวทาง แก้ไขปัญหาและตัวชี้วัดที่ทางแล็ปคิดมา หรือจะ เสนอวิธีการแก้ไขใหม่ๆ เพิ่มเติมก็ได้ ใครมาไม่ได้ก็ยังสามารถ เสนอทางเว็บไซท์ หรืออีเอ็มเอสได้ด้วย

สี่ จัดพิมพ์ออกมาเป็น “โรดแม็พ” เพื่อให้เกิดความโปร่งใสและเกิดการรับผิดชอบที่แท้จริง เพราะทุกคนจะรู้ว่า ปัญหาต่างๆนั้นจะแก้ไขอย่างไร หน่วยงานที่รับผิดชอบคือใคร ตัวชี้วัดคืออะไร

ห้า ทุกวันศุกร์ตอนห้าโมงเย็น KPI ที่วัดได้จะถูกส่งไปทางแท็บเบล็ต ของรัฐมนตรีทุกคน เพื่อจะได้เห็นว่าผลงานของแต่ละคนเป็นไปตามแผนที่วางไว้หรือไม่ ซึ่งนายกฯก็จะนำผลการประเมิน KPI รายสัปดาห์นี้มาถกเถียงกันในที่ประชุม ครม.อีกด้วย

หก เมื่อผลงานออกมาเขาก็จะเปรียบเทียบกับเป้าหมายที่วางเอาไว้ตามกำหนดเวลาและจะจัดพิมพ์ไว้เป็นเอกสาร

เจ็ด นำเอกสารจากข้อ หก ไปให้ผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศตรวจสอบและประเมินดูว่าได้ผลเช่นนั้นจริงๆหรือไม่?

แปด จัดทำรายงานประจำปี ซึ่งต้องมีรายละเอียด มีรายงานความก้าวหน้า มีผลสำเร็จ เพื่อให้ประชาชนได้อ่าน และวิพากษ์วิจารณ์ รายงานประจำปีนี่เขาจัดทำทั้งเป็นแบบพิมพ์เป็นรูปเล่ม และนำเสนอในเว็บไซท์ด้วยครับ

เพียงแค่ 4 ปี ตั้งแต่มี PEMANDU การปฏิรูปก็เป็นไปอย่างรวดเร็ว วันนี้มาเลเซียประกาศแล้วว่าเขาจะเป็น ประเทศพัฒนาแล้ว ในปี 2561 สองปีก่อนกำหนดครับ

รัฐบาลไหนถ้าไม่มีหน่วยงานแบบนี้แต่ยังฝันจะเป็นศูนย์กลาง AEC  ระวังจะโดนเรียกว่า “รัฐบาล PENADU  รัฐบาลเพ้อน่าดู” นะครับ

[smartslider3 slider="9"]