Amazing AEC – ในหลวงเสด็จฯ AEC

0
564



5 ธันวาคม เพิ่งจะผ่านไปด้วยความปลื้มปิติในใจไทยทุกดวง ไม่มีความสุขใดจะมากกว่าการได้เฉลิมฉลอง ได้มีโอกาสถวายพระพรในหลวงของเรา ถ้าจะนับจากปี พ.ศ. 2489 ที่พระองค์เสด็จฯขึ้นครองราชย์ ปีนี้ก็ 69 ปีแล้วนะครับที่ในหลวงท่านทรงงานหนักเพื่อพสกนิกรของพระองค์ตลอดมา ผมจึงอยากขอบันทึกถึงการเสด็จฯเยือนประเทศใน AEC ของพระองค์ท่านให้พวกเราได้ทราบกัน
ในหลวงเสด็จฯเยือนต่างประเทศในทวีปเอเชีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ 27 ประเทศ ในช่วงปี พ.ศ. 2502 ถึง พ.ศ. 2510 โดยประเทศแรกที่ในหลวงเสด็จฯในปี พ.ศ. 2502 และเป็นประเทศใน AEC ของเราด้วยคือเวียดนามใต้ ซึ่งในตอนนั้นเวียดนามยังแบ่งกันเป็นสองประเทศคือเวียดนามเหนือกับเวียดนามใต้ ก่อนที่จะมารวมเป็นประเทศเดียวกันในปี พ.ศ. 2519 ในการเสด็จฯครั้งนั้น มหาวิทยาลัยไซ่ง่อนได้ทูลเกล้าฯถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมาศักดิ์ด้านกฎหมายแด่พระองค์ท่านด้วย
ต่อมาในปี 2503 ในหลวงทรงเสด็จพระราชดำเนินเยือนต่างประเทศมากถึง 16 ประเทศ คือ สหรัฐอเมริกา ยุโรป 13 ประเทศได้แก่ อังกฤษ เยอรมัน โปรตุเกส สวิสเซอร์แลนด์ เดนมาร์ก นอร์เวย์ สวีเดน อิตาลี เบลเยี่ยม ฝรั่งเศส ลักเซมเบอร์ก เนเธอร์แลนด์ และสเปน AEC สองประเทศ ประเทศแรก คือ อินโดนีเซีย ในการเสด็จฯครั้งนั้นในหลวงพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงแด่ประธานาธิบดีซูการ์โนและรัฐมนตรีคนสำคัญอีกสองคนและเอกอัครราชทูตอินโดนีเซียประจำประเทศไทย มหาวิทยาลัย กัดจาห์มาดา เมืองยอกยาการ์ต้า มหาวิทยาลัยชื่อดังของอินโดนีเซียซึ่งประธานาธิบดีโจโควี่ ก็จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยแห่งนี้ ได้ทูลเกล้าฯถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์แด่พระองค์ท่าน
ส่วนประเทศที่สองใน AEC ที่ในหลวงเสด็จฯเยือนในปี พ.ศ. 2503 คือสหภาพพม่า (ชื่อในสมัยนั้น) ตามคำกราบบังคมทูลเชิญของประธานาธิบดีแห่งสหภาพพม่า ในการเสด็จฯเยือนครั้งนั้น ในหลวงได้เสด็จฯไปนมัสการพระเจดีย์ชเวดากองหรือที่ชาวเมียนมาเรียกว่าชเวดาโก่น ทรงลงพระปรมาภิไธยในสมุดเยี่ยมและทรงถวายเงินบำรุงจำนวน 2,503 จ๊าดเท่ากับอายุของพระพุทธศาสนาพอดี
อีก 2 ปีถัดมา ทรงเสด็จฯเยือนสหพันธรัฐมลายา (มาเลเซียในปัจจุบัน) โดยการเสด็จฯเยือนในครั้งนั้น ยังดิ เปอร์ตวน อากง (กษัตริย์ของมลายา) และประไหมสุหรี (พระราชินีของมลายา) ได้มาเฝ้ารับเสด็จ ณ ท่าอากาศยานกัวลาลัมเปอร์ ทรงรับเครื่องราช อิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุด และทรงแลกเปลี่ยนของขวัญ ฉายพระรูปร่วมกัน ทรงร่วมงานถวายพระกระยาหารค่ำอย่างเป็นทางการ ณ พระราชวังนคร กษัตริย์มลายาทรงกล่าวคำต้อนรับเสด็จ และถวายพระนามในหลวงของเราว่า “Our Royal brother and friend”
ในช่วงปี พ.ศ. 2505 ถึง ปี พ.ศ. 2506 ในหลวงเสด็จฯเยือนประเทศในกลุ่มอาเซียนบวก 6 อีก 4 ประเทศคือ นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และจีน ส่วนประเทศใน AEC ที่ในหลวงเสด็จฯเยือนเป็นประเทศสุดท้ายคือฟิลิปปินส์ในปีพ.ศ. 2506 หลังจากนั้นในหลวง เสด็จฯเยือนต่างประเทศจนถึงแค่ปี พ.ศ. 2510 โดยเสด็จฯแคนาดาเป็นประเทศสุดท้ายหลังจากนั้นพระองค์ก็มิเคยเสด็จฯ เพื่อทรงเยือนประเทศใดๆ อีกเพราะทรงเห็นว่าพระราชภารกิจในการทรงงานเพื่อความผาสุกของประชาชนของพระองค์นั้น มีความสำคัญยิ่งและมีมากมาย ดังนั้นหากพระประมุขหรือประมุขหรือรัฐบาลของประเทศใด กราบบังคมทูลเชิญให้เสด็จฯเยือนก็จะทรงผ่อนผันไม่ให้เสียน้ำใจ ด้วยการที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้พระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูง เช่นพระราชโอรสหรือ พระราชธิดาเสด็จพระราชดำเนินแทน
หลังจากทรงว่างเว้นการเสด็จฯเยือนต่างประเทศเป็นเวลานานถึง 27 ปี ในวันที่ 8 – 9 เมษายน 2537 ในหลวงก็ได้เสด็จพระราชดำเนิน ต่างประเทศอีกครั้งหนึ่ง เพื่อไปทรงประกอบพิธีเปิดสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 1 ซึ่งเป็นสะพานแห่งแรกที่เชื่อมสองประเทศนี้เข้าด้วยกัน ร่วมกับประธานประเทศซึ่งเป็นประมุขของสปป.ลาว คือ ฯพณฯ หนูฮัก พูมสะหวัน หลังจากพิธีเปิดสะพาน ในหลวงได้ เสด็จฯไปทรงงานต่อยังโครงการพระราชดำริต่างๆ ที่ได้พระราชทานให้แก่ประชาชนชาวลาวมาก่อนหน้านั้น

[smartslider3 slider="9"]