ยุทธศาสตร์สู่ AEC ตอนที่ 46 ยุทธศาสตร์ สปป.ลาว (2)

0
586

สปป.ลาวซึ่งมีประชากรราวๆ 6 ล้านคนและมีรายได้เฉลี่ยคนละประมาณ 46,300 บาทต่อปี ต่ำกว่าคนเวียดนาม ที่มีรายได้ปีละ 48,900 บาทแต่ยังสูงกว่าคนกัมพูชาและคนพม่าที่มีรายได้ต่อปีคนละ 29,900 บาทและ 26,720  บาทตามลำดับ ส่วนคนไทยเรามีรายได้ต่อปีคนละ 180,000 บาทครับ

วันนี้ สปป.ลาวเขาตั้งเป้าที่จะต้องพัฒนาประเทศให้หลุดพ้นจากการเป็นประเทศที่พัฒนาน้อยที่สุดภายในปี พ.ศ. 2563 ซึ่งการจะหลุดพ้นจากเป็นประเทศที่พัฒนาน้อยที่สุดนั้น มีสามเรื่องใหญ่ๆ ที่ สปป.ลาวจะต้องทำให้ได้คือ หนึ่ง ต้องแก้ไขความอ่อนแอทางด้านทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งเขาจะดูกันที่ ตัวชี้วัดทางด้านโภชนาการ สุขภาพ การศึกษาและการรู้หนังสือของผู้ใหญ่

สอง ต้องแก้ไขความอ่อนแอทางเศรษฐกิจ ซึ่งเขาจะดูกันจากหลายปัจจัย เช่น ดูที่ความไม่แน่นอนของการผลิตทางการเกษตร และการส่งออกสินค้าและบริการ ความสำคัญของธุรกิจ ต่างชาติที่มีต่อเศรษฐกิจ อุปสรรคของธุรกิจ SME และจำนวนประชากรที่ต้องพลัดถิ่นเพราะภัยธรรมชาติ และ สาม ต้องทำให้รายได้เฉลี่ยสามปีของคนทั้ง สปป.ลาว มากกว่า 1,086 ดอลล่าร์สหรัฐ หรือ 35,838 บาทถ้าใช้อัตราแลกเปลี่ยนที่ 33 บาทต่อ 1 ดอลล่าร์สหรัฐ

ถ้าวัดเฉพาะรายได้เฉลี่ยของคนลาว วันนี้ลาวต้องถือว่าสูงเกินค่าเฉลี่ย 35,838 บาทไปแล้วครับ เพราะในช่วงปี พ.ศ. 2553-2556 รายได้เฉลี่ยของคนลาวอยู่ที่ 1,269 ดอลล่าร์สหรัฐหรืออยู่ที่ 41,877  บาทครับ เกินเป้าไปแล้ว จึงเหลือเพียงเรื่องที่หนึ่งและสองซึ่งสปป.ลาวจะต้องแก้ไขให้ได้ครับ

ที่ สปป.ลาวเขาก็มีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งแผนฯฉบับแรกเริ่มใช้ในปี พ.ศ. 2524 แผนฯ แต่ละฉบับมีระยะเวลา 5 ปีเหมือนเมืองไทยเราครับ ตอนนี้ สปป.ลาวอยู่ระหว่างการใช้แผนฯฉบับที่ 7 (2554-2558) ซึ่งในแผนฉบับนี้เขาให้ความสำคัญกับการลงทุนและการพัฒนาอุตสาหกรรมให้ทันสมัย และตั้งเป้า ให้เศรษฐกิจขยายตัวปีละ 8 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งจะทำให้คนลาวมีรายได้คนละ 1,700  ดอลล่าร์สหรัฐหรือ 56,100  บาทเมื่อถึงสิ้นปี 2558

เพื่อให้บรรลุเป้าดังกล่าว สปป.ลาวเขาต้องลงทุนประมาณ 127,000 พันล้านกีบหรือประมาณ 508,000 ล้านบาท ( 1,000 กีบเท่ากับ 4 บาท) คิดเป็น 32 เปอร์เซ็นต์ของ GDP ซึ่ง 74-80 เปอร์เซ็นต์จะมาจากเงินช่วยเหลือจากต่าง ประเทศ และการลงทุนจากต่างประเทศ ส่วนที่เหลือ สปป.ลาวจะใช้เงินงบประมาณและการกู้ธนาคารอย่างละ ประมาณเท่าๆกัน

ในแผนฯฉบับที่ 7 นี้ สปป.ลาวเขาตั้งเป้าไว้ว่าภาคเกษตรกรรมจะเติบโตปีละ 3.2 เปอร์เซ็นต์และสร้างงานได้ 210,000 ตำแหน่ง ภาคอุตสาหกรรมจะเติบโตปีละ 15 เปอร์เซ็นต์และสร้างงานได้ 14,000 ตำแหน่งและ ภาคบริการจะเติบโตปีละ 6.5 เปอร์เซ็นต์และสร้างงานได้ 53,000 ตำแหน่ง และเมื่อสิ้นสุดแผนฯ7 โครงสร้าง GDP  ของเขาจะเรียงลำดับความสำคัญดังนี้ ภาคอุตสาหกรรม 39 เปอร์เซ็นต์ ภาคบริการ 38 เปอร์เซ็นต์และภาคเกษตรกรรม 23 เปอร์เซ็นต์

ที่ สปป.ลาวเขาเน้นก็คือแม้ว่าเขาต้องการจะเปลี่ยนประเทศให้เป็นประเทศอุตสาหกรรม และเป็นประเทศที่ ทันสมัย แต่เขาก็ยังเน้นให้การพัฒนานี้เป็นการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเขาตั้งเป้าจะให้มีการพัฒนา ทางสังคมและ วัฒนธรรมให้ควบคู่ไปกับการพัฒนาเศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมจะต้องได้รับการดูแลรักษาให้ดี ควบคู่กันไปด้วย

พูดถึงสปป.ลาวแล้ว คนไทยส่วนมากยังมองข้ามเพราะคิดว่าตลาดของคนเพียง 6 ล้านคนเล็กมาก กำลังซื้อ ก็ยังไม่ค่อยสูง มาลงทุนอะไรคงจะไม่คุ้ม ถ้าวันนี้ท่านยังคิดอย่างนี้อยู่ละก้อ ผมอยากแนะนำให้ท่านรีบศึกษา เรื่องสปป.ลาวให้มากขึ้นโดยด่วน โดยเฉพาะเรื่องการเป็นแบตเตอรี่ของเอเชียและเรื่องนครเวียงจันทน์ที่ทันสมัย

ลองคิดดูสิครับว่าทำไมวันนี้เวียดนาม จีน ญี่ปุ่นและอีกหลายชาติ จึงหลั่งไหลเข้าไปลงทุนใน สปป.ลาว มากขึ้นเรื่อยๆ มีอะไรที่คนไทยเรามองไม่เห็น มองข้ามไปหรือเปล่า?

คราวหน้าผมจะมาชี้ให้เห็นว่าทำไม สปป.ลาวนี่แหล่ะควรจะเป็นประเทศแรกๆที่คนไทยเราไปลงทุน ทำมาค้าขายด้วย

[smartslider3 slider="9"]