PERSPECTIVE OF AEC เขตเศรษฐกิจพิเศษ

0
500

นับว่าเป็นเรื่องดีที่รัฐบาลไทยได้ตัดสินใจเดินหน้าผลักดันเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยมีคณะกรรมการนโยบายเขต พัฒนาเศรษฐกิจพิเศษหรือ กนพ. เป็นองค์กรสำคัญในการกำหนดนโยบาย ล่าสุดเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา รัฐบาลก็ประกาศให้พื้นที่ชายแดนใน  5 จังหวัดคือ ตาก มุกดาหาร สงขลา สระแก้วและตราด เป็นพื้นที่นำร่อง ในการสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษ แต่แม้ว่าจะประกาศเป็นนโยบายสำคัญและประกาศพื้นที่ออกมาแล้ว แต่ “สิทธิประโยชน์พิเศษ” ที่ควรจะประกาศออกมาให้ชัดกลับยังไม่มีความชัดเจน

ประเทศเพื่อนบ้านเรานั้นไม่ว่าจะเป็น สปป.ลาว กัมพูชา เวียดนามหรือแม้กระทั่งเมียนมาต่างก็มีเขตเศรษฐกิจ พิเศษมาก่อนไทยเราหลายปีแล้ว นักลงทุนจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ต่างก็หลั่งไหลเข้าไปลงทุน ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ เหล่านั้นมาหลายปีแล้ว ต่างจากประเทศไทยเราที่พูดกันมานานแต่เพิ่งจะเริ่มขยับ ได้ในรัฐบาลนี้ ผมมีโอกาส เดินทางไปดูและได้พบผู้บริหารของเขตเศรษฐกิจพิเศษในประเทศเพื่อนบ้านหลายแห่งถึงได้เห็นความแตกต่าง ระหว่างเขตเศรษฐกิจพิเศษของเขากับของเรา เลยจะขอเอามาเล่าสู่กันฟังหน่อยนะครับ

การจะใช้เขตเศรษฐกิจพิเศษเป็นเครื่องมือในการพัฒนาประเทศนั้นต้องเป็นยุทธศาสตร์ของประเทศ หน่วยงานที่ รับผิดชอบควรจะเป็นหน่วยงานที่เขียนยุทธศาสตร์ประเทศซึ่งก็คือสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพราะ ฉะนั้นการที่ไทยเราเริ่มต้นเรื่องเขตเศรษฐกิจพิเศษช้ากว่าประเทศเพื่อนบ้าน นั้นเป็นความรับผิดชอบของ สภาพัฒนฯโดยตรง การที่สภาพัฒน์ไม่เขียนยุทธศาสตร์ประเทศในส่วนที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ให้ชัดเจนและไม่ สามารถโน้มน้าวและผลักดันให้รัฐบาลที่ผ่านๆมาเข้าใจและเดินหน้าเรื่องนี้ได้สะท้อนถึงความอ่อนแอของ สภาพัฒน์ ดังนั้นการมอบหมายให้เลขาฯสภาพัฒน์ฯ คนปัจจุบันซึ่งตอนนี้ต้องสวมหมวกเพิ่มขึ้นอีก หนึ่งใบคือ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมมาร่วมผลักดันเรื่องนี้จึงน่าจะเป็นจุดอ่อนมากกว่าจุดแข็ง เพราะขนาดสวม หมวกใบเดียวไทยเรายังช้ากว่าประเทศเพื่อนบ้าน

อีกเรื่องที่ต้องพูดกันให้ชัดๆก่อนที่รัฐบาลจะถลำไปมากกว่านี้ก็คือประเทศเพื่อนบ้านที่เขามีเขตเศรษฐกิจพิเศษ ก่อนเรานั้นสิทธิประโยชน์ที่เขาเอามาใช้ดึงดูดการลงทุนโดยเฉพาะการลงทุนจากต่างชาตินั้นเขาไม่ได้ใช้

สิทธิประโยชน์แบบเดิมๆที่แต่ละประเทศใช้สงเสริมการลงทุน แต่เขาใช้ “สิทธิประโยชน์พิเศษ” ต่างๆที่ หลาก หลายรวมถึงวิธีการบริหารจัดการที่พิเศษขึ้นมาอีกมาก ข้อมูลต่างๆเหล่านี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็น สภาพัฒน์ฯ บีโอไอ กระทรวงการคลังและกระทรวงอื่นๆที่เกี่ยวข้องควรจะมีอยู่ในมือ และควรจะสามารถ วิเคราะห์จุดอ่อนจุดแข็งของเขตเศรษฐกิจพิเศษของประเทศเพื่อนบ้านได้อย่างทะลุปรุโปร่งไม่ใช่ประกาศแต่พื้นที่ออกมาก่อนส่วน “สิทธิประโยชน์” ที่จะให้กลับยังไม่สามารถประกาศออกมาได้  หลักฐานที่ฟ้องว่านายกฯและ กนพ.ไม่มีข้อมูลก็คือแม้จะผ่านไปสองเดือนคือธันวาคมปีที่แล้วและมกราคมปีนี้ หลังการ ประชุม กนพ.ครั้งที่ 2 ตอนกลางเดือนพฤศจิกายน ก็ยังไม่มีการประกาศ “สิทธิประโยชน์พิเศษ” หรือมาตรการ อื่นๆที่เกี่ยวข้องออกมา ที่น่าตกใจก็คือผมรู้มาว่ากรรมการ กนพ. คนสำคัญบางคนเพิ่งจะเดินทางไปศึกษาเรื่อง“สิทธิประโยชน์พิเศษ” ของเพื่อนบ้านช่วงปลายเดือนมกราคมนี้เอง

เรื่องต่อมาเป็นเรื่องที่ไทยเราผิดพลาดอย่างมากก็คือการปล่อยให้มีการเก็งกำไรในราคาที่ดิน การประกาศแต่เขต พื้นที่ออกมาก่อนโดยไม่มีมาตรการป้องกันการเก็งกำไรมีแต่จะทำให้เกิดการเก็งกำไรราคาที่ดิน กรมธนารักษ์เอง เป็นคนออกข่าวว่าราคาที่ดินใน อ.แม่สอด จ.ตาก มีราคาสูงขึ้นมากกว่า 100 เปอร์เซ็นต์เพราะรัฐบาลประกาศ ให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ เมื่อราคาที่ดินสูงขึ้นมากต้นทุนในการลงทุนก็ย่อมจะสูงขึ้นตามไปด้วย คำถามจึงมี อยู่ว่านายกฯและกนพ. รู้หรือไม่ว่าตอนที่มาเลเซียเขาวางแผนที่จะพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษอิสกันดาร์ ทางตอนใต้ ของประเทศส่วนที่ใกล้กับสิงคโปร์ที่สุดนั้น สิ่งแรกที่รัฐบาลมาเลเซียเขาทำคือประกาศห้ามเก็งกำไรที่ดิน ถ้ารู้ทำไมเราไม่ห้ามการเก็งกำไรที่ดิน? ถ้าไม่รู้ทำไมถึงไม่รู้?

การที่ประเทศไทยกำหนดเขตเศรษฐกิจ 5 จุดตามแนวชายแดนเช่น ตาก มุกดาหาร สงขลา สระแก้วและตราด ทั้งหมดนั้นมีความเป็นไปได้สูงที่คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษหรือ กนพ. นั้นเอาเรื่องการค้า ชายแดนมาผูกติดกับเขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งสะท้อนถึงการที่ไทยเราขาดยุทธศาสตร์ในการบริหารประเทศ พอไม่มี ยุทธศาสตร์การวางตำแหน่งเขตเศรษฐกิจทั้งในแง่ทำเลที่ตั้งและประเภทอุตสาหกรรมและสิทธิประโยชน์พิเศษที่ จะใช้เชิญชวนคนมาลงทุนก็เลยขาดความชัดเจนไปด้วย ลองดูตัวอย่างจากกัมพูชาก็ได้ เขามียุทธศาสตร์ที่จะใช้ ท่าเรือน้ำลึกแห่งเดียวในประเทศที่สีหนุวิลล์เป็นจุดขายใน การดึงดูดนักลงทุนต่างชาติมาลงทุนในเขตเศรษฐกิจ พิเศษซึ่งเขาเชิญชวนได้ผลอย่างดีเพราะนักลงทุนจากทั้งญี่ปุ่นและจีนต่างก็มาลงทุนสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษแข่งกันอยู่ในจังหวัดนี้ ที่น่าสนใจก็คือปัจจัยที่ดึงดูดให้บริษัทจาก จีนและญี่ปุ่นนับร้อยบริษัทแห่มาลงทุนในเขต เศรษฐกิจพิเศษทั้งสองแห่งนี้โดยเฉพาะเขตฯที่จีนบริหารนั้น นอกจากจะเป็นเรื่องความใกล้ท่าเรือน้ำลึก ค่าเช่าที่ถูกมาก ค่าแรงที่ถูกมาก ถูกกว่าค่าแรงในประเทศจีนที่ว่า ถูกแล้วเสียอีก สิทธิเรื่องภาษีนำเข้า สิทธิพิเศษด้านภาษี นิติบุคคลที่ยกเว้นให้นานกว่าและสิทธิประโยชน์ทางภาษี GSP ซึ่งประเทศไทยเราไม่มี

สรุปง่ายๆก็คือไปลงทุนในเขตเศรษฐกิจที่สีหนุวิลล์เวลานี้ต้นทุนถูกกว่าในทุกด้าน ภาษีก็เสียน้อยกว่า มิหนำซ้ำ การส่งออกก็ได้รับสิทธิพิเศษอีกด้วย ปัจจัยต่างๆเหล่านี้ไทยเราสู้ไม่ได้เลย ต่อให้เป็นเขตเศรษฐกิจที่เกาะกงซึ่ง อยู่ติดกับชายแดนประเทศไทยที่จังหวัดตราด แม้ว่าจะห่างจากท่าเรือสีหนุวิลล์ แต่สิทธิประโยชน์พิเศษต่างๆ ไม่ได้น้อยกว่าเขตเศรษฐกิจพิเศษที่สีหนุวิลล์เลย ผมเลยยังนึกไม่ออกว่า กนพ.จะเอาอะไรจะเป็นปัจจัยดึงดูด ให้นักลงทุนอยากจะมาสร้างและลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษที่จังหวัดตราด ถ้าจะเอาแค่สิทธิประโยชน์ของ บีโอไอที่มีอยู่แบบเดิมๆ ผมว่าไม่น่าจะประสบความสำเร็จ

เรื่องยุทธศาสตร์ในการส่งเสริมการลงทุนก็เช่นกันต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ประเทศ เมื่อประเทศไม่มี ยุทธศาสตร์ที่ชัดเจนยุทธศาสตร์ในการส่งเสริมการลงทุนก็เลยพลอยสะเปะสะปะตามไปด้วย นายกฯซึ่งเป็นทั้ง ประธานบีโอไอและ กนพ. เคยตั้งคำถามกับบีโอไอบ้างหรือเปล่าว่า บีโอไอรายงานว่าส่งเสริมการลงทุนทะลุเป้า แต่ทำไมเศรษฐกิจไทยไม่เห็นโต? ทำไมอุตสาหกรรมที่สามารถผลิตสินค้าที่โลกต้องการซื้อ เขาถึงเลือกที่จะไป ลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านแทนที่จะมาลงทุนในไทย ที่สำคัญมูลค่าเพิ่มของอุตสาหกรรมที่ได้รับการส่งเสริมใน อดีตที่ผ่านๆมานั้นที่ตกอยู่กับไทยมากน้อยเท่าไหร่ เปรียบเทียบกับสิทธิพิเศษด้านภาษีที่เรายกเว้นให้นั้นอะไร มากกว่ากัน? เคยจับบีโอไอกับกรมสรรพากรมานั่งวิเคราะห์ตัวเลขจริงๆกันบ้างหรือไม่? และเรื่องของการ ถ่ายทอดเทคโนโลยีนั้นไทยเราได้รับมากน้อยแค่ไหนหรือได้รับแต่ค่าแรงเป็นหลัก?

เวลาเห็นบริษัทที่ผลิตสินค้าไฮเทคเช่น สมาร์ทโฟนและสินค้าไอทีต่างๆ จากเกาหลีใต้ ญี่ปุ่นและจีนหลั่งไหล เข้าไปลงทุนในเวียดนามแทนที่จะเป็นประเทศไทย มีหน่วยงานไหนตอบได้ไหมว่าทำไม? เวลาเห็นผู้ว่าซีอีโอ ของเมืองที่มีเขตเศรษฐกิจพิเศษของเวียดนามสามารถพูดคุยต่อรองกับนักลงทุนต่างชาติได้แบบจบที่ผู้ว่าได้เลย แถมผู้ว่าฯ ยังมีงบไปลงทุนสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มเติมตามที่นักลงทุนร้องขอและมีงบฝึกอบรมคนงานให้มี ทักษะพร้อมทำงานให้บริษัทไอทีเหล่านั้นทันที เรารู้สึกอะไรกันหรือไม่? และตอนที่เห็นผู้ว่าฯเวียดนามเจรจา ต่อรองให้ซัมซุงซึ่งตอนนี้ ใช้เวียดนามเป็นฐานการผลิตใหญ่ต้องปรับกระบวนการผลิตเพื่อให้มูลค่าเพิ่มตก อยู่กับเวียดนามมากขึ้น มีใครรู้สึกไหมว่าไทยเราก็ควรจะต้องทำแบบเดียวกัน?

ทั้งหมดนี้ต้องเริ่มต้นที่ยุทธศาสตร์ประเทศ ยุทธศาสตร์ประเทศดีเสียอย่างทุกอย่างดีตาม แต่ถ้าขาดยุทธศาสตร์ประเทศไทยก็จะมีสภาพอย่างที่เห็นๆนี่แหล่ะครับ

[smartslider3 slider="9"]