Home บทความ ทำบุญไหว้พระช่วงเข้าพรรษา2 : มุมมองเกษมสันต์

ทำบุญไหว้พระช่วงเข้าพรรษา2 : มุมมองเกษมสันต์

0
617
[smartslider3 slider="7"]

ตอน ทำบุญไหว้พระช่วงเข้าพรรษา2 (จบ)


อาทิตย์ที่แล้วผมเขียนถึงการทำบุญใน สปป.ลาว และกัมพูชา วันนี้ขอเขียนต่อถึงการทำบุญในเมียนมา ซึ่งเขาเรียกเทศกาลเข้าพรรษาว่า หว่าหวิ่น คนในสี่ประเทศนี้ เมียนมา สปป.ลาว กัมพูชา และไทย คนที่ผมยกให้เป็น “พุทธตัวพ่อ” คือคนนับถือศาสนาอย่างมาก และกลัวบาปกลัวบุญมากกว่าคนประเทศอื่น ๆ คือ คนเมียนมา
ในวันพระปกติ ตอนเช้าคนเมียนมาก็จะตักบาตร เสร็จแล้วจะไป ดะหม่ะ โหย่ว (โรงธรรมะ) ที่มีอยู่ทุกหมู่บ้าน เพื่อไปถวายอาหาร ฟังธรรม ถ้าเป็นวันพระใหญ่คนเมียนมาก็จะไปวัดทำบุญ ตามเจดีย์สำคัญ ๆ ผู้คนจะไปกันเยอะมาก ในเมียนมานั้น วัด และ เจดีย์จะแยกกัน วัดก็วัด เจดีย์ก็เจดีย์ อยู่แยกกัน ที่น่าสนใจก็คือเวลาไปไหว้พระเจดีย์ คนเมียนมาเขาจะไปไหว้ไปสวดมนต์กันแบบทำบุญ เพื่อให้ได้บุญจะไม่มีการอธิษฐานหรือบนบานขออะไร


ถ้าจะบนบานเขาจะไปไหว้ไปบนกับ “นัต” ซึ่งเป็นเหมือนเจ้าที่เจ้าทาง แต่มีลำดับชั้นของความศักดิ์สิทธิ์เหนือกว่าเจ้าที่เจ้าทางทั่วไป โดยทั้งประเทศจะมีนัตอยู่เพียง 37 ตน เช่น “นัตโพโพจี” ที่คนไทยไปยกระดับให้เป็น “เทพทันใจ” นั่นเอง ส่วนนัตอีกองค์ที่เป็นธิดาพญานาคนั้น คนไทยก็ไปยกให้เป็น “เทพกระซิบ” อยากได้อะไรให้ไปกระซิบขอกันจนคนเมียนมางงกันไปหมด จะขอก็ขอทำไมต้องกระซิบ


เวลาไปไหว้พระเจดีย์นั้น คนเมียนมายังนิยมที่จะสรงน้ำพระประจำวันเกิด เทพประจำวันเกิด และสัตว์ประจำวันนักษัตรด้วย โดยสัตว์ประจำวันนักษัตรจะแตกต่างกันไปดังนี้ วันจันทร์-เสือ , วันอังคาร-สิงห์ , วันพุธกลางวัน-ช้างมีงา , วันพุธกลางคืน-ช้างไม่มีงา , วันพฤหัส-หนูหางยาว , วันศุกร์-หนูไม่มีหางหรือหนูตะเภา , วันเสาร์-นาค และวันอาทิตย์-ครุฑ ส่วนวิธีสรงให้สรงตามอายุบวก 1 หรือตามกำลังวัน โดยแบ่งเป็นสามส่วน สรงพระหนึ่งส่วน สรงเทพประจำวันเกิดหนึ่งส่วน แล้วจึงสรงสัตว์ประจำวันนักษัตร


การสรงน้ำพระในเมียนมา และ สปป.ลาว ที่ผมไปพบมาเองนั้นจะเหมือนกัน เป็นการสรงค่อนข้างเร็วและแรง ไม่ใช่การค่อย ๆ สรงแบบที่คนไทยคุ้นเคย สำหรับผู้ชายนั้นสามารถสรงได้ตั้งแต่เศียรพระ ส่วนผู้หญิงสรงได้แค่บ่าองค์พระลงมาเท่านั้น ชายหนุ่มหญิงสาวที่ยังโสดบางคนที่เชื่อในเรื่องความสมพงศ์ของวันเกิด และเนื้อคู่นั้น เมื่อสรงน้ำพระของตัวเองเสร็จแล้วก็มักจะไปนั่งใกล้ ๆ พระประจำวันเกิดที่เขาเชื่อว่าน่าจะเป็นวันที่เป็นเนื้อคู่กัน เพื่อจะรอดูว่ามีชายหนุ่มหญิงสาวคนไหนที่อาจจะเป็นเนื้อคู่เรามาสรงน้ำพระในวันนั้นบ้าง


ในช่วงเข้าพรรษานั้น คนเมียนมาจำนวนไม่น้อยจะนิยมถือศีล 8 ศีล 10 กัน บางส่วนก็จะกินเจในช่วงนี้ด้วย และเนื่องจากพระพุทธ ศาสนาต้องการให้พระสงฆ์อยู่จำวัดไม่จาริกไปไหนเพราะต้องการให้พระได้ใช้เวลาศึกษาพระธรรม คนเมียนมาก็จะปฏิบัติตามแนว ทางนี้อย่างเคร่งครัดด้วยการไม่ทำบุญขึ้นบ้านใหม่ ไม่ทำบุญสำนักงาน ไม่แต่งงาน ทั้งหมดนี้ก็เพราะไม่อยากรบกวนเวลาพระสงฆ์ที่จะศึกษาพระธรรมนั่นเอง


ธุรกิจต่างๆก็เลยจะหงอย ๆ ยอดขายจะตกมากในช่วงเข้าพรรษา เพราะคนไม่นิยมจัดงานมงคลต่าง ๆ ดังนั้นเมื่อถึงวันแรม 1 ค่ำเดือน 11 วันออกพรรษา ธุรกิจในเมียนมาก็จะกลับมาคึกคักเป็นพิเศษ ธูรกิจส่วนมากจะมีแคมเปญ “วันออกพรรษาเซลส์ หรือ ตะดิงจุ๊ดเซลส์” ลดราคากันขนานใหญ่เพื่อต้อนรับวันออกพรรษา ใครเคยไปเมียนมาช่วงนี้ก็จะเห็นป้ายโฆษณาเทศกาลนี้เต็มเมืองไปหมด ต่างจากประเทศอื่น ๆ ที่มักจะมีมิดเยียร์ มิดไนท์ หรือเยียร์เอนด์เซลส์


ในการทำบุญวันเข้าพรรษานั้น ที่เมียนมามีการแห่ผ้าจีวรที่ทำอย่างดีทำจากผ้าใยบัว เพื่อนำไปถวายพระพุทธเจ้า ผู้ชายถ้าจะบวชก็นิยมที่จะบวชในช่วงนี้เหมือนคนไทย เวลาไปวัดในวันเข้าพรรษาหรือวันพระใหญ่ ผู้หญิงเมียนมาจะเอาผ้าสไบที่เรียกว่า “ผ้ายอกี่” คลุมไว้ที่ไหล่ซ้าย เพราะเชื่อว่าด้านซ้ายเป็นด้านของกิเลส เป็นด้านมืดของอารมณ์ที่ต้องควบคุมเอาไว้ด้วยการเอาผ้าสไบมาคลุมเอาไว้ในเวลาสวดมนต์ ส่วนผู้ชายถ้าจะมีผ้าพาดก็จะพาดไหล่ซ้ายเหมือนกัน สำหรับผู้ชายนั้นไหล่ขวาจะถือเป็นส่วนมงคล ผู้หญิงเมียนมาก็จะไม่ตีไหล่ขวาผู้ชาย ส่วนผู้หญิงนั้นผมจะถือว่าเป็นมงคล ผู้หญิงเมียนมาส่วนใหญ่จึงนิยมไว้ผมยาว

ทำบุญไหว้พระช่วงเข้าพรรษา2
ธงฉัพพรรณรังสี เมียนมา


นอกจากธงฉัพพรรณรังสีและป้ายไฟ 7 สีที่เมียนมาใช้เหมือนกับ สปป.ลาว และ กัมพูชา ที่ทำให้คนไทยดูแล้วรู้สึกแปลกตาไปนั้น ยังมีอีกอย่างที่จะต้องแปลกตาแน่ ๆ ก็คือพัดที่พระสงฆ์ในเมียนมาถือ พระที่นั่นจะถือ “พัดใบตาล” ซึ่งทำจากใบตาลจริง ๆ เอาไว้บังหน้าเวลาผู้หญิงมาตักบาตร จะได้ไม่เห็นหน้ากันเป็นการตัดกิเลส ในอดีตกาลนั้นพัดนี้มีไว้พัดเพื่อบรรเทาร้อน ต่อมาเอามาใช้บังหน้าเวลามีอะไรที่พระไม่ควรจะเห็นจะได้ยกขึ้นมาบังตาเอาไว้ ผมสันนิษฐานเอาเองว่า “ตาลปัตร” ของไทยก็น่าจะมีการพัฒนายกระดับมาจากพัดใบตาลนี่เอง


อีกเรื่องที่คนไทยมักจะไม่เข้าใจก็คือ การเห็นพระสงฆ์ของเมียนมาออกมาร่วมเคลื่อนไหวทางการเมือง บางครั้งก็ออกมาเป็นผู้นำเสียเองในการต่อสู้กับเผด็จการ นั่นก็เพราะตั้งแต่สถาบันกษัตริย์ของเมียนมาล่มสลายไป ปัจจุบันคนเมียนมาซึ่งเป็นพุทธตัวพ่อจึงมีเพียงพระสงฆ์เหลือให้ยึดเหนี่ยวเพียงสถาบันเดียว พระสงฆ์ในเมียนมาจึงต้องมีบทบาทพิเศษเพิ่มขึ้นมาอีกเรื่องหนึ่งอย่างไม่มีทางเลือก

ตอน ทำบุญไหว้พระช่วงเข้าพรรษา 1

ทำบุญไหว้พระช่วงเข้าพรรษา2 : มุมมองเกษมสันต์
ทำบุญไหว้พระช่วงเข้าพรรษา2
[smartslider3 slider="9"]

NO COMMENTS