มุมมองเกษมสันต์ ตอน ปราบคอรัปชั่นไทย ทำไมสอบตกซ้ำซาก?

0
615


องค์กรความโปร่งใสนานาชาติ ประกาศ ดัชนีภาพลักษณ์คอรัปชั่น ประจำปีพ.ศ. 2563 โดยมีการวัดจาก 180 ประเทศและเขตเศรษฐกิจทั่วโลก ไทยยังคงสอบตกเหมือนเคย ได้คะแนนเท่าเดิม 36 คะแนนจากคะแนนเต็ม 100 มาเป็นปีที่สามติดต่อกันมาตั้งปีพ.ศ. 2561 แต่อันดับแย่ลงต่อเนื่องจากอันดับที่ 99 มาเป็น 101 ในปีที่แล้วก่อนจะร่วงต่อเนื่องลงมาเป็นอันดับที่ 104 ในปีนี้ เป็นอันดับที่ 5 ใน AEC ร่วมกับเวียดนาม
นับตั้งแต่ไทยเข้าร่วมจัดอันดับในปีพ.ศ. 2538 โดยในช่วงปีพ.ศ. 2538 – 2554 คะแนนเต็ม 10 ก่อนจะเปลี่ยนเป็นคะแนนเต็ม 100 ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2555 เป็นต้นมานั้น ไทยเคยทำคะแนนสูงสุดได้ใน 3 ปีเท่านั้นคือปีพ.ศ. 2548 ได้ 3.8 คะแนน 2557 และ 2558 ได้ 38 คะแนน ส่วนปีที่ได้คะแนนต่ำสุดคือพ.ศ. 2538 ได้ 2.8 คะแนน หากดูย้อนหลังไป 10 ปี ถึงพ.ศ. 2554 ที่เคยได้ 3.4 คะแนน จะพบว่าการปราบคอรัปชั่นไทยเราแทบจะไม่มีอะไรดีขึ้นเลย ยังสอบตกได้คะแนนต่ำกว่าครึ่งมาโดยตลอด
ประเทศที่โปร่งใสที่สุดตลอดมาใน AEC คือสิงคโปร์ และปีล่าสุดพ.ศ. 2563 ก็ยังสามารถรักษาแชมป์เอาไว้ได้ที่ 85 คะแนนเท่าปีที่แล้ว แต่อันดับดีขึ้นจากอันดับ 4 เป็นอันดับ 3 ของโลกร่วมกับ ฟินแลนด์ สวีเดนและสวิตเซอร์แลนด์ ตามหลังประเทศที่โปร่งใสที่สุดในโลกซึ่งปีนี้เป็นแชมป์โลกคู่ 2 มาปีซ้อนแล้วคือนิวซีแลนด์และเดนมาร์กซึ่งได้ 88 คะแนน หากดูย้อนหลังไป 10 ปีถึงพ.ศ. 2554 ที่สิงคโปร์ได้ 9.2 คะแนน อันดับ 5 ของโลกแล้วจะเห็นได้ชัดเจนว่าสิงคโปร์ยังรักษาความโปร่งใสอันดับโลกไว้ได้อย่างยอดเยี่ยม ดังนั้นนอกจากจะเป็นประเทศที่โปร่งใสที่สุดใน AEC แล้วสิงคโปร์ก็ยังเป็นประเทศตัวอย่างซึ่งผู้นำประเทศมีความตั้งใจจริงที่จะปราบคอรัปชั่นหรือเรียกว่ามี Political Will และสามารถปราบได้สำเร็จถึงแม้จะเคยมีการคอรัปชั่นหนักเหมือนไทย
บรูไนยังคงได้ 60 คะแนน ได้อันดับที่ 35 เท่าปีที่แล้ว จึงยังสามารถรักษาตำแหน่งรองแชมป์ความโปร่งใสใน AEC เอาไว้ได้เช่นเดิม เมื่อตรวจสอบย้อนหลังไป 10 ปีก็จะเห็นแนวโน้มที่ดีขึ้นจาก 5.2 คะแนนและอันดับที่ 44 อย่างชัดเจน การเป็นประเทศที่ปกครองด้วยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของบรูไน ไม่ได้ทำให้ประเทศสูญเสียความโปร่งใสแต่อย่างใด
มาเลเซียยังคงรักษาอันดับสามของ AEC เอาไว้อย่างเหนียวแน่น ปีนี้ทำได้ 51 คะแนนลดลงจาก 53 คะแนนจากปีที่แล้ว อันดับร่วงลงจากที่ 51 เป็น 57 ของโลก หลังจากที่เคยได้เพียง 4.3 คะแนนและได้อันดับที่ 60 ในปีพ.ศ. 2554 จะเห็นว่ามาเลเซียโปร่งใสขึ้นเป็นลำดับ ถึงแม้ว่าในช่วงสี่ห้าปีที่ผ่านมาจะมีปัญหาเรื่องผู้นำประเทศคอรัปชั่นจนทำให้มาเลเซียสอบตกได้คะแนนน้อยกว่า 50 คะแนนในช่วงปีพ.ศ. 2559-61 ก็ตาม
อันดับสี่ของ AEC ปีนี้ยังคงได้แก่อินโดนีเซีย ทำได้ 37 คะแนนลดลงจาก 40 คะแนนในปีที่แล้ว อันดับเลยร่วงหนักจากที่ 85 ลงไปถึงอันดับที่ 102 แต่เมื่อดูย้อนหลังไป 10 ปีที่อินโดนีเซียเคยทำได้เพียง 3.0 คะแนน เป็นอันดับที่ 100 ของโลก และทำได้เพียง 32 คะแนนในปีพ.ศ. 2555-56 แต่เมื่อโจโควี่ ได้รับการเลือกตั้งเข้ามาเป็นประธานาธิบดีตั้งแต่ปีพ.ศ. 2557 คะแนนความโปร่งใสก็ดีขึ้นเป็นลำดับจาก 32 คะแนน ได้เพิ่มขึ้นเป็น 34, 36, 37, 37, 38 และ 40 คะแนนก่อนจะลดลงเหลือ 37 ในปีล่าสุด ซึ่งต้องจับตาดูในปีต่อไปว่าอินโดนีเซียจะกลับมาทำได้ดีขึ้นหรือไม่ หรือโจโควี่จะเข้าข่ายผู้นำที่อยู่นานมักจะไม่เริ่มไม่เอาจริงเรื่องการปฏิรูปประเทศเหมือนที่ผู้นำหลายๆประเทศชอบเป็นกัน
อันดับ 5 ร่วมปีนี้เวียดนามซึ่งเคยแซงไทยไปได้เมื่อปีที่แล้วโดยได้ 37 คะแนน เป็นอันดับที่ 96 ปีนี้คะแนนลดลงมา 1 คะแนนหล่นลงมาเท่ากับไทย เมื่อดูย้อนหลังไป 10 ปีที่เวียดนามเคยทำได้เพียง 2.9 คะแนน ได้อันดับที่ 112 ของโลกแล้วก็ต้องนับว่าเวียดนามมีแนวโน้มการปราบคอรัปชั่นที่ดีขึ้นอย่างชัดเจน จากที่เคยโปร่งใสน้อยกว่าไทยจนวันนี้ดีขึ้นจนโปร่งใสในระดับเดียวกับเราแล้ว ส่วนอันดับ 7 ยังคงเป็นฟิลิปปินส์ซึ่งได้คะแนน 34 คะแนนเท่าปีที่แล้วแต่อันดับลดลงจากที่ 113 เป็น 115 เมื่อดูย้อนหลังไป 10 ปีซึ่งเคยได้เพียง 2.6 คะแนน ก็จะพบว่าการคอรัปชั่นในฟิลิปปินส์มีแนวโน้มดีขึ้นอย่างชัดเจนเช่นเดียวกับเวียดนาม
อันดับ 8 ก็ยังคงเป็นสปป.ลาวซึ่งปีนี้ยังคงทำได้ 29 คะแนนต่อเนื่องมา 4 ปีแล้ว แต่ปีนี้อันดับตกลงมาจากอันดับที่ 130 สู่อันดับที่ 134 ถ้าดูเพียงลำพังคะแนน 29 คะแนนอาจจะดูว่ายังน้อยอยู่มาก แต่ถ้าดูย้อนหลังไป 10 ปีที่แล้วซึ่งสปป.ลาวได้คะแนนเพียง 2.2 คะแนน ได้อันดับที่ 159 นั้นเราจะเห็นการยกระดับความโปร่งใสขึ้นมาได้อย่างมากของประเทศเพื่อนบ้านเรา
เช่นเดียวกับอันดับ 9 คือเมียนมา ซึ่งปีนี้คะแนนหล่นมาจาก 29 คะแนนในปีที่แล้ว ทำให้อันดับหล่นมาอยู่ที่ 137 แต่ถ้าดูย้อนหลังไปปีพ.ศ. 2554 ซึ่งเมียนมาทำได้เพียง 1.5 คะแนน ได้อันดับที่ 180 จาก 183 ประเทศนั้นก็จะเห็นว่าเมียนมาเป็นประเทศที่ยกระดับความโปร่งใสขึ้นมาได้มากที่สุดของ AEC เลยทีเดียว ผมมองว่าการยึดอำนาจเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาน่าจะส่งผลให้ทั้งคะแนนและอันดับของเมียนมาลดลงในการวัดครั้งต่อไป ส่วนกัมพูชา ซึ่งปีนี้ครองอันดับสุดท้ายใน AEC ทำได้ 21 คะแนน อันดับที่ 160 แทบจะไม่มีพัฒนาการจากปีพ.ศ. 2554 ที่เคยได้ 2.1 คะแนน อันดับที่ 164 ของโลกเลย
เมื่อเปรียบเทียบดัชนีภาพลักษณ์คอรัปชั่นของปีพ.ศ. 2563 ย้อนหลังไป 10 ปีของไทยและ AEC แล้ว ในการประชุมสัปดาห์หน้า นายกฯประยุทธ์ อาจจะต้องถามครม.อีกครั้งว่าทำไมการปราบคอรัปชั่นของไทยถึงสอบตกซ้ำซากกันได้ขนาดนี้?

[smartslider3 slider="9"]