มุมมองเกษมสันต์ ตอน บิ๊กดาต้ากับโควิด-19

0
471

เผลอแปบก็ผ่านไปแล้ว 2 เดือนสำหรับปีพ.ศ. 2564 ปีที่คงจะหนักหนาสาหัสไม่แพ้ปีที่แล้วสักเท่าไหร่ แม้ว่าไทยและโลกจะเริ่มฉีดวัคซีนสำหรับโควิด-19 กันแล้วก็ตาม ชีวิตคนไทยเราก็คงจะต้องอยู่กับเจ้าโควิด-19 กันไปอีกนาน

สิ่งที่มองเห็นได้จากการระบาดโควิด-19 คราวนี้มีหลายเรื่องที่น่าจะบันทึกเอาไว้ เช่น ไทยเรายังไม่มีบิ๊กดาต้าอย่างแท้จริง ถ้าไทยเรามีบิ๊กดาต้า การแจกเงินเพื่อช่วยเหลือคนคงไม่ต้องวุ่นวายกันมากขนาดนี้ ประชาชนคงไม่ต้องไปเข้าคิวลงทะเบียนรอบแล้วรอบเล่ากันอย่างที่เห็นในข่าวโทรทัศน์

ไต้หวันน่าจะเป็นประเทศที่ใช้บิ๊กดาต้าในการรับมือการระบาดของโควิด-19 ได้ดีที่สุดประเทศหนึ่งของโลก เพราะทันทีที่องค์การอนามัยโลกประกาศว่ามีการระบาดของโรคปอดอักเสบโดยยังไม่ทราบแหล่งที่มาในอู่ฮั่นประเทศจีน ในวันที่ 31 ธันวาคมปีพ.ศ. 2562 รัฐบาลไต้หวันก็ได้สั่งให้มีการตรวจสุขภาพผู้โดยสารที่เดินทางมาจากอู่ฮั่นบนเครื่องบินทันทีที่เครื่องบินมาถึงไต้หวันก่อนที่ผู้โดยสารจะได้รับอนุญาตให้ลงจากเครื่องบิน และอีกเพียง 5 วันการตรวจหาโรคก็ได้ขยายรวมไปถึงผู้ที่เคยเดินทางไปอู่ฮั่นมาภายในระยะเวลา 14 วัน

และเมื่อมีรายงานการระบาดมากขึ้นในประเทศจีน รัฐบาลไต้หวันก็ได้ประกาศให้ ศูนย์บัญชาการกลางโรคระบาด เริ่มการบัญชาการโดยทันทีโดยให้บูรณาการกับกระทรวงต่างๆที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ซึ่งไม่ใช่เฉพาะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับระบบสาธารณสุขเท่านั้นแต่ยังรวมไปถึงกระทรวงคมนาคม กระทรวงเศรษฐกิจและกระทรวงศึกษาธิการอีกด้วย

นอกจากความรวดเร็วในการรับมือโควิด-19 แล้ว ไต้หวันยังมีบิ๊กดาต้าที่เก็บรวบรวมข้อมูลไว้อย่างเป็นระบบ ประสานกันทุกหน่วยงานและสามารถดึงขึ้นมาใช้อย่างอัตโนมัติได้ทันที ยกตัวอย่างเช่น คนที่เคยเดินทางไปอู่ฮั่นมาภายในระยะเวลา 14 วันมีใครเดินทางไปบ้าง คนที่เคยเดินทางไปต่างประเทศมีใครบ้าง บิ๊กดาต้าของไต้หวันมีการเก็บข้อมูลรวบรวมไปถึง มีใครบ้างที่เข้าตรวจรักษาในโรงพยาบาลที่มีอาการคล้ายจะติด โควิด-19 แม้แต่คนทั่วไปที่ซื้อยาตามร้านขายยา ถ้ามีการซื้อยาที่บ่งบอกว่าอาจจะเกี่ยวพันกับโควิด-19 คนผู้นั้นก็จะถูกตามตัวมาตรวจโรคทันที

เรื่องหน้ากากอนามัยก็เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนในการจัดการที่มีประสิทธิภาพร่วมกับบิ๊กดาต้า เพราะทันทีที่รู้ว่ามีการระบาด รัฐบาลไต้หวันก็ตรวจสอบกำลังการผลิตหน้ากากอนามัยในประเทศทันที เมื่อรู้ว่าปริมาณหน้ากากอนามัยที่มีอยู่ในขณะนั้นไม่เพียงพอ รัฐบาลก็เริ่มออกมาตรการการขายหน้ากากอนามัยแบบจำกัดโควต้าเพื่อป้องกันการขาดแคลนและการกักตุน รวมถึงมีมาตรการแจกหน้ากากอนามัยให้กับผู้ที่มีความจำเป็นต้องใช้ เช่น บุคลากรทางการแพทย์ ผู้สูงอายุและเด็กๆเป็นต้น

สำหรับการขายหน้ากากอนามัยตามโควตานั้น คนไต้หวันสามารถเข้าไปซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป ซึ่งเมื่อซื้อร้านขายยาเหล่านั้นก็จะบันทึกข้อมูลการซื้อ และส่งไปที่ระบบบิ๊กดาต้าของรัฐบาลซึ่งจะทำให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องรวมถึงร้านขายยาอื่นทราบโดยทันทีและพร้อมๆกันว่าบุคคลผู้นี้ได้ซื้อหน้ากากอนามัยไปเต็มโควต้าที่มีอยู่แล้วหรือไม่

ขั้นตอนต่อมาก็คือรัฐบาลไต้หวันส่งทหารเข้าไปเป็นแรงงานพิเศษเพื่อช่วยโรงงานผลิตหน้ากากอนามัยให้ได้มากขึ้น แถมยังสั่งเครื่องจักรผลิตหน้ากากอนามัยเพิ่ม และใช้ทหารช่วยประกอบติดตั้งเครื่องจักรเพื่อจะได้เริ่มต้นผลิตได้อย่างรวดเร็วทันการ

เมื่อมีหน้ากากอนามัยเพียงพอ รัฐบาลก็เริ่มแจกหน้ากากอนามัยให้กับประชาชนของเขา โดยใช้บิ๊กดาต้าและตู้แจกอัตโนมัติ คนไต้หวันเพียงแค่เอาบัตรประชาชนไปให้ตู้แจกอ่านข้อมูลเท่านั้น ตู้และบิ๊กดาต้าก็จะรู้ทันทีว่าคนผู้นั้นเป็นใคร มีสิทธิได้รับหน้ากากอนามัยฟรีหรือไม่? หรือได้รับไปแล้ว

นี่เป็นเพียงมาตรการบางส่วนที่รัฐบาลไต้หวันใช้ร่วมกับบิ๊กดาต้าที่มีอยู่อย่างสมบูรณ์ ทำให้เขาสามารถรับมือการระบาดโควิด-19ได้อย่างยอดเยี่ยม จนถึงวันศุกร์ที่ 26 กุมภาพันธ์ที่ผมเขียนบทความนี้อยู่ ไต้หวันมีคนติดโควิด-19 เพียง 951 คนรักษาหายแล้ว 906 คนและเสียชีวิตเพียง 9 ราย เท่านั้น

เมื่อมองไต้หวันกับการใช้บิ๊กดาต้าและหันกลับมามองการทำงานในการรับมือกับโควิด-19 ของไทยโดยที่ไม่มีบิ๊กดาต้านั้น ก็ได้แต่หวังว่าในครม.ใหม่คราวนี้คงจะมีรัฐมนตรีใหม่สักคนที่มีความเข้าใจเรื่องบิ๊กดาต้าจริงๆ ได้เข้าไปร่วมและสามารถผลักดันบิ๊กดาต้าของไทยให้เกิดได้จริงๆสักที

[smartslider3 slider="9"]