Amazing AEC – จุดอ่อน SMEs ไทย

0
629


อาทิตย์ที่แล้วผมได้เขียนถึงนิสัยใจคอและรสนิยมคนกัมพูชา และทิ้งท้ายไว้ว่าวันนี้จะมาชี้ให้เห็นจุดอ่อนของ SMEs ไทยก่อนไปบุกตลาดกัมพูชากัน
เรื่องแรก ที่ผมเจอเยอะเลยก็คืออยากจะผลิตของขึ้นมาใหม่เลยแล้วเอาไปขายในกัมพูชาและ CLMV เลย เพราะตอนนี้เชื่อผมแล้วว่าคนในกลุ่มประเทศนี้เขาชอบสินค้าไทย คิดแบบนี้ผิดเลยนะครับ ผิดมากด้วย เพราะคนกัมพูชาเขาจะคอยดูว่า สินค้าไหนคนไทยชอบใช้ชอบทาน ถ้าเราเอาของที่ยังไม่มีขายในเมืองไทยไปขายคนกัมพูชาจะเกิดคำถามขึ้นมาทันทีว่า ของนั้นดีจริงหรือไม่? ทำไมไม่เคยเห็นเมืองไทย ทำไมไม่เคยเห็นคนไทยพูดถึง และถ้าสินค้านั้นจะต้องเข้าไปแข่งกับ สินค้าไทยด้วยกันเองในตลาดกัมพูชา สินค้าที่ไม่มีวางขายในไทยจะสู้ไม่ได้แน่นอน
สอง สินค้าของ SMEs ไทยส่วนใหญ่ผลิตออกมาเป็นสินค้าทั่วไป กว้างๆ ไม่ได้ผลิตให้ออกมาเป็นสินค้าพิเศษที่มีลักษณะ เฉพาะตัว เช่น ครีมทาตัว แชมพู น้ำพริกเผา น้ำจิ้มสุกี้ ฯลฯ ถ้าเป็นของใช้ก็จะบอกว่าสินค้าผมใช้แล้วดีอย่างนั้นอย่างนี้ บางรายดีขึ้นมาหน่อยก็บอกว่าสินค้าของผมเป็นออร์แกนิกส์ ใครๆ ก็ใช้ได้ ถ้าเป็นของทานก็จะบอกว่าสินค้าฉันอร่อยมาก ทานแล้วจะติดใจ ใครๆ ก็ทานได้ คิดและผลิตได้แค่นี้ยังไม่ดีพอจะไปส่งออกนะครับ SMEs ไทยต้องผลิตสินค้าตัวเอง ให้เป็นสินค้าที่มีลักษณะพิเศษ แตกต่าง ไม่เหมือนใครและไม่มีใครเหมือน และจะต้องคิดถึงตลาดเฉพาะกลุ่มที่เรียกว่า Niche Market แถมยังควรจะต้องสร้างเรื่องเล่าของสินค้าตัวเองอีกด้วย
SMEs ไทยควรจะใช้ความเล็ก ใช้ทำเลที่ตั้งที่มีความพิเศษเฉพาะถิ่น ใช้วัตถุดิบที่มีเฉพาะถิ่นและใช้ฝีมือการผลิตที่ตกทอดมาจากบรรพบุรุษ เอามาเป็นจุดเด่นที่แตกต่างในการผลิตสินค้า ทำให้สินค้าของตัวเองไม่เหมือนใคร และแม้จะมีใครพยายามจะผลิตให้เหมือนเขาก็จะทำไม่ได้ ถ้าเป็นของทานก็เช่น น้ำจิ้มซีฟู้ดที่ใช้มะนาวท่ายางและพริกพันธุ์พิเศษของเพชรบุรี แถมวิธีปรุงก็เป็นวิธีพิเศษ รสชาดเลยมีลักษณะเฉพาะไม่เหมือนน้ำจิ้มซีฟู้ดที่อื่น เป็นต้น
สาม พออยากจะส่งออก SMEs ส่วนมากก็เลยพยายามจะออกแบบฉลากให้เป็นสากลด้วยการใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลัก บางรายไม่ใช้ภาษาไทยเลยกลัวไม่ “อินเตอร์” ทำแบบนี้ผิดอย่างมากนะครับ ถ้าอยากจะขายของให้ได้ในกัมพูชาและ CLMV ฉลากสินค้าต้องมีภาษาไทยเด่นๆ ดูปุ๊บรู้ปั๊บว่าสินค้านี้เป็นของไทย เชื่อมั้ยครับว่าสินค้าจีนบางอย่างถึงกับเขียน ภาษาไทยตัวใหญ่ๆในฉลากเพื่อลวงให้ผู้บริโภคเข้าใจว่าเป็นสินค้าไทยจะได้ขายดี ภาษาอังกฤษควรมีไว้บ้างเพื่ออธิบาย สรรพคุณความพิเศษบ้างแต่ต้องไม่เด่นเกินภาษาไทย
สี่ SMEs ไทยยังชอบที่จะใช้สัญลักษณ์มาประกอบเป็นชื่อสินค้า เช่นใช้รวงข้าวมาแทน “ตัว i” หรือ พระอาทิตย์แทน “ตัว O” การออกแบบชื่อแบบนี้ผิดนะครับ อย่าว่าแต่คนชาติอื่นเลยแม้แต่คนไทยเองยังต้องใช้เวลาดูและพยายามจะอ่าน ให้ออก ซึ่งคนซื้อเขาใช้เวลาไม่กี่วินาทีดูสินค้าที่วางขาย ถ้าดูแว้บๆ แล้วสับสนไม่รู้ว่าสินค้านี้ชื่ออะไร สินค้านี้ขายได้ยาก ครับ บางรายเอาตัวการ์ตูนเช่นน้องชาวนามาประกอบในฉลากด้วย แบบนี้ก็ไม่เหมาะครับ เพราะตัวการ์ตูนทั้งหลายที่คน ไทยดูปุ๊บเข้าใจปั๊บนั้น คนชาติอื่นเขาอาจจะไม่เข้าใจด้วย มีแล้วทำให้ฉลากของเรารกรุงรังเปล่าๆ อย่าทำเลยครับ
ห้า SMEs ไทยเยอะมากที่ตั้งชื่อซะไทยมากๆ และยากจนเพื่อนบ้านออกเสียงไม่ถูก ถามตัวเองดูสิครับว่าเคยซื้อสินค้าที่เรา ออกเสียงเรียกสินค้าไม่ถูกบ้างสักกี่ครั้งในชีวิต เชื่อผมนะครับสินค้าที่จะขายได้ใน CLMV ต้องมีชื่อที่เพื่อนบ้านออกเสียง ได้ง่าย ยาแก้หวัดแก้ไข้ที่ขายดิบขายดีใน CLMV เช่นทิฟฟี่ ของเพื่อนผมนั้นที่เอาชนะยายี่ห้ออื่นได้แบบราบคาบทั้งที่มาที หลังเขานอกจากจะเพราะคุณภาพดีแล้วยังเป็นเพราะชื่อที่ออกเสียงได้ง่ายกว่าชื่อยาวๆ และออกเสียงยากๆ ของคู่แข่งนั่นเอง
อาทิตย์หน้ายังมีต่อครับ

[smartslider3 slider="9"]