กรอบและทิศทางแผนฯ13 (ตอน 1) – มุมมองเกษมสันต์

0
795

กรอบและทิศทางแผนฯ13 (ตอน 1)

เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้ชวนผมและสื่อมวลชนหลากหลายแขนงไประดมความเห็นร่างกรอบและทิศทางแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ซึ่งจะประกาศใช้ในปีพ.ศ. 2556 – พ.ศ. 2570 ซึ่งสภาพัฒน์ฯ ตั้งชื่อว่า “พลิกโฉมประเทศไทยสู่ เศรษฐกิจสร้างคุณค่า สังคมเดินหน้าอย่างยั่งยืน” ผมจึงขอสรุปจากเอกสารที่แจกและจะได้วิเคราะห์ต่อในภายหลัง ซึ่งคงจะยาวหลายตอน

สภาพัฒน์ ฯ ได้วิเคราะห์แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงระดับโลกว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้างเอาไว้ 10 เรื่องด้วยกันคือ

  1. ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี จะเป็นทั้งโอกาสในการยกระดับการพัฒนาและเป็นความเสี่ยงต่อการจ้างงาน ความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัลและความมั่นคงทางไซเบอร์
  2. การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร ที่สัดส่วนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง วัยแรงงานลดลง การทำงานและสภาพสังคมรูปแบบใหม่ภายใต้สังคมผู้สูงอายุ
  3. อนาคตของงาน ซึ่งงานบางประเภทจะหายไปขณะที่งานแบบใหม่ๆจะเกิดขึ้น
  4. การเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตและวัฒนธรรมทางสังคม
  5. การขยายตัวของความเป็นเมือง ที่หลายเมืองทั่วโลกกำลังมุ่งสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะ และภายใน 30 ปีข้างหน้าประชากรโลกราว 70 เปอร์เซ็นต์จะอาศัยในเขตเมือง
  6. การดูแลรักษาสุขภาพและการรักษาพยาบาล
  7. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จะมีแนวโน้มรุนแรง รวดเร็วและผันผวนกว่าที่คาดการณ์
  8. ความพยายามระดับโลกในการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก
  9. พลังงานหมุนเวียนและยานยนต์ไฟฟ้า ที่หลายประเทศมีแผนที่จะระงับการจำหน่ายยานยนต์เชื้อเพลิงฟอสซิล และ
  10. แนวโน้มเศรษฐกิจการเมืองระหว่างประเทศ ซึ่งจะเกิดความตึงเครียดระหว่างมหาอำนาจตะวันตกและตะวันออก

สำหรับผลกระทบและแนวโน้มจากโควิด-19 ในระดับโลก สภาพัฒน์ฯมองว่า GDP โลกปีพ.ศ. 2563 หดตัว 4.3 เปอร์เซ็นต์ อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้น 6.5 เปอร์เซ็นต์ การค้าและการเดินทางระหว่างประเทศหดตัวอย่างรุนแรง ส่วนผลกระทบต่อประเทศไทย สภาพัฒน์ฯ วิเคราะห์ว่า ไทยสามารถรับมือโควิด-19 ได้ดีเป็นอันดับ 4 ของโลก แต่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงเนื่องจากไทยพึ่งพาการท่องเที่ยวและส่งออกในสัดส่วนสูง GDP จึงติดลบ 6.1 เปอร์เซ็นต์ และแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นตามมาคือ การเปลี่ยนแปลงสู่ยุคดิจิทัลถูกเร่งรัดให้เกิดในอัตราเร่ง จะมีแรงกดดันต่อพฤติกรรมสุขภาพและมาตรฐานสุขอนามัย ห่วงโซ่มูลค่าโลกสั้นลง มีการเชื่อมโยงในภูมิภาคมากขึ้น จะมีแรงงานนอกระบบเพิ่มขึ้น ธรรมชาติมีโอกาสฟื้นฟูแต่จะมีขยะพลาสติกและขยะติดเชื้อมากขึ้น

สำหรับสถานะของประเทศและผลจากแนวโน้มการเปลี่ยนแปลง สภาพัฒน์ได้แบ่งออกเป็น 6 เรื่องด้วยกันคือ ความมั่นคงซึ่งประกอบไปด้วย

1) การรักษาความสงบในประเทศซึ่งไทยมีระดับความมั่นคงและปลอดภัยต่ำกว่าประเทศอื่น เกิดปัญหาความเชื่อมั่นในรัฐและความขัดแย้งทางความคิดในสังคม

2) การป้องกันและการแก้ไขปัญหาความมั่นคง เช่นภัยคุกคามทางไซเบอร์ของไทยมีแนวโน้มลดลง แต่ระดับการใช้เทคโนโลยีที่เพิ่มขึ้นอาจทำให้มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น และ

3) การบูรณาการความร่วมมือด้านความมั่นคงระดับนานาชาติ

เรื่องที่สอง คือ ความสามารถในการแข่งขัน ที่เศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญข้อจำกัดในการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ทำให้ไทยอาจไม่สามารถออกจากการเป็นประเทศรายได้ปานกลางได้ตามระยะเวลาที่ตั้งเป้าไว้ ภาคการผลิตเดิมที่สำคัญเช่น การเกษตรและการท่องเที่ยวต้องเร่งปรับตัว ขณะที่อุตสาหกรรมชีวภาพ การแพทย์ครบวงจร อุตสาหกรรมและบริการดิจิทัล การคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ และอุตสาหกรรมความมั่นคง มีแนวโน้มเติบโตดีในระยะแผนฯ 13

เรื่องที่สาม คือ ทรัพยากรมนุษย์ของไทยมีแนวโน้มที่ดีขึ้น แต่ยังประสบปัญหาเชิงคุณภาพทั้งทางด้านการศึกษาและทักษะแรงงาน

เรื่องที่สี่ คือ โอกาสและความเสมอภาคทางสังคม ซึ่งโอกาสขยับสถานะของคนจนน้อยลง ความเหลื่อมล้ำเพิ่มสูงขึ้นขณะที่ความคุ้มครองทางสังคมยังไม่เพียงพอ

เรื่องที่ห้าคือ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ปัญหามลพิษและผลจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีแนวโน้มทวีความรุนแรงขึ้นและจะเป็นภัยคุกคามสำคัญทั้งต่อทรัพยากรธรรมชาติและคุณภาพชีวิต และเรื่องสุดท้ายคือระบบการบริหารจัดการภาครัฐ ที่แม้จะมีความก้าวหน้าในการปรับปรุงระบบบริหารจัดการให้เป็นดิจิทัล แต่ก็มีความท้าทายด้านการรักษาความยั่งยืนทางการคลัง การปรับปรุงกฎระเบียบให้ทันสมัย และการปรับโครงสร้างให้มีความยืดหยุ่น

อาทิตย์หน้าอ่านต่อครับ

อ่านย้อนหลัง ตอนที่ 1
อ่านย้อนหลัง ตอนที่ 2
อ่านย้อนหลัง ตอนที่ 3
อ่านย้อนหลัง ตอนที่ 4
อ่านย้อนหลัง ตอนที่ 5 (จบ)

กรอบและทิศทางแผนฯ13
กรอบและทิศทางแผนฯ13 ตอนที่ 1

[smartslider3 slider="9"]