Amazing AEC – ปีนี้ใครจะรอดใครจะร่วง? (จบ)

0
538


อาทิตย์ที่แล้วผมบอกไปแล้วว่าสปป.ลาวกับเวียดนามรอดแน่ วันนี้มาดูกันสิว่ากัมพูชากับเมียนมาจะรอดหรือจะร่วง
เริ่มกันที่ กัมพูชา ซึ่งในช่วงปี 2554 ถึง 2558 นั้นเติบโตเฉลี่ยสูงเป็นอันดับ 3 ของเออีซี โดยเติบโตเฉลี่ย 7.2 เปอร์เซ็นต์ และในปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจกัมพูชาก็ยังเติบโตได้ต่อเนื่องที่ 7.0 เปอร์เซ็นต์และปีนี้คาดว่าจะโตต่อเนื่องอีกที่ราวๆ 7.1 เปอร์เซ็นต์ คาดว่าในช่วงปี 2559 ถึง 2563 กัมพูชาจะเติบโตต่อเนื่องเฉลี่ยที่ 7.3 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งนั่นหมายความว่าในช่วงสามปีท้ายช่วง 2561 ถึง 2563 กัมพูชาจะเติบโตเฉลี่ยมากกว่า 7.3 เปอร์เซ็นต์ ขนาดผมเดินทางไปกัมพูชาปีละหลายครั้งยังต้อง ยอมรับเลยว่าทุกครั้งที่ไปจะเห็นความเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นตลอดเวลา ทั้งในแง่โครงสร้างที่เห็นได้ด้วยตา และการแก้ไขปฎิรูปหลายๆ อย่าง รวมถึงกฎหมายที่กัมพูชาทำได้ดีจนถูกใจนักลงทุนต่างชาติมากทีเดียว


ความเสี่ยงที่เด่นชัดที่สุดของกัมพูชาคือการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2561 เพราะทุกครั้งที่มีการเลือกตั้ง ความร้อนแรงของการเมืองในกัมพูชาก็จะพุ่งสูงขึ้นมากพอสมควร บางปีความร้อนแรงก็ยังสามารถส่งกระแสความร้อนมาจุดให้การเมืองไทยพลอยร้อนไปด้วย โดยเฉพาะถ้ามีการจุดไฟความขัดแย้งเรื่องข้อพิพาทเขาพระวิหารขึ้น แม้หลายฝ่ายจะคาดว่านายกฯ ฮุนเซ็นคงจะคว้าชัยชนะและได้เป็นนายกฯต่ออีกหนึ่งสมัย สร้างสถิติการเป็นนายกฯที่ยาวนานที่สุดในโลกต่อไปอีก แต่ก็ต้องจับตาดูว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะสร้างความวุ่นวายจนส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจหรือไม่? ส่วนเรื่องที่เป็นจุดด้อยที่สุดของประเทศก็คือการคอร์รัปชั่นนั้นสถานการณ์ยังไม่ค่อยดีนัก เพราะคะแนนดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชั่นของกัมพูชานั้นสองปีที่ผ่านมาได้เท่าเดิมคือได้เพียง 21 คะแนนต่ำที่สุดในเออีซีและอยู่ในกลุ่มท้ายๆ ของโลกเลยทีเดียว


ส่วนที่ เมียนมา ซึ่งในช่วงปี 2554 ถึง 2558 เติบโตเฉลี่ยสูงเป็นอันดับ 2 ของเออีซีที่ 7.3 เปอร์เซ็นต์นั้นก็ว่าทำได้ดียอดเยี่ยมอยู่แล้ว แต่ในช่วงปี 2559 จนถึงปี 2563 นั้นเศรษฐกิจเมียนมาจะเติบโตต่อเนื่องดียิ่งขึ้นไปอีกจนทะลุเลข 8 ไปอยู่ที่ระดับ 8.3 เปอร์เซ็นต์สูงสุดในเออีซีและสูงติดอันดับโลกเลยทีเดียว ทั้งนี้ต้องขอบคุณอดีตประธานาธิบดี อูเต็งเส่ง ที่วางรากฐานเศรษฐกิจไว้ให้อย่างดี รวมถึงการวางรากฐานประชาธิปไตยส่งไม้ต่อไปยังด่อว์อองซานซูจิประธานาธิบดีตัวจริงได้เป็น อย่างดีเซอร์ไพรส์คนทั้งโลก จนนานาประเทศยอมยกเลิกการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ ดังนั้นประเทศที่มีทรัพยากรธรรมชาติมากมายรวมถึงก๊าซธรรมชาติและจำนวนประชากรที่มีอยู่เกือบ 55 ล้านคนแต่หลับใหลมานาน จึงดึงดูดให้นักลงทุนต่างชาติหลั่งไหลมาลงทุนในเมียนมาจนทำให้เศรษฐกิจเติบโตต่อเนื่องได้อย่างโดดเด่น
อีกเรื่องที่น่าสนใจก็คือจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาเที่ยวเมียนมานั้นเติบโตขึ้นมากที่สุดในภูมิภาค ในปี 2555 เมียนมามีนักท่องเที่ยวต่างชาติไปเที่ยวเพียง 1 ล้าน 1 แสนคนน้อยกว่าสปป.ลาวและกัมพูชาที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติ สามล้านต้นๆ และสามล้านกลางๆ ตามลำดับ แต่พอมาถึงปี 2559 เมียนมากลับแซวหน้ากัมพูชาซึ่งมีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 4 ล้าน 4 แสนคนคนและสปป.ลาวที่มีนักท่องเที่ยวราว 5 ล้านคนไปแล้วด้วยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติราว 6 ล้านคน
จุดอ่อนของเมียนมาที่เด่นชัดที่สุดก็คือการขาดความชัดเจนของนโยบายเศรษฐกิจ ตั้งแต่รัฐบาลชุดใหม่เข้ามาบริหารประเทศ นักลงทุนต่างชาติก็ต่างเฝ้ารอคอยความชัดเจนทางด้านนโยบายเศรษฐกิจ แต่การบริหารประเทศแบบรวมศูนย์ อำนาจเอาไว้ที่ด่อว์อองซานซูจิซึ่งการตัดสินใจแทบจะทุกเรื่องต้องให้เธอเป็นคนเคาะเพียงคนเดียว ทำให้งานทั้งหลาย รวมถึงนโยบายด้านเศรษฐกิจจึงไปหมักหมมกองรวมที่มือของเธอ และยังไม่มีอะไรที่ชัดเจนออกมาจนกระทั่งบัดนี้ ความล่าช้าและความไม่ชัดเจนด้านนโยบายเศรษฐกิจนี้ทำให้ตัวเลขการลงทุนจากต่างชาติในเมียนมาชะลอตัวลงอย่างชัดเจนในปี 2559 ซึ่งถ้าหากยังไม่สามารถแก้ปัญหาการรวมศูนย์อำนาจนี้ให้ได้ เมียนมาอาจจะเติบโตน้อยลงกว่าที่หลายฝ่าย คาดการณ์เอาไว้
จะเห็นว่าทั้ง 9 ประเทศที่ผมเขียนถึงนั้นน่าจะรอดและไปได้ดีในปีนี้ มีเพียงประเทศเดียวซึ่งผมไม่ได้เขียนถึงที่น่าเป็นห่วง

[smartslider3 slider="9"]