Amazing AEC – Fake News

0
466

ตั้งแต่มีรัฐบาลใหม่ ข่าวที่ได้ยินมากข่าวหนึ่งคือศูนย์ต่อต้าน Fake News ของ รมต. พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ เจ้ากระทรวง DE เป็นเรื่องที่ดีเพราะเรื่องนี้เป็นปัญหาใหญ่ระดับโลก ในเมืองไทยคณะกรรมการประชาสัมพันธ์แห่งชาตินำโดย รองนายกฯ วิษณุ เครืองาม ได้ทำงานผลักดันและต่อสู้เรื่องนี้มาตั้งแต่ปีที่แล้ว ซึ่งผมก็อยู่ในคณะกรรมการชุดใหญ่ในฐานะผู้ทรงคุณวุฒิและยังเป็นประธานคณะอนุกรรมการด้านการบริหารจัดการข้อมูลข่าวสารภาครัฐฯ อีกด้วย มีการระดมสมองหาทางแก้ไข มีการเชิญผู้เชี่ยวชาญระดับโลกมาให้ข้อมูลว่าโลกเขาสู้ Fake News กันอย่างไร โดยเฉพาะองค์กรเช่น FBI หรือ CIA เขาทำงานกันอย่างไร ใช้เครื่องไม้เครื่องมืออะไร

ที่สำคัญมีคณะปฏิบัติการข่าวสาร 6 คณะจากทุกกระทรวงสำคัญ รวมถึงหน่วยงานความมั่นคง มีช่องทางการเผยแพร่ พร้อมๆกันผ่านเว็บไซต์และโฆษกของทุกกระทรวง แถมยังมีสื่อวิทยุ โทรทัศน์และโซเชียลของกรมประชาสัมพันธ์ อสมท. ไทยพีบีเอส ซึ่งร่วมเป็นคณะอนุกรรมการด้วย แม้ว่าคณะปฏิบัติการจะทำงานได้ผลดีอย่างมากในหลายเรื่อง แต่ด้วยข้อจำกัดของระบบราชการ บางเรื่องจึงอาจจะไม่ค่อยจะทันใจคนทำงานสักเท่าไหร่ ถ้า รมต.พุทธิพงษ์ จะเอาไปทำเอง คงต้องเสียเวลาไปเริ่มเองใหม่ น่าเสียดายองค์ความรู้และโครงสร้างการทำงานที่มีอยู่แล้ว และ DE ก็เป็นส่วนหนึ่งของ คณะกรรมการชุดนี้ทั้งระดับปลัดกระทรวงและทีมงาน

ที่น่ากังวลก็คือตอนนี้นอกจาก Fake News ยังมี Deepfakes หรือข่าวลวงที่ผลิตโดย AI ปัญญาประดิษฐ์ เช่นไปเลือกเอา คลิปนายกฯที่พูดเรื่องอะไรสักอย่างหนึ่ง แล้วป้อนข้อความใหม่ที่นายกฯไม่ได้พูด แต่ AI ก็สามารถจะก็อปปี้เสียง นายกฯ ให้พูดใหม่เหมือนกับข่าวลวงที่จะสร้างและยังสามารถทำให้ปากขยับได้ตรงกับเสียงที่พูดออกมากด้วย ซึ่งนอกจากเจ้าตัวเองแล้วก็ยากที่คนอื่นที่แยกแยะออกว่าที่ได้เห็นและได้ยินไปนั้นเป็นของจริงที่ รมต.พูดเองหรือเป็น Deepfakes เรื่องนี้แม้แต่เจ้าพ่อโซเชียลอย่างกูเกิ้ลที่ลงทุนนับหมื่นล้านบาททำ Google News Initiative ก็ยังกลัวเพราะ AI เก่งมากขึ้นทุกวัน

สิ่งที่พวกเราได้เรียนรู้จากการทำงานร่วมกันทุกหน่วยงานในการต่อสู้กับ Fake News คือ เราใช้คนให้เฝ้าระวังไม่ได้ เพราะกว่าจะรู้ว่ามี Fake News มันก็กลายเป็นไวรัลไปแล้ว และการตอบโต้ชี้แจงโดยภาครัฐ ขนาดเป็น กก.ระดับชาติ รองนายกฯ นั่งหัวโต๊ะ มีทุกฝ่ายเข้าร่วม การสั่งการ การตอบโต้ การเผยแพร่ยังช้าและขาดการบูรณาการเท่าที่ควร

สอง ในต่างประเทศที่เขาตรวจจับและเฝ้าระวังและตอบโต้ ต้องใช้ระบบ BIG DATA คือข้อมูลที่เป็นความจริงที่ถูกจัด ระบบไว้อย่างดี ตรวจสอบได้รวดเร็ว ซึ่งจะจัดได้เช่นนั้นก็ต่อเมื่อคอมพิวเตอร์เข้าใจภาษามนุษย์ ซึ่งปรกติคอมฯตัวไหนๆ ก็ไม่เข้าใจภาษามนุษย์ เราจึงต้องสอนมันด้วยกระบวนการ NLP (Natural Language Processing) คือค่อยๆ คีย์ตัวอักษรไทย และคำไทย สำนวน แสลง คำผวน เข้าไป และบอกคอมพิวเตอร์ว่าที่เพิ่งคีย์เข้าไปมีความหมายว่าอย่างไร ที่เขาเรียกว่า Machine Learning ก็คือขั้นตอนการสอนขั้นตอนนี้นั่นเอง เมื่อคอมพิวเตอร์เข้าใจภาษามนุษย์ คนที่เป็น Data Scientist ก็จะเขียนโปรแกรมหรือโมเดลสอนให้คอมพิวเตอร์ไปอ่านโพสต์ ไปดูคลิปในโลกอินเตอร์เน็ตทั้งหมด ฯลฯ แล้วเอามาเปรียบเทียบกับ BIG DATA ที่มีอยู่เพื่อดูว่ามันเป็นความจริงหรือไม่ ถ้าเป็น Fake News ระบบก็จะเตือนผู้รับผิดชอบให้ รับรู้และแก้ไข วันไหนที่คอมพิวเตอร์คิดและทำงานแทนคนได้ วันนั้นแหล่ะที่เราเรียกมันว่าเป็น AI ปัญญาประดิษฐ์

จุดเป็นจุดตายของเราก็คือคอมพิวเตอร์จะต้องเข้าใจและเก่งภาษาไทยเสียก่อนเราถึงจะสามารถต่อสู้กับ Fake News แบบ FBI, CIA หรือประเทศอื่นๆ ได้ แต่วันนี้คอมพิวเตอร์ยังเข้าใจภาษาไทยน้อยมากๆ แม้ จะมีบางหน่วยงานสอนกันอยู่ แต่คอมพิวเตอร์เพิ่งจะเข้าใจภาษาไทยเพียง 40,000 คำจาก 4 ล้านคำ ดังนั้นไทยจึงยังไม่มี BIG DATA มีแต่ Data Base ที่ใหญ่และไม่ได้จัดระเบียบ เอามาใช้ได้แต่ใช้เวลานานมากไร้ประสิทธิภาพ เมื่อคอมพิวเตอร์ยังไม่เข้าใจภาษาไทยก็จะไม่สามารถไปเฝ้าดูโพสต์หรือคลิปวิดิโอได้ ดังนั้นระบบเฝ้าระวัง Fake News ของไทยจึงยังต้องใช้ “คน” เฝ้าดูหรือคอยจนเป็นไวรัลไปแล้วจึงจะรู้ แม้จะมีซอฟท์แวร์ประเภท Social Listening ที่ภาคธุรกิจเอาไว้ใช้ฟังว่าโลกโซเชียลพูดถึงบริษัท อย่างไรบ้างจะได้ปรับกลยุทธการตลาดให้ตรงใจผู้บริโภค แต่ซอฟท์แวร์ประเภทนี้ก็เล็กและไร้ประสิทธิภาพเกินกว่าจะเอามาใช้ต่อสู้กับ Fake News ได้โลกเขาไม่ใช้กัน ที่สำคัญเรื่องความมั่นคงของชาติที่โดน Fake News เล่นงานนั้นเป็น เรื่องสำคัญและละเอียดอ่อนเกินกว่า Social Listening จะรับมือได้อย่างแน่นอน

[smartslider3 slider="9"]