มุมมองเกษมสันต์ ตอน ทำไมพระเมียนมาออกมาประท้วง?

0
507

คนเมียนมานั้นเป็น “พุทธตัวพ่อ” ที่มีชีวิตผูกพันกับพระพุทธศาสนาอย่างแนบแน่น กลัวบาปกลัวบุญมากกว่าคนชาติไหนๆ ยกตัวอย่างเช่นในวันพระก่อนไปทำงานคนเมียนมาก็จะไป “ดะหม่ะโหย่ว” หรือโรงธรรมะ เพื่อไปทำบุญ ฟังเทศน์ และมักจะนับถือศีลแปดศีลสิบกัน

ในช่วงเข้าพรรษา เขาก็จะถือศีลกินเจ และด้วยความที่ไม่ต้องการจะไปรบกวนพระที่จำพรรษา อยากให้พระได้ใช้เวลาช่วงนี้ศึกษาพระธรรมให้เต็มที่ คนเมียนมาจึงจะงดจัดงานมงคลทุกประเภทจะได้ไม่ต้องนิมนต์พระมาทำพิธีกรรมต่างๆให้ ดังนั้นเมื่อออกพรรษาและเข้าเทศกาลทอดกฐิน คนเมียนมาจึงจะต้องหาทางกลับบ้านไปร่วมงานบุญใหญ่กันให้ได้

วันเวลาว่าง คนเมียนมาก็จะไปทำบุญไหว้พระเจดีย์ ไหว้พระ ไหว้เสร็จก็จะใช้เวลานั่งเล่น นอนเล่นกันอยู่ที่พระเจดีย์หรือวัด เหมือนคนบางประเทศที่ชอบใช้เวลาว่างไปเดินเล่นตามห้าง แถมเวลาทำบุญเขาก็ทำกันหนักกว่าคนชาติอื่นๆ และคำทักทายที่คนไทยได้ยินกันคุ้นหูว่า “มิงกะลาบ่ะ” นั้นก็ยังมีรากมาจากคำว่ามังคละหรือมงคล เวลาทักกันจึงเสมือนการอวยพรให้ความเป็นมงคลจงเกิดขึ้นแด่ผู้ที่เขาทักทาย

ที่น่าสนใจก็คือแม้จะชอบไปวัดไหว้พระทำบุญมากเพียงใดก็ตาม แต่คนเมียนมายังมีสุภาษิตว่า “ไปงานศพหนึ่งครั้งเท่ากับไปวัดสิบครั้ง” ซึ่งสะท้อนถึงความสำคัญของงานศพต่อวิถีชีวิตของเขา หากมีคนในหมู่บ้านเสียชีวิตลง คนทั้งหมู่บ้านก็จะร่วมมือร่วมใจจัดงานศพให้เรียบร้อยตามประเพณี ถึงขนาดมีคำพังเพยว่า “หมูบ้านดี ศพสวย”

สำหรับความเชื่อเกี่ยวกับพระสงฆ์นั้น คนเมียนมาก็จะมีความเคารพนับถือพระสงฆ์อย่างลึกซึ้ง ถึงขนาดมีสุภาษิตว่า “ถ้านับถือพระสงฆ์ ชีวิตจะรุ่งเรือง” ซึ่งสะท้อนความเชื่อว่าการเคารพเชื่อฟังพระเป็นสิ่งที่ดีงาม จะทำให้ชีวิตประสบความสำเร็จ และถ้าพระสงฆ์มรณภาพ คนทั้งหมู่บ้านก็จะยิ่งวุ่นวายกันเสียมากกว่าคนในหมู่บ้านวุ่นวายจนมีสุภาษิตที่ว่า “พระมรณภาพ วิ่งวุ่นกันทั้งหมู่บ้าน”

เมื่อเป็นพุทธตัวพ่อ กลัวบาปกลัวบุญ และนับถือพระสงฆ์กันมากขนาดนี้ เมื่อพระสงฆ์ออกปากเรื่องใด คนเมียนมาจึงจะไม่ปฏิเสธ และรีบทำตามด้วยความเต็มใจ ถึงขนาดมีสุภาษิตว่า “แม้แต่พระพุทธเจ้า ยังไม่อาจปฏิเสธพระสงฆ์” ดังนั้นเมื่อพระสงฆ์ซึ่งเป็นสถาบันเดียวให้คนเมียนมามีที่ยึดเหนี่ยวด้านจิตใจ ออกโรงเรื่องใด คนเมียนมาก็จะออกมาร่วมมือร่วมใจกันอย่างเต็มที่

ดังนั้นทุกครั้งเมื่อบ้านเมืองมีเรื่องเดือดร้อน พระสงฆ์เมียนมาจึงมักจะออกมาเป็นแกนนำในการแก้ไขเสมอมา รวมถึงการประท้วงด้านการเมืองด้วย

นับตั้งแต่เหตุการณ์ 8888 ซึ่งเกิดขึ้นในวันที่ 8 เดือน 8 ปี 1988 ที่รัฐบาลทหารใช้ความรุนแรงกับนักศึกษาและประชาชนที่ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตย จนเกิดการบาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมาก มาจนถึงปัจจุบัน พระสงฆ์เมียนมาก็ยังมีบทบาทสำคัญและเป็นกำลังใจสำคัญให้กับผู้ออกมาประท้วงทหารมาโดยตลอด

ในปี 1988 เมื่อ ด่อว์ อองซานซูจิ เดินทางกลับมาเยี่ยมมารดาซึ่งป่วยหนักนั้น เธอยังเป็นเพียงบุตรสาวของวีรบุรุษที่เรียกร้องเอกราชให้ประเทศจนสำเร็จ ยังไม่เคยมีบทบาทในการนำประท้วงแต่อย่างใด แถมการสื่อสารระหว่างประชาชนสมัยนั้นก็ยังล้าหลัง ยังไม่มีโซเชียลมีเดียให้ใช้กันเหมือนในปัจจุบัน ด่อว์ซูจี พระสงฆ์และประชาชน ยังสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงให้ประเทศเมียนมาได้มากขนาดนี้

มาถึงปีนี้ 2021 ที่ด่อว์ซูจีและรัฐบาลของเธอ ได้แสดงฝีมือบริหารมาระยะหนึ่งจนประเทศก้าวหน้า ดีขึ้นในทุกๆด้านอย่างเห็นได้ชัด นักศึกษาประชาชนมีโอกาสได้เรียนรู้โลกมากขึ้นแถมการสื่อสารระหว่างกันนั้นก็ทำได้เต็มที่ แม้ว่าทหารเมียนมาจะพยายามปิดกั้นมากเพียงใดก็คงจะปิดกั้นไม่สำเร็จ และพระสงฆ์ก็ยังคงมีบทบาทนำและสนับสนุนประชาชนเหมือนเช่นเคย

ดังนั้นการประท้วงของคนเมียนมาคราวนี้ แม้ว่าจะต้องประลองกำลังระหว่างอาวุธยุทโธปกรณ์กับพลังอารยะขัดขืนกันไปอีกระยะหนึ่ง ยังบอกยากว่าจะจบเร็วหรือช้า แต่ผมมองว่าในที่สุดพลัง ด่อว์ซูจี ประชาชนและพระสงฆ์เมียนมา จะเป็นผู้ชนะในที่สุด

[smartslider3 slider="9"]