Amazing AEC – จุดอ่อนแผนแม่บทยุทธศาสตร์ชาติ (3)

0
611

ด้านการเกษตรซึ่งในบทสรุปผู้บริหารก็ระบุชัดว่ามีบทบาทสำคัญในการสร้างความมั่นคงด้านอาหารและสร้างรายได้เข้าสู่ประเทศ รวมทั้งเป็นแหล่งจ้างงานสำคัญ การพัฒนาภาคการเกษตรให้มีศักยภาพและขีดความสามารถทางการแข่งขันจะเป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จ ที่จะช่วยให้การดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติในด้านต่างๆสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ได้ตามเป้าหมาย อ่านแล้วดูเหมือนแผนแม่บทยุทธศาสตร์ชาติกำลังจะมาช่วยยกระดับศักยภาพของภาคการเกษตร

แต่พอดูเป้าหมายและตัวชี้วัดกลับตั้งเป้าอัตราการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศสาขาเกษตรเพียงแค่ 3.8 เปอร์เซ็นต์ ในช่วง 5 ปีแรก ส่วนอีก 3 ช่วงหลังช่วงละ 5 ปีก็ตั้งเป้าขยายตัวแค่ช่วงละ 3 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นการตั้งเป้าและตัวชี้วัดต่ำมากอย่างน่าตกใจ ส่วนเป้าหมายและตัวชี้วัดด้านผลิตภาพการผลิตของภาคการเกษตร หรือ Productivity ตั้งเป้า หมายให้ภาคการเกษตรมี Productivity สูงขึ้นช่วงละ 1.0 ถึง 1.3 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นเอง ต่ำจนนึกไม่ออกว่าถ้าภาคการเกษตรของประเทศไทยมี Productivity สูงขึ้น 1 เปอร์เซ็นต์นิดๆแล้ว ภาคการเกษตรของไทยจะอยู่รอดได้อย่างไร?

เมื่อดูลึกลงไปในแผนย่อยด้านการเกษตร เช่นด้านเกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่น สินค้าเกษตรปลอดภัย สินค้าเกษตรชีวภาพ สินค้าเกษตรแปรรูป สินค้าที่มีการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่/อัจฉริยะ มีการตั้งเป้าให้มีอัตราการขยายตัวของมูลค่าของสินค้า เกษตรทั้ง 5 กลุ่มนี้ เพียง 3 เปอร์เซ็นต์ในทุก ช่วง 5 ปีของแผนแม่บทฯ ซึ่งต่ำจนทำให้คิดว่าจากนี้ไปอีก 20 ปี สินค้าเกษตร ทั้ง 5 กลุ่มนี้คงจะเหมือนเดิม ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น

ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคด้านคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร ซึ่งผมไม่รู้และไม่เคยได้ยินว่าใครจัดทำ ลองหาดูก็ ไม่เจอ ในช่วงแรกของแผนแม่บทฯปีพ.ศ. 2561 ถึง 2565 ค่าเป้าหมายจึงระบุได้แค่ว่า “อยู่ระหว่างการตรวจสอบ / จัดทำ ค่าเป้าหมาย” การมีแผนแม่บทฯแล้วแต่ดัชนีชี้วัดยังจัดทำไม่เสร็จหมายความว่าอย่างไร?

ถ้าแผนแม่บทยุทธศาสตร์ชาติด้านการเกษตรเขียนแนวทางอย่างกว้างๆ และตั้งเป้าหมายไว้ต่ำขนาดนี้ ก็คาดการณ์ได้ว่า เมื่อครบ 20 ปีของยุทธศาสตร์ชาติ ภาคการเกษตรของไทยก็คงจะไม่ไปไหนและมีแนวโน้มสูงที่จะล้าหลังภาคการเกษตรประเทศอื่นๆ เกษตรกรไทยก็คงจะต้องยากจนกันต่อไป

รัฐบาลใหม่น่าจะกำหนดให้มีทีมพิเศษลองไปศึกษาเรื่อง OKRs ซึ่งย่อมาจากคำว่า Objective and Key Results วัตถุ ประสงค์และผลลัพธ์ที่สำคัญ ซึ่งบริษัทระดับโลก เช่น อินเทล กูเกิ้ล ยูทูป และอีกนับไม่ถ้วนเอามาใช้จนสามารถทำให้บริษัทเติบโตได้อย่างมหัศจรรย์ กลายเป็นบริษัทระดับโลกได้ภายในระยะเวลาอันสั้น เพื่อเอามาปรับปรุงแผนแผนแม่บทยุทธศาสตร์ชาติ ให้มีเป้าหมายที่ชัดและวัดผลได้จริง ที่สำคัญจะได้ช่วยยกระดับประเทศให้ก้าวหน้าได้อย่างก้าวกระโดด อย่างที่ประชาชนคาดหวัง

การตั้งเป้าหมายดีขึ้น 1 – 3 เปอร์เซ็นต์ จะไม่สามารถสร้างแรงบันดาลใจ แรงฮึดและโฟกัสให้ภาครัฐและภาคเอกชนร่วมใจกันพัฒนาประเทศได้ นักบริหารระดับโลกเขามียุทธศาสตร์ว่าเวลาตั้งเป้าหมายให้ตั้งสูงไว้ก่อน Shoot For The Moon “ให้เล็งไปที่ดวงจันทร์ ถึงแม้จะพลาดก็ยังมีโอกาสไปถึงดวงดาว” ถ้าตั้งเป้าหมายไว้ต่ำแม้จะไปถึงเป้าแต่ก็จะไม่ได้ไป ไหน

ตัวอย่างของการตั้งเป้าแบบสูงๆแบบให้เล็งไปที่ดวงจันทร์แล้วทั้งชาติทุ่มเทช่วยกันจนสำเร็จ นั้นเกิดขึ้นในปีพ.ศ. 2504 เมื่อประธานาธิบดี จอห์น เอฟ เคนเนดี้ ประกาศตั้งเป้าจะส่งคนไปเหยียบดวงจันทร์เป็นชาติแรกในโลกให้ได้ภายใน 10 ปี ทั้งๆ ที่ในขณะนั้นเทคโนโลยีด้านอวกาศของสหรัฐยังแพ้สหภาพโซเวียตที่เพิ่งส่งยานวอสสต็อก 1 พร้อมนักบินอวกาศไป โคจรรอบโลกสำเร็จเป็นชาติแรก เมื่อตั้งเป้าไว้สูง ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจึงต้องทุ่มเททรัพยากรแบบมีโฟกัสจนสำเร็จ ในที่สุดสหรัฐก็สามารถส่งยานอพอลโล 11 พร้อม “นีล อาร์มสตรอง”ไปเหยียบดวงจันทร์ได้สำเร็จเป็นชาติแรกของโลก ในปีพ.ศ. 2512 ตามเป้าหมาย

[smartslider3 slider="9"]