PERSPECTIVE OF AEC – ปัจจัยแห่งความสําเร็จ

0
468

เหลืออีกไม่ถึง  600 วันที่ไทยเราและ ASEAN จะเข้าสู่การเป็น  AEC อย่างเต็มรูปแบบแล้วนะครับ แม้ว่าเมื่อถึง วันที่ 31 ธันวาคม 2558 มันจะไม่ใช่การพลิกโฉมเปรี้ยงปร้างเหมือนๆกับการเปิดห้างสรรพสินค้าอย่างที่หลายคน เข้าใจ วันที่ 31 ธันวาคมก็จะเหมือนๆวันที่ 30  ธันวาคมหรือวันก่อนหน้านั้น ไม่ได้มีอะไรน่าตื่นเต้นหรือ แปลกใหม่หรอกนะครับ ทุกสิ่งทุกอย่างจะค่อยๆเปลี่ยนเมื่อแต่ละประเทศเขาพร้อมจะเปลี่ยน

แต่อย่างที่ผมเคยเขียนมาตลอดว่า AEC นี่ความเนื้อหอมไม่ได้อยู่ที่ประเทศสมาชิกทั้ง 10 ประเทศว่าจะทำ มาค้าขายกันมากขึ้นหรือลงทุนระหว่างกันมากขึ้น การเคลื่อนย้ายเสรีของวัตถุดิบหรือแรงงานฝีมือก็อาจจะ ไม่ค่อยเสรีอย่างที่หลายคนหวัง แต่ความเนื้อหอมของ AEC กลับจะอยู่ที่ข้อตกลงทางการค้าที่ทาง  AEC ได้ไปทำไว้กับ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์และอินเดียที่เรียกเป็นภาษาทางการว่า ASEAN +6 ต่างหากครับ เพราะ 16  ประเทศนี้รวมกันแล้วใหญ่โตเท่ากับครึ่งโลกเลยนะครับ ไม่ว่าจะวัดจากจำนวนประชากร หรือวัดจากกำลังซื้อหรือ GDP ก็ตาม และที่สำคัญ ASEAN+6 นี้ยังเป็นครึ่งโลก ที่กำลังเติบโตเสียด้วย ตรงนี้แหล่ะครับที่จะทำให้อีกครึ่งโลกที่เหลือเขาอยากจะมาลงทุนมาตั้งโรงงานหรือมาตั้ง สำนักงานกันใน AEC เพราะเมื่อมาแล้วบริษัทที่มาก็จะได้สิทธิพิเศษทางด้านภาษีและการค้าขายเหมือนๆกับที่ AEC ได้จาก 6 ประเทศ

ที่เราต้องรู้ก็คือบริษัทระดับโลกเวลาเขาจะไปลงทุนที่ไหน เขาจะดูที่ 3 เรื่องหลักๆคือหนึ่ง ความยากง่าย ในการทำธุรกิจ สอง ความโปร่งใสไร้คอร์รัปชั่นและสาม ความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน ครับ

เปรียบเทียบระหว่างสมาชิก  AEC ด้วยกัน ในเรื่องความยากง่ายในการทำธุรกิจนั้น ไทยเราทำได้ค่อนข้างดี นะครับคือเราได้ที่ 18 ของโลก เป็นรองมาเลเซียซึ่งได้ที่ 12 และเป็นรองสิงคโปร์ที่เป็นประเทศที่มีความง่าย ในการทำธุรกิจมากที่สุดในโลก เรื่องนี้ต้องขอบคุณระบบคอมพิวเตอร์ที่ทำให้ การจดทะเบียนตั้งบริษัท การเสียภาษีทั้งหลายสามารถทำแบบออนไลน์ได้เลยเป็นส่วนที่ไทยเราทำได้ดี แต่ที่ยังต้องปรับปรุงอยู่อีกมาก คือกฎหมายและระเบียบบางส่วนยังเอื้อให้เจ้าหน้าที่ภาครัฐสามารถใช้ดุลยพินิจได้อยู่ โดยเฉพาะกฎหมายที่ เกี่ยวข้องกับภาษีเกือบทั้งหมดที่ให้อำนาจภาครัฐมากจนภาคเอกชนรู้สึกว่ายังไม่ได้รับความเป็นธรรม

ดังนั้นเรื่องความยากง่ายในการทำธุรกิจนี้ จึงแค่ไม่เป็นอุปสรรคในการที่ต่างชาติจะมาลงทุนในไทย แต่ยังไม่ใช่ ประเด็นเด็ดที่แรงเพียงพอจะชักจูงคนมาลงทุนได้

ส่วนเรื่องที่สองคือเรื่องความโปร่งใสไร้คอร์รัปชั่นนั้นน่าหนักใจมากครับเพราะไทยเราสอบตกมาโดยตลอด เพราะตั้งแต่ที่องค์กรความโปร่งใสสากลเขาเริ่มมาวัดดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชั่นของไทยนั้น เราสอบตกมาโดย ตลอด ในปี 2538 องค์กรความโปร่งใสสากลเขาจัดลำดับ 41 ประเทศ ไทยเราได้อันกับที่ 34 ได้คะแนนเพียง 2.79 คะแนนจากคะแนนเต็ม 10 คะแนน ถือว่าเป็นคะแนนต่ำที่สุดเท่าที่ไทยเราเคยได้ ส่วนคะแนนสูงสุดที่เราเคยได้คือ 3.80 คะแนน ในปี 2548 นั้นก็ยังห่างจากคะแนนสอบผ่าน 5 คะแนนพอสมควร ข่าวร้ายก็คือคะแนนของล่าสุด ของปีที่แล้วไทยเราได้คะแนนลดลงอีก 2 คะแนนจาก  37  เหลือ 35 คะแนนจากคะแนนเต็ม 100 คะแนน ส่วนอันดับนั้นน่าตกใจมากครับ รูดลงจากที่ 88 เป็นที่ 102 จากทั้งหมด 177 ประเทศ ทำให้ความโปร่งใส ของไทย เราตกจากอันดับ 4 เป็น 5 ของ AEC

ปีที่แล้วมีแค่สองประเทศที่ได้อันดับลดลง อีกประเทศคือกัมพูชาซึ่งคะแนน ลดลงไป 2 คะแนนเหลือ 20 คะแนน แย่สุดใน  AEC และได้อันดับที่ 160 ของโลก ส่วนประเทศที่เหลือทำได้ดีขึ้นหมด โดย สิงคโปร์ยังเป็นประเทศ ที่โปร่งใสที่สุดใน AEC และเป็นอันดับที่  5 ของโลก รองลงมาคือบรูไนซึ่งคะแนนดีขึ้น  5  คะแนนเป็น 60 คะแนนได้ที่ 38  มาเลเซียสอบผ่านแล้วในปีที่ผ่านมาคือได้ 50 คะแนนจากเดิม 49 คะแนนได้อันดับที่  53 ส่วนฟิลิปปินส์ที่เดิมแพ้ไทย ปีที่แล้วเขาได้คะแนนสูงขึ้น 2 คะแนนเป็น 36 คะแนนและได้ที่ 94 จากเดิมที่ 105  อินโดนีเซียและเวียดนามคะแนนเท่าเดิมแต่ลำดับดีขึ้นเป็น 114  และ 116  ตามลำดับ ขณะที่ลาวได้คะแนน 26 ดีขึ้น 5  คะแนนได้ที่ 140 ส่วนพม่าได้ 21 คะแนนดีขึ้น 6 คะแนนได้ที่ 157 กระโดดขึ้นมาจากที่เคยได้ที่ 172

เรื่องที่สามที่บริษัทระดับโลกเขาดูกันเวลาจะไปลงทุนที่ประเทศไหนคือเรื่องความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งเป็น 1 ใน 4 เกณฑ์ที่ทาง International Institute for Management Development  (IMD) เขาใช้วัดความสามารถ ในการแข่งขันของแต่ละประเทศ ได้แก่ ความสามารถทางเศรษฐกิจ ประสิทธิภาพของภาครัฐ ประสิทธิภาพของ ภาคธุรกิจและความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งเมื่อวัดทั้ง 4 เกณฑ์นั่นแล้ว ไทยเราได้ที่ 27 ของโลกจาก 60 ประเทศที่เขาวัดกัน แพ้สิงคโปร์ที่ได้ที่ 5 และมาเลเซียที่ได้ที่ 15  ชนะฟิลิปปินส์และอินโดนีเซียที่ได้อันดับที่ 38 และ 39 ส่วน 4 อันดับแรกของโลกคือ สหรัฐฯ สวิสเซอร์แลนด์ ฮ่องกงและสวีเดนครับ ตอนที่กำลังเขียนต้นฉบับ อยู่นี้ IMD  เขายังไม่ได้ประกาศอันดับล่าสุดออกมา แต่ผมทายไว้ก่อนเลยว่าไทยเราอันดับร่วงลงมาอย่างแน่นอน เผลอๆจะหลุดไปถึงอันดับที่ 30 หรือกว่านั้นเลยทีเดียว

เมื่อดูเฉพาะความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานนั้น IMD บอกว่าไทยเรามีความพร้อมเป็นอันดับที่ 48 ของโลก ขณะที่สิงคโปร์และมาเลเซียได้อันดับที่ 12 และ 25 การที่ไทยเรามีความพร้อมเป็นอันดับที่ 48 ของโลกนี่แหล่ะ ครับที่รัฐบาลไทยใช้มาเป็นเหตุผลสำคัญเหตุผลหนึ่งในการเร่งรัดการสร้างรถไฟความเร็วสูง โดยบอกว่าเมื่อ สร้างเสร็จแล้วจะทำให้ไทยมีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานเทียบเคียงกับประเทศอื่นๆ ซึ่งฟังดูผิวเผินก็น่า จะเป็นเรื่องดี แต่ผมว่าเป็นเรื่องที่น่ากังวลมากๆ เพราะเวลาที่ IMD เขาวัดความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานนั้น เขาไม่ได้วัดความพร้อมเฉพาะถนนหนทางและรางรถไฟ แต่เขาวัดความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานทั้ง 5 ด้าน ด้วยกันคือ 1 โครงสร้างพื้นฐานเบื้องต้น เช่น ถนนหนทางรางรถไฟ การขนส่งทางน้ำทางอากาศ 2โครงสร้าง พื้นฐานด้านเทคโนโลยี เช่นการลงทุนใน ระบบโทรคมนาคมและเทคโนโลยี จำนวนวิศวกร 3 โครงสร้างพื้นฐาน ด้านวิทยาศาสตร์ เช่น งบลงทุนด้าน R&D ของทั้งภาครัฐและเอกชน ความสามารถในการสร้างนวัตกรรม 4 โครงสร้างพื้นฐานด้านสุขภาพและ      สิ่งแวดล้อม เช่น ค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพ อายุเฉลี่ย อัตราการใช้น้ำและ บำบัดน้ำเสีย กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับ สิ่งแวดล้อม และ 5 โครงสร้างพื้นฐานด้านการศึกษา เช่น จำนวนครูต่อ นักเรียน ความสามารถการใช้ภาษา ระบบจัดการการศึกษา

ที่น่าสนใจก็คือพอลงไปดูในรายละเอียดเรากลับพบว่าความจริงแล้วความพร้อมด้านถนนหนทางรางรถไฟของ ไทยเรานั้นได้อันดับที่ค่อนข้างดีนะครับคืออันดับที่ 25 ขณะที่อีก 4 ด้านที่เหลือไทยเราได้อันดับที่แย่มากคือ โครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีเราได้ที่ 47 โครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ได้ที่ 40 โครงสร้างพื้นฐาน ด้านสุขภาพและสิ่งแลดล้อมได้ที่ 55 และโครงสร้างพื้นฐานด้านการศึกษา 51 หมายความว่า เวลาที่ IMD เขา บอกว่าความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานของไทยแย่กว่าประเทศอื่นๆนั้น แท้ที่จริงแล้วเป็นเพราะโครงสร้าง พื้นฐานด้านเทคโนโลยี วิทยาศาสตร์ สุขภาพ สิ่งแวดล้อมและการศึกษาของไทยเราแย่ต่างหาก ไม่ใช่ถนนหนทาง หรือรางรถไฟของเราแย่

ไม่ต้องแปลกใจนะครับถ้ารัฐบาลไทยเราจะลงทุนไปมหาศาลในรถไฟความเร็วสูงแต่อันดับความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานเราจะไม่ดีขึ้นเลยและบริษัทระดับโลกจะยังไม่มาลงทุนในไทยเหมือนเดิม ถ้าไทยเรามีงบประมาณ เหลือเฟือไว้ลงทุน ผมก็จะไม่ห่วงอะไรหรอกนะครับ แต่นี่งบลงทุนก็มีนิดเดียว ต้องใช้วิธีกู้มาลงทุน แต่ยังจะ ลงทุนในเรื่องที่ผิดๆ คิดดูแล้วคงจะเหมือนกับแทนที่เราจะกู้มาส่งลูกเรียนโรงเรียนดีๆและซ่อมแซม บ้านที่ทรุดโทรม แต่เรากลับเอาเงินกู้นั้นไปซื้อรถไฮบริดแล้วหลอกตัวเองว่าเป็นเรื่องที่ดีเพราะช่วยประหยัด น้ำมันและรักษาสิ่งแวดล้อม

ไม่รู้จะโทษอะไรก็โทษระบบการศึกษาที่ล้มเหลวเรื้อรังของไทยก็แล้วกันนะครับ ที่ผลิตผู้บริหารประเทศ มาได้คุณภาพแค่นี้ 

[smartslider3 slider="9"]