กรอบและทิศทางแผนฯ13 (ตอน 2) – มุมมองเกษมสันต์

0
755

กรอบและทิศทางแผนฯ13 ตอน 2

อาทิตย์ที่แล้ว ผมเอาร่างกรอบแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ซึ่งจะประกาศใช้ในปีพ.ศ. 2566 – พ.ศ. 2570 มานำบอกว่า หลังจากสภาพัฒนฯได้วิเคราะห์แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงระดับโลกว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้างและผลกระทบและแนวโน้มจากโควิด-19 ในระดับโลกแล้วนั้น สำหรับสถานะของประเทศและผลจากแนวโน้มการเปลี่ยนแปลง สภาพัฒน์ฯได้แบ่งออกเป็น 6 เรื่องด้วยกันคือ ความมั่นคง ความสามารถในการแข่งขันที่เศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญข้อจำกัดในการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ทรัพยากรมนุษย์ของไทยที่ยังประสบปัญหาเชิงคุณภาพทั้งทางด้านการศึกษาและทักษะแรงงาน โอกาสและความเสมอภาคทางสังคมที่ความเหลื่อมล้ำเพิ่มสูงขึ้น ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ยังมีปัญหามลพิษ และระบบการบริหารจัดการภาครัฐที่ต้องเร่งปรับตัว

หลังจากได้วิเคราะห์โอกาสและความเสี่ยงที่สำคัญของทั้ง 6 เรื่องข้างต้นดังกล่าวแล้ว สภาพัฒน์ฯจึงได้ข้อสรุปว่า การปรับตัวแบบค่อยเป็นค่อยไปจะไม่เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วฉับพลัน จำเป็นที่จะต้องเกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในระดับทิศทางและโครงสร้างเพื่อพลิกโฉมประเทศไปสู่ “เศรษฐกิจสร้างคุณค่า สังคมเดินหน้าอย่างยั่งยืน” โดยใช้องค์ความรู้ ความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศในทุกมิติ

คำว่า “พลิกโฉมประเทศไทย สู่เศรษฐกิจสร้างคุณค่า สังคมเดินหน้าอย่างยั่งยืน” คือการพลิกโฉมจากเศรษฐกิจฐานทรัพยากรสู่เศรษฐกิจฐานนวัตกรรมและองค์ความรู้ พลิกโฉมจากการผลิตและการบริโภคที่ทำลายสิ่งแวดล้อมสู่วิถีชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและปลอดภัย พลิกโฉมจากโอกาสที่กระจุกตัวสู่โอกาสสำหรับทุกกลุ่มคนและทุกพื้นที่ พลิกโฉมจากกำลังคนทักษะต่ำและภาครัฐล้าสมัยสู่กำลังคนและภาครัฐสมรรถนะสูง

โดยสภาพัฒน์ ฯ ได้กำหนด 13 หมุดหมายสู่เศรษฐกิจสร้างคุณค่า สังคมเดินหน้าอย่างยั่งยืนคือ

  • หนึ่ง ไทยเป็นประเทศชั้นนำด้านสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปมูลค่าสูง มีการปรับโครงสร้างให้มีผลิตภาพและผลตอบแทนสูง เกษตรกรเข้าถึงช่องทางการตลาดที่หลากหลาย
  • สอง ไทยเป็นจุดหมายของการท่องเที่ยวที่เน้นคุณค่าและความยั่งยืน
  • สาม ไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าของอาเซียน
  • สี่ไทยเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์และสุขภาพมูลค่าสูง มีชื่อเสียงในการให้บริการทางการแพทย์ชั้นสูง โรคเฉพาะทาง บริการความงามและการส่งเสริมสุขภาวะ
  • ห้า ไทยเป็นประตูการค้าการลงทุนและจุดยุทธศาสตร์ทางโลจิสติกส์ที่สำคัญของภูมิภาค กฎระเบียบ กระบวนการนำเข้าส่งออกและข้อตกลงการค้าระหว่างประเทศส่งเสริมศักยภาพ เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจและสามารถลดต้นทุนโลจิสติกส์
  • หก ไทยเป็นฐานการผลิตอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะและบริการดิจิทัลของอาเซียน เทคโนโลยี ความรู้และนวัตกรรม ทั้งซอฟท์แวร์และดิจิทัลคอนเทนต์ได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
  • เจ็ด ไทยมี คือ SMEs ที่เข้มแข็ง มีศักยภาพสูงและสามารถแข่งขันได้ การแข่งขันเปิดกว้างและเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำระหว่าง SMEs และธุรกิจขนาดใหญ่ วิสาหกิจเพื่อสังคมขยายตัวและวิสาหกิจชุมชนมีศักยภาพ สามารถสร้างมูลค่าเพิ่ม
  • แปด ไทยมีพื้นที่และเมืองหลักที่มีความเจริญทางเศรษฐกิจ ทันสมัยและน่าอยู่ ความเหลื่อมล้ำเชิงพื้นที่ลดลง ทั้งในด้านเศรษฐกิจและบริการสาธารณะ มีการพัฒนาเศรษฐกิจตามศักยภาพพื้นที่ และเชื่อมโยงระหว่างเมืองและชนบท
  • เก้า ไทยมีความยากจนข้ามรุ่นลดลงและคนไทยทุกคนมีความคุ้มครองทางสังคมเพียงพอเหมาะสม จากมาตรการช่วยเหลือแบบมุ่งเป้า และฐานข้อมูลที่สามารถระบุคนจนและปัญหา นโยบายการเงินการคลังและกฎหมายส่งเสริมการกระจายรายได้ ทุกกลุ่มคนสามารถเข้าถึงดิจิทัลได้อย่างทั่วถึง เด็กยากจนสามารถเข้าถึงการศึกษาในระดับที่สูงกว่าการศึกษาภาคบังคับ
  • สิบ ไทยมีเศรษฐกิจหมุนเวียนและสังคมคาร์บอนต่ำ ขยะและน้ำเสียได้รับการจัดการที่ถูกต้องและหมุนเวียนกลับไปใช้ประโยชน์มากขึ้น พลังงานหมุนเวียนเป็นแหล่งพลังงานหลักสำหรับการผลิตไฟฟ้าของประเทศ
  • สิบเอ็ด ไทยสามารถปรับตัว และ ลดความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติ ป่าและพื้นที่ชุ่มน้ำได้รับการอนุรักษ์ ระบบการจัดการภัยในทุกระดับได้รับการปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพและศักยภาพสูงขึ้น
  • สิบสอง ไทยมีกำลังคนมีสมรรถนะสูง มุ่งเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตอบโจทย์การพัฒนาประเทศแห่งอนาคต ระบบการศึกษามีคุณภาพ สามารถพัฒนาทักษะสำคัญและเอื้อต่อการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต
  • และสิบสาม ไทยมีภาครัฐที่มีสมรรถนะสูง โครงสร้างภาครัฐมีความยืดหยุ่นและมีความยั่งยืนทางการคลัง การบริหารงานภาครัฐและการให้บริการสาธารณะปรับสู่รูปแบบดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ กฎหมาย กฎระเบียบและมาตรการภาครัฐทันสมัย สนับสนุนการพลิกโฉมประเทศ

ใครสนใจรายละเอียดของร่างกรอบแผนฯ 13 หรืออยากแสดงความคิดเห็น ลองไปที่ www.nesdc.go.th ส่วนใครสนใจว่าผมจะวิพากษ์อย่างไร รออ่านอาทิตย์หน้า เต็มที่แน่นอน

อ่านย้อนหลัง ตอนที่ 1
อ่านย้อนหลัง ตอนที่ 2
อ่านย้อนหลัง ตอนที่ 3
อ่านย้อนหลัง ตอนที่ 4
อ่านย้อนหลัง ตอนที่ 5 (จบ)

กรอบและทิศทางแผนฯ13
[smartslider3 slider="9"]