Amazing AEC – เขื่อนที่ไม่กั้นน้ำ

0
499

ตู้เจียงเยี่ยนเป็นเมืองที่อยู่ในมณฑลเสฉวน ห่างจากนครเฉิงตูเมืองเอกของมณฑลราวๆ 50 กิโลเมตร ผมไปเที่ยวเมืองนี้เพราะได้ยินคนจีนเขาว่ากันว่า “ในชีวิตหนึ่งจะต้องมาเที่ยวตู้เจียงเยี่ยนให้ได้” การเดินทางไปเราต้องบินตรงจากเมืองไทยไปลงเฉิงตู ซึ่งมีหลายสายการบินที่บินตรงและนั่งรถต่ออีกสี่สิบนาทีเศษๆก็ถึงแล้วครับ

คนจีนที่มาตู้เจียงเยี่ยนเขาจะมาทำสามอย่างด้วยกันคือ หนึ่งมาว่ายน้ำที่นี่ แต่ความจริงแล้วเขาไม่ได้มาว่ายน้ำกันจริงๆ หรอกนะครับ แต่เขาพูดแบบนั้นเพราะเขาต้องการจะบอกว่ามาที่นี่ต้องมาดูการจัดการน้ำที่นี่ สองต้องไปขึ้นเขาชิงเฉิง ซึ่งเป็นเขาต้นกำเนิดของลัทธิเต๋า และสามต้องไปดูบ้านแพนด้า ซึ่งหลินปิง แพนด้าที่คนไทยรักก็เคยอาศัยอยู่ที่นี่

ฉบับนี้ผมขอเล่าถึงเขื่อนตู้เจียงเยี่ยนซึ่งสร้างมานานกว่าสองพันปีแล้ว ในอดีตนั้นบริเวณตู้เจียงเยี่ยนและเฉิงตูนั้นใน บริเวณไหนที่มีน้ำก็น้ำเยอะจนท่วมบ่อยๆ ส่วนบริเวณไหนที่น้ำไปไม่ถึงก็จะแห้งแล้งจนทำมาหากินไม่ได้ จนกระทั่งถึงยุคที่พ่อเมืองชื่อหลี่ปิง ซึ่งเป็นคนมีสติปัญญาจึงได้หาวิธีแก้ไขปัญหาจัดการแก้ไขปัญหานี้ด้วยการสร้างเขื่อนที่ ไม่ใช่เขื่อนคอนกรีตอย่างที่เราเห็นทั่วไป

อย่างแรกที่หลี่ปิงทำ ก็คือแบ่งแม่น้ำที่ไหลเชี่ยวกรากนี้ออกเป็นสองสายด้วยการเอาก้อนหินมาใส่ชะลอมไม้ไผ่มาสร้างเป็น เกาะลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยมไว้ที่กลางแม่น้ำ เพื่อเบี่ยงเบนกระแสน้ำให้ออกเป็นสองสายคือแม่น้ำสายในและแม่น้ำสายนอก โดยให้แม่น้ำสายในไหลเข้าไปหล่อเลี้ยงเมืองตู้เจียงเยี่ยนส่วนแม่น้ำสายนอกก็จะไหลไปหล่อเลี้ยงส่วนอื่นๆ ของมณฑล ในส่วนนี้เขาเรียกว่า “ปากปลา” หรือภาษาจีนเรียกว่า อวี๋จุ่ย เพราะจะมีลักษณะปลายแหลมเป็นสามเหลี่ยมคล้ายปากปลา

ในการที่จะชักนำแม่น้ำสายในให้ไหลเข้าสู่เมืองได้นั้นจำเป็นจะต้องเจาะทะลุภูเขา กว่าสองพันปีที่แล้วยังไม่มีดินระเบิด และเครื่องจักรกลที่จะช่วยขุดเจาะภูเขาให้ทะลุไปได้ แต่ด้วยสติปัญญาของหลี่ปิงเขาได้ให้เอาต้นไม้แถวๆนั้น มาจุดไฟ แล้วเอาไปเผาภูเขาเมื่อร้อนได้ที่ก็เอาน้ำเย็นๆ จากแม่น้ำนั่นแหล่ะมาราด เมื่อหินเจอทั้งความร้อนและความเย็นก็จะแตกออก หลี่ปิงและชาวบ้านจึงสามารถขุดจนภูเขาแยกออกเป็นทางให้น้ำไหลผ่านได้ ส่วนนี้เป็นส่วนสุดท้ายในการควบคุมน้ำซึ่ง เรียกว่า “คอขวด” หรือภาษาจีนเรียกว่า เป่าหมินโข่ว

Amazing AEC - เขื่อนที่ไม่กั้นน้ำ

ระหว่างปากปลากับคอขวดนั้นหลี่ปิงก็ได้ทำ สปิลล์เวย์ ที่ภาษาจีนเรียกว่า เฟยซาเยี่ยน เอาไว้อีก ด้วยการขุดจนแม่น้ำสายในนั้นให้ต่ำกว่าแม่น้ำสายนอก ในหน้าแล้งน้ำน้อย น้ำส่วนมากก็จะไหลตามแม่น้ำสายในเข้าหล่อเลี้ยงเมือง ส่วนในหน้าน้ำ น้ำจะเยอะมากแต่เมื่อน้ำ จำนวนมากต้องไหลผ่าน “คอขวด” น้ำจะไหลไปได้ไม่เร็วมากนักเพราะติดคอขวด น้ำก็จะเกิดการล้นเอ่อขึ้นจนล้น สปิลล์เวย์และไหลออกไปทางแม่น้ำสายนอกอีกที ดังนั้นในหน้าน้ำน้ำส่วนมากก็จะไหลมาเอ่อล้นตรงคอขวดแล้วไหล ออกไปทางแม่น้ำสายนอก ไม่ไหลเข้ามาท่วมเมืองเหมือนเดิม

อ่านมาถึงตรงนี้อาจจะดูเหมือนเรื่องนี้ทำได้ง่ายๆ แต่ในความเป็นจริงแล้วการจะทำเรื่องนี้ให้สำเร็จนั้นไม่ง่ายเลยนะครับ เพราะแม่น้ำหมินเจียงที่หลี่ปิงไปสร้าง “เขื่อนตู้เจียงเยี่ยน” เขื่อนที่ไม่ใช่เขื่อนคอนกรีตกั้นน้ำไว้บริหารปริมาณน้ำนั้น ไหลเชี่ยวกรากตลอดทั้งปี คนไทยที่ได้ไปดูการไหลของแม่น้ำนี้ต้องตกใจในความเชี่ยวกรากของแม่น้ำสายนี้กันทุกคน ไม่กี่สิบปีที่ผ่านมาเคยมีวิศวกรต่างชาติเคยพยายามมาสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำนี้ตรงบริเวณเดียวกับเขื่อนตู้เจียงเยี่ยน ผลปรากฎว่าสร้างไปได้นิดเดียวความเชี่ยวกรากของแม่น้ำหมินเจียงก็ซัดเขื่อนคอนกรีตจนเหลือแต่ซากให้คนออกแบบได้อับอาย

ด้วยสติปัญญาของหลี่ปิงที่สามารถควบคุมปริมาณน้ำได้ด้วยแนวคิด ปากปลา สปิลล์เวย์และคอขวดนั้นเลยทำให้มณฑล เสฉวนมีน้ำใช้ในปริมาณพอดีๆอย่างทั่วถึง จนกลายเป็นมณฑลที่เป็นอู่ข้าวอู่น้ำที่สำคัญของประเทศจีนในที่สุด ชื่อเมือง เอกของมณฑล “เฉิงตู” ซึ่งแปลว่าค่อยๆกลายเป็นเมืองนี้ก็ได้อานิสงส์มาจากเขื่อนตู้เจียงเยี่ยนนี้เอง เพราะได้เปลี่ยนพื้นที่ ซึ่งเดี๋ยวน้ำท่วมเดี๋ยวแห้งแล้งให้กลายเป็นพื้นที่ที่มีน้ำใช้อย่างพอดีๆ ตลอดทั้งปี ผู้คนก็เลยเข้ามาอยู่อาศัยจนค่อยๆ เป็นเมืองสมดังชื่อ

[smartslider3 slider="9"]