Amazing AEC – จากกรีซสู่เออีซี

0
539

ตอนนี้ผมไปไหนก็มีแต่คนถามว่าเกิดอะไรขึ้นที่กรีซ เออีซีของเราจะเกิดแบบนั้นมั้ย ต่อไปคือคำตอบแบบง่ายๆ ครับ

หนึ่ง การที่นายกฯกรีซ อเล็กซิส ซีปราส ทำท่าทีแข็งขืนดื้อกับเจ้าหนี้ก็เพราะเขาเอาชนะการเลือกตั้งได้เป็นนายกฯ ก็เพราะเขามีนโยบายว่าจะไม่ยอมตามใจเจ้าหนี้กรีซด้วยการรัดเข็มขัดเพราะเขาเห็นว่าคนกรีซเดือดร้อนกันมาก เมื่อเอาชนะการเลือกตั้งได้ด้วยเรื่องแบบนี้ นายซีปราสก็ต้องแสดงให้เต็มที่เพื่อให้คนที่เลือกเขามาเห็นว่าเขาได้พยายามต่อรองกับเจ้าหนี้อย่างเต็มที่แล้ว

สอง การที่เจ้าหนี้ทั้งหลายต่างแสดงท่าทีเข้มงวดบีบบังคับจะให้กรีซปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจด้วยการรัดเข็มขัดจนเอวกิ่วแทบขาด ก็เพราะถ้าไม่ทำแบบนี้กรีซแทบจะไม่มีโอกาสฟื้นตัวเลย และเจ้าหนี้ทั้งหลายต่างต้องการแสดงให้โลกเห็นว่า พวกเขาเป็นเจ้าหนี้ที่ดีที่พยายามรักษาวินัยทางการเงินของโลกอยู่ แม้ว่าในใจลึกๆ ทุกคนต่างก็ไม่อยากให้กรีซออกจาก ยูโรโซนแต่ก็ต้องแสดงไปตามบทบาทเจ้าหนี้

สาม การประกาศให้ประชาชนกรีซมาลงประชามติเพื่อร่วมกันตัดสินใจอนาคตของประเทศ เป็นการหาทางลงให้กับนายกฯซีปราส เพราะเขาคงไปแอบเช็คมาแล้วว่าคนกรีซคงอยากอยู่ในยูโรโซนต่อไป ถ้าเปิดโอกาสให้ลงประชามติ ผลก็คงจะออกมาว่าให้โอนอ่อนผ่อนตามเจ้าหนี้และอยู่ด้วยกันต่อไป เมื่อผลออกมาเช่นนี้นายซีปราสก็จะมีทางลงและสามารถทำตามที่เจ้าหนี้ทั้งหลายเรียกร้อง ซึ่งผมคาดว่าเจ้าหนี้ก็คงจะยอมผ่อนปรนการรัดเข็มขัดเพื่อเป็นการตอบแทนคนกรีซด้วย

สี่ สาเหตุที่กรีซต้องติดเจอกับปัญหาหนี้ท่วมประเทศมากกว่า 12 ล้านล้านบาทใหญ่กว่าขนาดเศรษฐกิจของตัวเองที่มีแค่ 8 ล้านล้านบาทเศษๆ ก็เพราะรัฐบาลกรีซไม่รักษาวินัยทางการคลัง ใช้จ่ายฟุ่มเฟือยปรนเปรอข้าราชการ จ่ายสวัสดิการและบำนาญมากเกินเหตุ ขณะเดียวกันนโยบายการขึ้นค่าแรงอย่างไม่มีเหตุผลและไม่สอดคล้องกับประสิทธิภาพของแรงงาน ก็เลยทำให้ประเทศกรีซมีค่าใช้จ่ายสูงเกินจำเป็นไปอย่างมากๆ ขณะเดียวกันความสามารถในการแข่งขันก็ลดลงเพราะ ค่าแรงแพง ผู้คนไม่ขยันขันแข็งทำงาน เมื่อรวมกับเศรษฐกิจนอกระบบที่ใหญ่มาก ผู้คนหนีภาษีและคอร์รัปชั่นกันเป็นว่าเล่น ต่างๆ เหล่านี้ทำให้ปัญหาที่เจออยู่มันใหญ่ขึ้นๆ ทุกวัน

ห้า ปัญหาแบบที่กรีซเจออยู่นี่ถ้าเป็นประเทศทั่วไป ค่าเงินจะต้องอ่อนลง เมื่อค่าเงินอ่อนลง ประเทศก็จะเริ่มส่งออกได้ คนมีงานทำ ประเทศมีรายได้ รัฐบาลเก็บภาษีได้ ปัญหาก็จะค่อยเข้าสู่สมดุล แต่พอเป็นกรีซซึ่งอยู่ในยูโรโซนซึ่งใช้เงินยูโร ร่วมกับอีก 18 ประเทศ ค่าเงินยูโรซึ่งไม่ได้อ่อนค่าตามสภาวะเศรษฐกิจของกรีซ ก็เลยทำให้การปรับตัวแบบประเทศอื่นๆ ไม่เกิดขึ้นที่กรีซ ทางเดียวที่จะแก้ปัญหาได้คือต้องปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ ตัดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ตามแนวทาง ที่เจ้าหนี้เขาวางไว้ให้

หก เรื่องตลาดหุ้นตลาดเงินผันผวน อย่าไปเอามาใส่ใจเพราะพวกนักลงทุนเขาปั่นเขาเก็งกำไรกัน มันก็ต้องเป็นแบบนี้ และตลาดแบบนี้แหล่ะที่พวกเขาจะทำกำไรกันได้ดีกว่าตลาดนิ่งๆ ใครไม่ใช่เซียนก็อย่าไปยุ่งกับตลาดทั้งสองในช่วงนี้

เจ็ด ปัญหานี้จะลามมากมั้ย? คำตอบคือไม่เพราะประเทศส่วนใหญ่มองเห็นปัญหานี้มานาน เตรียมตัวรับมือมาพอสมควร ที่สำคัญเจ้าหนี้ส่วนใหญ่ของกรีซเป็นหน่วยงานของยูโรหรือภาครัฐ ไม่ใช่สถาบันการเงินเอกชน ปัญหาจึงจะไม่ลามหรือ มีผลกระทบมากเหมือนกรณีอื่นๆ

แปด เรื่องนี้จะเกิดขึ้นกับเออีซีมั้ย? คำตอบคือไม่ เพราะเรารวมตัวกันแบบหลวมๆ ไม่ได้รวมตัวกันเหนียวแน่นแบบ ยูโรโซน เราไม่มีหน่วยงานเช่นคณะมนตรียุโรป สภายุโรป ศาลยุโรปหรือธนาคารกลางยุโรปเหมือนเขา จึงไม่เคยคิดจะมี เงินอาเซียน การรวมตัวแบบเออีซีนี่หลวมกว่าเขาเยอะปัญหาแบบเขาไม่มีแน่

เก้า เรื่องอื่นๆ เมืองไทยอาจจะรักษากันไว้ไม่ได้ แต่เรื่องวินัยการคลังที่กรีซสอบตกนั้น ไทยเราทำได้ดีมีวินัยมาโดยตลอด

เข้าใจตรงกันนะ

[smartslider3 slider="9"]