ยุทธศาสตร์สู่ AEC ตอนที่ 58 ACRC (2)

0
572

คณะกรรมการต่อต้านการทุจริตและสิทธิพลเมืองของเกาหลี หรือ Anti-Corruption and Civil Rights Commission of Korea : ACRC  มีหน้าที่หลักๆ 4 ด้าน ซึ่งรวมเอาหน้าที่ของคณะกรรมการปราบปรามคอร์รัปชั่น ผู้ตรวจการ รัฐสภาและคณะกรรมการรับเรื่องอุทธรณ์การบริหารงาน มาไว้ด้วยกัน คือ 1 รับร้องเรียนจากประชาชนและ แก้ไขให้  2 ตัดสินคดีเกี่ยวกับบริหารราชการ 3 ปราบปรามการคอร์รัปชั่นและ 4 พัฒนาปรับปรุงกฎหมายและ ระบบ การทำงานของหน่วยงานภาครัฐหรือองค์กรสาธารณะให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

ACRC ทำงานอย่างได้ผล ทั่วโลกยกย่อง เพราะเขามียุทธศาสตร์การทำงานที่ครอบคลุมและมีประสิทธิภาพ สูงมาก ผมขอยกตัวอย่างยุทธศาสตร์ที่ผมเห็นว่าดีและเมืองไทยน่าจะเอามาใช้บ้าง มาให้อ่านกันครับ

ยุทธศาสตร์ที่ 1 “เกลือเป็นหนอน” การทุจริตในองค์กรสาธารณะนั้นไม่สามารถที่จะรับรู้และจับได้ง่ายๆ ถ้าหากเราอยู่นอกองค์กร คนในองค์กรต่างหากที่จะรู้ดีที่สุด เพราะฉะนั้น ACRC จึงให้ความสำคัญกับการแจ้ง เบาะแสของคนในองค์กรเป็นอย่างมาก โดยเน้นที่การให้รางวัลและการคุ้มครอง ในยุทธศาสตร์นี้ ACRC แก้กฎหมายปราบปรามการทุจริตให้ผู้แจ้งเบาะแสได้รับการคุ้มครองอย่างเต็มที่ เช่น ถ้ามีคนในหน่วยงานใดแจ้ง เบาะแส หน่วยงานนั้นมีหน้าที่ต้องคุ้มครองผู้แจ้งในทุกกรณี เพื่อไม่ให้ผู้แจ้งเบาะแสโดนข่มขู่หรือกลั่นแกล้ง หากมีการข่มขู่หรือกลั่นแกล้งผู้แจ้งเบาะแส ผู้บริหารหน่วยงานนั้นไม่ว่าจะรู้เห็นเป็นใจด้วยหรือไม่ก็ตาม ต้องมี ความผิดตามกฎหมาย มีโอกาสทั้งติดคุกและโดนปรับวงเงินสูงถึง 10,000  ดอลลาร์สหรัฐ ถ้าหากหน่วยงานที่ถูก แจ้งเบาะแสไม่ให้ความร่วมมือกับ ACRC ในการสอบสวน เช่นขอเอกสารแล้วไม่ส่งหรือถ่วงเวลาในการส่ง หน่วยงานนั้นก็จะถูกปรับในวงเงิน 10,000  ดอลลาร์สหรัฐ ส่วนตัวผู้แจ้งเบาะแสนอกจากจะได้รับการคุ้มครอง อย่างเต็มที่แล้วยังอาจได้รับรางวัลจากการแจ้งเบาะแส สูงถึง 2  ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขึ้นอยู่กับมูลค่าของคดี

ยุทธศาสตร์ที่ 2 “เชือดไก่ให้ลิงดู” หากเจ้าหน้าที่ของของรัฐหรือองค์สาธารณะรับสินบนหรือยักยอกทรัพย์ของรัฐ หากจับได้ไม่ว่าวงเงินที่คอร์รัปชั่นนั้นจะมากน้อยแค่ไหนหรือเป็นการคอร์รัปชั่นเพียงครั้งเดียวเท่านั้น เจ้าหน้าที่ คนที่รับเงินและเจ้าหน้าที่ที่รู้เห็นเป็นใจจะโดนไล่ออกทันที และจะต้องโดนลงโทษทั้งปรับทั้งจับติดคุก ACRC เน้นเรื่องนี้มากไม่แพ้เรื่องอื่นๆ เพราะเขารู้ดีว่าต้องเชือดไก่ให้ลิงดู อย่าแม้แต่จะคิด ทำผิดทีเดียวชีวิตพังทันที ที่เกาหลีแค่เจ้าหน้าที่ของรัฐยอมให้ภาคเอกชนพาไปเลี้ยงดูปูเสื่อ เขายังไล่ออก ปรับและจับติดคุกเลย

ยุทธศาสตร์ที่ 3 “ตัดไฟแต่ต้นลม” ACRC เขาเน้นการจัดอบรมเรื่องจริยธรรมให้กับเจ้าหน้าที่ในตำแหน่งระดับสูง ทั้งที่เพิ่งเข้ามาทำงานใหม่และได้รับการเลื่อนตำแหน่งขึ้นมา เรื่องนี้ถือเป็นภาคบังคับที่เจ้าหน้าที่ระดับสูงทุกคน ต้องเข้ารับการอบรม ในอนาคต ACRC  ยังคิดจะจัดตั้งสถาบันขึ้นเป็นพิเศษเพื่อคอยให้การศึกษาและจัดอบรม เรื่องจริยธรรมอีกด้วย แค่เข้มงวดเรื่องจริยธรรมตอนอยู่ในตำแหน่งก็ยังไม่พอ  ACRC ยังออกกฎหมายป้องกัน ไม่ให้เจ้าหน้าที่ระดับสูงซึ่งเกษียณแล้วออกไปทำงานกับภาคเอกชน ต้องมีจริยธรรมอีกด้วย เพื่อป้องกันไม่ให้ เจ้าหน้าที่เกษียณเหล่านี้ใช้อำนาจที่เคยมีและสายสัมพันธ์เดิมไปสร้างประโยชน์ให้กับภาคเอกชนอย่างไม่ถูกต้อง ดังนั้น ACRC จึงจะตรวจสอบย้อนหลังยาวไป 5 ปีก่อนการเกษียณถึงอำนาจหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ระดับสูงคนนั้นๆ ว่าจะสามารถเอื้อประโยชน์ให้กับองค์กรเอกชนที่เขากำลังจะเข้าไปทำงานได้หรือไม่ หากเกี่ยวพันหรือ เอื้อ ประโยชน์ได้ เจ้าหน้าที่เกษียณผู้นั้นก็จะไม่สามารถเข้าไปทำงานกับองค์กรเอกชนนั้นได้ ถ้าหากเป็นอัยการหรือ ผู้พิพากษาเกษียณ ก็จะมีกฎหมายห้ามไม่ให้รับปรึกษาหรือว่าความในคดีที่เกี่ยวพันกับหน่วยงานเดิมที่เขาเหล่า นั้นเคยทำงานอยู่ด้วย

ที่ตั้งชื่อยุทธศาสตร์ให้เป็นสุภาษิตไทยเพราะผมอยากให้เห็นว่าวิธีการปราบคอร์รัปชั่นที่ประเทศอื่นเขาทำนั้น ไม่ใช่เรื่องใหม่ ไม่ใช่เรื่องยาก ที่หลายคนคิดว่าไทยเราคงไม่มีวันทำได้นั้นผมกลับคิดว่าเราจะเอาจริงกันหรือเปล่า ถ้าเอาจริงผมว่า “ไทยทำได้” ครับ

[smartslider3 slider="9"]