มุมมองเกษมสันต์ ตอน ต้องปฏิรูปคนเขียนแผนปฏิรูป

0
511

สองอาทิตย์ที่ผ่านมาผมได้เขียนบอกว่าใน แผนปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง) ที่พึ่งประกาศออกมาปลายเดือนที่แล้วมีการใช้ภาษา ไทยปนภาษาอังกฤษมากเกินไปจนผมเรียกว่าเป็น แผนปฏิรูปประเทศ ฉบับภาษาวิบัติ ถ้ายังไม่ได้อ่าน อยากให้ลองไปหาอ่านย้อน หลังดูได้ที่ www.kasemsantaec.com ซึ่งมีบทความที่ผมเคยวิพากษ์ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีและแผนแม่บทยุทธศาสตร์ชาติให้อ่านด้วย

นอกจากภาษาวิบัติแล้ว ในแผนปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง) นี้การตั้งเป้าหมายและตัวชี้วัด ยังเป็นจุดอ่อนที่สำคัญเช่นเดียวกับการเขียนแผนพัฒนาเศรษฐกิจสังคมแห่งชาติ #ยุทธศาสตร์ชาติและแผนแม่บทยุทธศาสตร์ชาติ ที่ผ่านมา เพราะทั้งเป้าหมายและตัวชี้วัดยังเขียนให้ ลอย ๆ กว้าง ๆ ที่สำคัญเป้าหมายกับตัวชี้วัดไม่สัมพันธ์กัน

ตัวอย่างเช่นในแผนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง กิจกรรมปฏิรูปที่ 3 การสร้างความสามัคคีปรองดองสมานฉันท์ของคนในชาติ ที่วันนี้ทุกคนต่างก็รู้ดีว่าเป็นปัญหาที่สำคัญที่สุดของประเทศชาติ ในเป้าหมายเขียนเอาไว้ว่า “ประชาชนมีความปรองดองสมานฉันท์และความขัดแย้งทางการเมืองในสังคมไทยลดลง” ขณะที่ตัวชี้วัดเขียนไว้แค่ว่า “มีข้อเสนอที่ระบุแนวทาง กลไกและมาตรการในการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ของประชาชนและขจัดความขัดแย้งทางการเมืองในสังคม” อ่านแล้วคงพอนึกภาพกันออกว่าถ้าเป้าหมายและตัวชี้วัดเขียนไว้กว้างและลอยขนาดนี้ การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองในบ้านเราคงไปไหนไม่ได้ไกล

ขณะที่ กิจกรรมปฏิรูปที่ 4 การส่งเสริมการพัฒนาพรรคการเมือง มีเป้าหมาย “พรรคการเมืองเป็นสถาบันทางการเมืองของประชาชน สุจริต โปร่งใสและตรวจสอบได้ มีกระบวนการคัดเลือกผู้มีความรู้ความสามารถ ซื่อสัตย์สุจริตและมีคุณธรรมจริยธรรม เข้ามาเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง” อ่านแล้วคนอ่านมีภาพในความฝันตามไปเลยว่าการเมืองไทยคงจะได้พัฒนากันเสียที แต่พอไปอ่านตัวชี้วัดที่เขียนเอาไว้ว่า “1 จำนวนสมาชิกพรรคการเมืองทั้งหมดเพิ่มขึ้น 2 จำนวนสาขาพรรคการเมืองทั้งหมดเพิ่มขึ้น และ 3 จำนวนตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดทั้งหมดเพิ่มขึ้น” อ่านแล้วฝันสลายทันที เป้าหมายเขียนไว้เสียสวยหรู แต่ตัวชี้วัดกลับไปวัดกันที่จำนวนสมาชิก จำนวนสาขาพรรคการเมืองเสียอย่างนั้น แล้วเป้าหมายจะบรรลุกันได้อย่างไร เมื่อครบระยะเวลาตามแผนก็ไปตรวจสอบตัวชี้วัด แล้วก็จะประกาศว่าตัวชี้วัดผ่านหมดแต่การเมืองไทยยังน้ำเน่าอยู่เท่าเดิม

การเขียนเป้าหมายและตัวชี้วัดในยุทธศาสตร์ประเทศหรือบริษัทนั้น ประเทศที่พัฒนาแล้วหรือบริษัทระดับโลก เขามีวิธีการตั้ง เป้าหมายแบบที่เรียกว่า “เล็งไปที่ดวงจันทร์” หรือ Shoot for the Moon หมายความว่าให้ตั้งเป้าสูงๆ เพื่อให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันทุ่มเทแรงกายแรงใจเพื่อจะไปให้ถึงเป้าหมายอันยิ่งใหญ่นั้น ถ้าทำเต็มที่แล้วไปไม่ถึงดวงจันทร์ ก็ยังมีโอกาสไปถึงดวงดาว แต่ถ้าตั้งเป้าต่ำๆ ทำถึงเป้าได้ง่ายๆ คนก็จะไม่ทุ่มเทกายใจ และถ้าทำได้ไม่ถึงเป้าหมาย ผลที่ได้ก็จะต่ำต้อยจนประเทศหรือบริษัทไม่ก้าวหน้าไปไหน

ในแผนการปฏิรูปประเทศด้านเศรษฐกิจ กิจกรรมปฏิรูปที่ 3 การเพิ่มโอกาสของผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็กในอุตสาหกรรมและบริการเป้าหมาย ในตอนต้นเขียนให้เห็นความสำคัญของ SMEs เอาไว้ว่า “ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) นับเป็นแกนกลางสำคัญของเศรษฐกิจไทย โดยรายได้ของ SMEs ในปี 2562 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 43 ของ GDP ….” โดย 1 ใน 3 เป้าหมาย คือ “SMEs มีความสามารถในการแข่งขันและมีผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศทั้งประเทศสูงขึ้น” เป็นเป้าหมายที่ดูเหมือนจะดี แต่เมื่อมาดูตัวชี้วัดของเป้าหมายนี้ซึ่งผมลอกมาคำต่อคำเขียนเอาไว้ว่า “สัดส่วนผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศทั้งประเทศ คิดเป็นร้อยละ 42 ในปี 2565” หลายคนคงต้องขยี้ตา

ผมเขียนไม่ผิดและท่านผู้อ่านก็ตาไม่ฝาดหรอกครับ ไทยเราตั้งเป้าหมายให้ SMEs ที่บอกว่าสำคัญกับประเทศไทยให้ “หดตัวลง” เมื่อเปรียบกับ GDP ของประเทศ จาก 43 เปอร์เซ็นต์ในปี 2562 ให้ลดลงเป็น 42 เปอร์เซ็นต์ในปี 2565 การตั้งเป้าแบบนี้ไม่ใช่การเล็งดวงจันทร์หรือเล็งยอดมะพร้าวแน่ๆ แต่เป็นการเล็งลงไปในบ่อบาดาลชัดๆ

ยิ่งอ่านแผนปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง) ละเอียดมากขึ้นเท่าไหร่ ผมก็ยิ่งมั่นใจมากขึ้นเท่านั้นว่า คนที่รับผิดชอบแผนปฏิรูปประเทศ ไม่ได้อ่านแผนฯแน่ๆ และที่มั่นใจมากไปกว่านั้นก็คือแผนปฏิรูปประเทศฉบับภาษาวิบัตินี้จะไม่สามารถปฏิรูปประเทศไทยได้อย่างแน่นอน

ถ้าจะปฏิรูปประเทศให้สำเร็จได้จริงๆ ไทยต้องปฏิรูปทั้งวิธีคิด วิธีเขียนแผนและปฏิรูปคนรับผิดชอบการปฏิรูปประเทศเสียก่อน

[smartslider3 slider="9"]