Home fix คดีโตโยต้าหมื่นล้าน – เกษมสันต์อยากเขียน

คดีโตโยต้าหมื่นล้าน – เกษมสันต์อยากเขียน

0
739
[smartslider3 slider="7"]

คดีโตโยต้าหมื่นล้าน

เมื่อเดือนเมษายน ปีที่แล้ว 2563 บริษัท โตโยต้า คอร์ปฯ ซึ่งเป็นบริษัทแม่อยู่ในญี่ปุ่นของ โตโยต้า (ประเทศไทย) ได้รายงานต่อคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และกระทรวงยุติธรรมของสหรัฐอเมริกา ว่ามีความเป็นไปได้ที่บริษัทลูกแห่งหนึ่งของโตโยต้าในประเทศไทย อาจกระทำการละเมิดกฎหมายต่อต้านการติดสินบนของสหรัฐฯ ซึ่งโตโยต้า คอร์ปฯ เพิ่งจะเปิดเผยการรายงานต่อทางการสหรัฐฯ ดังกล่าวให้สาธารณะชนได้รับรู้เมื่อกลางเดือนมีนาคม ปี 2564 นี้เอง
ต่อมาในช่วงปลายเดือนมีนาคม เว็บไซต์ LAW360.com ก็เผยแพร่บทความโดยอ้างว่าได้สรุปมาจากเอกสารของ โตโยต้า คอร์ปฯ ว่า ผลการสอบสวนภายในที่ใช้เวลากว่า 6 เดือนนั้น บริษัทต้องการจะสอบสวนว่า ที่ปรึกษาของบริษัทได้มีส่วนในการจ่ายเงินให้กับผู้พิพากษา และรัฐบาลไทย เพื่อแลกกับการไม่ต้องจ่ายภาษีการนำเข้าโตโยต้าพรีอุสคิดเป็นมูลค่า 350 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ฯ หรือราว 11,000 ล้านบาท จริงหรือไม่? ซึ่ง โตโยต้า คอร์ปฯ นั้น มีความกังวลเป็นอย่างยิ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้ และได้แถลงว่ายินดีร่วมมือกับทางการสหรัฐฯ ในการสอบสวนเรื่องนี้


โดนกล่าวหาเช่นนี้ โฆษกศาลของประเทศไทยจึงได้ออกแถลงการณ์ออกมา เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2564 ความว่า คดีนี้มีความเป็นมาอย่างไร และคดีนี้ศาลฎีกาจึงยังไม่ได้มีการพิจารณาพิพากษาคดีแต่อย่างใด พร้อมตอบโต้กลับว่า การกล่าวหาว่าอาจมีการจ่ายสินบนให้ผู้พิพากษานั้น เกิดขึ้นอยู่เสมอซึ่งอาจไม่มีมูลความจริงอยู่เลย แต่ก็สร้างความเสียหาย และความคลางแคลงใจในหมู่ประชาชนทันทีที่มีการออกข่าว หรือแอบอ้างว่ามีการจ่าย และรับสินบน ดังนั้นการให้ข่าวลักษณะนี้ควรมีการตรวจสอบให้ชัดเจนในระดับหนึ่งก่อน ถ้าหากศาลยุติธรรมได้รับข้อมูล หรือสามารถตรวจสอบได้อย่างแน่ชัดว่า ผู้พิพากษาท่านใดกระทำการอันเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ไม่ว่าจะเกี่ยวข้องกับการรับสินบนหรือไม่ คณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมก็จะดำเนินการตรวจสอบ และลงโทษอย่างเด็ดขาดกับการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อเกียรติศักดิ์ของผู้พิพากษา ทำลายความเป็นกลางของศาล และทำให้สังคมไม่เชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมของไทย ที่ผ่านมาก็ดำเนินการลงโทษทางวินัยอย่างเด็ดขาดกับกรณีเช่นนี้มาโดยตลอด


เรื่องไม่จบลงแค่นี้ เพราะเมื่อ 26 พฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมา LAW360.com ได้รายงานอีกครั้งว่าทางการสหรัฐฯ กำลังดำเนินการสอบสวนการกระทำของ โตโยต้า คอร์ปฯ ว่าละเมิดกฎหมายต่อต้านการทุจริตในต่างประเทศของสหรัฐฯ หรือไม่? คราวนี้เป็นทางการสหรัฐฯ ที่จะสอบสวนแล้วนะครับ นอกจากนี้ยังมีการเปิดเผยมากยิ่งขึ้น โดยอ้างถึงเอกสารผลการสอบสวนภายในของ โตโยต้า คอร์ปฯ ว่า โตโยต้า (ประเทศไทย) มีตกลงทำสัญญาจ้างสำนักงานกฎหมายเป็นเงิน 27 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 850 ล้านบาท ให้ช่วยหาช่องทางพิเศษจ่ายให้กับผู้พิพากษาระดับสูง และอดีตผู้พิพากษา เพื่อทำให้โตโยต้า(ประเทศไทย) ชนะคดี
ที่อื้อฉาว และร้อนฉ่าไปทั้งวงการยุติธรรมก็คือ ในการรายงานครั้งล่าสุดนี้ LAW360.com ได้ระบุชื่อผู้พิพากษาระดับสูงจำนวนสามท่าน ระบุชื่อสำนักงานกฎหมาย และนักกฎหมายของ โตโยต้า(ประเทศไทย) ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งผู้พิพากษาทั้งสามท่านที่โดนกล่าวหา ก็ได้ดำเนินการฟ้องร้อง LAW360.com ไปแล้ว ส่วนสำนักงานกฎหมายก็ได้ให้สัมภาษณ์ปฏิเสธไปแล้วเช่นกัน


เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมา โฆษกศาลยุติธรรมก็ออกมาชี้แจงข้อเท็จจริงอีกครั้ง สรุปได้สามข้อดังนี้ คือ
หนึ่ง หลังจากมีข่าวในเดือนเมษายน สำนักงานศาลยุติธรรมมิได้นิ่งนอนใจ มีหนังสือไปประสานขอข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบคดีดังกล่าวจากสหรัฐฯ ไปแล้ว ตอนนี้รอการตอบกลับ
สอง หากได้รับข้อมูล และตรวจสอบว่ามีมูลเป็นความผิดก็จะดำเนินการตามขั้นตอนทางวินัยต่อไป ซึ่งผ่านมาก็ได้มีการลงโทษอย่างเด็ดขาดสำหรับคนทำผิดมาโดยตลอด และ
สาม อธิบายถึงรายละเอียดคดีว่ายังไม่ได้เข้าสู่การพิจารณาในเนื้อหาหลักแห่งคดีแต่อย่างใด ยังอยู่ระหว่างการขอขยายระยะเวลายื่นคำแก้ฎีกา ซึ่งศาลอนุญาตให้ขยายได้ถึงวันที่ 13 กรกฎาคม 2564 ที่จะถึงนี้ พร้อมกับขอว่าเรื่องนี้ยังอยู่ในระหว่างการดำเนินการเท่านั้น ทั้งในสหรัฐฯ และในไทยเอง จึงอยากขอให้สาธารณชนได้รับฟังข้อมูลด้วยความระมัดระวัง และรอผลการดำเนินการให้เป็นที่ยุติเสียก่อน


ที่มาของคดีนี้ก็คือ โตโยต้า(ประเทศไทย) ได้นำเข้าชิ้นส่วนอะไหล่รถยนต์ของ โตโยต้า รุ่นพรีอุส เข้ามาประกอบเป็นรถยนต์เพื่อจำหน่ายในประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2553 โดยใช้อัตราภาษีนำเข้าภายใต้ข้อตกลงการค้าไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) ซึ่ง โตโยต้า ชี้แจงว่าได้เสียภาษีถูกต้องครบถ้วนแล้ว แต่กรมศุลกากรตรวจสอบพบว่ามีการใช้สิทธิไม่ถูกต้อง เพราะถ้าจะได้สิทธิดังกล่าว โตโยต้าต้องใช้ชิ้นส่วนสำคัญ ๆ ที่ผลิตภายในประเทศไทยด้วย แต่ชิ้นส่วนทั้งหมดที่นำเข้ามานั้น สามารถนำมาประกอบเป็น พรีอุส ได้เลย ชิ้นส่วนที่ผลิตภายในประเทศไทยที่ใช้ไม่ได้เป็นชิ้นส่วนสำคัญ โตโยต้าจึงไม่มีสิทธิเสียภาษีในอัตราต่ำ ที่จ่ายแยกตามรายชิ้นส่วนอะไหล่ แต่จะต้องภาษีในอัตราที่สูงกว่าที่ได้จ่ายไปแล้ว ทำให้ โตโยต้า จะต้องจ่ายภาษีเพิ่มอีกกว่า 11,639 ล้านบาท


โตโยต้า (ประเทศไทย) จึงยื่นฟ้องต่อศาลภาษีอากรกลางเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2558 ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้ โตโยต้า เป็นฝ่ายชนะในเดือนมิถุนายน 2560 กรมศุลกากรจึงยื่นอุทธรณ์ และศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษก็ได้พิพากษากลับให้ โตโยต้า แพ้คดี ต้องจ่ายภาษีเพิ่มในเดือนมีนาคม 2562 โตโยต้าจึงยื่นฎีกา ซึ่งศาลก็อนุญาตให้ฎีกาได้เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2564 ที่ผ่านมา และคดียังอยู่ระหว่างการขอขยายระยะเวลายื่นคำแก้ฎีกา ยังไม่มีการตัดสินคดีแต่อย่างใด
เขียนสรุปเรื่องราวให้อ่านเข้าใจง่าย ๆ ก่อนในอาทิตย์นี้ เพราะผมมองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ และสำคัญมาก ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อทั้ง โตโยต้า (ประเทศไทย) กระบวนการยุติธรรมไทย และอีกหลายคนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งอาทิตย์หน้าจะมาชี้ให้เห็นจุดที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษ

อาทิตย์นี้แค่ทิ้งท้ายไว้ให้คิดว่า ทำไมบริษัทแม่จึงสงสัยว่าบริษัทลูกในไทยจะทำผิด? และเมื่อทำการสอบสวนภายใน สอบได้ข้อมูลเบื้องต้นแล้ว แทนที่จะยุติเรื่อง กลับไปแจ้งต่อทางการสหรัฐฯ ว่าสงสัยบริษัทลูกตัวเอง แถมยังแถลงว่าจะร่วมมือกับทางการสหรัฐฯ สอบสวนเรื่องนี้เสียอีก น่าคิดดีไหมครับ …

คดีโตโยต้าหมื่นล้าน
คดีโตโยต้าหมื่นล้าน

[smartslider3 slider="9"]

NO COMMENTS