AEC for Happy Family : รักษ์โลกรักษ์น้ำ

0
411
AEC for Happy Family : รักษ์โลกรักษ์น้ำ

AEC for Happy Family กับเกษมสันต์ ฉบับเดือนเมษายน 2559
ตอน รักษ์โลกรักษ์น้ำ
ถึงเดือนเมษายนทุกปีคนไทยเราก็หนีไม่พ้นที่จะบ่นเรื่องร้อน คุณแม่คุณพ่อก็คงจะเช่นกันใช่มั้ยครับ แต่ผู้ใหญ่ เราบ่นๆเรื่องร้อน บ่นเสร็จก็ต้องทำงานกันต่อ แต่เด็กๆสิครับ บ่นเรื่องร้อนเสร็จก็ต้องหาวิธีไปเล่นน้ำแก้ร้อนกัน แต่ที่ต้องเริ่มสอนกันตั้งแต่ตอนนี้ก็คือลูกรักของคุณแม่คุณพ่อนี่อีกหน่อยจะต้องโตมาในโลกที่น้ำสะอาดจะหาได้ยากขึ้นทุกที เชื่อมั้ยครับวันนี้มีคนบนโลกนี้ราวๆ 650 ล้านคนที่ยังไม่มีน้ำสะอาดใช้อุปโภคบริโภค เฉพาะใน อินเดียประเทศเดียวก็เกือบ 76 ล้านคนเข้าไปแล้วมากกว่าคนไทยทั้งประเทศเสียอีก การใช้น้ำอย่างระมัดระวัง และรู้คุณค่าของน้ำจึงควรจะเป็นถูกสร้างให้เป็นนิสัยของลูกรักและคนทุกคนบนโลกใบนี้นะครับ


เมืองไทยของเราว่าไปแล้วฝนตกปีหนึ่งๆก็ไม่น้อยนะครับ ดูจากสถิติจะพบว่าเมืองไทยฝนตกปีละ 1,572 มิลลิเมตรมากกว่าค่าเฉลี่ยฝนตกของทั้งโลกซึ่งอยู่ที่ 1,050 มม.แล้วเปรียบเทียบกับพื้นที่รับฝนที่มากกว่าห้าแสน ตารางกิโลเมตรผมคิดว่าเมืองไทยได้รับฝนปีหนึ่งๆมากพอสมควร แต่ที่เราเจอปัญหาน้ำท่วมสลับน้ำแล้งกันทุก ปีๆนี่ เป็นเพราะเราบริหารจัดการน้ำไม่ดีมากกว่าเป็นเรื่องฝนน้อย คิดดูสิครับพอถึงหน้าฝนเราก็เร่งระบายน้ำทิ้ง ลงทะเลแล้วอีกสองสามเดือนต่อมาก็ประกาศว่าไทยเราขาดน้ำ บริหารจัดการดีหรือไม่ดีลองคิดดูก็แล้วกันครับ
ที่สิงคโปร์แม้ว่าฝนจะตกที่บ้านเขาปีละ 2,400 มม.ซึ่งดูเหมือนจะเยอะกว่าฝนในเมืองไทย แต่ถ้าคิดถึงพื้นที่รับฝน ของเขาที่มีไม่ถึง 700 ตารางกิโลเมตรและต้องจัดการให้มีน้ำเพียงพอกับคนของเขาที่มี 5 ล้านคนเศษแล้วนับว่า สิงคโปร์นี่เป็นประเทศที่ขาดแคลนน้ำสุดๆ ซึ่งก็จริงเพราะทุกวันนี้สิงคโปร์ยังต้องซื้อน้ำจืดจากมาเลเซียมาใช้


แต่เพราะลีกวนยูนายกฯคนแรกของสิงคโปร์รู้ตัวดีว่าประเทศเขาขลาดแคลนน้ำอย่างหนัก ประกอบกับการที่ มาเลเซียชอบขู่ที่จะปิดท่อน้ำที่ส่งขายให้สิงคโปร์อยู่บ่อยๆ ขู่จนสิงคโปร์รู้สึกถึงความไม่มั่นคงของประเทศ ถ้า โดนปิดท่อส่งน้ำจริง ลีกวนยูเลยตัดสินใจที่จะแก้ปัญหานี้อย่างจริงจังและยั่งยืนด้วยการตั้งหน่วยงานขึ้นมาใหม่ เพื่อมาดูแลการบริหารจัดการน้ำชื่อ Public Utilities Board หรือ PUB โดยเป้าหมายหลักคือสิงคโปร์จะไม่ต้อง พึ่งน้ำจากมาเลเซียอีกเมื่อสัญญาซื้อน้ำจากมาเลเซียหมดลงในปีพ.ศ. 2604
อย่างแรกที่ลีกวนยูทำก็คือการวางแผนเก็บน้ำฝนทุกหยดที่ตกในสิงคโปร์เอาไว้ใช้ไม่ยอมให้ไหลทิ้งลงทะเลไป ให้เสียเปล่า ด้วยการสั่งให้ทำท่อทางรับน้ำฝนไว้กับถนนทุกสาย เมื่อฝนตกลงมาน้ำฝนก็จะมี ทางไหลลงไปเก็บ ในท่อทางใต้ดินที่เตรียมไว้ เสร็จแล้วก็จะส่งน้ำฝนเหล่านี้ไปกักเก็บเอาไว้ในอ่างเก็บน้ำที่มีอยู่ 17 แห่งทั่วประเทศ มีพื้นที่เกือบ 70 % ของประเทศ ในอนาคตยังตั้งเป้าจะขยายพื้นที่กักเก็บน้ำเหล่านี้ให้ได้มากถึง 90% ของพื้นที่ ประเทศเลยทีเดียว แถมยังมีแผนที่จะพัฒนาพื้นที่เก็บน้ำเหล่านี้ให้สวยงามเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญด้วยนะครับ
เรื่องที่สองที่ลีกวนยูทำก็คือตั้งแต่ปี พ.ศ. 2517 เป็นต้นมา เขาได้เร่งผลิตน้ำรีไซเคิลที่เรียกว่า NEWater ใช้ โดย PUB ได้ลงทุนสร้างท่อทางใต้ดินยาวเป็นพันๆกิโลเมตรเพื่อลำเลียงเอาน้ำใช้แล้ว จากทั่วสิงคโปร์มายังโรงงาน รีไซเคิลน้ำซึ่งปัจจุบันมีทั้งหมด 4 โรงงาน มีกำลังการผลิตอยู่ที่ 430 ล้านลิตรต่อวัน ในอนาคตโรงงานเหล่านี้ จะสามารถผลิต NEWater รองรับความต้องการใช้น้ำของคนสิงคโปร์ได้สูงถึง 55% และจะเป็นแหล่งน้ำดื่มน้ำใช้ หลักของประเทศเลยทีเดียว ที่บอกว่า “ดื่ม” ด้วยนี่ผมไม่ได้เขียนผิดนะครับ เพราะ NEWater บางส่วนนี่สะอาด มากๆขนาดที่สามารถดื่มได้เลย PUB ก็เลยเอา NEWater บรรจุใส่ขวดให้คนดื่มได้เลย ผู้นำระดับโลกที่เคยมา ประชุมที่สิงคโปร์ต่างเคยได้ดื่ม NEWater กันมาแล้วทั้งสิ้น ผมก็เคยดื่มมาแล้วต้องบอกว่าดื่มได้สนิทใจครับ


เรื่องที่สามเป็นเรื่องที่คุณแม่คุณพ่ออาจเคยคิดว่าเป็นไปไม่ได้นั่นก็คือการกลั่นน้ำทะเลให้เป็นน้ำจืด PUB ได้เริ่ม สร้างโรงงานแบบนี้มาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2548 ปัจจุบันมี 2 โรงงานมีกำลังการผลิตได้ 25 % ของความต้องการใช้น้ำ ทั้งหมด เมื่อถึงปี พ.ศ. 2603 แม้คนสิงคโปร์จะใช้น้ำมากขึ้นอีก 2 เท่าตัวแต่ PUB ก็ยังมั่นใจว่าจะสามารถขยาย กำลังการกลั่นน้ำทะเลเป็นน้ำจืดให้สามารถตอบสนองความต้องการใช้น้ำในระดับ 25 เปอร์เซ็นต์เอาไว้ได้ น่าอะเมซิ่งนะครับ
PUB ไม่ได้ให้ความสำคัญเฉพาะเรื่องการผลิตน้ำให้เพียงพอกับความต้องการของคนสิงคโปร์เท่านั้น แต่ PUB ยังให้ความสำคัญเรื่องการณรงค์ให้คนของเขารู้คุณค่าของน้ำอีกด้วย ตรงนี้แหล่ะครับที่คุณแม่คุณพ่อน่าจะได้ เรียนรู้เพื่อเอาไว้เตือนใจตัวเองและเอาไปสอนลูกรักด้วยครับ
อย่างแรกคือในห้องน้ำสาธารณะทุกที่ในสิงคโปร์ก๊อกน้ำจะต้องใช้ระบบเปิดปิดอัตโนมัติเท่านั้น ส่วนชักโครกก็จะต้องเป็นชักโครกระบบสองจังหวะสำหรับการชำระล้างการถ่ายทุกข์แบบเบาและหนัก
อย่างที่สองเป็นเรื่องที่ผมชอบและคิดว่าเมืองไทยเราน่าจะทำตามได้ไม่ยากก็คือที่สิงคโปร์เขามีฉลากประหยัดน้ำ ติดไว้กับอุปกรณ์ทั้งหลายที่ต้องใช้น้ำ เพื่อบ่งบอกว่าอุปกรณ์ดังกล่าวประหยัดน้ำได้ในระดับใด เหมือนๆกับฉลาก ประหยัดไฟเบอร์ 5 ของบ้านเรานั่นแหล่ะครับ โดยเขาจะใช้สัญญลักษณ์เป็นเครื่องหมายถูกตั้งแต่หนึ่งถึงสามอัน ยิ่งมีเครื่องหมายถูกหลายอันก็หมายความว่าอุปกรณ์นั้นๆ ยิ่งประหยัดน้ำมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่นถ้าเป็นเครื่องซักผ้า ที่มีเครื่องหมายถูกสองอันถ้าเอามาซักผ้าหนัก 7 กิโลกรัมจะช่วยประหยัดน้ำได้ถึง 102 ลิตร แต่ถ้าเป็นเครื่องที่มี เครื่องหมายถูกสามอันจะสามารถประหยัดน้ำได้สูงถึง 112 ลิตรเลยทีเดียว ถ้าเอามาเปรียบเทียบการซักผ้า ด้วยเครื่องซักผ้าธรรมดาซึ่งแต่ละครั้งนั้นใช้น้ำ 150 ถึง 250 ลิตร คุณแม่คุณพ่อคงจะพอมองออกนะครับว่าทำไม PUB ถึงรณรงค์เรื่องเครื่องซักผ้า


แต่รัฐบาลสิงคโปร์ก็เข้าใจความรู้สึกของมนุษย์เดินดินดีว่า เป็นใคร ใครก็รักความสะดวกสบายด้วยกันทั้งนั้น การรณรงค์เพียงอย่างเดียวไม่มีทางจะทำให้คนสิงคโปร์รู้ค่าและประหยัดการใช้น้ำได้อย่างจริงจัง เขาจึงใช้ มาตรการบังคับควบคู่กันไปด้วย เช่น เรื่องเครื่องซักผ้า พอเริ่มมีเครื่องซักผ้ารุ่นประหยัดน้ำขาย รัฐบาล ก็เริ่มต้นด้วยการรณรงค์ให้คนเปลี่ยนมาใช้เครื่องซักผ้ารุ่นที่ประหยัดน้ำก่อน ผ่านไปได้สักสองสามปีพอถึง เดือนตุลาคมปีที่แล้ รัฐบาลก็ออกกฎหมายห้ามขายเครื่องซักผ้าที่ไม่มีเครื่องหมายประหยัดน้ำโดยเด็ดขาด
มาตรการสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่รัฐบาลสิงคโปร์เขาทำคือมาตรการราคาโดยกำหนดปริมาณน้ำที่คนสิงคโปร์ควรจะใช้ ในแต่ละเดือน หากใช้น้ำเกินปริมาณที่ควรจะใช้ รัฐบาลก็จะเก็บเงินส่วนเพิ่มจากการใช้น้ำนั้นๆ (Water Tariff) เป็นการขีดเส้น การใช้น้ำแบบพอดีๆให้ประชาชนรู้ นอกจากนี้สิงคโปร์ยังเก็บภาษีอนุรักษ์น้ำ (Water Conservation Tax) อีกด้วย คนสิงคโปร์เลยรู้ตัวดีว่าถ้าเขาใช้น้ำมาก เขาก็จะต้องจ่ายค่าน้ำในอัตราที่สูงขึ้น เรื่อยๆแถมยังต้องจ่ายภาษี มากขึ้น ตามไปด้วย ดังนั้นต้องประหยัดการใช้น้ำจะดีกว่า

ทำครบวงจรขนาดนี้ สิงคโปร์เลยมีมั่นใจที่จะกล้าตั้งเป้าหมายให้คนสิงคโปร์ใช้น้ำน้อยลงเรื่อยๆโดยที่ยังมี ความสุขความสบายจากการใช้น้ำเหมือนเดิม
คุณแม่คุณพ่อลองประยุกต์หลักการของสิงคโปร์มาใช้เลี้ยงลูกรักให้รู้จักคุณค่าและประหยัดการใช้น้ำดูนะครับ โดยต้องเน้นเรื่อง ความสำคัญของน้ำในชีวิต ปริมาณน้ำที่ลูกรักควรจะใช้ในแต่ละวัน เวลาแปรงฟันแล้วไม่ปิด ก๊อกน้ำน้ำไหลทิ้งไปเท่าไหร่ หรือเวลาอาบน้ำฝักบัวแต่ไม่ยอมปิดฝักบัวเปิดน้ำทิ้งไปมากเท่าไหร่ ลองคิดหา วิธีสอนลูกรักดูนะครับ ใครคิดวิธีดีๆได้ ลองเขียนมาแลกเปลี่ยนกันส่งมาที่กองบก นะครับ ใครคิดได้ดี เดี๋ยวผมจะมีรางวัลให้ 5 รางวัลเป็นถุงผ้ารักษ์โลกและแก้วกาแฟ Mr.AEC ครับ

[smartslider3 slider="9"]