อาเซียน+3

อาเซียน+3

อาเซียน+3

       กลุ่มอาเซียน +3 (ASEAN+3, ASEAN Plus 3, อาเซียนบวกสาม) จะประกอบด้วยสมาชิก 13 ชาติ คือ 10 ชาติสมาชิกอาเซียน อันได้แก่ ประเทศไทย ประเทศพม่า ประเทศมาเลเซีย ประเทศอินโดนีเซีย ประเทศฟิลิปปินส์ ประเทศสิงคโปร์ ประเทศเวียดนาม ประเทศลาว ประเทศกัมพูชา และประเทศบรูไน รวมกับประเทศจีน ประเทศญี่ปุ่น และประเทศเกาหลีใต้ โดยทั้ง 13 ประเทศจะมีประชากรรวมทั้งสิ้นกว่า 2,000 ล้านคน หรือประมาณ 1 ใน 3 ของประชากรของทั้งโลก และจะมีผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDP ถึง 9 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ (ร้อยละ 16 ของ GDP รวมทั้งโลก) ในขณะที่ยอดทรัพย์สินที่เป็นเงินทุนสำรองระหว่างประเทศสูงถึง 3.6 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ (สูงกว่า 50% ของเงินทุนสำรองของโลก)

เป้าหมายของการจัดตั้งอาเซียน +3

การจัดตั้งกลุ่มอาเซียน +3 นั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดความร่วมมือกันของกลุ่มประเทศอาเซียนและประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจขนาดใหญ่อีก 3 ประเทศ ซึ่งรวมกันเรียกว่า ชุมชนเอเชียตะวันออก (East Asian Community) และมีข้อตกลงกันเพื่อความร่วมมือในด้านต่างๆ 5 ด้าน ดังนี้

1. ด้านการเมืองและความมั่นคง
2. ด้านความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการเงิน
3. ด้านพลังงาน
4. สิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศโลก
5. ด้านสังคมและวัฒนธรรม

เป้าหมายความร่วมมือกันของอาเซียน +3 หรือประชาคมเอเชียตะวันออก

การรวมกันเป็นกลุ่มอาเซียน +3 จะเป็นการนำไปสู่การจัดตั้งประชาคมเอเชียตะวันออกในอนาคต ซึ่งชาติสมาชิกทั้งหมดจะร่วมมือและสนับสนุนกันในด้านต่างๆ โดยมีความร่วมมือ 6 ด้านที่จะต้องเร่งผลักดัน ดังนี้

1. การร่วมกันกำหนดกฎระเบียบในภูมิภาค
2. การตั้งเขตการค้าเสรี
3. ข้อตกลงความร่วมมือทางการเงินและการคลัง
4. เขตความร่วมมือและมิตรภาพเพื่อหลีกเลี่ยงการสะสมอาวุธ
5. การคมนาคมและเครือข่ายการสื่อสาร
6. ด้านสิทธิมนุษยชนและพันธะกรณีต่างๆ

กรอบความร่วมมืออาเซียน+3 (จีน ญี่ปุ่น และสาธารณรัฐเกาหลี)

ภูมิหลัง

1. กรอบความร่วมมืออาเซียน +3 เริ่มต้นขึ้นเมื่อปี 2540 ในช่วงที่เกิดวิกฤตทางการเงินในภูมิภาคเอเชียตะวันออก โดยผู้นำของประเทศสมาชิกอาเซียนและผู้นำของจีน ญี่ปุ่น และสาธารณรัฐเกาหลี ได้พบหารือกันเป็นครั้งแรกที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ เมื่อเดือนธันวาคม 2540 นับจากนั้น ได้มีการจัดประชุมสุดยอดอาเซียน +3 ขึ้นทุกปีในช่วงเดียวกับการประชุมสุดยอดอาเซียน กรอบความร่วมมืออาเซียน +3 เริ่มเป็นรูปร่างภายหลังการออกแถลงการณ์ร่วมว่าด้วยความร่วมมือ เอเชียตะวันออกเมื่อปี 2542 และการจัดตั้งกลุ่มวิสัยทัศน์เอเชียตะวันออก รุ่นที่ 1 (East Asia Vision Group I – EAVG I) ในปี 2542 เพื่อกำหนดวิสัยทัศน์ความร่วมมือในเอเชียตะวันออก โดยในปี 2544 EAVG I ได้มีข้อเสนอ ให้จัดตั้งประชาคมเอเชียตะวันออก (East Asian community – EAc) และกำหนดมาตรการความร่วมมือด้านต่าง ๆ เพื่อนำไปสู่การจัดตั้ง EAc

2. ในการประชุมสุดยอดอาเซียน+3 ครั้งที่ 9 ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ในปี 2548 ผู้นำได้ลงนามในปฏิญญากัวลาลัมเปอร์ว่าด้วยการประชุมสุดยอดอาเซียน +3 (Kuala Lumpur Declaration on the ASEAN+3 Summit) ซึ่งกำหนดให้การจัดตั้งประชาคมเอเชียตะวันออกเป็นเป้าหมายระยะยาว และให้กรอบอาเซียน +3 เป็นกลไกหลักเพื่อดำเนินไปสู่เป้าหมายดังกล่าว นอกจากนี้ ในโอกาสครบรอบ 10 ปีของกรอบอาเซียน +3 ในปี 2550 ได้มีการออกแถลงการณ์ร่วมว่าด้วยความร่วมมือเอเชียตะวันออก ฉบับที่ 2 และแผนงานความร่วมมืออาเซียน+3 (2550-2560) ซึ่งระบุถึงแนวทางความร่วมมือในประเด็นต่าง ๆ ภายใต้กรอบอาเซียน +3

3. ปัจจุบันความร่วมมือในกรอบอาเซียน +3 ครอบคลุมความร่วมมือต่าง ๆ มากกว่า 20 สาขา ภายใต้กรอบการประชุมในระดับต่าง ๆ ประมาณ 60 กรอบการประชุม ซึ่งไทยให้ความสำคัญต่อการส่งเสริม ความเชื่อมโยงในภูมิภาค ตลอดจนผลักดันการดำเนินการตามแผนแม่บทว่าด้วยความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน (Master Plan on ASEAN Connectivity – MPAC) ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์สำคัญของการเป็นประชาคมอาเซียน การรวมตัวกันในภูมิภาค และการลดช่องว่างด้านการพัฒนา โดยที่ประชุมสุดยอดอาเซียน +3 สมัยพิเศษ เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2555 ที่กรุงพนมเปญ ได้รับรองแถลงการณ์ผู้นำว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนความเชื่อมโยงอาเซียน +3 (Leaders’ Statement on ASEAN Plus Three Partnership on Connectivity) ตามข้อริเริ่มของไทย

พัฒนาการที่สำคัญ

 – ความร่วมมือด้านการเงิน ความร่วมมือด้านการเงินภายใต้มาตรการริเริ่มเชียงใหม่ (Chiang MaiInitiative – CMI) ซึ่งริเริ่มขึ้นเมื่อปี 2543 นับเป็นสาขาความร่วมมือที่มีความก้าวหน้ามากที่สุดภายใต้กรอบความร่วมมืออาเซียน +3 โดยมีพัฒนาการที่สำคัญ ได้แก่

1. การจัดตั้ง “CMI Multilateralisation (CMIM)” หรือมาตรการริเริ่มเชียงใหม่ไปสู่การเป็นพหุภาคี เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2553 ซึ่งมีวงเงิน 120,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อเป็นกลไกช่วยรักษาเสถียรภาพทางการเงินในภูมิภาค ซึ่งต่อมา ที่ประชุมรัฐมนตรีคลังและผู้ว่าธนาคารกลางอาเซียน+3 (ASEAN Plus Three Finance Ministers and Central Bank Governors’ Meeting) ครั้งที่ 15 ที่กรุงมะนิลา เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2555 ได้ขยายวงเงิน CMIM เป็น 240,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และเพิ่มสัดส่วนการให้ความช่วยเหลือที่ไม่เชื่อมโยง (de-link) กับเงื่อนไขการให้ความช่วยเหลือของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund – IMF) จากร้อยละ 20 เป็นร้อยละ 30 ในปี 2555 และพิจารณาทบทวนเพิ่มสัดส่วนขึ้นเป็นร้อยละ 40 ในปี 2557 ในส่วนของไทย ล่าสุดที่ประชุมร่วมรัฐสภาเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2555 ได้เห็นชอบกรอบการเจรจาการเพิ่มประสิทธิภาพ CMIM ซึ่งเสนอโดยกระทรวงการคลัง เพื่อให้ไทยสามารถปฏิบัติตามมติข้างต้นของที่ประชุมรัฐมนตรีคลังและผู้ว่าธนาคารกลางอาเซียน +3 ครั้งที่ 15 และเห็นชอบให้ธนาคารแห่งประเทศไทยเพิ่มวงเงินผูกพันเงินทุนสำรองระหว่างประเทศจาก 4,552 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็น 9,104 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

2.การจัดตั้งสำนักงานวิจัยเศรษฐกิจมหภาคอาเซียน +3 (ASEAN+3 Macroeconomic Research Office – AMRO) ที่สิงคโปร์ เมื่อเดือนพฤษภาคม 2554 เพื่อทำหน้าที่เฝ้าระวัง วิเคราะห์ และประเมินติดตามสภาวะเศรษฐกิจในภูมิภาคและสนับสนุน CMIM (www.amro-asia.org) โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2555 สำนักงานเศรษฐกิจการคลังได้จัดประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อกำหนดท่าทีไทยสำหรับการพิจารณาร่าง AMRO Treaty เพื่อยกระดับสถานะของ AMRO เป็นองค์การระหว่างประเทศ ซึ่งมีข้อพิจารณาเรื่องเอกสิทธิ์และความคุ้มกันทางการทูตแก่ AMRO และบุคลากรของ AMRO โดยกระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการเจรจารายละเอียดกับประเทศสมาชิกอาเซียน +3

3. การจัดตั้งหน่วยงานค้ำประกันสินเชื่อและการลงทุน (Credit Guarantee and Investment Facility – CGIF) มีลักษณะเป็นกองทุนที่อยู่ภายใต้การดูแลของธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank – ADB) ซึ่งทำหน้าที่เป็นทรัสตี (trustee) โดย CGIF มีวงเงินเริ่มต้น 700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อสนับสนุนการออกพันธบัตรของภาคเอกชน โดยที่ประชุมรัฐมนตรีคลังและและผู้ว่าธนาคารกลางอาเซียน +3 ครั้งที่ 15 ได้เห็นชอบให้เริ่มดำเนินโครงการค้ำประกัน (guarantee programme) ของ CGIF ตาม Asian Bond Markets Initiative (ABMI) New Roadmap

– ความมั่นคงทางอาหาร ที่ประชุมสุดยอดอาเซียน +3 ครั้งที่ 12 เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2552 ที่อำเภอชะอำ หัวหิน ได้รับรองแถลงการณ์ชะอำ-หัวหินว่าด้วยความมั่นคงด้านอาหารและการพัฒนาพลังงานชีวภาพในกรอบอาเซียน +3 (Cha-am Hua Hin Statement on ASEAN Plus Three Cooperation on Food Security and Bio-Energy Development) เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านอาหารและพลังงาน รวมถึงข้อเสนอการจัดตั้งระบบสำรองข้าวฉุกเฉินอาเซียน+3 (ASEAN Plus Three Emergency Rice Reserve – APTERR) ซึ่งต่อมาได้มีการลงนามความตกลง APTERR เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2554 ที่กรุงจาการ์ตา และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 12 กรกฏาคม 2555 ปัจจุบันสำนักงานเลขานุการ APTERR อย่างไม่เป็นทางการ3 ตั้งอยู่ที่ตั้งอยู่ที่สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยล่าสุด ที่ประชุมรัฐมนตรีอาเซียน+3 ด้านเกษตรและป่าไม้ครั้งที่ 12 เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2555 ได้เห็นชอบกับข้อเสนอของไทยในการเป็นที่ตั้งสำนักเลขานุการถาวรของ APTERR ถาวรโดยมีเงื่อนไขว่า ไทยจะต้องดำเนินกระบวนการภายในที่เกี่ยวข้องให้เสร็จสิ้นในโอกาสแรก

– กองทุนความร่วมมืออาเซียน+3 (ASEAN Plus Three Cooperation Fund – APTCF) จัดตั้งขึ้นเมื่อเดือนเมษายน 2552 เพื่อสนับสนุนการดำเนินโครงการและกิจกรรมต่าง ๆ ในกรอบอาเซียน+3 โดยมีเงินทุนเริ่มต้น 3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยใช้อัตราส่วนการสมทบ 3:3:3:1 (จีน:ญี่ปุ่น:เกาหลีใต้:อาเซียน) ล่าสุด เมื่อเดือนตุลาคม 2555 ประเทศสมาชิกอาเซียน+3 อยู่ระหว่างการหารือการสมทบเงินเพิ่มเติม (replenishment)

บทบาทของไทย

1. ไทยมีบทบาทที่แข็งขันในกรอบความร่วมมืออาเซียน+3 มาโดยตลอด โดยได้ผลักดันการออกแถลงการณ์ร่วมว่าด้วยความร่วมมือเอเชียตะวันออก ฉบับที่ 2 เพื่อกำหนดทิศทางความร่วมมือในกรอบอาเซียน+3 ในอนาคต การเร่งรัดมาตรการริเริ่มเชียงใหม่ การออกแถลงข่าวร่วมว่าด้วยความร่วมมืออาเซียน +3 เพื่อรับมือกับวิกฤตเศรษฐกิจและการเงินโลก และการจัดประชุมรัฐมนตรีสาธารณสุขอาเซียน+3 สมัยพิเศษเรื่องไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่

2. ไทยมีบทบาทสำคัญในการผลักดันการจัดตั้งองค์กรสำรองข้าวฉุกเฉินอาเซียน +3 (ASEAN Plus Three Emergency Rice Reserve – APTERR) และรับเป็นที่ตั้งของสำนักเลขานุการ APTERR ทั้งนี้ไทยเคยมอบข้าวจำนวน 520 ตัน ภายใต้ระบบสำรองข้าวฉุกเฉินอาเซียน+3 ให้ฟิลิปปินส์ ซึ่งประสบภัยพิบัติจากพายุไต้ฝุ่นกิสนาเมื่อปี 2552

3. นอกจากนี้ ไทยยังได้ริเริ่มผลักดันกิจกรรมในกรอบอาเซียน +3 ในหลายสาขา เช่น เยาวชน การใช้พลังงานนิวเคลียร์อย่างปลอดภัย การอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม และการศึกษา โดยได้มีบทบาทในการยกร่างแผนปฏิบัติการด้านการศึกษาอาเซียน +3 ซึ่งที่ประชุมรัฐมนตรีด้านการศึกษาอาเซียน +3 ครั้งที่ 1 ได้ให้การรับรองเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2555 ที่เมืองยอร์กยาการ์ตา อินโดนีเซีย

4. ไทยได้ผลักดันให้กรอบอาเซียน +3 มีบทบาทในการสนับสนุนความเชื่อมโยงในอาเซียน และระหว่างอาเซียนกับประเทศ+3 ภายใต้แนวคิดหุ้นส่วนความเชื่อมโยงอาเซียน +3 (ASEAN Plus Three Partnership on Connectivity)

พัฒนาการล่าสุด

1. การประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการเรื่องความเป็นหุ้นส่วนความเชื่อมโยงอาเซียน +3 เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2555 ที่กรุงเทพฯ เป็นข้อริเริ่มของไทยในการระดมสมองจากภาครัฐ องค์การระหว่างประเทศและนักวิชาการ เพื่อพัฒนาแนวคิดการส่งเสริมความเชื่อมโยงในกรอบอาเซียน+3 อย่างเป็นรูปธรรมโดยที่ประชุมฯ สนับสนุนการสร้างความเป็นหุ้นส่วนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน (PPP) การจัดตั้งกองทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาขีดความสามารถของบุคลากรอาเซียน โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศ CLMV(กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม) ในการบังคับใช้ข้อตกลงและกฎระเบียบต่าง ๆ เพื่ออำนวยความสะดวกด้านการค้าและการลงทุน รวมถึงกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมความเชื่อมโยงระหว่างประชาชนในด้านการท่องเที่ยว การศึกษา และวัฒนธรรม

2. การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน +3 ครั้งที่ 13 เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2555 ที่กรุงพนมเปญที่ประชุมฯ ยินดีกับพัฒนาการสำคัญในกรอบอาเซียน +3 อาทิ การเพิ่มประสิทธิภาพและขยายวงเงิน CMIM ซึ่งจะมีส่วนช่วยรับมือกับผลกระทบจากวิกฤตยูโรโซน การมีผลบังคับใช้ของ APTERR ในวันที่ 12 กรกฎาคม 2555 และการดำเนินตามแผนงานความร่วมมืออาเซียน+3 (2550-2560) นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ ยังเห็นชอบกับ (1) ข้อเสนอของไทยที่ให้มีการออกแถลงการณ์ผู้นำว่าด้วยหุ้นส่วนความเชื่อมโยงอาเซียน+3 ในการประชุมสุดยอดอาเซียน+3 ในเดือนพฤศจิกายน 2555 และ (2) ข้อเสนอของกัมพูชาที่ให้มอบหมาย CPR+3 ร่วมกับสำนักเลขาธิการอาเซียนทบทวนและปรับปรุง (mid-term review) แผนงานฯ ภายในปี 2555 เพื่อให้สอดคล้องและตอบสนองกับสถานการณ์ปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไปได้ดียิ่งขึ้น

3. การประชุมสุดยอดอาเซียน +3 สมัยพิเศษ เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2555 ที่กรุงพนมเปญ ที่ประชุมฯ(1) รับรองเอกสาร 2 ฉบับ ได้แก่ แถลงการณ์ร่วมว่าด้วยหุ้นส่วนความเชื่อมโยงอาเซียน +3 ซึ่งเป็นข้อเสนอของไทย และแถลงการณ์ร่วมผู้นำอาเซียน +3 ในโอกาสครบรอบ 15 ปี กรอบความร่วมมืออาเซียน+3 ซึ่งเป็นข้อเสนอของกัมพูชา (2) ส่งเสริมความร่วมมือทางการเงิน และความมั่นคงทางอาหารและพลังงานมากยิ่งขึ้นผ่านข้อริเริ่มต่าง ๆ ที่มีอยู่ อาทิ CMIM, AMRO, ABMI และ APTERR (3) รับทราบรายงานของกลุ่มวิสัยทัศน์เอเชียตะวันออกรุ่นที่ 2 (East Asia Vision Group – EAVG II) ซึ่งเป็นข้อริเริ่มของสาธารณรัฐเกาหลี เพื่อทบทวนและวางวิสัยทัศน์ความร่วมมือในกรอบอาเซียน +3 โดย EAVG II เสนอให้มีการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจเอเชียตะวันออกภายในปี ค.ศ. 2020 บนพื้นฐานของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และ (4) ไทยเสนอให้มีการพัฒนาหุ้นส่วนความเชื่อมโยงอาเซียน+3 ในทุกกลไกรายสาขา โดยให้มีการศึกษาแนวทางการจัดทำแหล่งเงินทุนสำหรับโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน สนับสนุนให้มีการศึกษาความเป็นไปได้ข้อเสนอแนะของรายงาน EAVG II ส่งเสริมการพัฒนาความร่วมมือทางการเงินในภูมิภาค และเสนอให้ APTERR พิจารณาขยายการสำรองผลิตผลทางการเกษตรอื่น ๆ นอกเหนือจากข้าว

ความสัมพันธ์อาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลี

ภูมิหลัง

     สาธารณรัฐเกาหลี หรือ เกาหลีใต้เริ่มมีความสัมพันธ์กับอาเซียนเมื่อปี 2532 ในฐานะคู่เจรจาเฉพาะด้าน และได้รับสถานะเป็นประเทศคู่เจรจาอย่างเป็นทางการในปี 2534 ต่อมาในปี 2547 ทั้งสองฝ่ายได้ลงนามปฏิญญาร่วมว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนความร่วมมืออย่างรอบด้าน (Joint Declaration on Comprehensive Partnership) เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์และความร่วมมือให้ใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น

     ในปี 2552 เกาหลีใต้ เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดอาเซียน-เกาหลีใต้ สมัยพิเศษ ที่เกาะเจจู เพื่อเฉลิมฉลองครบรอบ 20 ปี ความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองฝ่าย ในการประชุมสุดยอดอาเซียน-เกาหลีใต้ ครั้งที่ 13 ที่กรุงฮานอย เมื่อเดือนตุลาคม 2553 อาเซียนและ เกาหลีใต้ได้เห็นชอบให้ยกระดับความสัมพันธ์จากหุ้นส่วนรอบด้านเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ และได้รับรองปฏิญญาร่วมว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์เพื่อสันติภาพและความรุ่งเรือง (Joint Declaration on ASEAN-Republic of Korea Strategic Partnership for Peace and Prosperity) และแผนปฏิบัติการอาเซียน-เกาหลีใต้ เพื่อดำเนินการตามปฏิญญาดังกล่าว ระหว่างปี 2554-2558 (ค.ศ. 2011-2015)

ความร่วมมือด้านการเมืองความมั่นคง

1. เกาหลีใต้ ได้ภาคยานุวัติสนธิสัญญาไมตรีและความร่วมมือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (TAC) ในปี 2547 และได้ลงนามในปฏิญญาร่วมว่าด้วยความร่วมมือเพื่อต่อต้านการก่อการร้ายสากล (Joint Declaration for Cooperation to Combat International Terrorism) กับอาเซียน ในปี 2548

2. เกาหลีใต้ จัดตั้งสำนักงานคณะผู้แทนถาวร เกาหลีใต้ ประจำอาเซียนอย่างเป็นทางการในวันที่ 12 ตุลาคม 2555 และแต่งตั้งคณะผู้แทนถาวร เกาหลีใต้ ประจำอาเซียนแล้ว โดยมีนาย Baek Seong-taek ศาสตราจารย์ประจำสถาบันการทูตเกาหลี(Korea National Diplomatic Academy—KNDA) กระทรวงการต่างประเทศและการค้าเป็นเอกอัครราชทูตผู้แทนถาวร เกาหลีใต้ประจำอาเซียนคนแรก

3. ในด้านความมั่นคงรูปแบบใหม่ เกาหลีใต้ ยินดีกับการรับรอง Declaration on Drug-Free ASEAN 2015 โดยที่ประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 20 เมื่อเดือนพฤษภาคม 2555 ซึ่งผู้นำอาเซียนขอให้ เกาหลีใต้ ส่งเสริมความร่วมมือกับอาเซียนเพื่อป้องกันและปราบปรามยาเสพติด

ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ

1. อาเซียนและ เกาหลีใต้ ได้ร่วมลงนามกรอบความตกลงความร่วมมือทางเศรษฐกิจ (Framework Agreement on Comprehensive Economic Cooperation) ในปี 2548 ซึ่งกำหนดให้มีการจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียน-เกาหลี โดยทั้งสองฝ่ายได้ลงนามในความตกลงว่าด้วยการค้าสินค้าในปี 2549 ความตกลงว่าด้วยการค้าบริการในปี 2550 และความตกลงว่าด้วยการลงทุนในปี 2552

2. ในปี 2554 เกาหลีใต้ เป็นคู่ค้าอันดับ 5 ของอาเซียน รองจากจีน ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป และสหรัฐฯ ในขณะที่อาเซียนเป็นคู่ค้าอันดับ 2 ของ เกาหลีใต้ รองจากจีน โดยมีมูลค่าการค้าระหว่างกันประมาณ 125 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปี 2553 ร้อยละ 28.5 (มูลค่าการค้ารวมในปี 2553 อยู่ที่ 97.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในการประชุมสุดยอดอาเซียน-เกาหลีใต้ ครั้งที่ 15 เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2555 ที่ประชุมเห็นชอบให้ทั้งสองฝ่ายเพิ่มความร่วมมือด้านการค้าระหว่างกัน และใช้ประโยชน์จาก ASEAN-Korea FTA ให้มากขึ้น เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการเพิ่มปริมาณการค้าระหว่างกันเป็น 150 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2558

3. ในปี 2553 เกาหลีใต้ เป็นประเทศผู้ลงทุนรายใหญ่อันดับ 4 ของอาเซียน รองจากสหภาพยุโรป สหรัฐฯ และญี่ปุ่น มีมูลค่าการลงทุน 3.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 4.9 ของมูลค่าการลงทุนจากต่างชาติทั้งหมดในอาเซียน

ในปี 2552 ได้มีการจัดตั้งศูนย์อาเซียน-เกาหลี ที่กรุงโซล เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว และการแลกเปลี่ยนด้านวัฒนธรรมระหว่างกัน ทั้งนี้ ไทยปฏิบัติตามพันธกรณีด้วยการส่งเจ้าหน้าที่ไปปฏิบัติหน้าที่ที่ศูนย์อาเซียน-เกาหลีใต้ ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2555 โดยมีวาระการปฏิบัติหน้าที่จนถึงเดือนธันวาคม 2557

ความร่วมมือด้านการพัฒนา

1. เกาหลีใต้ ได้จัดตั้งกองทุน ASEAN-ROK Future Oriented Cooperation Projects (FOCP) และ กองทุน ASEAN-ROK Special Cooperation Fund (SCF) เพื่อสนับสนุนการดำเนินโครงการความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับ เกาหลีใต้ โดยในการประชุมสุดยอดอาเซียน-เกาหลีใต้ สมัยพิเศษ ในปี 2552 เกาหลีใต้ ได้ประกาศเพิ่มการให้เงินสมทบทุนแก่กองทุน ASEAN-ROK SCF หลังจากปี 2553 จากเดิมปีละ 3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็น 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

2. ในด้านการลดช่องว่างด้านการพัฒนาในอาเซียน เกาหลีใต้ ได้ให้ความช่วยเหลือโครงการภายใต้ข้อริเริ่ม เพื่อการรวมตัวของอาเซียน (Initiative for ASEAN Integration – IAI) อย่างต่อเนื่อง และได้จัดการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศลุ่มน้ำโขง-เกาหลีใต้ ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2555 เพื่อสนับสนุนการลดช่องว่างด้านการพัฒนาในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง

บทบาทของไทย

– ไทยผลักดันให้ เกาหลีใต้

1. สนับสนุนเรื่องการบริหารจัดการน้ำและการพัฒนาที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่องและเป็นรูปธรรม โดยต่อยอดจากการที่ เกาหลีใต้ ส่งคณะทูตพิเศษมาไทยเมื่อเดือนมิถุนายน 2555 และในเดือนสิงหาคม 2555 ซึ่งได้มีการลงนามบันทึกความเข้าใจเพื่อขยายความร่วมมือระหว่างกัน

2. สนับสนุนให้ เกาหลีใต้ มีบทบาทแข็งขันในการสร้างประชาคมอาเซียน โดยเฉพาะการส่งเสริมความเชื่อมโยง โดยจัดตั้งคณะทำงานด้านความเชื่อมโยงเพื่อให้การส่งเสริมความร่วมมือด้านความเชื่อมโยงระหว่าง อาเซียน-เกาหลี มีความชัดเจนมากขึ้น และขอให้ เกาหลีใต้ ช่วยพัฒนาความเชื่อมโยงด้านกฎระเบียบ พิธีศุลกากรและโลจิสติกส์ในพื้นที่ชายแดนไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน

3. ผลักดันให้ เกาหลีใต้ มีบทบาทในการลดช่องว่างด้านการพัฒนาในภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง (เช่นอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง)

4. การเพิ่มมูลค่าการค้า การลงทุนและการท่องเที่ยวระหว่างกัน โดยใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-เกาหลี ให้เต็มประสิทธิภาพ และให้ เกาหลีใต้ เข้าร่วมกระบวนการเจรจาจัดทำ RCEP อย่างแข็งขัน

พัฒนาการล่าสุด

– ในการประชุมสุดยอดอาเซียน-เกาหลีใต้ ครั้งที่ 15 เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2555 ที่กรุงพนมเปญ ที่ประชุมเห็นชอบ

1. ให้อาเซียน และ เกาหลีใต้ ขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจการค้าระหว่างกัน

อาเซียนขอให้ เกาหลีใต้ สนับสนุนการสร้างประชาคมอาเซียน และความเชื่อมโยงในภูมิภาค โดยการจัดตั้งกลไกประสานงานกับฝ่ายอาเซียน

2. ส่งเสริมให้ เกาหลีใต้ ขยายบทบาทในการลดช่องว่างด้านการพัฒนาในภูมิภาค เช่น ในกรอบ Initiative of ASEAN Integration (IAI) และความร่วมมือแม่โขง–เกาหลีใต้

3. ขยายความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน อาทิ ความร่วมมือด้านป่าไม้ เทคโนโลยีสีเขียว

ส่งเสริมการเชื่อมโยงในระดับประชาชน โดยขอให้ เกาหลีใต้ ให้ทุนการศึกษาแก่นักศึกษาอาเซียนเพิ่มขึ้น

4. ขยายความร่วมมือด้านการจัดการภัยพิบัติ โดยขอให้ เกาหลีใต้ ให้การสนับสนุนศูนย์จัดการภัยพิบัติ (AHA center) ของอาเซียน

5. ผลักดันการปฏิบัติตามแผนปฏิบัติการอาเซียน-เกาหลีใต้ ระยะ 5 ปี (2554-2558) ในสาขาต่าง ๆ ให้บรรลุผล

6. เสนอให้ศูนย์อาเซียน –เกาหลีใต้ มีบทบาททางการค้าและวัฒนธรรม

7. สนับสนุนให้แก้ไขปัญหาคาบสมุทรเกาหลีอย่างสันติวิธีผ่านการเจรจาหกฝ่าย

– ประเด็นที่ไทยผลักดันในการประชุมสุดยอดอาเซียน–เกาหลีใต้ ครั้งที่ 15 ได้แก่

1. สนับสนุนให้ เกาหลีใต้ เพิ่มบทบาทในการเชื่อมโยงระหว่างอาเซียน โดยอาศัยความเชี่ยวชาญด้าน ICT และนวัตกรรมของ เกาหลีใต้ โดยเฉพาะการพัฒนากฎระเบียบ พิธีศุลกากร และโลจิสติกส์ ในพื้นที่ชายแดนของไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งการเชื่อมโยงถนนและทางรถไฟในอาเซียน และเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือไปจนถึงคาบสมุทรเกาหลี

2. ส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-เกาหลีให้เต็มประสิทธิภาพ สนับสนุนให้นักลงทุน เกาหลีใต้ เข้ามาลงทุนในประเทศไทยให้มากขึ้น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมด้าน ICT และนวัตกรรม เทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งสนับสนุนให้ศูนย์อาเซียน-เกาหลี จัดโครงการอบรมเพื่อเสริมสร้างทักษะด้านการบริหารจัดการให้แก่ผู้ประกอบการ SME

3. สนับสนุนให้ เกาหลีใต้ ให้ความช่วยเหลือด้านการพัฒนาในกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง-เกาหลีใต้ ตามที่ได้จัดตั้งกองทุนความร่วมมือลุ่มน้ำโขง-เกาหลีใต้

– เกาหลีใต้ ผลักดัน/เสนอข้อริเริ่มที่สำคัญ ได้แก่

1. การลดช่องว่างด้านการพัฒนาในกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขง

2. ขอให้อาเซียนขยายความร่วมมือทางการค้าส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากความเชี่ยวชาญของ เกาหลีใต้ ด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม มาช่วยพัฒนาอาเซียนด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การพัฒนาที่ยั่งยืนการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การจัดการด้านภัยพิบัติการบริหารจัดการด้านป่าไม้ และเทคโนโลยีสีเขียว

3. ส่งเสริมความร่วมมือด้าน cyber university กับประเทศในอาเซียน

4. สนับสนุนการดำเนินงานของศูนย์อาเซียน – เกาหลีใต ้ ให้จัดกิจกรรมส่ง เสริมการค้าและวัฒนธรรม

ความสัมพันธ์อาเซียน-ญี่ปุ่น

ภูมิหลัง

     ญี่ปุ่นเริ่มความสัมพันธ์อย่างไม่เป็นทางการกับอาเซียนเมื่อปี 2516 และยกระดับความสัมพันธ์ ขึ้นเป็นประเทศคู่เจรจาของอาเซียนอย่างเป็นทางการในปี 2520 หลังจากนั้น ความสัมพันธ์อาเซียน-ญี่ปุ่น ก็มีพัฒนาการที่ก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง

     ในปี 2546 มีการจัดประชุมสุดยอดอาเซียน-ญี่ปุ่น สมัยพิเศษ (ASEAN-Japan Commemorative Summit) ที่กรุงโตเกียวในโอกาสครบรอบ 30 ปี ความสัมพันธ์อาเซียน-ญี่ปุ่น และได้มีการลงนามปฏิญญาโตเกียว ว่าด้วยการเป็นหุ้นส่วนที่มีพลวัตรและยั่งยืนระหว่างอาเซียน-ญี่ปุ่น ในสหัสวรรษใหม่ (Tokyo Declaration for the Dynamic and Enduring ASEAN-Japan Partnership in the New Millennium) และรับรองแผนปฏิบัติการอาเซียน-ญี่ปุ่น (ASEAN-Japan Plan of Action) เพื่อกำหนดทิศทางความร่วมมือระหว่างสองฝ่ายในอนาคต และต่อมา เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2554 ในการประชุมสุดยอดอาเซียน-ญี่ปุ่น ครั้งที่ 14 ที่เมืองบาหลี อาเซียน และญี่ปุ่นได้รับรองแผนปฏิบัติการอาเซียน-ญี่ปุ่น ระยะ 5 ปี (ระหว่างปี 2554-2558)

     ญี่ปุ่นเป็นประเทศคู่เจรจาแรกที่ได้จัดตั้งคณะผู้แทนถาวรประจำอาเซียน ณ กรุงจาการ์ตา เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2554 และมีการจัดประชุมคณะกรรมการรว่ มว่าด้วยความร่วมมืออาเซียน-ญี่ปุ่น (ASEAN-Japan Joint Cooperation Committee – AJJCC) เพื่อเป็นกลไกประสานงานกับคณะกรรมการผู้แทนถาวรประจำอาเซียน (Committee of Permanent Representatives to ASEAN – CPR)

ความร่วมมือด้านการเมืองความมั่นคง

1. ญี่ปุ่นเป็นประเทศคู่เจรจาลำดับที่ 4 ที่ได้ภาคยานุวัติสนธิสัญญาไมตรีและความร่วมมือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Treaty of Amity and Cooperation in Southeast Asia – TAC) ในปี 2547 และเป็นประเทศแรกที่จัดตั้งกรอบการประชุมความร่วมมือด้านการต่อต้านการก่อการร้าย (Counter Terrorism Dialogue) อย่างเป็นทางการกับอาเซียนในปี 2547 โดยได้มีการประชุมอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี นอกจากนี้ ในกรอบ ARF ญี่ปุ่น มีบทบาทแข็งขันในด้านการต่อต้านการก่อการร้าย อาชญากรรมข้ามชาติ และความมั่นคงทางทะเล

2. ญี่ปุ่นยินดีกับการรับรอง Declaration on Drug-Free ASEAN 2015 โดยที่ประชุมสุดยอด อาเซียน ครั้งที่ 20 เมื่อเดือนพฤษภาคม 2555 โดยผู้นำอาเซียนขอให้ญี่ปุ่นส่งเสริมความร่วมมือกับอาเซียนในการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดต่อไป

ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ

1. ในปี 2554 ญี่ปุ่นเป็นคู่ค้าที่สำคัญอันดับ 2 ของอาเซียน รองจากจีน โดยมีมูลค่าการค้ากับอาเซียนประมาณ 255 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปี 2553 ร้อยละ 17 (ปี 2553 มูลค่าการค้าระหว่าง ญี่ปุ่นและอาเซียนมีค่าประมาณ 218 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในด้านการลงทุน ในปี 2553 ญี่ปุ่นเป็นประเทศผู้ลงทุนรายใหญ่อันดับ 3 ของอาเซียน รองจากสหภาพยุโรป และสหรัฐ โดยมีมูลค่าการลงทุนประมาณ 8.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 11.1 ของมูลค่าการลงทุนต่างชาติทั้งหมดในอาเซียน

2. อาเซียนและญี่ปุ่นได้ลงนามความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น (ASEAN-Japan Closer Economic Partnership – AJCEP) เมื่อเดือนเมษายน 2551 ซึ่งเป็นเสมือนการรวมเอาความตกลงเขตการค้าเสรีทวิภาคีระหว่างสมาชิกอาเซียนแต่ละประเทศกับญี่ปุ่นเข้าไว้ด้วยกัน โดยไทยเปิดตลาดสินค้าเท่ากับที่เปิดให้ ตามความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (Japan-Thailand Economic Partnership Agreement – JTEPA)

3. ญี่ปุ่นได้จัดตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจว่าด้วยความเชื่อมโยงของอาเซียน (Japan’s Task Force for ASEAN Connectivity) เพื่อเป็นกลไกประสานงานของญี่ปุ่นกับคณะกรรมการประสานงานเรื่องความเชื่อมโยงในอาเซียน (ASEAN Connectivity Coordinating Committee – ACCC) ซึ่งดูแลการผลักดันและติดตามการดำเนินการตามแผนแม่บทว่าด้วยความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน (Master Plan on ASEAN Connectivity) โดยได้มีการจัดประชุมครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2554 ที่เมืองเมดาน อินโดนีเซีย และครั้งล่าสุดเป็นครั้งที่ 6 เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2555 ที่กรุงพนมเปญ

4. ในการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น ครั้งที่ 18 เมื่อเดือนสิงหาคม 2555 อาเซียน-ญี่ปุ่นได้รับรอง ASEAN-Japan 10-Year Strategic Economic Cooperation Roadmap และได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องของแต่ละประเทศดำเนินการตาม Roadmap และให้ความสำคัญกับการส่งเสริมความร่วมมือเรื่องวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ระดับผู้เชี่ยวชาญในภาคอุตสาหกรรม ทรัพย์สินทางปัญญา เทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การจัดการสารเคมี และการป้องกันผลกระทบจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ

5. เมื่อปี 2524 อาเซียนและญี่ปุ่นได้จัดตั้งศูนย์อาเซียน-ญี่ปุ่น (ASEAN-Japan Centre) ที่กรุงโตเกียว (http://www.asean.or.jp/en) เพื่อส่งเสริมการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว

ความร่วมมือด้านสังคมและวัฒนธรรม

1. ญี่ปุ่นจัดโครงการแลกเปลี่ยนสำหรับนักศึกษาและเยาวชน หรือ Japan-East Asia Network of Exchange for Students and Youths – JENESYS เป็นระยะเวลา 5 ปี ระหว่างเดือนสิงหาคม 2550-กรกฎาคม 2555 โดยเชิญเยาวชนจากประเทศสมาชิกอาเซียน รวมถึงอินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ เยือนญี่ปุ่น และเยาวชนญี่ปุ่น เยือนอาเซียนและ 3 ประเทศดังกล่าว ซึ่งมีเยาวชนเข้าร่วมปีละประมาณ 6 พันคน เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจระหว่างกัน และสนับสนุนการแลกเปลี่ยนด้านการศึกษา นอกจากนี้ ในการประชุมสุดยอดอาเซียน-ญี่ปุ่น ครั้งที่ 14 ญี่ปุ่นได้เสนอโครงการแลกเปลี่ยนเยาวชนต่อเนื่องจาก JENESYS โดยจะเชิญเยาวชนอาเซียน 3 พันคน เยือนญี่ปุ่น ภายในเดือนมีนาคม 2556

2. ด้านสาธารณสุข ญี่ปุ่นให้ความช่วยเหลืออาเซียนในการสำรองยาทามิฟลู (Tamiflu) และ Personal Protective Equipment – PPE เพื่อเตรียมความพร้อมในกรณีที่มีการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดนก

ความร่วมมือด้านการพัฒนา

     ญี่ปุ่นสนับสนุนการรวมตัวของอาเซียน โดยได้จัดตั้งกองทุน Japan-ASEAN Integration Fund (JAIF) และยังเป็นผู้สนับสนุนรายใหญ่ที่สุดของกรอบข้อริเริ่มเพื่อการรวมตัวของอาเซียน (Initiative for ASEAN integration – IAI) นอกจากนี้ ยังริเริ่มความร่วมมือประเทศลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น (Mekong-Japan Cooperation) ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อลดช่องว่างด้านการพัฒนา โดยมีการประชุมระดับผู้นำแล้ว 4 ครั้ง (ครั้งล่าสุดเมื่อเดือนเมษายน 2555)

พัฒนาการล่าสุด

– ในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน – ญี่ปุ่น ครั้งที่ 15 เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2555 ที่กรุงพนมเปญ ที่ประชุม

1. เห็นพ้องให้จัดการประชุมสุดยอดอาเซียน – ญี่ปุ่น สมัยพิเศษ เพื่อฉลองครบรอบความสัมพันธ์ 40 ปี ในเดือนธันวาคม 2556 ที่กรุงโตเกียว

2. สนับสนุนการเร่งเจรจาความตกลงการค้าเสรีอาเซียน–ญี่ปุ่น ในภาคการค้าบริการและการลงทุนให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อส่งเสริมการค้าและการลงทุนได้อย่างเต็มที่ และเริ่มการเจรจา RCEP

3. อาเซียนขอให้ญี่ปุ่นสนับสนุนการสร้างประชาคมอาเซียนและการเชื่อมโยงอาเซียนภายใต้แผนแม่บทว่าด้วยความเชื่อมโยงของอาเซียน (Master Plan on ASEAN Connectivity)

4. เห็นพ้องที่จะส่งเสริมความร่วมมือด้านการบริหารจัดการภัยพิบัติ ผ่านกลไกต่างๆ ที่มีอยู่แล้ว อาทิศูนย์ประสานงานอาเซียนในการให้ความช่วยเหลือมนุษยธรรม (AHA Center) ที่กรุงจาการ์ตา ข้อริเริ่ม Disaster Management Network for the ASEAN Region การให้จัด ASEAN Regional Forum Disaster Relief Exercise (ARF DiREx) และยินดีกับความร่วมมือระหว่างศูนย์เตรียมความพร้อมป้องกันภัยพิบัติแห่งเอเชีย (Asian Disaster Preparedness Centre) ที่กรุงเทพฯ กับศูนย์ลดภัยพิบัติแห่งเอเชีย (Asian Disaster Reduction Centre) ที่เมืองโกเบ (ซึ่งเป็นข้อเสนอของไทยตั้งแต่การประชุมสุดยอดอาเซียน-ญี่ปุ่น ครั้งที่ 14 เมื่อเดือน พ.ย. 2554)

5. ขยายความร่วมมือเรื่องความมั่นคงด้านอาหารและพลังงาน โดยเฉพาะการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและพลังงานทางเลือก

6. ส่งเสริมความร่วมมือทางทะเล

7. การแลกเปลี่ยนเยาวชน โดยอาเซียนยินดีกับข้อเสนอของญี่ปุ่นในการส่งเสริมการแลกเปลี่ยนนักศึกษามหาวิทยาลัย ผ่านความร่วมมือการรับรองคุณภาพหลักสูตรการศึกษากับมหาวิทยาลัยในอาเซียน ตลอดจนกิจกรรมแลกเปลี่ยนเยาวชนอาเซียน-ญี่ปุ่น ภายใต้ Japan-East Asia Network for Students and Youths – JENESYS และยินดีกับโครงการแลกเปลี่ยนเยาวชน Kizuna Project

– ข้อเสนอของไทยในการประชุมสุดยอดอาเซียน-ญี่ปุ่น ครั้งที่ 15 เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2555 ได้แก่

1. สนับสนุนให้ญี่ปุ่นช่วยพัฒนาความเชื่อมโยงในภูมิภาค โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐาน ความเชื่อมโยง ด้านกฎระเบียบและโลจิสติกส์ และการพัฒนาขีดความสามารถในการบริหารจัดการความเชื่อมโยงในพื้นที่ชายแดนของไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน

2. สนับสนุนให้ญี่ปุ่นเพิ่มบทบาทในการลดช่องว่างด้านการพัฒนาและเศรษฐกิจในกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง-ญี่ปุ่น ตาม Tokyo Strategy 2012 และยืนยันความพร้อมของไทยในการเป็นหุ้นส่วนของญี่ปุ่นเพื่อช่วยพัฒนาประเทศในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง

3. การเพิ่มมูลค่าการค้าและการอำนวยความสะดวกการค้าและการลงทุน โดยใช้ประโยชน์จากความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-ญี่ปุ่น ให้เต็มประสิทธิภาพ

4. ส่งเสริมความร่วมมือด้านการจัดการภัยพิบัติระหว่าง Asian Disaster Reduction Centre (ADRC) ในญี่ปุ่น กับ Asian Disaster Preparedness Centre ( ADPC) ในไทย เช่น เทคโนโลยีการบริหารจัดการน้ำ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่มีความยืดหยุ่นต่อภัยพิบัติ และการส่งเสริมความร่วมมือด้านเทคโนโลยีดาวเทียมเพื่อการจัดการภัยพิบัติ

ความสัมพันธ์อาเซียน-จีน

ภูมิหลัง

     ความสัมพันธ์อาเซียน-จีนเริ่มต้นขึ้นเมื่อนายเฉียน ฉีเซิน (Qian Qichen) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจีน เข้าร่วมพิธีเปิดการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ครั้งที่ 24 เมื่อเดือน ก.ค. 2534 ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ในฐานะแขกของรัฐบาลมาเลเซีย ต่อมา จีนได้รับสถานะคู่เจรจาอย่างเต็มรูปแบบของอาเซียนในปี 2539

     ในปี 2549 มีการจัดประชุมสุดยอดอาเซียน-จีน สมัยพิเศษ เพื่อฉลองครบรอบ 15 ปี ความสัมพันธ์อาเซียน-จีน ที่นครหนานหนิง และในปี 2554 อาเซียนและจีนได้จัดการประชุมสุดยอด อาเซียน-จีน ครั้งที่ 14 สมัยพิเศษ เพื่อฉลองครบรอบ 20 ปี ความสัมพันธ์อาเซียน-จีน ที่บาหลี

ความร่วมมือด้านการเมืองความมั่นคง

1. จีนเป็นประเทศคู่เจรจาแรกของอาเซียนที่ภาคยานุวัติสนธิสัญญามิตรภาพและความร่วมมือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (TAC) ในระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียน–จีน ครั้งที่ 7 เมื่อเดือน ต.ค. 2546 ที่บาหลี และยังเป็นประเทศแรกที่แสดงความพร้อมที่จะลงนามในพิธีสารต่อท้ายสนธิสัญญาว่าด้วยการจัดตั้งเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEANWFZ)

2. ต่อปัญหาข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ ความร่วมมือในกรอบอาเซียน-จีน มีส่วนช่วยยับยั้ง และคลี่คลายความขัดแย้งไม่ให้ขยายตัว โดยในการประชุมสุดยอดอาเซียน–จีน ครั้งที่ 6 เมื่อวันที่ 4 พ.ย. 2545 ที่กรุงพนมเปญ ผู้นำอาเซียนและจีนได้ร่วมลงนามปฏิญญาว่าด้วยการปฏิบัติของภาคีในทะเลจีนใต้ (Declaration on the Conduct of Parties in the South China Sea – DOC) อีก 9 ปีต่อมา ที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน–จีน ครั้งที่ 44 เมื่อวันที่ 21 ก.ค. 2554 ที่บาหลี ได้ให้การรับรองแนวทางการปฏิบัติตาม DOC (Guidelines on the Implementation of the DOC) เพื่อให้เกิดความชัดเจนเกี่ยวกับการดำเนินการตาม DOC

3. รัฐบาลชุดใหม่ของจีนภายใต้การนำของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง (Xi Jinping) ได้ให้ความสำคัญต่อ การพัฒนาความสัมพันธ์กับอาเซียนโดยยึดหลัก 3 ประการ ได้แก่

– การพัฒนาความสัมพันธ์ฉันมิตรและให้ความสำคัญกับอาเซียนในลำดับต้นของการดำเนินนโยบายการต่างประเทศของจีน

– การพัฒนาความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างอาเซียนกับจีนให้รอบด้านและลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น

– การแก้ไขข้อพิพาทในทะเลจีนใต้กับประเทศสมาชิกอาเซียนบางประเทศผ่านการเจรจาหารือที่เป็นมิตรต่อกัน การพูดคุยที่เสมอภาค และมีความร่วมมือที่เอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน

ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ

1. ความตกลงทางเศรษฐกิจ จีนเป็นประเทศคู่เจรจาแรกที่เสนอให้มีการจัดตั้งเขตการค้าเสรีกับอาเซียน โดยทั้งสองฝ่ายได้ร่วมลงนามกรอบความตกลงความร่วมมือทางเศรษฐกิจ (Framework Agreement on Comprehensive Economic Cooperation) เมื่อเดือน พ.ย. 2545 ซึ่งกำหนดเป้าหมาย ให้มีการจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียน–จีน กับประเทศสมาชิกอาเซียนเก่า (6 ประเทศ) ให้แล้วเสร็จภายในปี 2553 และกับประเทศสมาชิกใหม่ (4 ประเทศ) ภายในปี 2558 ต่อจากนั้น ทั้งสองฝ่ายได้ร่วมลงนามความตกลงว่าด้วยการค้าสินค้าและกลไกการระงับข้อพิพาทในปี 2547 ความตกลงว่าด้วยการค้าบริการในปี 2550 และความตกลงว่าด้วยการลงทุนในปี 2552

2. การค้า ที่ประชุมสุดยอดอาเซียน–จีน ครั้งที่ 13 เมื่อเดือน ต.ค. 2553 ทั้งสองฝ่ายได้ตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มปริมาณการค้าระหว่างกันเป็น 500,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และตั้งเป้าหมายการลงทุนใหม่จากจีนในภูมิภาคเป็น 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2558 ทั้งนี้ ในปี 2553 จีนได้ก้าวขึ้นมาเป็นประเทศคู่ค้าอันดับ 1 ของอาเซียน ในขณะที่อาเซียนเป็นคู่ค้าอันดับ 3 ของจีน รองจากสหภาพยุโรปและสหรัฐฯ สำหรับการค้าอาเซียน-จีน ในปี 2555 มีมูลค่า 318,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.6 จากปี 2554)

3. สินเชื่อ ในการประชุมสุดยอดอาเซียน-จีน ครั้งที่ 14 เมื่อเดือน พ.ย. 2554 จีนประกาศเพิ่มวงเงินสินเชื่อแก่ประเทศสมาชิกอาเซียนอีก 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (จากเดิมที่ประกาศไปแล้วจำนวน 15,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อปี 2552) ซึ่งในจำนวนนี้เป็นสินเชื่อพิเศษ (preferential loans) จำนวน 4,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อใช้ในโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและเครือข่ายการเชื่อมโยงทางคมนาคม รวมทั้งโครงการเพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชน

4. ความร่วมมือเพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจ ได้แก่
– การจัดตั้งศูนย์ ASEAN ChinaFTA Business Portal (www.asean-cn.org) ซึ่งเป็นโครงการที่แต่ละประเทศสมาชิกจะรวบรวมข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับกิจกรรมส่งเสริมการค้าของประเทศตนกับจีน และนำส่งให้ฝ่ายเลขานุการคณะทำงาน (ASEC) ในวันที่ 28 ของทุกเดือน โดยในส่วนของไทย กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เป็นหน่วยงานหลักที่ดูแลรับผิดชอบการปรับปรุงข้อมูลที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจและการค้า ภายใต้กรอบเขตการค้าเสรีอาเซียน–จีน
– การเปิดสำนักงานสาขาของสมาคมส่งเสริมการค้าและ เศรษฐกิจอาเซียน–จีน ที่เมืองอี๋อู และเมืองเวิ่นโจว ภายใต้กรอบเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน เมื่อวันที่ 6 ม.ค. 2554 ซึ่งถือเป็นความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนเป็นครั้งแรก

5. ศูนย์อาเซียน-จีน ที่กรุงปักกิ่ง (www.asean-china-center.org) มีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการในช่วงการประชุมสุดยอดอาเซียน–จีน ครั้งที่ 14 เมื่อเดือน พ.ย. 2554 เพื่อทำหน้าที่ส่งเสริมการค้าและการลงทุน การท่องเที่ยว การแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชน และเป็นศูนย์บริการข้อมูลทั่วไป เกี่ยวกับอาเซียน-จีน

6. การจัดงานแสดงสินค้าอาเซียน – จีน (China – ASEAN Expo – CAEXPO) เป็นข้อริเริ่มของจีนซึ่งได้เสนอต่อที่ประชุมสุดยอดอาเซียน-จีน ที่บาหลี เมื่อปี 2546 โดยได้จัดขึ้นครั้งแรกในปี 2547 หลังจากนั้น ได้มีการจัดอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปีที่นครหนานหนิง เขตเศรษฐกิจพิเศษกว่างซีจ้วงซึ่งรัฐบาลจีนประสงค์ที่จะส่งเสริมให้เป็นประตูการค้ากับอาเซียน

ล่าสุด CAEXPO ครั้งที่ 10 มีขึ้นระหว่างวันที่ 3 – 6 ก.ย. 2556 โดยมีนายกรัฐมนตรีจีน และผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียนเข้าร่วม ได้แก่ นายกรัฐมนตรีไทย ประธานาธิบดีเมียนมาร์ นายกรัฐมนตรีกัมพูชา นายกรัฐมนตรีลาว นายกรัฐมนตรีเวียดนาม รองนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ และเลขาธิการอาเซียน ส่วนอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และบรูไนฯ ได้มอบหมายรัฐมนตรีการค้าเป็นผู้แทนเข้าร่วม และมีหัวข้อหลัก (theme) คือ “Regional Cooperation and Development: New Opportunities, New Impetus and New Stage” ในงานประกอบด้วยการจัดคูหาแสดงสินค้าส่งออกของจีนและของอาเซียน และกิจกรรมคู่ขนานอื่นๆ อาทิ Forum on China–ASEAN Free Trade Area และ China-ASEAN Business and Investment Summit ครั้งที่ 10 (10th CABIS) การประชุมรัฐมนตรีคมนาคมอาเซียน-จีน ว่าด้วยความเชื่อมโยง (ASEAN-China Transport Ministers’ Meeting on Connectivity) และการประชุม และนิทรรศการอาชีวศึกษาอาเซียน–จีน (2013 China-ASEAN Vocational Education Exhibition and Forum) เป็นต้น

7. ด้านการเกษตร อาเซียนและจีนได้ร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือ ด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืชอาเซียน-จีน (ASEAN-China MoU on Strengthening Sanitary and Phytosanitary Cooperation (SPS)) เมื่อวันที่ 20 พ.ย. 2550 ซึ่งครอบคลุมความร่วมมือหลัก 5 ด้าน คือ การจัดทำระบบแลกเปลี่ยนข้อมูล การแลกเปลี่ยนการเยือน การสัมมนา/ฝึกอบรม การทำวิจัยร่วม และการสร้างกลไกเวทีหารือระหว่างภาคี ล่าสุด จีนเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีอาเซียน-จีน ด้านการควบคุมคุณภาพ การตรวจสอบและการกักกัน (ASEAN-China Ministerial Meeting on Quality Supervision, Inspection and Quarantine: SPS Cooperation) ครั้งที่ 3 ระหว่างวันที่ 19 – 22 ก.ย. 2555 ที่นครหนานหนิง โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมดังกล่าว ซึ่งที่ประชุมฯ ได้ให้ความเห็นชอบต่อแผนปฏิบัติการช่วงปี 2556-2557 และให้มีการต่ออายุบันทึกความเข้าใจฯ ที่จะสิ้นสุดการบังคับใช้ในเดือน พ.ย. 2555 ออกไปอีก 1 ปี โดยขณะนี้อยู่ระหว่างร่างบันทึกความเข้าใจฉบับใหม่เพื่อลงนามในปลายปี 2557 นอกจากนี้ ในการประชุมรัฐมนตรีอาเซียน ด้านการเกษตรและป่าไม้ (ASEAN Ministers on Agriculture and Forestry – AMAF) ครั้งที่ 35 ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย เมื่อวันที่ 27 ก.ย. 2556 อาเซียนและจีน ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านอาหารและการเกษตร (ASEAN-China MoU on Food and Agriculture Cooperation) เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านการพัฒนาศักยภาพ การวิจัยและพัฒนา และการถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านอาหารและการเกษตร และความมั่นคงทางอาหารระหว่างกัน

8. ด้านการท่องเที่ยว ในการประชุมสุดยอดอาเซียน–จีน ครั้งที่ 13 เมื่อเดือน ต.ค. 2553 จีนให้คำมั่นว่าจะเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวระหว่างกันเป็น 15 ล้านคน ภายในปี 2558 ทั้งนี้ ในปี 2555 มีนักท่องเที่ยวจากจีนเดินทางมายังอาเซียนจำนวน 8.7 ล้านคน มากเป็นอันดับที่ 1 แทนที่นักท่องเที่ยวจากสหภาพยุโรป โดยเพิ่มขึ้นจากปี 2554 ซึ่งมีจำนวน 7.3 ล้านคน ในขณะที่มีนักท่องเที่ยวจากอาเซียนไปจีน 5.9 ล้านคน

9. ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อาเซียน-จีน ได้เห็นพ้องตามข้อเสนอของจีนให้ ปี 2555 เป็นปีแห่งความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และมีการจัดการประชุมระดับรัฐมนตรี ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอาเซียน-จีน ขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 22 ก.ย. 2555 ที่นครหนานหนิง โดยจีนได้เสนอโครงการความเป็นหุ้นส่วนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอาเซียน-จีน (China – ASEAN Science and Technology Partnership Program – STEP) เพื่อพัฒนาความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ระหว่างกัน โดยมอบหมายให้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของจีน คณะกรรมการอาเซียนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (ASEAN Committee on Science and Technology – COST) และหน่วยงานภาครัฐด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอาเซียน-จีน เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินความร่วมมือ โดยภายใต้กรอบ STEP จีนได้เสนอจัดตั้งห้องปฏิบัติการร่วมในประเทศสมาชิกอาเซียน ซึ่งจีนจะให้การสนับสนุนด้านงบประมาณและอุปกรณ์มูลค่า 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ การแบ่งปันข้อมูลจากดาวเทียมระยะไกล การจัดตั้งศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยี และโครงการแลกเปลี่ยนนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ ล่าสุดอาเซียนและจีนอยู่ระหว่างการจัดทำบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม

ความร่วมมือด้านการพัฒนา สังคม และวัฒนธรรม

1. ความร่วมมือด้านการพัฒนา อาเซียน-จีน มีความร่วมมือด้านการพัฒนาใน 11 สาขาหลัก ได้แก่

1. การเกษตร
2. เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือ ICT
3. การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์
4. การพัฒนาลุ่มแม่น้ำโขง
5. การลงทุน
6. พลังงาน
7. การขนส่ง
8. วัฒนธรรม
9. สาธารณสุข
10. การท่องเที่ยว
11. สิ่งแวดล้อม

นอกจากนี้ จีนยังสนับสนุนความพยายามของอาเซียน ในการลดช่องว่างด้านการพัฒนาโดยผ่านการดำเนินโครงการความร่วมมือภายใต้แนวคิดริเริ่ม สำหรับการบูรณาการของอาเซียน (Initiative for ASEAN Integration – IAI) และอนุภูมิภาคที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจ ได้แก่ ASEAN – Mekong Basin Development Cooperation (AMBDC) และ Brunei – Indonesia – Malaysia – Philippines East ASEAN Growth Area (BIMP – EAGA)

2. ด้านการศึกษา จีนได้จัดตั้งศูนย์อาชีวศึกษาและฝึกอบรมจำนวน 10 แห่ง ใน 6 มณฑลของจีน ได้แก่ กว่างซี ยูนนาน ฝูเจี้ยน เสฉวน กุ้ยโจว และเฮยหลงเจียง และจะเพิ่มจำนวนทุนการศึกษาให้แก่ประเทศสมาชิกอาเซียน รวมทั้งส่งเสริมการแลกเปลี่ยนนักเรียนนักศึกษาให้ได้ 100,000 คน ภายในปี 2563 เพื่อส่งเสริมความเข้าใจอันดีและเสริมสร้างมิตรภาพในภาคประชาชนให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

3. ด้านสาธารณสุข ในระหว่างการประชุมระดับรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขอาเซียน-จีน เมื่อวันที่ 6 ก.ค. 2555 ที่จังหวัดภูเก็ต ได้มีการลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านสาธารณสุข ระหว่างอาเซียน-จีน

บทบาทของไทย

1. ไทยเป็นผู้ริเริ่มแนวคิดการจัดตั้งศูนย์อาเซียน–จีน ที่กรุงปักกิ่ง โดยไทยเป็นประเทศแรกที่ส่ง เจ้าหน้าที่ไปปฏิบัติหน้าที่ที่ศูนย์อาเซียน–จีน ในตำแหน่งผู้อำนวยการหน่วยสารสนเทศและประชาสัมพันธ์ (Director of Information and Public Relations Unit) เมื่อเดือน มิ.ย. 2556 เพื่อสะท้อนถึงความสำคัญที่ไทยให้ต่อจีน

2. จัดโครงการสำรวจศักยภาพเส้นทางสาย R 3A (จากจังหวัดเชียงรายไปยังนครคุนหมิงโดยผ่านภาคเหนือของลาว) โดยเชิญรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนเข้าร่วม เมื่อวันที่ 23 – 24 ม.ค. 2554

3. ไทยรับตำแหน่งประเทศผู้ประสานงานความสัมพันธ์อาเซียน-จีน เป็นระยะเวลา 3 ปี (เดือน ก.ค. 2555 – ก.ค. 2558) สืบต่อจากเวียดนาม โดยไทยตั้งเป้าหมายที่จะพัฒนาความสัมพันธ์ และความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับจีนให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้นในทุก ๆ ด้าน โดยเฉพาะความร่วมมือใน 11 สาขา รวมทั้งมุ่งส่งเสริม 3 ประเด็นหลัก หรือ 3Cs ได้แก่ การสร้างประชาคม (Community Building) การส่งเสริมความเชื่อมโยง (Connectivity) และการจัดทำแนวปฏิบัติในทะเลจีนใต้ (Regional Code of Conduct in the South China Sea: COC)

พัฒนาการล่าสุด

1. การเฉลิมฉลองครบรอบ 10 ปี ของความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์อาเซียน-จีนในการประชุมสุดยอดอาเซียน-จีน ครั้งที่ 15 จีนได้เสนอให้ปี 2556 เป็นปีแห่งการฉลองครบรอบ 10 ปี ของความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์อาเซียน-จีน ซึ่งสถาปนาขึ้นในปี 2546 โดยทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะดำเนินโครงการ/กิจกรรมต่าง ๆ เพื่อร่วมฉลองในจีนและประเทศสมาชิกอาเซียน โดยกิจกรรมสำคัญ ได้แก่ (1) High Level Forum on 10th Anniversary of ASEAN-China Strategic Partnership เมื่อวันที่ 2 ส.ค. 2556 ที่กรุงเทพฯ (2) การจัด Special ASEAN-China Foreign Ministers’ Meeting ที่กรุงปักกิ่ง ระหว่างวันที่ 28-30 ส.ค. 2556 (3) การจัด Roadshow ของรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนในจีน ช่วงเดือน ต.ค. 2556

2. การประชุมสุดยอดอาเซียน–จีน ครั้งที่ 16 เมื่อวันที่ 9 ต.ค. 2556 ที่บันดาร์เสรีเบกาวัน บูรไนฯ

– ที่ประชุมฯ ได้รับรองแถลงการณ์ร่วมของการประชุมสุดยอดอาเซียน-จีน ครั้งที่ 16 ว่าด้วยการฉลองครบรอบ 10 ปี ของความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์อาเซียน-จีน (Joint Statement on Commemoration of the 10th Anniversary of ASEAN-China Strategic Partnership) ซึ่งเป็นเอกสาร แสดงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับทิศทางในการส่งเสริมความสัมพันธ์ ความร่วมมือ และความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างอาเซียนกับจีน โดยมีเป้าหมายสำคัญเพื่อคงความเป็นเพื่อนบ้านที่ดี มิตรที่ดี และหุ้นส่วนที่ดี เพื่อประโยชน์ร่วมกัน รวมทั้งยกระดับความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์อาเซียน – จีนให้ใกล้ชิดแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น เพื่อเป็นเสาหลักสำคัญในการเสริมสร้างสันติภาพ เสถียรภาพ และความเจริญรุ่งเรืองของภูมิภาค
– จีนได้เสนอข้อเสนอ 2+7 ซึ่งที่ประชุมฯ เห็นพ้องและให้การสนับสนุน โดยข้อเสนอของจีนมุ่งที่จะส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์อาเซียน-จีน และแสวงหาฉันทามติใน 2 ประเด็นหลัก คือ(1) การส่งเสริมความไว้เนื้อเชื่อใจเชิงยุทธศาสตร์ และ (2) การพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจ สำหรับข้อเสนอ 7 ประการ ได้แก่

1. หารือเกี่ยวกับการลงนามสนธิสัญญาว่าด้วยความเป็นเพื่อนบ้านที่ดี มิตรภาพและความร่วมมืออาเซียน-จีน
2. การเพิ่มพูนการแลกเปลี่ยนและขยายความร่วมมือด้านความมั่นคง โดยจีนเสนอให้ พัฒนากลไกการหารือระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมอาเซียน-จีน และส่งเสริมความร่วมมือด้าน การป้องกันและการบรรเทาภัยพิบัติ ความมั่นคงทางไซเบอร์ อาชญากรรมข้ามชาติ การบังคับใช้กฎหมายร่วมกัน และความมั่นคงรูปแบบใหม่
3. การยกระดับความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน (ACFTA) การกำจัดมาตรการกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษี กำหนดเป้าหมายการค้าใหม่ในปี 2563 เป็น 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และ สนับสนุนการเจรจา RCEP
4. การส่งเสริมความเชื่อมโยง และพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐาน โดยจีนเสนอจัดตั้ง กลไกระดมทุนของภูมิภาคในรูปแบบของการจัดตั้งธนาคารเพื่อการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชีย (Asian Infrastructure Investment Bank)
5. การเสริมสร้างความแข็งแกร่งของความร่วมมือด้านการเงินในภูมิภาค เพื่อรับมือกับความผันผวนของเศรษฐกิจโลก รวมทั้งเพิ่มพูนความร่วมมือด้านการเงินผ่านมาตรการริเริ่มเชียงใหม่ไปสู่การเป็นพหุภาคี (Chiang Mai Initiative Multilateralization: CMIM) ในกรอบความร่วมมืออาเซียน+3
6. การพัฒนาความเป็นหุ้นส่วนร่วมมือทางทะเลอาเซียน-จีน ที่ครอบคลุมสาขาต่าง ๆ อาทิ ความเชื่อมโยงทางทะเล การค้นหาและกู้ภัยทางทะเล โดยจีนให้ความสำคัญเป็นพิเศษในเรื่องการประมง รวมทั้งผลักดันการสร้างเส้นทางสายไหมทางทะเล (Maritime Silk Road) ในศตวรรษที่ 21
7. การส่งเสริมการแลกเปลี่ยนด้านวัฒนธรรม โดยจีนเสนอให้ปี 2557 เป็นปีแห่งการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมอาเซียน-จีน นอกจากนี้ จีนได้ประกาศผลักดันความร่วมมือด้านการศึกษาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การสาธารณสุข โดยมุ่งเน้นการสร้างเครือข่ายความเชื่อมโยงในระดับเยาวชนนักวิชาการ ตลอดจนสื่อมวลชน และประกาศจะมอบทุนการศึกษาของรัฐบาลสำหรับนักเรียนนักศึกษา จากอาเซียนจำนวน 15,000 ทุน ภายใน 3-5 ปี โดยเริ่มตั้งแต่ปี 2557

– ที่ประชุมยินดีที่อาเซียนและจีนเริ่มการหารือเรื่องการจัดทำแนวปฏิบัติของภาคีในทะเลจีนใต้ (COC) อย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรกในระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส และสนับสนุนการปฏิบัติตาม DOC อย่างเต็มที่ และมีประสิทธิภาพ เพื่อเสริมสร้างบรรยากาศของความร่วมมือ ความเชื่อมั่นและความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกัน ควบคู่ไปกับการรักษาพลวัตของการหารือเรื่อง COC

– สนับสนุนข้อเสนอของไทยให้ความเชื่อมโยงเป็นหนึ่งในสาขาความร่วมมือเร่งด่วน ในกรอบอาเซียน-จีน และยินดีกับข้อเสนอของจีนที่ให้มีการจัดตั้งกลไกระดมทุนในภูมิภาคเพื่อส่งเสริมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน

ขอขอบคุณข้อมูลจาก ศูนย์การเรียนรู้อาเซียน กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น