เมื่อสื่อไร้เสรีภาพ ความแตกแยกจะยังคงอยู่ – มุมมองเกษมสันต์

0
619

เมื่อสื่อไร้เสรีภาพ ความแตกแยกจะยังคงอยู่

3 พฤษภาคม ที่ผ่านมาเป็น วันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก ซึ่งกำหนดโดยองค์การสหประชาชาติมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2536 และทุกปีนักข่าวไร้พรมแดน (Reporters Without Borders) องค์กรที่ไม่แสวงหากำไรเอกชนนานาชาติซึ่งสนับสนุนและปกป้องเสรีภาพสื่อและเสรีภาพข้อมูลข่าวสาร ก็จะจัดทำดัชนีเสรีภาพสื่อ (World Press Freedom) เพื่อเปรียบเทียบเสรีภาพของสื่อในแต่ละประเทศ

ผลการจัดอันดับปี 2564 กลุ่มประเทศสแกนดิเนเวียก็ยังคงกินรวบคว้าตั้งแต่ตำแหน่งที่ 1 ถึงที่ 4 โดยไม่แบ่งให้กลุ่มประเทศอื่นเข้าไปแทรกได้เลย โดยนอร์เวย์ยังเป็นที่ 1 ประเทศที่สื่อมวลชนมีเสรีภาพมากที่สุดในโลกได้ติดต่อกันมาเป็นเวลา 5 ปีแล้ว ตามมาด้วยฟินแลนด์ ซึ่งครองอันดับ 2 ติดต่อกันเป็นปีที่สาม ตามมาด้วยสวีเดนที่พลิกกลับมาทวงอันดับ 3 คืนจากเดนมาร์กซึ่งถูกผลักหล่นลงไปที่ 4

สำหรับการชิงอันดับที่ 5 ปรากฏว่าคอสตาริกา ซึ่งเคยได้อันดับที่ 7 และ 10 ในปีพ.ศ. 2563 และ 2562 ทำได้ดีทะลุขึ้นมาติดอันดับที่ 5 เบียดเอาเนเธอร์แลนด์และจาเมกา หล่นลงไปคนละหนึ่งอันดับ ไปอยู่ที่ 6 และ 7 ตามลำดับ ขณะที่นิวซีแลนด์ซึ่งเป็นประเทศในกลุ่มอาเซียนบวก 6 เพียงหนึ่งเดียวของเราที่สื่อมีเสรีภาพดีที่สุดในกลุ่ม 10 อันดับแรกเป็นปีที่สี่ติดกันแล้ว ในปีนี้สามารถเบียดแซงขึ้นมาอยู่อันดับที่ 8 จากเดิมที่เคยได้อันดับที่ 9 เบียดให้โปรตุเกสได้อันดับที่ 9 และสวิสเซอร์แลนด์ได้อันดับที่ 10

ส่วนใน AEC ปรากฎว่ามาเลเซียซึ่งเมื่อปีที่แล้วสื่อเคยมีเสรีภาพมากที่สุดในกลุ่ม คืออยู่ในอันดับที่ 101 ของโลก และถูกเขียนไว้ในรายงานของนักข่าวไร้พรมแดนเลยว่าเป็นประเทศที่สื่อมวลชนมีเสรีภาพมากขึ้นที่สุดในโลกคือดีขึ้นถึง 22 อันดับจากที่เคยได้อันดับที่ 123 และ 145 ในปีพ.ศ. 2562 และพ.ศ. 2561 ทั้งนี้เหตุผลที่ทำให้ปีที่แล้วสื่อมวลชนในมาเลเซียมีเสรีภาพมากขึ้นที่สุดในโลกก็เพราะมีการเลือกตั้งและมีการเปลี่ยนรัฐบาลนั่นเอง แต่พอมาถึงปีพ.ศ. 2564 นี้เสรีภาพของสื่อในมาเลเซียกลับตกลงไปมากที่สุดในโลกคือตกมากถึง 18 อันดับหล่นลงไปอยู่ที่ 119 ก็เพราะมีการออกกฎหมายต่อต้านเฟคนิวส์ที่เปิดช่องให้รัฐบาลสามารถเอาข่าวที่รัฐบาลมองว่าเป็น “ข่าวจริง” มาเผยแพร่แทนนั่นเอง นับว่ามาเลเซียเป็นประเทศที่เสรีภาพของสื่อมวลชนสวิงไปกลับมากที่สุดในโลกติดกันถึงสองปีซ้อนเลยทีเดียว

อินโดนีเซียซึ่งปีที่แล้วเคยได้อันดับที่ 119 จึงสามารถแซงมาเลเซียกลับขึ้นไปอยู่อันดับที่ 113 กลายเป็นประเทศที่สื่อมีเสรีภาพมากที่สุดใน AEC ได้อีกครั้งหลังจากที่เคยเป็นแชมป์มาในช่วงปีพ.ศ. 2560-61 ส่วนอันดับสามของ AEC ซึ่งปีที่แล้วเป็นของฟิลิปปินส์ซึ่งได้อันดับที่ 136 ของโลกมาปีนี้โดนไทยซึ่งปีที่แล้วอยู่ในอันดับที่ 5 ของ AEC และเป็นอันดับที่ 140 ของโลกเบียดแซงขึ้นมาได้อย่างฉิวเฉียดเพราะไทยได้อันดับที่ 137 ของโลก ส่วนฟิลิปปินส์ได้อันดับที่ 138 ของโลก ตามมาด้วยเมียนมาร์ ซึ่งปีนี้ได้อันดับที่ 140 หล่นลงมาจากอันดับที่ 139 ในปีที่แล้ว

เมียนมาร์นั้นเป็นอีกหนึ่งประเทศที่สื่อมวลชนมีเสรีภาพมากขึ้นอย่างน่าสนใจเพราะเมื่อปี พ.ศ. 2553 สื่อมวลชนของเมียนมาร์นั้นยังมีเสรีภาพอยู่ที่อันดับ 174 ของโลกมีเสรีภาพน้อยที่สุดใน AEC และเกือบจะน้อยที่สุดในโลก แต่หลังจากนั้นเป็นต้นมาสื่อมวลชนในเมียนมาร์ก็เริ่มมีเสรีภาพมากขึ้นเรื่อยๆ แต่จากนี้เป็นต้นไปหลังจากมีการยึดอำนาจ เราคงเห็นสื่อในเมียนมาร์มีเสรีภาพน้อยลงเรื่อยๆ

อันดับหกถึงสิบของ AEC ปีนี้ยังคงเป็นกลุ่มเดิมอันดับเดิมเหมือนเมื่อปีที่แล้ว คือ หก กัมพูชา อันดับที่ 144 เจ็ด บรูไนอันดับที่ 154 แปด สิงคโปร์ อันดับที่ 160 เก้า สปป.ลาวอันดับที่ 172 และสิบ เวียดนามรั้งท้ายเช่นเดิมอยู่อันดับที่ 175 ของโลก

อาจจะเป็นเพราะรูปแบบการปกครองด้วยพรรคคอมมิวนิสต์ทำให้สื่อมวลชนในสปป.ลาวและเวียดนามถูกควบคุมอย่างใกล้ชิดเหมือนๆกับในจีนซึ่งสื่อมวลชนก็มีเสรีภาพน้อยมาก จนแทบจะน้อยที่สุดในโลกก็ว่าได้ ปีพ.ศ. 2564 สื่อมวลชนจีนมีเสรีภาพคงที่อยู่ที่อันดับ 177 จากทั้งหมด 180 ประเทศที่มีการจัดอันดับ ถ้าหากไม่มีประเทศเช่นเติร์กเมนิสถาน (ประเทศในเอเชียกลาง) เกาหลีเหนือ และเอริเทรีย (ประเทศในแอฟริกาตะวันออก) ซึ่งได้อันดับที่ 178-80 ตามลำดับ สื่อจีนก็คงจะครองแชมป์สื่อที่มีเสรีภาพน้อยที่สุดในโลกได้อย่างแน่นอน

อันดับของประเทศอื่นๆในอาเซียนบวก 6 คือ ออสเตรเลีย อันดับที่ 25 เกาหลีใต้ อันดับที่ 42 ญี่ปุ่น อันดับที่ 67 และอินเดียได้อันดับที่ 142 โดยเสรีภาพของสื่อมวลชนในกลุ่มประเทศนี้ยังคงใกล้เคียงเมื่อปีที่แล้ว ส่วนติมอร์เลสเตที่สนใจจะเป็นสมาชิก AEC นั้นสื่อมวลชนมีเสรีภาพดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปีนี้ได้อันดับที่ 71 ดีขึ้นจากอันดับที่ 78 เมื่อปีที่แล้ว และดีขึ้นกว่าอันดับที่ 95 ในปีพ.ศ. 2561 เป็นอย่างมาก เช่นเดียวกับภูฏาน ซึ่งเคยอยู่อันดับที่ 94 ในปีพ.ศ. 2561 แต่ปีล่าสุดนี้อยู่อันดับที่ 65 ของโลกเลยทีเดียว

นักข่าวไร้พรมแดนสรุปว่าในช่วงการระบาดของโควิด-19 นี้ รัฐบาลในหลายประเทศได้ฉวยโอกาสนี้ควบคุมสื่ออย่างเข้มงวดมากยิ่งขึ้นอย่างน่ากังวลใจ ใน 180 ประเทศมีถึง 73 ประเทศที่สื่อมวลชนโดนรัฐบาลควบคุมอย่างหนัก และมีอีก 59 ประเทศที่รัฐบาลเข้ามาควบคุมสื่อมากยิ่งขึ้น โดยภาพรวมเสรีภาพของสื่อมวลชนโลกยังคงมีปัญหาอยู่มาก

เมื่อสื่อมวลชนไร้เสรีภาพ ความจริงทั้งหลายที่ประชาชนควรจะได้รับรู้ก็ย่อมจะไม่ปรากฏ และถ้าสื่อมวลชนไร้จรรยาบรรณและจริยธรรมอีกด้วย โอกาสที่ประชาชนจะได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องก็จะลดน้อยลงไปอีก เมื่อความจริงไม่ปรากฏ การถกเถียงกันอย่างสร้างสรรค์บนข้อเท็จจริงก็คงจะเกิดขึ้นไม่ได้ เมื่อถกเถียงกันบนข้อเท็จจริงอย่างเปิดเผยไม่ได้ความแตกแยกก็จะยังคงดำรงอยู่และรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ และนี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทยในขณะนี้

เมื่อสื่อไร้เสรีภาพ ความแตกแยกจะยังคงอยู่
เมื่อสื่อไร้เสรีภาพ
[smartslider3 slider="9"]