ยุทธศาสตร์สู่ AEC ตอนที่ 75 แก่แล้วยังไง?

0
515

ในที่สุดเศรษฐกิจไทยก็กำลังเดินเข้าสู่มุมอับ ก็ได้แต่ให้กำลังใจรัฐบาลนี้ให้แก้ปัญหากันต่อไป ทั้งที่ในใจกลุ้มใจ อย่างมากเพราะยังไม่เห็นว่าทีมเศรษฐกิจรัฐบาลนี้จะเดือดเนื้อร้อนใจอย่างไรเลยและมีมาตรการอะไรโดนๆออก มาเสียที

ผมเลยจะขอฝากลูกระเบิดเวลาลูกใหญ่ไว้อีกลูกไว้ให้ท่านผู้อ่านได้รู้ก่อนจะได้เตรียมตัวก่อน ระเบิดเวลาลูกที่ว่า คือการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของประเทศไทย ที่ผมเห็นหลายคนพูดถึงแต่เป็นการพูดถึงแบบบอกเล่ากันธรรมดาๆ แต่ไม่มีทีท่าจะหนักใจซักเท่าไหร่ ทั้งๆที่เรื่องนี้จะเป็นปัญหาที่แก้ยากที่สุดในอนาคตของประเทศเราเลยทีเดียว

สังคมไทยเราได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุหรือการที่มีคนอายุมากกว่า 65 ปีมากกว่า 7 เปอร์เซ็นต์มาเป็นสิบปีแล้ว และภายในอีกไม่ถึง 20 ปีข้างหน้าไทยเรากำลังจะเป็นสังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอด มีคนที่มีอายุเกิน 65 ปีมากกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ และเมื่อถึงปี พ.ศ. 2593 ไทยเราจะมีคนอายุเกิน 65 ปีถึง 32 เปอร์เซ็นต์ ใกล้เคียงกับเวียดนามที่จะมี 31 เปอร์เซ็นต์ ส่วนสิงคโปร์สัดส่วนดังกล่าวจะสูงถึง 38 เปอร์เซ็นต์ ขณะญี่ปุ่นซึ่งจะเป็นประเทศที่มีคนสูงอายุ มากที่สุดในโลกจะมีสัดส่วนดังกล่าวสูงถึง 42 เปอร์เซ็นต์

คนสูงอายุมีเยอะก็ดูแลกันไปหลายคนคงคิดเช่นนั้น แต่ลองดูผลกระทบทางเศรษฐกิจดูนะครับ คนที่มีอายุเกิน 65 ปีขึ้นไปโดยทั่วไปจะออกจากตลาดแรงงาน ขณะที่คนอายุถึง 15 ปีก็จะเข้าสู่ตลาดแรงงาน ในปี 2556 ไทยเรามีคน เข้าสู่ตลาดแรงงาน 620,000 คนแต่กลับมีคนออกจากตลาดแรงงานสูงถึง 900,000 คน แปลว่าแรงงานเราหายไป เกือบสามแสนคน  ตัวเลขแรงงานที่หายไปนี้จะสูงขึ้นเรื่อยๆ จากนี้เป็นต้นไป

แรงงานหายไปแปลว่าคนจะช่วยสร้างผลผลิตสร้างจีดีพีจะมีน้อยลง คนมีรายได้และสามารถเสียภาษีก็จะมีน้อยลง และจะน้อยลงจนน่าตกใจ ในปี พ.ศ. 2550 ไทยเรามีวัยแรงงานทำงานเสียภาษี 6 คนเพื่อให้รัฐเอาภาษีไปดูแล คนสูงอายุ 1 คน แต่ในปี พ.ศ. 2570 ไทยเราจะมีวัยแรงงานที่ทำงานและเสียภาษีเหลือแค่ 3 คนต่อคนสูงอายุ 1 คน คนเราพอสูงอายุสุขภาพร่างกายก็ไม่แข็งแรง โรคภัยรุมเร้ารัฐบาลจะต้องมีภาระดูแลมากยิ่งๆขึ้นแต่จำนวนคน ที่จะสามารถเสียภาษีได้กลับมีน้อยลง นึกแล้วน่าตกใจแทนลูกหลานเราที่ต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้นมหาศาลนะครับ

นอกจากนี้การเป็นคนสูงอายุจะทำให้เขากลายเป็นผู้บริโภคที่ไม่ค่อยจะจับจ่ายใช้สอย นอกจากจะเป็นเพราะ สุขภาพไม่เอื้อให้กินดื่มเที่ยวและแต่งตัวกันแล้ว ความกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายดูแลสุขภาพของตัวเขาเองก็จะทำให้ คนสูงอายุไม่กล้าใช้จ่ายอีกด้วย ดูตัวอย่างจากประเทศญี่ปุ่นสิครับรัฐบาลเขาพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อกระตุ้น การบริโภค แต่ทำอย่างไรคนญี่ปุ่นก็ไม่ค่อยบริโภคเพราะสังคมเขามีแต่คนสูงอายุ เศรษฐกิจก็เลยไม่โตเสียที สุดท้ายก็ต้องยอมปล่อยให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวโดยไม่ต้องขอวีซ่าเพราะหวังพึ่งรายได้จากการท่องเที่ยวมา กระตุ้นเศรษฐกิจ

คงต้องเขียนต่อเป็นซีรี่ยส์ยาวๆสำหรับเรื่องผู้สูงอายุนี่นะครับ เพราะผมน่ะตั้งความหวังไว้อย่างมากว่ารัฐบาลนี้  น่าจะเข้าใจเรื่องนี้ได้ง่ายกว่ารัฐบาลไทยชุดไหนๆ ก็ท่านๆกำลังอยู่ในวัยที่ควรจะเข้าใจเรื่องนี้พอดี โชคดีเหลือเกิน

[smartslider3 slider="9"]