ตอน ทำบุญไหว้พระช่วงเข้าพรรษา
ช่วงนี้เมืองไทยเรามีแต่เรื่องแรง ๆ โควิด-19 ยังระบาดต่อเนื่อง ผู้คนเสียชีวิตกันมาก จึงอยากจะชวนถือศีลเข้าวัดทำบุญกันในช่วงเข้าพรรษา และจะพาไปดูว่าเพื่อนบ้านเราเขาทำบุญอะไรกันอย่างไรในช่วงนี้
ที่ สปป.ลาว ซึ่งรวมเทศกาลวันอาสาฬหบูชากับวันเข้าพรรษาเข้าด้วยกัน และไม่ได้ประกาศให้เป็นวันหยุดราชการ เขาเรียกงานบุญใหญ่ในช่วงเดือนนี้ว่า “บุญเดือนแปด” หรือ “บุญเข้าพรรษา” ซึ่งเป็นฮีตที่ 8 โดยสปป.ลาวเขามี “ฮีต 12″ “คอง 14” ให้ยึดถือ
ฮีตคือจารีตประเพณี 12 คือสิบสองเดือน ฮีต 12 ก็คือประเพณีสำคัญของทั้ง 12 เดือน อาทิ ฮีตที่ 3 มีนาคม หลังวันมาฆะบูชาก็เป็น “บุญเข้าจี่” เอาข้าวจี่ถวายพระ ฮีตที่ 5 บุญสงกรานต์ ฮีตที่ 6 บุญบั้งไฟ เป็นช่วงก่อนฤดูฝน ทำบุญจุดบั้งไฟกันเพื่อขอฝน ฮีตที่ 9 บุญห่อข้าวประดับดิน เป็นการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับบรรพบุรุษ และวิญญาณไร้ญาติ วางไว้ตามดิน บันไดในบริเวณวัด เจดีย์ ฮีตที่ 11 บุญออกพรรษา และ ฮีตที่ 12 บุญกฐิน ทำบุญทอดกฐินเหมือนไทยเรา คน สปป.ลาว ยังคงยึดถือ ฮีต 12 ว่าเป็นจารีตประเพณีที่ดีงาม และยังคงยึดถือปฏิบัติกันอย่างมาก
ส่วน “คอง 14” เป็นข้อควรปฏิบัติรวม 14 ข้อ ของพุทธศาสนิกชน คน สปป.ลาว ในการครองตนเป็นคนดี อาทิ อย่าเดินเหยียบเงาพระสงฆ์ อย่าเอาอาหารเหลือไปถวายพระ อย่ามีเพศสัมพันธ์ในวันพระ ก่อนเข้านอนต้องอาบน้ำล้างเท้า ก่อนขึ้นเรือนต้องล้างเท้า สำหรับภรรยาในวันพระข้างขึ้น ให้จัดพานดอกไม้ ธูปเทียนขอขมาแก่สามีตน เป็นต้น
เวลาไปทำบุญตักบาตร คน สปป.ลาวจะนิยมใช้มือซ้ายถือพานเงินพานทองหนีบไว้แนบอกหรือข้างตัว แล้วใช้มือขวาหยิบเอาของหรือเงินที่จะตักบาตร ขึ้นมาแตะหน้าผากและอธิษฐานก่อนจะถวาย เขานิยมตักบาตรพระ 9 รูปเหมือน ๆ กับไทย เพราะเลข 9 ก็ถือเป็นเลขมงคลเหมือนคนไทย ในช่วงบุญเดือนแปดนี้ก็จะนิยมถวายเทียนพรรษา และผ้าอาบน้ำฝนเหมือนไทยเช่นกัน
แต่การเวียนเทียนจะแตกต่างกันบ้าง เพราะเราเวียนเทียนกันในวันอาสาฬหบูชา แต่ที่ สปป.ลาว เขารวมสองวันนี้เข้าด้วยกันเป็นวันเข้าพรรษา การเวียนเทียนจึงทำกันในวันเข้าพรรษา วิธีการเวียนก็จะแตกต่างกันเล็กน้อย คนไทยเราสามารถเวียนเทียนได้ตามอัธยาศัย ใครไปถึงวัดตอนไหนก็เวียนกันตอนนั้น แต่ที่ สปป.ลาว เขาจะเวียนเทียนกันรอบเดียว โดยจะมีการกำหนดเวลาที่จะเวียนเทียนให้แน่นอน ใครมาถึงก่อนก็ต้องรอจนถึงเวลา และรอเวียนเทียนพร้อม ๆ กัน ที่แตกต่างและเห็นได้ชัดคือเทียนที่ คน สปป.ลาว ใช้สำหรับเวียนเทียนนั้น จะเล่มใหญ่ไส้เทียนใหญ่กว่าเทียนที่คนไทยใช้มาก เวลาจุดเทียนจะสว่างไสว ดูสวยงามเลยทีเดียว
ที่กัมพูชาก็มีวันเข้าพรรษาเช่นกัน การเข้าวัดทำบุญตักบาตรของคนกัมพูชาก็จะคล้าย ๆ คนทั้งสี่ประเทศที่เป็นเพื่อนบ้านกัน คือไทย สปป.ลาวและเมียนมา โดยในช่วงวันพระใหญ่เช่นวันเข้าพรรษานี้ ผู้สูงอายุจะนิยมไปอยู่วัดปฏิบัติธรรม ถือศีล 8 อดอาหารเย็นกัน
คนกัมพูชาแม้ว่ารายได้โดยเฉลี่ยจะค่อนข้างต่ำ และน้อยกว่าคนไทยมาก แต่เมื่อถึงเวลาทำบุญต้องบอกว่าคนกัมพูชาเขาตั้งใจมาก และทำบุญกันมาก อย่างเครื่องสังฆทานที่คนกัมพูชาเรียก “สังฆเทียน” นั้น คนไทยเราอาจจะคุ้นเคยกับสังฆทานชุดละไม่กี่ร้อยบาท แต่ในกัมพูชา สังฆเทียนชุดใหญ่ ๆ ที่เคยเห็นนั้นราคาชุดละ 65 ดอลลาร์สหรัฐเลยทีเดียว คิดเป็นเงินไทยก็สองพันกว่าบาท ในชุดก็จะมีตั้งแต่ เขียง มีดเล่มใหญ่ เล่มเล็ก หม้อใบใหญ่ ใบเล็ก ทัพพี กระทะ ตะหลิว เตาแก๊สพร้อมแก๊สกระป๋อง จาน ชาม ช้อน ส้อม แก้วน้ำ กาต้มน้ำ ถังพลาสติก กาละมัง ขัน ผ้าห่ม ฯลฯ
เวลาไปเที่ยวกัมพูชา จะเห็นความแตกต่างของวัดในกัมพูชากับวัดในไทยได้ชัดเจน ตั้งแต่กำแพงวัด เพราะที่นั่นเขาจะเน้นกำแพงวัดที่สวยงาม มีการแกะสลัก มีงานปูนปั้น สวยงามตั้งแต่กำแพงวัดเลยทีเดียว ส่วนธงทิวที่ประดับในช่วงเทศกาลสำคัญ ในวัดที่กัมพูชา จะใช้ธง 6 สี ที่เรียกธงฉัพพรรณรังสี ประดับประดาเช่นเดียวกับที่สปป.ลาว และ เมียนมา ต่างไปจากไทยเราที่ใช้ “ธงธรรมจักร” เหมือนกับศรีลังกา ธงที่ประดับตามวัดในกัมพูชาและประเทศเพื่อนบ้านจึงดูจะมีสีสันมากกว่าวัดในไทย และที่ฟังได้ยินชัดก็คือเสียงสวดมนต์ เพราะวัดในกัมพูชานั้นนิยมเปิดเสียงสวดมนต์ให้มีเสียงดังออกมาจากวัดในวันสำคัญ ๆ เสียงดังขนาดนั่งรถผ่านก็ยังได้ยินนั่นเลยทีเดียว
เมื่อเข้าไปในโบสถ์ก็เช่นกัน เมื่อกราบพระประธานเสร็จ ขอให้ลองสังเกตป้ายไฟ 7 สีที่หลังองค์พระ วัดในประเทศเพื่อนบ้านเรานิยมเอาป้ายไป 7 สีไปติดไว้ที่หลังองค์พระประธานหรือพระสำคัญๆ เพราะไฟ 7 สี เปรียบเสมือนรัศมีของพระพุทธเจ้านั่นเอง
ส่วนการทำบุญถวายเงินวัดนั้น สังคมไทยคนกลัวบาปกันน้อยลง วัดจึงต้องจัดตู้ให้รับบริจาคล็อคกุญแจแน่นหนา บางวัดถึงกับต้องล่ามโซ่ตู้เอาไว้ด้วย แต่ในกัมพูชา เช่นเดียวกับ สปป.ลาว และเมียนมา คนจะยังกลัวบาปกันมากกว่า ดังนั้นเวลาเข้าไปในโบสถ์ก็อย่าแปลกใจที่จะเห็นคนในกัมพูชานิยมเอาเงินไปถวายไว้ที่พานหรือบาตร เอาไปวางหน้าตักพระพุทธรูปต่าง ๆ หรือเอาไปเสียบไว้ที่มือเสียบไว้ที่แขนพระพุทธรูปเต็มไปหมด คนกัมพูชาตอนอธิษฐานนิยมเอามือไปลูบที่หน้าตักพระพุทธรูป เสร็จแล้วก็เอามือทั้งสองนั้นมาลูบหน้าตัวเองเพื่อให้คำอธิษฐานนั้นเป็นจริงขึ้นมา
เขียนเรื่องไหว้พระทำบุญก็หวังจะให้จิตใจเป็นกุศลกันถ้วนหน้าทั้งคนอ่านและคนเขียนนะครับ
ตอน ทำบุุญไหว้พระช่วงเข้าพรรษา 2 (จบ)