AEC for Happy Family : ก้าวต่อไปประชาคมอาเซียน

0
428

AEC for Happy Family : ก้าวต่อไปประชาคมอาเซียน

AEC for Happy Family กับเกษมสันต์ / ธันวาคม 2558

ก้าวต่อไปประชาคมอาเซียน

การประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนที่กรุงกัวลาลัมเปอร์เมื่อช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ผู้นำอาเซียน 10 ประเทศได้พร้อมใจกันลงนามในปฏิญญาอาเซียนสองฉบับด้วยกันครับ

ปฏิญญาฉบับแรกเป็นการประกาศว่าพวกเรา 10 ประเทศอาเซียนนั้นปัจจุบันจากสถานะที่คบกันแบบหลวมในรูป “สมาคม” นั้นจากนี้เป็นต้นไปพวกเรา 10 ประเทศจะคบหากันแนบแน่นมากยิ่งขึ้นไปในสถานะ “ ประชาคม” ส่วนปฏิญญาฉบับที่สองนั้นเป็นปฏิญญาที่บอกถึงทิศทางของประชาคมอาเซียนในอีก 10 ปีข้างหน้าว่าในบรรดา สามเสาของประชาคมอาเซียนอันได้แก่ เสาการเมืองความมั่นคง เสาเศรษฐกิจและเสาสังคมวัฒนธรรมนั้น ในแต่ ละเสามีโร้ดแม็ปกันอย่างไร อะไรคือจุดที่ต้องมุ่งเน้นบ้าง โดยภาพรวมๆก็คือจากนี้ไป เราจะร่วมมือกันรักกันมาก ยิ่งขึ้น และเราจะช่วยกันดูแลคนของเราให้มีความเป็นอยู่ที่สุขสบายและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ขณะเดียวกันกลุ่ม คนที่เคยถูกมองข้ามเช่น เด็ก สตรี วิสาหกิจขนาดเล็ก กลางและย่อม หรือเรื่องที่ถูกละเลยมานาน เช่นเรื่องการ กระจายรายได้ สิ่งแวดล้อม พวกเรา 10 ประเทศก็จะดูแลให้มากยิ่งขึ้น และที่แน่นอนว่าลืมไม่ได้ ก็คือพวกเรา จะร่วมมือกันให้แนบแน่นขึ้นในการต่อต้านการก่อการร้ายซึ่งนับวันจะรุนแรงและกว้างขวางมากยิ่งขึ้น ส่วนเรื่อง ทะเลจีนใต้นั่นคงจะเลิกทะเลาะกันยากนะครับ เพราะใต้ทะเลตรงนี้นั้นคาดกันว่ามีทั้งน้ำมันทั้งก๊าซธรรมชาติ เยอะเหลือเกิน ประเทศไหนที่คิดว่าตัวเองมีสิทธิ์ก็ต้องแย่งกันหน่อย

ส่วนบทบาทในระดับโลกนั้นพวกเรา 10 ประเทศจะช่วยกันยกระดับของประชาคมอาเซียนให้มีบทบาทและ ความสำคัญมากยิ่งขึ้นในทุกด้าน และหากทุกอย่างเป็นไปตามโร้ดแม็ป ประชาคมอาเซียนของพวกเราจะใหญ่ ติดอันดับต้นๆของโลกในแง่ของขนาดเศรษฐกิจเลยทีเดียวนะครับ

ส่วนการที่คุณแม่คุณพ่อเห็นผู้นำระดับโลกมาร่วมประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนที่มาเลเซียเที่ยวนี้ด้วยก็เพราะประชาคมอาเซียนของเรานั้นมีคู่คิดคู่ค้ารายสำคัญๆ 6 ประเทศหลักๆ คือ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์และ อินเดีย ซึ่งรวมเรียกว่า “อาเซียนบวก 6” ทุกครั้งที่พวกเรามีประชุมนัดสำคัญๆผู้นำ 6 ประเทศนี้จะมาร่วมประชุม ด้วยเสมอๆ เมื่ออาเซียนบวก 6 โดดเด่นขึ้นก็ปรากฎว่ามีสองมหาอำนาจของโลกคือ รัสเซียและสหรัฐฯมาขอร่วม เจรจาด้วย เราจึงเห็นผู้นำทั้ง 18 ประเทศมาพร้อมหน้าพร้อมตากันที่กรุงกัวลาลัมเปอร์เที่ยวนี้

และเนื่องจากผู้นำระดับโลกพวกนี้คิวว่างหาได้ยากมาก การจัดประชุมที่จะเอาตัวผู้นำระดับโลกแบบนี้ มาประชุม พร้อมๆกันได้ เจ้าภาพทั้งหลายจึงต้องประสานงานจัดประชุมในช่วงเวลาที่ใกล้เคียงกันและต้องเอื้อให้ผู้นำ ประเทศระดับโลกเหล่านี้สามารถเดินทางไปประชุมได้ทุกๆการประชุมอีกด้วย เฉพาะเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา คุณแม่คุณพ่อถึงได้เห็นการนัดประชุมสามนัดสำคัญระดับโลกเกิดขึ้นต่อเนื่องกันภายใน 7 วัน คือเริ่มจากวัน อาทิตย์และวันจันทร์ที่ 15-16 พฤศจิกายนมีการประชุม G 20 ที่ตุรกี วันพุธและวันพฤหัสบดีที่ 18-19 พฤศจิกายน  มีการประชุม  APEC ที่ฟิลิปปินส์และวันเสาร์และวันอาทิตย์ที่  21-22 พฤศจิกายนมีการประชุมสุดยอดผู้นำ อาเซียนที่มาเลเซีย

คำถามคือหลังการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนที่กัวลาลัมเปอร์เที่ยวนี้แล้ว ประชาคมอาเซียนเราจะเดินหน้าไป ทางไหน ประเทศไหนจะรุ่งเรืองขึ้นมานำภูมิภาคนี้ไปข้างหน้า และคุณแม่คุณพ่อต้องเตรียมลูกรักอย่างไร?

จากนี้ไปเราจะได้เห็นบทบาทที่โดดเด่นของจีนในภูมิภาคนี้มากยิ่งๆขึ้น ทั้งนี้เพราะจีนในปัจจุบันและในอนาคต นั้นจะยิ่งใหญ่มากขึ้นเรื่อยๆ ที่สำคัญจีนยุคใหม่ได้เริ่มปฏิรูปประเทศในหลายๆด้าน ทำให้ประเทศเขามีความเป็น สากลมากยิ่งขึ้น แม้กระทั่งเงินหยวน (เรมินบี) ก็ยังจะได้การรับรองให้เป็นเงินสกุลสากลที่ประเทศต่างๆสามารถ ใช้ค้าขายระหว่างประเทศได้มากขึ้น และสามารถสำรองไว้เป็นเงินทุนสำรองระหว่างประเทศได้อีกด้วย และด้วย การที่เป็นประเทศที่มีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศมากที่สุดในโลก จีนจึงได้ก่อตั้งธนาคารเพื่อการลงทุนใน โครงสร้างพื้นฐานของเอเชีย (AIIB) ขึ้นเพื่อปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้กับประเทศในเอเชีย เป็นเครื่องมือให้จีนเล่น บทบาท “พี่ใหญ่” ในภูมิภาคนี้ได้สมบทบาทและเต็มที่ยิ่งขึ้น ล่าสุดจีนก็ไปเสนอสร้างรถไฟความเร็วปานกลาง มูลค่าหลายแสนล้านบาทให้กับอินโดนีเซียแบบหักหน้า “พี่ใหญ่คนเดิม” คือญี่ปุ่นแบบตั้งตัวกันไม่ทันเลยทีเดียว ตอนหลังเราเลยจะได้เห็นญี่ปุ่นออกอาการเสียหน้าและเดินหน้าออกมาช่วยเหลือประเทศในอาเซียนและเอเชียใน เงื่อนไขแบบดีกว่าแต่ก่อนเยอะเลย เพราะในอดีตเมื่อญี่ปุ่นเอาเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำมาให้ ญี่ปุ่นมักจะมาพร้อมเงื่อนไขที่ ให้ผู้กู้ต้องซื้อสินค้าและเทคโนโลยีควบคู่ไปด้วยเสมอ

อีกประเทศที่จะมีบทบาทเด่นขึ้นอย่างมากภายใน 5-10  ข้างหน้าคืออินเดียนะครับคุณแม่คุณพ่อ จากนี้ไปอินเดีย จะมีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมาก และจะเป็นประเทศมหาอำนาจประเทศหนึ่งที่สูสีกับประเทศจีนเลย ทีเดียว ที่น่าสนใจคือในอีกไม่ถึง 20 ปีคนอินเดียจะมีจำนวนมากกว่าคนจีน และกลายเป็นประเทศที่มีประชากร เยอะที่สุดในโลก ผมรับรองว่าอินเดียจะเนื้อหอมขึ้นอีกอย่างมาก ภาพนายกฯอินเดียเดินทางเยือนและไปเซ็นต์ข้อ ตกลงร่วมมือกันทางเศรษฐกิจกับประเทศที่เจริญแล้วทั้งหลายนั้นเป็นสัญญาณที่ชัดเจนเรื่องความโดดเด่นของ อินเดียในอนาคต

ส่วนในประชาคมอาเซียนของเรา คุณแม่คุณพ่อจะเห็นบทบาทที่สำคัญมากขึ้นเรื่อยๆของอินโดนีเซีย ซึ่งใน อนาคตประเทศนี้มีโอกาสที่จะเติบโตเป็น 1 ใน 10 ประเทศยักษ์ใหญ่ของโลกได้นะครับ ขณะเดียวกันอีกสี่ห้า ปีข้างหน้า มาเลเซียก็จะก้าวออกจากการเป็นประเทศรายได้ปานกลางแบบประเทศไทย หนีไปเป็นประเทศพัฒนา แล้วเช่นเดียวกับสิงคโปร์ ด้วยยุทธศาสตร์ในการพัฒนาประเทศที่ชัดเจนโดยเฉพาะยุทธศาสตร์ทางด้าน “ฮาลาล” ที่มาเลเซียตั้งใจอย่างมากที่จะจับตลาดท่องเที่ยว บริการและค้าขายกับคนมุสลิมซึ่งมีอยู่เกือบสองพันล้าน คนทั่วโลกให้จงได้

การที่จะเลี้ยงลูกให้เติบโตมาและมีความสุข ความก้าวหน้าในอาชีพการงานในประชาคมอาเซียนจากนี้ไป คุณแม่คุณพ่อจะต้องนึกภาพประเทศไทยของเราว่าเป็นประเทศที่มีผู้คนหลากหลายเชื้อชาติศาสนา มาอยู่ร่วมกันมาทำงานด้วยกัน โดยเฉพาะคนจีน คนอินเดีย คนสิงคโปร์ คนมาเลเซีย และคนในประเทศ CLMV  คือ กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมาและเวียดนามมากยิ่งขึ้น การสื่อสารได้เพียงสองภาษาคือภาษาไทยและอังกฤษ นั้นยังไงก็ไม่เพียงพอนะครับต้องเลี้ยงลูกรู้สามสี่ภาษาให้ได้ ยิ่งถ้ารู้ภาษาจีนและภาษาฮินดีของอินเดียด้วยจะดีมาก

นอกจากรู้ภาษาสามสี่ภาษาแล้ว คุณแม่คุณพ่อจะต้องเลี้ยงลูกรักให้เข้าใจ ยอมรับและรักในความแตกต่างของ วัฒนธรรม วิธีคิด วิธีทำงาน วิธีใช้ชีวิตของเพื่อนต่างชาติที่จะมาทำงานกับเราหรือทำงานแข่งกับเราด้วย การเลี้ยง ลูกรวมถึงการเรียนการสอนแบบเดิมๆสอนให้เด็กไทยโตขึ้นมาเป็นคนที่หลงชาติ รักชาติตัวเองมากจน “ดูแคลน” คนชาติอื่นๆโดยเฉพาะเพื่อนบ้าน บางคนใช้คำว่าคนไทยถูกสอนให้เป็นคน “คลั่งชาติ” เรื่องนี้นั้นจะเป็นอุปสรรค ที่สำคัญมากๆในการเติบใหญ่ของลูกรักในอนาคตนะครับ ผมใช้คำว่า “เข้าใจ ยอมรับและรักในความแตกต่าง”  นะครับ แค่เข้าใจไม่พอต้องรักต้องชื่นชมในความแตกต่างเลยทีเดียว ซึ่งเรื่องนี้หลักสูตรการเรียนการสอนใน ปัจจุบันของระบบการศึกษาของไทยเรายังทำไม่ได้แน่นอน ดังนั้นเรื่องนี้จึงต้องเป็นภาระของครอบครัวและเป็น หน้าที่สำคัญของคุณแม่คุณพ่ออย่างหนีไม่พ้นครับ ติดตามอ่านคอลัมน์นี้ไปเรื่อยๆนะครับ เรื่องนี้ไม่ยากครับ

[smartslider3 slider="9"]