Amazing AEC – เมื่อต่างชาติทิ้งไทย

0
583

มีโอกาสได้อ่านงานวิจัยของ KKP Research ของกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ซึ่งวิเคราะห์ “ทำไมต่างชาติขายหุ้นไทย (ไม่หยุด)” พบว่ามีการวิเคราะห์ที่น่าสนใจอย่างยิ่ง จึงขอเก็บสาระสำคัญมาฝาก

นับตั้งแต่ต้นปีพ.ศ. 2563 จนถึงต้นเดือนกรกฎาคมต่างชาติได้ขายสุทธิหุ้นไทยมากถึง 2.2 แสนล้านบาท และหากนับย้อนหลังไปถึงปีพ.ศ. 2556 ยอดขายสุทธิของต่างชาติจะสูงมากกว่า 8 แสนล้านบาท จึงเกิดคำถามว่า ทำไมต่างชาติถึงขายหุ้นไทยไม่หยุด? ตามชื่องานวิจัย

คำตอบที่ได้คือ นักลงทุนต่างชาติมีทางเลือกในการลงทุนทั่วโลก ตลาดไหนน่าสนใจกว่าเขาก็เลือกไปลงทุนที่นั่น และการที่นักลงทุนต่างชาติเทขายหุ้นไทยในปีนี้ไม่ใช่เป็นผลมาจากโควิด-19 แต่เพียงอย่างเดียวแต่มันเป็นผลมาจาก “ความไม่น่าสนใจ” ของตลาดหุ้นไทย เพราะในช่วง 7 ปีที่ผ่านมาดัชนี MSCI หุ้นไทยแบไม่เติบโตเลยเมื่อเปรียบเทียบกับดัชนี MSCI ของภูมิภาคเอเชียและสหรัฐ ทิศทางการเติบโตของตลาดหุ้นในระยะยาวเป็นเครื่องสะท้อนศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจประเทศได้ดีในระดับหนึ่ง ดังนั้นการที่นักลงทุนต่างชาติสนใจประเทศไทยน้อยลง จึงเป็นสัญญาณเตือนว่าไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายทางเศรษฐกิจที่อาจทำให้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจในอนาคตตกต่ำลงอย่างถาวรเมื่อเปรียบเทียบกับอดีตและประเทศอื่นๆ

อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจไทยที่ลดต่ำมาโดยตลอดจากค่าเฉลี่ย 7% ในช่วงก่อนวิกฤติต้มยำกุ้งลงมาอยู่ที่ 5% ในช่วงปีพ.ศ. 2542 – 2555 และในช่วง 7 ปีที่ผ่านมาเติบโตเฉลี่ยเพียง 3% เมื่อเติบโตน้อยจึงส่งผลต่อความเป็นอยู่ของคนไทยซึ่งวัดด้วยรายได้เฉลี่ยต่อหัว ( GDP Per Capita) ซึ่งพบว่าไทยพัฒนาได้ช้ากว่าประเทศอื่นมากนับตั้งแต่วิกฤติต้มยำกุ้ง และจนถึงปัจจุบันไทยก็ยังไม่สามารถเติบโตหลุดออกจากกับดักประเทศรายได้ปานกลางได้ เมื่อเปรียบเทียบกับจีน 20 ปีที่แล้วจีนมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวเพียง 959 ดอลลาร์สหรัฐต่ำกว่าของไทยที่มี 2,007 ดอลลาร์ ในขณะที่ปัจจุบันจีนมีรายได้เฉลี่ยต่อหัว 10,261 ดอลลาร์สูงกว่าไทยซึ่งมีรายได้เฉลี่ยต่อหัว 7,808 ดอลลาร์

เวลาผมไปบรรยายเรื่อง AEC และผมเปรียบเทียบตัวเลขรายได้เฉลี่ยต่อหัวของไทยกับสิงคโปร์ เพื่อจะบอกว่าไทยเราไม่มียุทธศาสตร์ทำให้รายได้เฉลี่ยต่อหัวของไทยและสิงคโปร์ซึ่งเริ่มต้นใกล้เคียงกันเมื่อปีพ.ศ. 2508 แต่ในปัจจุบันสิงคโปร์มีรายได้เฉลี่ยต่อหัว 65,233 ดอลลาร์มากกว่าไทยเกือบ 9 เท่า ผู้เข้าร่วมสัมมนาที่รักชาติมากมักจะยกมือท้วงว่าผมไม่เป็นธรรม เพราะสิงคโปร์มีประชากรน้อยนิดเดียว เมื่อ GDP เติบโตแล้วเอาจำนวนประชากรทั้งประเทศมาหาร รายได้เฉลี่ยต่อหัวจึงต้องเติบโตเร็วกว่าไทยอย่างแน่นอน และเมื่อผมโดนท้วงแบบนี้ ผมก็มักจะบรรยายถึงยุทธศาสตร์และรายได้เฉลี่ยต่อหัวของจีน ซึ่งมีประชากรมากกว่าไทยมหาศาลแต่รายได้เฉลี่ยต่อหัวก็ยังสามารถโตแซงไทยได้ เสียงท้วงของคนไทยผู้รักชาติจึงเงียบลง

ในทางกลับกันถ้าผมบรรยายเรื่องการเติบโตของจีนก่อน ก็จะมีคนไทยผู้รักชาติยกมือท้วงว่าไม่ควรเอาจีนมาเปรียบเทียบกับไทยเพราะประชากรเขามาก ตลาดเขาใหญ่เขาได้เปรียบเรา ผมจึงต้องยกเอากรณีของสิงคโปร์ประเทศเล็กๆประชากรนิดเดียวมาเล่าเสียงทักท้วงจึงเงียบลง

เมื่อเศรษฐกิจเติบโตต่ำ ต่างชาติจึงย้ายฐานการผลิต เมื่อเศรษฐกิจเติบโตน้อยติดต่อกันเป็นเวลานานและส่งผลให้รายได้เฉลี่ยต่อหัวหรือกำลังซื้อของคนไทยเติบโตช้ากว่าประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะใน AEC ด้วยกัน ต่างชาติจึงมาลงทุนในตลาดการผลิตจริงๆเช่นการสร้างโรงงานฯ ที่เรียกว่า การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ หรือ Foreign Direct Investment : FDI  จึงลดลงอย่างเห็นได้ชัด

ในช่วงปี 2544-2548 ในเม็ดเงิน 100% ของ FDI ที่มาลงทุนใน 5 ประเทศใหญ่ใน AEC นั้นไทยเราครองสัดส่วน “มาก” ที่สุดคือ 44.2% ตามด้วยมาเลเซีย 24.3% เวียดนาม 12.3% อินโดนีเซีย 10.8% และฟิลิปปินส์ 8.4% หลังจากนั้น FDI ที่เข้ามาลงทุนในไทยก็ลดลงอย่างต่อเนื่อง ตัวเลขล่าสุดในช่วงปี 2559-2561 ใน FDI ทั้งหมดที่มาลงทุนใน 5 ประเทศใหญ่ใน AEC นั้นไทยเราครองสัดส่วน “น้อย” ที่สุดคือเพียง 14.2% ฟิลิปปินส์ 16.7% มาเลเซีย 18.4% เวียดนาม 24.8% และอินโดนีเซียมากสุดที่ 25.8%

เมื่อ FDI ซึ่งทุกประเทศทั่วโลกอยากได้และพยายามแย่งกันดึงดูด เพราะก่อให้เกิดการจ้างงาน การถ่ายทอดเทคโนโลยี การเติบโตทางเศรษฐกิจและการกินดีอยู่ดีของคนในประเทศ ของไทยลดลงจากมูลค่าเฉลี่ยปีละ 10,853 ล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วงปีพ.ศ. 2549-2553 เหลือเพียงปีละ 7,263 ล้านดอลลาร์ในช่วงปีพ.ศ. 2559-2561 จึงสะท้อนภาพที่น่าตกใจว่าไม่ใช่แค่นักลงทุนต่างชาติจะทิ้งหุ้นไทยเท่านั้นแต่ยังทยอยทิ้งประเทศไทยในฐานะที่เป็นฐานการผลิตอีกด้วย

อาทิตย์หน้าอ่านต่อครับ

[smartslider3 slider="9"]