PERSPECTIVE OF AEC – แหวนแม่นาฬิกาเพื่อน

0
622

ในช่วงที่ผ่านมาเห็นจะไม่มีเรื่องไหนอื้อฉาวและทำให้คนที่สนใจติดตามปัญหาการคอร์รัปชันในประเทศไทยได้มากกว่า เรื่องแหวนแม่และนาฬิกาเพื่อนของรองนายกฯคนดังคนหนึ่ง การไม่พยายามชี้แจงของเจ้าตัว รวมทั้งท่าทีของ ปปช.ที่ดูเหมือนจะไม่กล้าเอาจริงกับรองนายฯ ทำให้เกิดคำถามขึ้นในใจหลายคนว่า หากเรื่องนี้เกิดขึ้นในประเทศอื่นที่เขาเอาจริง เรื่องการปราบคอร์รัปชันกว่าเมืองไทย เรื่องนี้จะถูกจัดการอย่างไร

เรื่องแหวนแม่นาฬิกาเพื่อนนี่จะต้องไปดูการปราบคอร์รัปชันในเกาหลีใต้ซึ่งเป็นสังคมอุปถัมภ์เหมือนสังคมไทย ที่สำคัญรูปแบบการคอร์รัปชันที่นั่นก็เป็นรูปแบบที่มีการร่วมมือกันแบบบูรณาการระหว่างรัฐบาล พรรคการเมือง และข้าราชการ ประจำเหมือนไทยเสียอีกด้วย

เกาหลีใต้นั้นเคยไปเอาโมเดลการปราบคอร์รัปชันของฮ่องกง ซึ่งถือเป็นต้นแบบที่ใช้ปราบคอร์รัปชันที่มีประสิทธิภาพมากใช้ได้ผลดีจนหลายประเทศขอนำเอาไปใช้บ้าง แต่เมื่อเกาหลีใต้เอา “ฮ่องกงโมเดล” มาใช้กลับล้มเหลวเป็นเพราะสอง เหตุผลสำคัญคือหนึ่ง การคอร์รัปชันในเกาหลีใต้นั้นเป็นการคอร์รัปชันแบบบูรณาการคือรัฐบาล นักการเมือง และธุรกิจขนาดใหญ่ ร่วมกันฮั้วร่วมกันโกงทำให้การโกงนั้นแนบเนียนเป็นระบบจับได้ยากและสอง สังคมเกาหลีใต้เป็นสังคมอุปถัมภ์ คนที่รู้จักกันมีบุญคุณต่อกันมักจะไม่แฉกันหรือเปิดโปงกัน ผู้น้อยก็ไม่กล้าแฉผู้ใหญ่แม้ว่าจะรู้จะเห็น จึงไม่ค่อยมีใครกล้าหรือเต็มใจจะให้เบาะแสการโกง ยิ่งทำให้การจับการทำได้ยากยิ่งขึ้นไปอีก

การปราบคอร์รัปชันของเกาหลีใต้ในสมัยนั้นจึงล้มเหลว โกงกันไปโกงกันมาจนประเทศแทบจะล่มสลาย จนกระทั่ง เศรษฐกิจเกาหลีใต้ต้องพังทลายลงหลังวิกฤติต้มยำกุ้งของไทยลามไปทั่วโลก เกาหลีใต้จึงตัดสินใจปฏิรูป “ฮ่องกงโมเดล” ให้เป็นโมเดลของตัวเอง “เกาหลีใต้โมเดล” เป็นโมเดลที่พยายามจะแก้ไขปัญหาสังคมอุปถัมภ์ที่คนรู้จักกันไม่ทำลายกันเป็นสังคมที่ไม่มีใครอยากแจ้งเบาะแสการโกงถึงแม้จะรู้จะเห็นก็ตามเพราะล้วนแต่เป็นคนที่ทำงานด้วยกัน คนรู้จักกัน คนเคยมีบุญคุณต่อกันทั้งสิ้น ในที่สุดเกาหลีใต้ก็ได้เรียนรู้ว่าคนที่จะแฉการโกงได้ดีที่สุดก็คือคนใกล้ตัวหรือทีมงานนั่นเองเพราะอยู่ใกล้ชิดและทำงานร่วมกัน ย่อมจะรู้เห็นความเป็นไปเป็นมาและเบาะแสการคอร์รัปชันได้ดีกว่าคนภายนอก ดังนั้นหนึ่ง ในยุทธศาสตร์สำคัญที่ใช้ปราบการโกงในสังคมอุปถัมภ์ของเกาหลีใต้โมเดลก็คือ “เกลือเป็นหนอน”

“เกลือเป็นหนอน” เป็นยุทธศาสตร์ในการปราบคอร์รัปชันของ ACRC (Anti-Corruption & Civil Right Commission of Korea)  ซึ่งเป็นหน่วยงานปราบปรามคอร์รัปชันที่ใช้วิธีการบีบบังคับให้คนใกล้ตัวหรือทีมงานต้องรีบ “แจ้งเบาะแส” การ คอร์รัปชันทันทีเมื่อได้รู้ได้เห็นเพราะหากทำเฉยเมยไม่แจ้งหรือช่วยปิดบัง หากผู้คอร์รัปชันถูกจับได้ ACRC มีอำนาจที่จะลงโทษคนใกล้ตัวและทีมงานอย่างหนักได้ด้วยในข้อหาไม่ช่วยแจ้งเบาะแส ในทางตรงกันข้าม หากคนใกล้ตัวหรือทีมงานแจ้งเบาะแสให้กับ ACRC เมื่อคดีสิ้นสุด ผู้คอร์รัปชันโดนลงโทษผู้แจ้งเบาะแสจะได้รับรางวัล

“เกลือเป็นหนอน” จึงเป็นยุทธศาสตร์ปราบคอร์รัปชันสำคัญที่ทำให้คนเกาหลีที่รู้เห็นการโกงต้องรีบแจ้งเบาะแสการโกง ให้กับ ACRC ทันที ไม่เช่นนั้นเขาจะโดนลงโทษไปพร้อมๆ กับคนที่โกง นอกจากจะปลอดภัยจากการโดนลงโทษแล้ว การเป็นผู้แจ้งเบาะแส ยังจะทำให้คนแจ้งมีโอกาสได้รับรางวัลอีกด้วย ดังนั้นหากเรื่องแหวนแม่นาฬิกาเพื่อนนี้ไปเกิดในเกาหลีใต้ เราคงจะได้เห็นทีมงานผู้สวมแหวนและนาฬิกาโดนลงโทษอย่างหนัก และบางทีเราอาจจะได้เห็นเพื่อนร่วมรัฐบาลที่ปรากฎภาพหัวเราะกันกิ๊กกั๊กๆ โดนลงโทษด้วยเช่นกัน

หากเรื่องนี้เกิดขึ้นในเกาหลีใต้ ป่านนี้ ACRC คงจะเข้าไปตรวจสอบเส้นทางการเงินของการซื้อขายแหวนและนาฬิกาดังกล่าวไปเรียบร้อยแล้ว เพราะนาฬิกาแพงๆ เหล่านี้จะมีหมายเลขประจำเครื่อง ดังนั้นจึงสามารถตรวจสอบย้อนหลังได้ทันที ว่าซื้อที่ไหนและเมื่อไหร่?  ถ้าผู้สวมอ้างว่าเป็นผู้ซื้อเองก็สามารถตรวจสอบเส้นทางเงินของผู้สวมได้ว่าเอาเงินก้อนไหนไปซื้อ หากเส้นทางการเงินไม่สอดคล้องกับคำอ้าง ACRC ก็สามารถจัดการจับกุมผู้สวมได้ทันที หากผู้สวมอ้างว่าเป็นนาฬิกา เพื่อนจริงอย่างข่าวที่ออกมา หน่วยงานก็สามารถไปตรวจสอบเส้นทางการเงินของเพื่อนได้ ซึ่งก็จะรู้ได้ทันทีว่าเป็นนาฬิกายืมเพื่อนมาจริงหรือไม่? หรือจะเป็นนาฬิกาที่ลูกน้องในเครื่องแบบซื้อมาสองเรือนแล้วนำมาให้ผู้สวมหนึ่งเรือน เรื่องแบบนี้ก็ตรวจสอบย้อนหลังได้หมดถ้ากล้าและอยากจะปราบคอร์รัปชันกันจริงๆ

เมื่อใช้ยุทธศาสตร์ “เกลือเป็นหนอน” จนมีการชี้เบาะแสคนโกงกันมากขึ้นและจับได้ว่าโกงจริง  ACRC จะใช้ยุทธศาสตร์ “เชือดไก่ให้ลิงดู” ซึ่งเป็นการลงโทษผู้คอร์รัปชันอย่างหนัก ไม่ว่าคนผู้นั้นจะเป็นคนโกงมืออาชีพโกงมาหนักโกงมานาน หรือเป็นเพียงมือใหม่หัดโกง เพิ่งโกงเป็นครั้งแรกหรือเป็นการโกงเพียงเล็กน้อยก็ตาม ทั้งนี้เพราะ ACRC ต้องการจะทำให้คนทั้งประเทศคิดตรงกันว่า “อย่าโกงเลยไม่คุ้มหรอก” นั่นเอง เรื่องนี้ก็เป็นเรื่องที่หน่วยงานปราบโกงของเมืองไทยและคนไทย “มองข้าม” เมื่อคนมีชื่อเสียง “โกง” ไม่ว่าจะเป็น ข้าราชการ ทหารตำรวจ นักการเมือง ผู้ประกาศข่าว คนไทยมักจะคิดว่าคนเหล่านี้เคยทำความดี เป็นคนดีแต่คราวนี้พลาดและอาจไม่ตั้งใจ อย่าไปลงโทษเขาเลย หากจะลงโทษก็อยากให้ลงโทษเบาๆ หรือเอาแค่รอลงอาญา แต่ในเกาหลีใต้ไม่ว่าคนโกงจะเป็นใคร เคยเป็นคนดีมีชื่อเสียงมาแค่ไหนก็ตาม ถ้าจับได้ว่าโกงไม่ว่าจะเป็นการโกงครั้งแรกหรือโกงมานานแล้ว ไม่ว่าจะโกงมากหรือโกงเพียงเล็กน้อย คนโกงจะโดนลงโทษอย่างหนักทันที

นอกจาก “เกลือเป็นหนอน” และ “เชือดไก่ให้ลิงดู” ที่เป็นสองยุทธศาสตร์ “ปราบ” เอาไว้จัดการคนโกงแล้ว เกาหลีใต้ยังมี “ตัดไฟแต่ต้นลม” ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์เชิง “ป้องกัน” การโกงอีกด้วย โดยเขาจะเน้นการอบรมและสร้างจริยธรรมให้กับข้าราชการรุ่นใหม่ ซึ่งทุกคนจะได้รับคู่มือมีระเบียบสร้างความชัดเจนว่าอะไรทำได้หรืออะไรทำไม่ได้ การอบรมเพื่อสร้างจริยธรรมไม่ให้โกงดังกล่าวนั้นเขาจะทำอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้ความคิดที่จะไม่โกงนั้นฝังลึกลงไปในจิตใต้สำนึกของข้าราชการทุกคน

เมื่อข้าราชการคนไหนใกล้เกษียณ เกาหลีใต้ก็จะมีการตรวจสอบย้อนหลังไปห้าปีว่าข้าราชการผู้นั้นได้เคยเซ็นต์อนุมัติหรือ ได้เคยช่วยบริษัทเอกชนรายใดบ้าง หากเป็นข้าราชการตุลาการก็จะถูกตรวจสอบย้อนหลังไปเช่นกันว่าเคยได้ทำคดีใดบ้าง เมื่อถึงวันเกษียณข้าราชการเกาหลีใต้จะถูกห้ามมิให้ไปทำงานกับบริษัทเอกชนหรือบุคคลที่ตนเองได้เคยช่วยเหลือเอาไว้ อย่างน้อยเป็นเวลา 5 ปี ทั้งสองมาตรการที่ใช้กับข้าราชการรุ่นใหม่และข้าราชการเกษียณนี้ถือเป็นการตัดไฟแต่ต้นลมที่ดี

นอกจากนี้ ACRC  ยังเน้นการมีส่วนร่วมชุมชนในการปราบคอร์รัปชัน ด้วยการสร้างระบบไอทีซึ่งทุกคนสามารถเข้าไปแจ้งเบาะแสการโกงได้อย่างสะดวกง่ายดาย แถม ACRC ยังได้จัดคอมพิวเตอร์พร้อมระบบไปวางไว้ตามเครือข่ายต้านโกง ทั้งหลายอาทิ สถาบันการศึกษา NGO  และสมาคมการค้าทั้งหลาย ทำให้การแจ้งเบาะแสการโกงในเกาหลีใต้นั้นทำได้ง่าย โดยผู้แจ้งเบาะแสสามารถเลือกได้ว่าจะปกปิดหรือจะเปิดเผยตัวเองก็ได้ และเมื่อได้รับการแจ้งเบาะแส ACRC จะให้ความสำคัญกับ “การคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแส” เป็นอย่างมาก ไม่ว่าผู้แจ้งจะแจ้งเบาะแสแบบปกปิดหรือเปิดเผยตัว โดยเฉพาะอย่าง ยิ่งเมื่อผู้แจ้งเบาะแสเป็นลูกน้อง ถ้าหากมีการโยกย้ายที่กระทบกระเทือนตำแหน่งหน้าที่ของคนแจ้งเบาะแส คนที่ออกคำสั่งโยกย้ายจะโดนลงโทษทันที มาตรการเช่นนี้ทำให้คนเกาหลีใต้ทุกอาชีพล้วนเต็มใจและพร้อมจะแจ้งเบาะแสการโกง ทุกครั้งที่มีโอกาส

ที่สำคัญเมื่อได้รับการแจ้งเบาะแสการโกง ACRC  จะเร่งสืบสวนสอบสวนการโกงนั้นๆ อย่างรวดเร็วและจริงจัง ไม่ว่าผู้แจ้งจะปกปิดตัวเองหรือเปิดเผยตัวเอง ไม่ว่าเรื่องที่โกงจะเป็นเรื่องใหญ่หรือเรื่องเล็ก หากทีมประจำมีงานล้นมือ ACRC  ก็จะตั้งทีมพิเศษมาสืบสวนสอบสวนเบาะแสที่ได้รับแจ้ง โดย ACRC ถือเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งยวดที่ต้องรายงานผลการสืบสวนสอบสวนแก่ผู้แจ้งภายใน 30 วัน ทั้งนี้เพราะต้องการทำให้สังคมเกาหลีใต้มั่นใจ ว่า ACRC เอาจริงเอาจังเรื่องการปราบโกงทุกเรื่อง

เรื่องแหวนแม่นาฬิกาเพื่อนนี้หากเกิดขึ้นในเกาหลีใต้คนที่นั่นจะได้รับรู้ความจริงอย่างรวดเร็ว ว่าอะไรคือเรื่องจริงอะไรคือเรื่องโกหก มีใครเกี่ยวข้องมีใครรู้เห็นบ้าง คนคอร์รัปชันและคนรอบข้างจะโดนลงโทษอย่างหนักและรวดเร็วเพราะเกาหลีใต้เคยมีบทเรียนที่เจ็บปวดว่าการปราบคอร์รัปชันแบบไม่จริงจังและการเลือกปราบแต่ฝ่ายตรงกันข้าม แต่พรรคพวกโกงไม่เป็นไรนั้นได้เคยพาเอาประเทศของเขาล่มสลายไปในช่วงหลังปี พ.ศ.  2540 ก่อนที่เขาจะตื่นขึ้นมาปฏิรูปการปราบคอร์รัปชันครั้งใหญ่โดยการก่อตั้ง ACRC  ปฏิรูปวิธีคิดในการปราบโกง และสร้างสังคมเกาหลีใต้ใหม่ที่คนของเขา “จะไม่ทนต่อการโกงและมีส่วนร่วมในการปราบโกง” จนสุดท้ายปราบคอร์รัปชันได้สำเร็จ วันนี้ดูเหมือนว่าเมืองไทยกำลังอยู่บนทางแพร่งของการปราบคอร์รัปชันอีกครั้ง หากยังปล่อยให้คนโกงมีที่ยืนอยู่ในสังคม ได้เหมือนๆ ที่ผ่านมาเราคงจะต้องล่มสลายเหมือนเกาหลีใต้ในอดีต คำถามก็คือทำไมไทยเราต้องรอจนประเทศล่มสลาย เสียก่อนจึงจะตื่นขึ้นมาปฏิรูปการปราบคอร์รัปชัน?

[smartslider3 slider="9"]