ตอน ผู้นำดีประเทศเปลี่ยน
เมื่อเช้าวันที่ 24 มิถุนายนที่ผ่านมา ประธานาธิบดีคนที่ 15 ของฟิลิปปินส์ นายเบนิโญ “นอยนอย” อากีโน ที่ 3 ถึงแก่อสัญกรรมอย่างสงบ ด้วยวัย 61 ปี โดยทางการยังไม่มีเปิดเผยสาเหตุการเสียชีวิต แต่นายอากีโน นั้นเริ่มไม่สบายมาตั้งแต่ 2562 มีการฟอกไตหลายครั้ง และมีการผ่าตัดโรคหัวใจ
นายอากีโน ชนะเลือกตั้งได้เป็นประธานาธิบดีคนที่ 15 ในช่วงปี 2553 ถึง 2559 ต่อจาก นางกลอเรีย อาร์โรโย นายโจเซฟ เอสตราด้า นายฟิเดล รามอส และนางคอราซอน อากีโน ผู้เป็นมารดา ซึ่งเป็นประธานาธิบดีคนที่ 11 ในช่วง 2529 ถึง 2535 โดยขณะที่เขาลงสมัครรับเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีนั้น ฟิลิปปินส์กำลังเริ่มฟื้นจากการเป็นคนป่วยของเอเชีย จากฝีมือการเป็นเผด็จการ และการคอรัปชั่นโกงประเทศอย่างหนักของประธานาธิบดีคนที่ 10 นายเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส ซึ่งครองอำนาจอย่างยาวนานในช่วง 2508 ถึง 2529 ด้วยการแก้กฎหมายจนกลายเป็นเผด็จการตัวพ่อ
ผู้นำคนสำคัญในการต่อต้านเผด็จการมาร์กอส ก็ไม่ใช่ใครอื่นแต่คือบิดาของนายอากีโน ที่ 3 ที่ชื่อนายเบนิโญ “นินอย” อากีโน จูเนียร์ นั่นเอง นายนินอยนั้นเกิดมาเพื่อเป็นนักการเมืองอย่างแท้จริง เพราะตระกูลมีประวัติเกี่ยวข้องกับการเมืองมาตั้งแต่สมัยคุณปู่ ตัวเขาเองเริ่มต้นด้วยการเป็นนักการเมืองท้องถิ่นจนได้เป็นผู้ว่าการเทศบาล ผู้ว่าราชการจังหวัด เลขาธิการพรรคการเมืองและวุฒิสมาชิกที่อายุน้อยที่สุดของประเทศ
เมื่อพยายามอย่างหนักในการล้มล้างระบอบเผด็จการ เขาจึงโดนประธานาธิบดีมาร์กอสหมายหัว และในที่สุดเขาก็ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องคดีฆาตกรรม มีอาวุธปืนในครอบครองและถูกจับติดคุกเป็นเวลา 7 ปี ในช่วง 2516 ถึง 2523 เมื่อติดคุกเขาก็ยังประท้วงด้วยการอดอาหาร ต่อมาเมื่อเขาไม่สบายเป็นโรคหัวใจ ในปี 2523 เขาจึงได้รับอนุญาตให้ไปผ่าตัดบายพาสรักษาโรคหัวใจที่สหรัฐ โดยมีเงื่อนไขว่าเมื่อผ่าตัดเสร็จแล้วก็ให้ลี้ภัยอยู่ที่นั่นเลย ห้ามเดินทางกลับฟิลิปปินส์อีก
นักสู้ อย่างไรเสียก็มีความเป็นนักสู้ตลอดไป เมื่อรักษาตัวจนหายดีแล้วเขาก็เริ่มเดินสายพูดเพื่อเรียกร้องให้นานาชาติเข้ามาช่วยฟิลิปปินส์ ซึ่งตอนนั้นเศรษฐกิจตกต่ำอย่างมาก ผู้คนไร้สิทธิเสรีภาพ ประเทศถูกตราหน้าว่าเป็นคนป่วยของเอเชีย เพราะมาร์กอสและพวกร่วมกันโกงจนประเทศตกต่ำ
ในที่สุดเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2526 เขาก็ตัดสินใจทิ้งครอบครัวไว้ที่สหรัฐเพื่อเดินทางกลับฟิลิปปินส์เพราะสถานการณ์ในประเทศย่ำแย่อย่างยิ่ง หากเขาไม่กลับมาช่วยประชาชนขับไล่มาร์กอสประเทศคงจะล่มสลาย แม้จะรู้ว่าการเดินทางกลับครั้งนี้มีความเสี่ยงอย่างมาก เขาอาจจะโดนสังหารได้เพราะเผด็จการมาร์กอสนั้นมีความเหี้ยมโหดอย่างมาก
ทันที่ที่เครื่องบินลงจอด ก็มีเจ้าหน้าที่ขึ้นมาบนเครื่องเพื่อจับกุมตัว และเขาก็ถูกประกบตัวซ้ายขวาเดินลงจากเครื่องบินทันที แม้เขาจะเตรียมการป้องกันด้วยการใส่เสื้อกันกระสุนเพราะคาดการณ์ว่าจะโดนลอบยิง แต่เมื่อเดินจากเครื่องลงมาถึงพื้นสนามบิน ก็มีมือปืนวิ่งมาจากใต้ท้องเครื่องบิน เอาปืนยิงเข้าที่ศรีษะของเขาทันที ทำให้เขาก็ล้มลงเสียชีวิตทันทีต่อหน้านักข่าวที่มารอทำข่าวเป็นจำนวนมาก จากนั้นเป็นต้นมา วันที่ 21 สิงหาคมของทุกปีจึงถูกกำหนดให้เป็น “วันนินอย อากีโน” เป็นวันหยุดของฟิลิปปินส์และเปลี่ยนชื่อสนามบินมะนิลาให้เป็น “สนามบินนินอย อากีโน” เพื่อให้เกียรติกับเขา
นินอย อากีโน ผู้เป็นบิดาของอดีตประธานาธิบดี อากีโน ที่ 3 นั้นเป็นคนที่เกิดมาเพื่อประเทศอย่างแท้จริง แม้ว่าจะโดนลอบสังหารและเสียชีวิตตอนอายุเพียง 50 ปีเท่านั้นแต่การตายของเขาไม่สูญเปล่า เพราะการตายของเขาเป็นการจุดประกายครั้งสำคัญสำหรับการต่อต้านเผด็จการมาร์กอสให้เข้มข้นขึ้นไปอีก เมื่อบรรยากาศการต่อต้านรุนแรงมากขึ้น มาร์กอสจึงจัดให้มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีฉุกเฉินขึ้นในปี 2529 นางคอราซอน อากีโน ภรรยาของนินอย ซึ่งขณะนั้นเป็นเพียงแม่บ้านธรรมดา ไม่มีพื้นฐานและความรู้ด้านการเมืองเลยก็ถูกหลายฝ่ายผลักดันและเรียกร้องให้เธอเป็นแกนนำในการต่อสู้กับเผด็จการและลงสนามเลือกตั้งประธานาธิบดี
การเลือกตั้งครั้งนั้นมีการรายงานว่ามีการโกงกันอย่างมากมาย ประชาชนอดรนทนไม่ไหวจึงพากันลุกขึ้นมาใส่เสื้อเหลือง เดินขบวนประท้วงและขับไล่เผด็จการมาร์กอสกันเป็นล้านคน นับเป็นการปฏิวัติโดยอำนาจประชาชนอย่างแท้จริง จนทำให้สหรัฐต้องส่งเฮลิคอปเตอร์มาอุ้มมาร์กอสและภรรยาอีเมลด้า ถึงทำเนียบประธานาธิบดี “มาลากันยัง” แล้วพาหนีไปลี้ภัยที่ฮาวาย
นางอากีโนจึงได้รับการแต่งตั้งขึ้นเป็นประธานาธิบดี ซึ่งวันแรกของการเข้าดำรงตำแหน่ง เธอบอกอย่างซื่อ ๆ ว่าไม่รู้เลยว่าคนที่เป็นประธานาธิบดีจะต้องทำอะไรบ้าง
อาทิตย์หน้าอ่านต่อครับ