Home Post Today - ยุทธศาสตร์สู่ AEC ตอนที่ 51 - 100 ยุทธศาสตร์สู่ AEC ตอนที่ 69 ช้า เฉื่อยและเฉิ่ม

ยุทธศาสตร์สู่ AEC ตอนที่ 69 ช้า เฉื่อยและเฉิ่ม

0
436
[smartslider3 slider="7"]

ยุทธศาสตร์สู่ AEC ตอนที่ 69 ช้า เฉื่อยและเฉิ่ม

ในที่สุดรัฐบาลไทยก็ได้เดินหน้าผลักดันเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยมีคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจ พิเศษหรือ กนพ. เป็นองค์กรสำคัญในการกำหนดนโยบาย ในเบื้องต้นมีการประกาศให้พื้นที่ชายแดนใน  5 จังหวัด เช่น ตาก มุกดาหาร สงขลา สระแก้วและตราด เป็นพื้นที่นำร่องในการสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษ

แต่แม้ว่าจะประกาศเป็นนโยบายสำคัญและประกาศพื้นที่ออกมาแล้ว แต่ “สิทธิประโยชน์พิเศษ” ที่ควรจะประกาศ ออกมาให้ชัดกลับยังไม่มีความชัดเจน เท่าที่ผมรู้ข้าราชการผู้ใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดสิทธิประโยชน์ เพิ่งจะเดินทางไปดูเขตเศรษฐกิจของประเทศเพื่อนบ้านเมื่อไม่นานมานี้เอง

ข้อเท็จจริงที่เราต้องรู้ก่อนก็คือประเทศเพื่อนบ้านเรานั้นต่างก็มีเขตเศรษฐกิจพิเศษมาก่อนเราหลายปีแล้ว ต่างชาติ เริ่มเข้าไปลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษเหล่านั้นมาหลายปีแล้ว ต่างจากประเทศไทยที่พูดมานานแต่เพิ่งจะเริ่มขยับ ในรัฐบาลนี้

ผมจะขอตั้งข้อสังเกต ดังนี้ หนึ่ง การใช้เขตเศรษฐกิจพิเศษเพื่อพัฒนาประเทศนั้นต้องเป็นยุทธศาสตร์ของประเทศ ซึ่งหน่วยงานที่รับผิดชอบควรจะเป็นสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ดังนั้นการที่ไทยเราช้ากว่าประเทศ เพื่อนบ้าน ยังไม่มีเขตเศรษฐกิจพิเศษนั้นเป็นความรับผิดชอบของสภาพัฒนฯโดยตรง การที่สภาพัฒน์ไม่เขียน ยุทธศาสตร์เรื่องนี้ให้ชัดเจนและไม่สามารถผลักดันให้รัฐบาลที่ผ่านๆมาเดินหน้าเรื่องนี้ได้ สะท้อนถึงความ อ่อนแอในการเขียนยุทธศาสตร์และฝีมือในการโน้นน้าวรัฐบาลชุดที่ผ่านๆมา การมอบหมายให้เลขาฯสภาพัฒน์ฯ ซึ่งปัจจุบันสวมหมวกรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมมาร่วมผลักดันเรื่องนี้จึงน่าจะเป็นจุดอ่อนมากกว่าจุดแข็ง เพราะขนาดสวมหมวกใบเดียวยังช้ากว่าประเทศเพื่อนบ้าน

สอง ประเทศเพื่อนบ้านที่เขามีเขตเศรษฐกิจพิเศษก่อนเรานั้นต่างก็มี “สิทธิประโยชน์พิเศษ” ต่างๆที่หลากหลาย รวมถึงวิธีการจัดการที่ต่างกันออกไป ข้อมูลต่างๆเหล่านี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นสภาพัฒน์ฯ บีโอไอ กระทรวงการคลังและกระทรวงอื่นๆที่เกี่ยวข้องควรจะมีอยู่ในมือและควรจะเข้าใจจุดอ่อนจุดแข็งอย่างทะลุ ปรุโปร่งไม่ใช่ประกาศแต่พื้นที่ออกมาก่อนส่วน “สิทธิประโยชน์พิเศษ”  กลับเพิ่งเริ่มศึกษาและหาข้อมูล หลักฐานที่ฟ้องว่า กนพ.ไม่มีข้อมูลก็คือแม้จะผ่านไปสองเดือนคือธันวาคมปีที่แล้วและมกราคมปีนี้ หลังการ ประชุม กนพ.ครั้งที่ 2 ตอนกลางเดือนพฤศจิกายน ก็ยังไม่มีการประกาศ “สิทธิประโยชน์พิเศษ” หรือมาตรการ อื่นๆที่เกี่ยวข้องออกมา และผมยังเห็นกรรมการ กนพ. คนสำคัญบางคนเพิ่งจะเดินทางไปศึกษาเขตเศรษฐกิจ พิเศษของเพื่อนบ้านช่วงปลายเดือนมกราคมนี้เอง

สาม การประกาศแต่เขตพื้นที่ออกมาก่อนมีแต่จะทำให้เกิดการเก็งกำไรราคาที่ดินเร็วๆนี้กรมธนารักษ์ได้ออกข่าว ว่าราคาที่ดินใน อ.แม่สอด จ.ตาก มีราคาเพิ่มขึ้นกว่า 100 เปอร์เซ็นต์ เมื่อราคาที่ดินสูงขึ้นมากขนาดนี้เพราะ ทางการปล่อยให้มีการเก็งกำไร ต้นทุนในการลงทุนก็สูงขึ้น ความน่าสนใจของการมาลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ ก็ย่อมจะลดลง กนพ. รู้มั้ยครับว่าตอนที่มาเลเซียเขาวางแผนที่จะพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษอิสกันดาร์ ทางตอนใต้ ของประเทศส่วนที่ใกล้กับสิงคโปร์ที่สุดนั้น สิ่งแรกที่รัฐบาลมาเลเซียเขาทำคือประกาศห้ามเก็งกำไรที่ดิน ถ้ารู้ทำไมเราไม่ห้ามการเก็งกำไรที่ดิน? ถ้าไม่รู้ทำไมถึงไม่รู้?

ยังมีอีกหลายข้อสังเกตนะครับ กรุณารออ่านพุธหน้า แต่ถ้าผมเป็น กนพ. ผมจะไม่รอนะครับ แต่จะสั่งให้หน่วย ราชการไทยที่ทำงานอยู่ในประเทศเพื่อนบ้านบินด่วนเอาข้อมูลเขตเศรษฐกิจประเทศเพื่อนบ้านมาให้ด่วนที่สุด เราช้า เฉื่อยและเฉิ่มเกินไปแล้วครับ 

[smartslider3 slider="9"]

NO COMMENTS