ยุทธศาสตร์สู่ AEC ตอนที่ 4 ยุทธศาสตร์ชาติสิ่งจำเป็นของประเทศ

0
599

สัปดาห์ที่แล้ว ผมทิ้งท้ายการวิจารณ์สุนทรพจน์ นายกฯยิ่งลักษณ์ ในพิธีเปิด World Economic Forum on East Asia  2012 เกี่ยวข้องกับยุทธศาสตร์ AEC สะท้อนว่าไทยไม่มียุทธศาสตร์ในการเข้าสู่ AEC และ ยุทธศาสตร์ที่ดีควรเขียนอย่างไร

ในการเขียนยุทธศาสตร์นั้น มีองค์ประกอบสามส่วนที่สำคัญ ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน

หนึ่ง ต้องมีการวิเคราะห์สถานการณ์ในอนาคตข้างหน้าอย่างละเอียดรอบคอบว่าจะเกิดอะไรขึ้น ในอีกสิบปีข้างหน้า จะเกิดอะไรขึ้นกับเศรษฐกิจโลก อาเซียนและไทย เรื่องนี้ต้องวิเคราะห์ให้ทะลุเลยนะครับว่า มหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลกจะอยู่ตรงภูมิภาคไหน? กำลังซื้อของโลกอยู่ที่ใด ความผันผวนในยุโรปจะจบลงอย่างไร และจะส่งผลกระทบอย่างไรกับเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจประเทศไทย

ถ้าหากเราไม่สามารถวิเคราะห์ได้ว่าในอนาคตจะเกิดอะไรขึ้นได้อย่างแม่นยำหรือใกล้เคียงแล้วละก็ เราจะเขียนยุทธศาสตร์ซึ่งเป็นการบอกว่าเรากำลังจะทำอะไรในอนาคตได้อย่างถูกต้องได้อย่างไรครับ

ประเทศไทยมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติมากว่าสิบแผนแล้ว แต่การพัฒนาประเทศไทยก็ดูเหมือนยังโตแบบไม่มีทิศทางที่ชัดเจนและยังไม่รู้ว่าจะโตไปทางไหน สาเหตุก็เพราะเราไม่ได้ให้ความสำคัญกับการวิเคราะห์อนาคตเศรษฐกิจโลกอย่างชัดเจน พอไม่รู้อนาคต การเขียนแผนฯหรือเขียนยุทธศาสตร์ก็เขียนโดยให้ความสำคัญกับสิ่งที่ผู้เขียนหรือผู้มีอำนาจในสมัยนั้นอยากเห็น ซึ่งในความเห็นของผม ประเทศไทยล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงด้านการพัฒนาประเทศอย่างมียุทธศาสตร์ เพราะเราละเลยการวิเคราะห์อนาคต

ท่านที่สนใจติดตามข่าวสาร คงเห็นตรงกันว่า เศรษฐกิจโลกแขวนอยู่บนเส้นด้ายจริงๆ อะไรก็พร้อมจะเกิดขึ้นได้ เศรษฐกิจยุโรปพร้อมจะพังทุกขณะ เศรษฐกิจอินเดียเริ่มส่งสัญญานไม่ดี

พอล ครุกแมน นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังบอกว่าสหรัฐผิดพลาดอย่างมหันต์ ที่วิเคราะห์ว่าเศรษฐกิจของสหรัฐกำลังฟื้นตัว ซึ่งที่ว่า “กำลังฟื้นตัว” นี่มัน “กำลัง” มาหลายปีแล้วแต่ก็ยังไม่ฟื้นเสียที พอวิเคราะห์ว่า “กำลังฟื้นตัว” มาตราการต่างๆที่ออกมาก็เป็นไปเพื่อรองรับการ “กำลังฟื้นตัว” ซึ่งจริงๆแล้วในทัศนะของ ครุกแมน เขาบอกว่ามันยังไม่ฟื้นเลย ยังเป็นภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ (recession) อยู่เลย ดังนั้นเมื่อวิเคราะห์ผิดและออกมาตราการมาผิดผิด เศรษฐกิจสหรัฐจึงยังไม่ไปไหนเสียที ยังวนเวียนจมปลักอยู่ที่เดิม ครุกแมนบอกต่ออีกว่า ถ้าไม่แก้ไขมุมมองหรือการวิเคราะห์ที่ว่า “กำลังฟื้นตัว” เป็น “ยังตกต่ำอยู่” การออกมาตรการต่างๆก็จะยังผิดพลาดอีกต่อไป

กลับมามองเมืองไทยบ้าง ท่านผู้อ่านเคยได้รับทราบบ้างไหมครับว่า นายกฯ รองนายกเศรษฐกิจ รัฐมนตรีคลังหรือ สภาพัฒน์ฯ ได้ออกมาวิเคราะห์ให้พวกเราเห็นภาพชัดๆว่า ในอนาคต 10 ปี ข้างหน้าจะเกิดอะไรขึ้น ตั้งแต่รัฐบาลในอดีตจนถึงรัฐบาลชุดปัจจุบัน ผมไม่เคยได้เห็นบุคคลที่มีตำแหน่งดังกล่าวข้างต้นออกมาวิเคราะห์เศรษฐกิจยาวๆให้เห็นกันเลย เห็นมีแต่หน่วยราชการออกมาทำนาย GDP และตัวเลขเงินเฟ้อ แล้วก็ออกมาแก้คำทำนายรายเดือน (ฮา)

ถ้าเราไม่วิเคราะห์หรือไม่มีความสามารถในการวิเคราะห์อนาคตข้างหน้า เราจะสามารถเขียนยุทธศาสตร์ได้อย่างไรครับ

สุนทรพจน์นายกฯยิ่งลักษณ์ ที่ผมบอกไม่มียุทธศาสตร์ เพราะผมไม่เห็นการวิเคราะห์อนาคตทางเศรษฐกิจที่ชัดเจน เอาล่ะ อาจจะไม่เป็นธรรมกับนายกฯ เพราะนายกฯอาจจะมีเวลาไม่พอวิเคราะห์ แต่มาตราการต่างๆที่ท่านประกาศว่าจะทำนั้น สำหรับผมมันดูเหมือน “แผนปฏิบัติการ” ทั่วๆไป ซึ่งไม่ได้สะท้อนว่าประเทศไทยได้วิเคราะห์อนาคตและวางตำแหน่งของประเทศไว้ตรงที่ไหน

นักธุรกิจทั่วโลกคงงงว่า ที่นายกฯบอกการสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงภูมิภาคเป็น “ยุทธศาสตร์” ของไทยในการเข้าสู่ AEC ได้ยังไง  แต่ถ้าบอกเขาว่า เมื่อเกิด AEC นายกฯมองว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างไร ไทยเราวางตำแหน่งการแข่งขันของประเทศไว้ตรงไหนเพราะเหตุใด มันจะกลายเป็นยุทธศาสตร์ขึ้นมาทันที ส่วนการสร้างเครือข่ายเชื่อมโยง การลงทุนเพื่อป้องกันน้ำท่วม ฯลฯ และอีกหลายสิ่งที่ท่านนายกฯได้บอกนั้น เป็นเพียงแค่ “แผนปฏิบัติการ” ที่จะมีขึ้น เพื่อตอกย้ำว่าไทยจะสามารถยืนอยู่บนตำแหน่งการแข่งขันที่ว่าได้จริง

ยุทธศาสตร์สู่ AEC ตอนที่ 4 ยุทธศาสตร์ชาติสิ่งจำเป็นของประเทศ

ล่าสุดเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน ที่ผ่านมานี้เองในการสัมมนา “วาระแห่งชาติ เศรษฐกิจไทยยุคใหม่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน” นายกฯยิ่งลักษณ์ ได้ไปกล่าว ปาฐกถา  ความสำคัญจับได้ว่า มั่นใจต่อประชาคมอาเซียน มอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์ทำงานกับภาดเอกชน กระทรวงมหาดไทยทำงานกับประชาชนในแต่ละจังหวัด และทิ้งท้ายว่าต่างประเทศจะสนใจมาลงทุนในไทยเพราะไทยพร้อมด้วยประการทั้งปวง

อืมมม นี่มันคำปลอบใจเอกชนไทยครับไม่ใช่ยุทธศาสตร์

ครั้นพอไปดูการบรรยายของ ดร.วีรพงษ์ รามางกูร ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและการสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.) ก็ยิ่งกลุ้มใจ เพราะจับใจความได้ว่า ดร.วีรพงษ์ นั้นไม่ค่อยกังวลเกี่ยวกับการเข้าสู่ AEC เพราะไทยเราเตรียมตัวมาตลอด ไทยเราล้ำหน้ากว่าประเทศสมาชิกอื่นๆ และเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงจะค่อยเป็นค่อยไป

คำถามที่ผมอยากถามดังๆ ก็คือ รัฐบาลนี้วิเคราะห์อย่างไรหรือครับ ช่วยวิเคราะห์ให้ฟังหน่อยว่าทำไมท่านถึงสบายใจไม่กังวล ขณะที่ภาคเอกชนเขากังวลใจกันอยู่ และถ้าสิ่งที่ท่านวิเคราะห์มันผิด เช่น ไทยไม่ได้พร้อมอย่างที่ท่านคิด และการเปลี่ยนแปลงมันเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ประเทศไทยเราจะทำอย่างไรครับ

ผมวิเคราะห์ตรงกันข้ามกับท่านโดยสิ้นเชิง ว่า ไทยเรายังไม่พร้อมทั้งภาครัฐและเอกชน  และผมคิดว่าการเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นอย่างค่อนข้างรวดเร็ว และผมคิดว่ายุทธศาสตร์การเข้าสู่ AEC นั้นนอกจากจะต้องวิเคราะห์ให้ทะลุเรื่องการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นหลังเกิด AEC แล้ว ไทยเรายังจะต้องวิเคราะห์ให้ทะลุเรื่องเศรษฐกิจโลกซึ่งกำลังเปลี่ยนแปลงอยู่ในขณะนี้ด้วย

คราวหน้าจะต่อเรื่องหัวใจสองดวงของการเขียนยุทธศาสตร์นะครับ

[smartslider3 slider="9"]