Amazing AEC – พา SMEs ไทยไปกัมพูชา

0
517


เมื่อไม่นานมานี้ผมมีโอกาสไปพูดให้กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ในหัวข้อ “เปิดโอกาสเศรษฐกิจใหม่เชื่อมโยง ตลาดกัมพูชาในยุค 4.0” ซึ่งมีวัตถุประสงค์จะเสริมสร้างขีดความสามารถให้กับผู้ประกอบการไทยตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 และเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยโดยเฉพาะ SMEs สามารถขยายตลาดสู่กลุ่มประเทศ CLMV ได้ดียิ่งขึ้น ทำให้ผมได้รับคำถามเกี่ยวกับการบุกตลาดกัมพูชาก็เลยอยากจะเอาบอกต่อในคอลัมน์นี้สำหรับท่านที่ไม่มีโอกาสไปร่วมสัมมนา
ประเด็นที่ควรรู้เกี่ยวกับตลาดกัมพูชาก็คือ คนกัมพูชามีลักษณะนิสัยใจคอเหมือนคนไทย เราสองประเทศมีอะไรหลาย อย่างเหมือนกันมากอย่างที่หลายคนอาจจะคิดไม่ถึง เช่นเราเป็นราชอาณาจักร คือประเทศที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นองค์พระประมุขเหมือนกัน ภาษาที่ใช้ก็เป็นภาษาที่มีที่มาเดียวกัน มีหลายคำมากที่ออกเสียงเหมือนกัน ความหมายเหมือน กัน มีหลายคำที่มีวิธีออกเสียงต่างกันแต่ถ้าจับทางถูกแป๊บเดียวก็สื่อสารกันได้
คนกัมพูชาเป็นคนกตัญญูต่อพ่อแม่ กตัญญูมากขนาดที่เรียกว่าหากพ่อแม่เสียชีวิต แล้วลูกส่งร่างที่ไร้วิญญาณไปสวดที่วัด ถือเป็นลูก “อกตัญญู” ต้องจัดงานสวดที่บ้าน แถมยังเป็นชอบเข้าวัดทำบุญเหมือนคนไทยเรา และถึงแม้เขาจะมีรายได้ไม่ มากและระบบธนาคารจะยังไม่เป็นที่นิยมเหมือนไทยเรา เมื่อพ่อแม่ต้องการเงินคนกัมพูชาก็จะมีระบบโอนเงินตาม เคาน์เตอร์ไปให้พ่อแม่แบบสะดวกทันใจฉับไวเหมือนเอทีเอ็ม ยังไงยังงั้น
รสนิยมในการใช้สิ่งของนั้น คนกัมพูชาก็มีเหมือนคนไทยทุกประการ จำง่ายๆ คนไทยชอบใช้อะไรคนกัมพูชาก็ชอบใช้ แบบนั้นแหล่ะครับ และนับวันจะชอบเหมือนกันมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะโลกที่เชื่อมโยงกันด้วยอินเตอร์เน็ตนั้นทำให้คนกัมพูชาได้รู้ได้เห็นว่าคนไทยมีความเป็นอยู่อย่างไรมากขึ้นกว่าเดิม ผมรู้จักคนหนุ่มสาวกัมพูชาหลายคนที่นั่งรถข้าม ประเทศมาซื้อเสื้อผ้าที่ประตูน้ำตามแบบที่ดาราไทยใส่แล้วโพสต์ลงอินสตาแกรม พอซื้อกลับไปเขาก็เอาไปถ่ายลง อินสตาแกรมแป๊บเดียวขายหมดก็นั่งรถกลับมาซื้อใหม่ ผมเคยถามว่ารู้มั้ยว่าเสื้อผ้าพวกนี้ส่วนมากจะมาจากเมืองจีน และขายถูกกว่าที่นั่น หนุ่มสาวกัมพูชาเขาตอบผมว่ายังไงรู้มั้ยครับ? เขาตอบว่ารู้ แต่คนไทยเลือกมาแล้วรอบหนึ่ง แปลว่าต้องเป็นของดี มาซื้อที่เมืองไทยดีกว่า คำตอบนี้บอกถึงความชอบคนไทยแบบไม่ต้องอธิบายกันอีกแล้วนะครับ
ส่วนเรื่องอาหารการกินนั้น เมืองไทยมีอะไรเมืองกัมพูชาก็มีเหมือนกันไม่ว่าจะเป็นแกง ผัด ต้ม น้ำพริก อาหม็อก ซึ่งเป็นอาหารประจำชาติของเขาก็คือห่อหมกบ้านเรานั่นเอง แม้หน้าตาอาหารของสองชาติจะเหมือนกันมากแต่รสชาติ จะต่างกันโดยอาหารกัมพูชานั้นรสชาติจะค่อนข้างจืดไม่จัดจ้านเหมือนอาหารไทยและคนกัมพูชายังนิยมทานผงชูรสกันเป็นชีวิตจิตใจ ใครจะทำอาหารไปขายต้องปรับรสชาติให้ถูกลิ้นคนกัมพูชาหน่อย อย่ามัวแต่หยิ่งในรสชาติแบบไทยๆ เจ๊งไปหลายรายแล้วนะครับคนที่ไม่ยอมปรับรสชาติอาหาร ที่ต้องจับตาก็คือรสชาติอาหารที่ไม่จัดจ้านต่างไปจากอาหารไทยนี่แหล่ะที่ทำให้คนต่างชาติเริ่มทานและเริ่มชอบอาหารกัมพูชามากขึ้นเรื่อยๆ
พอผมเอาภาพร้านอาหารและเมนูร้านอาหารฝรั่งเศส อาหารจีนในพนมเปญมาให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาดู ทุกคนจะพูดเหมือนกันว่า คนกัมพูชานี่เขามีรสนิยมดีมากๆ และมีกำลังซื้อมากกว่าที่หลายคนคิดเอาไว้ ผมกล้าท้าให้คนที่ชอบทานอาหารฝรั่งเศสให้ไปลองทานที่โน่นเพื่อเปรียบเทียบกับร้านในเมืองไทย ผมพาไปทานหลายคณะแล้วทุกคนยอมรับว่าอาหารฝรั่งเศสในกัมพูชาอร่อยมากหลายร้านอร่อยกว่าร้านดีๆ ในเมืองไทยหลายขุม แถมราคาก็ถูกกว่าอย่างน่าอะเมซิ่ง
ผู้เข้าสัมมนาหลายคนยังเข้าใจว่าคนกัมพูชาเกลียดคนไทย เพราะยังฝังใจในเหตุการณ์เผาสถานทูตไทยและโรงงานไทยในกัมพูชาเมื่อหลายปีก่อน แต่พอได้ฟังผมอธิบายว่าเหตุการณ์นั้นเกิดขึ้น เพราะมีคนชาติอื่นมาทำเพราะอยากจะแย่งตลาดจากสินค้าไทย คนกัมพูชาไม่ได้เป็นคนทำ ผู้เข้าสัมมนาก็เข้าใจคนกัมพูชาถูกต้องขึ้นและอยากจะไปขายของให้เขากันละ
ตอนหน้าผมจะมาชี้ให้เห็นจุดอ่อนของการผลิตและออกแบบสินค้าของ SMEs ไทยและทางออกก่อนไปบุกกัมพูชากันครับ

[smartslider3 slider="9"]