กรอบและทิศทางแผนฯ13 (ตอน 4) – มุมมองเกษมสันต์

0
813

กรอบและทิศทางแผนฯ13 ตอน 4

อาทิตย์ที่แล้วผมทิ้งท้ายไว้ที่คำถามของผมที่ให้ท่านเลขา ฯ สภาพัฒน์ ฯ เรียงลำดับความสำคัญว่า ในทั้งหมด 13 หมุดหมายในร่างกรอบและทิศทางแผนฯ13 นั้นหมุดหมายใดสำคัญมากที่สุดสามอันดับแรก และท่านเลขา ฯ ตอบว่า สภาพัฒน์ฯคงตอบไม่ได้ แต่อยากให้สื่อมวลชนอาวุโสที่มาในวันนั้นเป็นคนช่วยตอบแทน

ที่ผมเริ่มถามเช่นนั้นเพราะผมรู้สึกว่าร่างกรอบและทิศทางแผน ฯ 13 นั้นก็ยังเป็นเหมือนแผนเดิม ๆ ที่ผ่านมาคือกว้างเคว้งคว้างและอยากจะทำเสียทุกอย่าง ขาดโฟกัส ทั้ง ๆ ที่สภาพัฒน์ฯบอกว่าแผน ฯ 13 นี้โฟกัสมากขึ้นแล้ว

ประเด็นต่อมาที่ผมวิพากษ์ก็คือ สภาพัฒน์ฯต้องตอบให้ได้เสียก่อนว่าทำไมไทยเราถึงติดกับดักประเทศรายได้ปานกลาง ทำไมเศรษฐกิจไทยจึงอ่อนแอ เติบโตน้อย หลักฐานล่าสุดก็คือไทยเราติดโควิดกันแค่หลักหมื่น แต่เศรษฐกิจติดลบเหมือนประเทศที่ติดโควิดหลักล้าน ถ้าสภาพัฒน์ ฯ ตอบไม่ได้ว่า “ทำไม” เราอยู่ในสภาพเช่นนี้ ไทยก็จะยังติดกับดักอยู่ตรงนี้ เมื่อไหร่ที่บอกได้นั่นแหล่ะ การเขียนแผน ฯ ก็จะสามารถเขียนเพื่อแก้ไขจุดอ่อนและแก้ไขปัญหานั้นได้

ประเด็นต่อมาก็คือ สภาพัฒน์ ฯ บอกได้ไหมว่าแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติของไทยซึ่งควรจะเป็นยุทธศาสตร์ในการพัฒนาประเทศที่ไทยเขียนนั้น แตกต่างจากยุทธศาสตร์ของประเทศที่เคยมีระดับของการพัฒนาเท่าเทียมกับไทยเรา แต่วันนี้แซงไทยไปแล้ว อาทิ สิงคโปร์ มาเลเซียและเกาหลีใต้อย่างไร?

กรอบและทิศทางแผน ฯ 13 ที่เอามาวิพากษ์กันวันนี้ พูดอีกก็ถูกอีกเพราะกว้างเหลือเกิน แต่ผลลัพธ์ก็จะไม่เกิดเหมือนเดิม เหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นกับแผน 10-12 เป็นเพราะเหตุใด สภาพัฒน์ ฯ ตอบได้หรือไม่? เราเขียนให้คนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนามาตั้งแต่แผน ฯ 8 (พ.ศ.2540-2544) แต่คนไทยเราคุณภาพก็ยังไม่ดีขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน ทำไม? เช่นเดียวกับเรื่องการปราบคอรัปชั่น ที่ผมเห็นว่าเราตั้งเป้าให้คะแนนดัชนีภาพลักษณ์คอรัปชั่นเกิน 50 คะแนนมาตั้งแต่แผน ฯ 10 มาแล้ว แต่คะแนนจริงออกมาไทยเรายังไม่เคยได้เกิน 38 คะแนนเลยด้วยซ้ำไป ทำไม? สภาพัฒน์ ฯ ตอบได้หรือไม่?

ประเด็นสำคัญจึงไม่ได้อยู่ที่ว่ากรอบแผน ฯ 13 นั้นครอบคลุมหรือยัง? แต่อยู่ที่ว่าสภาพัฒน์ ฯ เรียงลำดับความสำคัญถูกต้องหรือไม่ ว่าอะไรสำคัญมากควรทำก่อนและจะวัดผลการทำนั้นอย่างไร? เมื่อท่านเลขา ฯ ไม่ตอบ ผมจึงเรียงให้ว่า 3 เรื่องสำคัญที่ไทยจะต้องทำให้สำเร็จภายในแผน ฯ 13 ก็คือ การปราบคอรัปชั่น การพัฒนาคุณภาพคน และการปฏิรูปภาครัฐ

ที่ผมให้การปราบคอรัปชั่นเป็นเรื่องแรกที่ต้องทำให้ได้ก็เพราะว่า นี่คือหัวใจสำคัญที่ทำให้ไทยเราติดกับประเทศรายได้ปานกลาง และการปราบคอรัปชั่นที่ผ่านมานอกจากจะปราบไม่ได้ ปรามก็ไม่สำเร็จแล้ว การคอรัปชั่นยังดูเหมือนจะได้ฝังรากลึกลงไปในทุกภาคส่วนของสังคมอย่างมากขึ้นอีกด้วย ถ้ายังปล่อยให้คนโกงลอยนวลเช่นในปัจจุบัน รัฐบาลก็จะเลือกทำโครงการที่มีคอรัปชั่นได้ง่าย เห็นประโยชน์ในระยะสั้นแต่เสียหายกับประเทศในระยะยาว ได้ไม่คุ้มเสียเลย

แต่แค่เอามาไว้เป็นลำดับแรกก็จะไม่สามารถปราบคอรัปชั่นได้ ถ้าในแผนฯ 13 จะโยนภาระการเขียนกระบวนการปราบปรามคอรัปชั่นไปให้กับ ปปช. เหมือนที่ผ่านมา เพราะปปช.ก็จะไปเขียนไว้ในยุทธศาสตร์ปราบคอรัปชั่นของ ปปช. ในรูปแบบเดิม ๆ ตามความเชื่อแบบเดิม ๆ ของ ปปช.อีก คือเน้นการป้องปรามและการรณรงค์อีก ทั้ง ๆ ที่ประเทศทั่วโลกที่เคยมีปัญหาคอรัปชั่นเหมือนไทยล้วนแก้ปัญหาคอรัปชั่นสำเร็จได้ด้วยการปราบ จับกุมคนโกงและลงโทษคนโกงทั่วหน้าจนคนไม่กล้าโกง แม้ประเทศที่เป็นสังคมอุปถัมภ์เช่นเกาหลีใต้ก็ยังใช้วิธีปราบนำวิธีปราม ดังนั้นในแผน ฯ 13 สภาพัฒน์ ฯ ควรจะต้องเขียนระบุให้ชัดเจนไปเลยว่า ทั้ง ปปช.และหน่วยงานต่าง ๆ จะต้องใช้วิธีการปราบ จับกุมและลงโทษเป็นวิธีการหลัก เขียนไม่เป็นก็ให้ไปดูการเขียนวิธีการปราบของเกาหลีใต้ดู (ความจริงคือไทยก็ไปดูงานของเขามาหลายรอบแล้ว!!)

เรื่องที่สองที่สำคัญมาก และ ต้องเร่งทำให้สำเร็จ ก็คือการยกระดับคุณภาพของคนไทย ทั้งที่อยู่ในระบบการศึกษา และ นอกระบบ และสภาพัฒน์ ฯ ต้องไม่ปล่อยให้กระทรวงศึกษาฯ กระทรวงอุดมศึกษาฯ เป็นผู้เขียนแผนแบบเดิม ๆ เพราะเขาก็จะเขียนแผนแบบเดิม ๆ ผลที่ได้ก็จะเป็นแบบเดิม ๆ ที่เป็นมาหลายสิบปีแล้ว นี่ขนาดเพิ่งจะเข้าสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรมยุคที่ 4 เรายังเริ่มแพ้กันขนาดนี้ ถ้ายังไม่สามารถพัฒนาคนไทยให้เห็นผลขึ้นมาบ้างในแผน ฯ 13 ไทยเราคงจะแพ้ประเทศอื่น ๆ มากขึ้นเรื่อยๆ

เรื่องที่สามก็คือการปฏิรูปภาครัฐ เพราะภาครัฐไทยที่ไร้ประสิทธิภาพเช่นในปัจจุบันเป็นอุปสรรคที่สำคัญยิ่งในการที่ไทยจะก้าวไปข้างหน้า การเขียนแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่มีปัญหาก็เพราะสภาพัฒน์ ฯ เองก็ยังทำงานแบบภาครัฐ คิดแบบภาครัฐ ตัวอย่างล่าสุดที่สะท้อนความสามารถของภาครัฐไทยที่ชัดเจนที่ผู้คนวิจารณ์กันมากในช่วงนี้ก็คือเรื่องการจัดหาวัคซีนมาฉีดให้คนไทยที่ล่าช้าจนน่าตกใจนั่นเอง

อาทิตย์หน้าผมจะมาวิพากษ์ประเด็นสำคัญที่ท่านเลขาฯพูดอยู่ตลอดว่า สภาพัฒน์ฯมีหน้าที่เพียงแค่การเขียนแผน แต่ไม่มีอำนาจหน้าที่ไปบังคับให้รัฐบาลหรือหน่วยงานต่าง ๆ ต้องทำ

อ่านย้อนหลัง ตอนที่ 1
อ่านย้อนหลัง ตอนที่ 2
อ่านย้อนหลัง ตอนที่ 3
อ่านย้อนหลัง ตอนที่ 4
อ่านย้อนหลัง ตอนที่ 5 (จบ)

กรอบและทิศทางแผนฯ13

[smartslider3 slider="9"]