มุมมองเกษมสันต์ ตอน แผนปฏิรูปประเทศ ฉบับภาษาวิบัติ (1)

0
689

เมื่อเจ็ดแปดปีที่แล้ว ผมเริ่มเตือนประเทศไทยด้วยการเขียนบทความและบรรยายตามที่ต่างๆว่าประเทศไทยไม่มียุทธศาสตร์ ซึ่งเป็นต้นเหตุของการที่ประเทศไทยพัฒนาได้ช้ากว่าประเทศอื่นๆ

อีกสามปีต่อมาจึงมีผู้บริหารสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมออกมายอมรับว่ายุทธศาสตร์เป็นเรื่องใหม่ในการบริหารประเทศ หลังจากนั้นไทยเราก็มีกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ และสุดท้ายเราก็ได้ “ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี” ในเดือนตุลาคม 2561 ซึ่งผมวิจารณ์ว่ามันยังไม่ใช่การเขียนยุทธศาสตร์ที่ถูกต้องอยู่ดี เราไม่สามารถเรียกมันได้ว่าเป็นยุทธศาสตร์ ผู้เกี่ยวข้องหลายคนก็ออกมาชี้แจงว่าขอให้รอดูแผนแม่บทยุทธศาสตร์ชาติ เสียก่อนค่อยวิจารณ์

เมื่อแผนแม่บทยุทธศาสตร์ชาติ ประกาศออกมาในเดือนเมษายน 2562 ผมก็รีบอ่านอย่างละเอียดและเขียนบทความวิจารณ์อย่างหนักต่ออีกว่าเป็นแผนแม่บทที่เลอะเทอะมาก ใครสนใจอ่านบทความวิจารณ์ยุทธศาสตร์และแผนแม่บทของผมย้อนหลัง (ลองไปหาอ่านย้อนหลังได้ที่เว็บไซต์นี้ / search คำว่า แผนยุทธศาสตร์ชาติ)

ก่อนหน้านั้นได้มีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องแผนปฏิรูปประเทศในเดือนเมษายน 2561 ดังนั้นเมื่อมียุทธศาสตร์ชาติและแผนแม่บทออกมา สำนักงานสภาพัฒนฯ ในฐานะสำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศจึงได้เสนอร่างแผนการปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง) ให้คณะรัฐมนตรีซึ่งก็ได้พิจารณาให้ความเห็นชอบเรียบร้อยแล้วในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เมื่อมีการเผยแพร่ผมก็รีบอ่านอย่างละเอียดเช่นเดิม โดยมีความหวังว่าแผนปฏิรูป (ฉบับปรับปรุง) นี้จะแก้ไขและปิดจุดอ่อนยุทธศาสตร์ชาติและแผนแม่บทได้

แผนการปฏิรูป (ฉบับปรับปรุง) นี้ มีแผนปฏิรูปประเทศทั้งหมด 13 ด้านคือ 1 การเมือง 2 การบริหารราชการแผ่นดิน 3 กฎหมาย 4 กระบวนการยุติธรรม 5 เศรษฐกิจ 6 ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 7 สาธารณสุข 8 สื่อสารมวลชน เทคโนโลยีสารสนเทศ 9 สังคม 10 พลังงาน 11 การป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ 12 การศึกษา และ 13 วัฒนธรรม กีฬา แรงงานและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

เมื่อเริ่มอ่าน ผมรู้สึกได้ทันทีว่าคงไม่มีรัฐมนตรีคนไหนได้อ่านแผนปฏิรูป และผู้บริหารสภาพัฒน์ ฯ ก็ไม่น่าจะได้อ่าน เพราะพอเริ่มอ่านก็รู้สึกได้ทันทีว่ามีการใช้ภาษาอังกฤษอย่างฟุ่มเฟือยเกินความจำเป็นจนน่ากังวลใจ แถมในแต่ละแผนปฏิรูปการใช้ภาษาอังกฤษก็ไม่ค่อยจะสอดคล้องกัน ทำให้เข้าใจไปว่าผู้ใหญ่คงจะไม่ได้อ่านและก็คงไม่มีบรรณาธิการใหญ่อ่านแผนปฏิรูปนี้เพื่อตรวจสอบและปรับปรุงให้ทั้ง 13 แผนมีความสอดคล้องกันทั้งวิธีการเขียนและการใช้ภาษาอังกฤษ

เมื่ออ่านบทนำของแผนฯ ก็เจอการเขียนว่า “….กิจกรรมปฏิรูปประเทศที่จะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อประชาชนอย่างมีนัยสำคัญ (Big Rock)….” แบบนี้ถึง 4 ครั้ง ซึ่ง “กิจกรรมปฏิรูปประเทศที่จะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อประชาชนอย่างมีนัยสำคัญ” ก็มีความหมายชัดเจนในตัวอยู่แล้ว ไม่มีความจำเป็นอะไรที่จะต้องมาวงเล็บภาษาอังกฤษต่อท้ายอีก

ผมจึงเริ่มนับคำภาษาอังกฤษที่ใช้ในแผนปฏิรูปและพบว่าในแผนทั้งหมดที่มีความยาวรวม 354 หน้านั้น มีการใช้ภาษาอังกฤษมากถึง 1,203 คำ ทั้งเขียนไว้ในวงเล็บและใช้แทนภาษาไทยไปเลย ซึ่งมากกว่า 70 เปอร์เซ็นต์นั้นเป็นการใช้ที่ไม่มีความจำเป็นและไม่ถูกต้อง

ผมคิดว่าการเขียนเอกสารราชการที่สำคัญเช่นแผนการปฏิรูปประเทศและเป็นประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีนั้น สมควรที่จะเขียนโดยใช้ภาษาไทยเป็นหลัก จะใช้ภาษาอังกฤษมาเสริมก็ต่อเมื่อไม่มีคำภาษาไทยที่เหมาะสมหรือเกรงว่าความหมายในภาษาไทยคำนั้นอาจจะคลุมเครือ หรือเป็นศัพท์ทางเทคนิคในภาษาต่างประเทศที่ยังไม่มีการบัญญัติเป็นภาษาไทยเท่านั้น

ที่น่าจะต้องแก้ไขอย่างมากในแผนฯนี้ก็คือการเอาภาษาอังกฤษมาต่อท้ายคำภาษาไทยที่เราใช้กันบ่อยจนมีความเข้าใจตรงกันชัดเจนอยู่แล้ว อาทิ วาระแห่งชาติ (National Agenda) เนื้อหา (Content) ความไม่แน่นอน (Uncertainty) ความเคารพ (Respect) มิตรภาพ (Friendship) หรือ แอพพลิเคชั่น (Application) เป็นต้น คำประเภทนี้ภาษาไทยมีความชัดเจนในตัวเอง คนไทยใช้กันบ่อย อ่านแล้วก็เข้าใจตรงกัน ทำไมจะต้องเอาภาษาอังกฤษมาใส่วงเล็บต่อท้ายไว้ในเอกสารราชการอีก แม้แต่คำว่า เชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ ในแผนฯ นี้ก็ยังอุตส่าห์มีวงเล็บภาษาอังกฤษว่า ( COVID-19) ต่อท้ายอีกไม่รู้กลัวใครจะไม่เข้าใจ

วันอาทิตย์ (Sunday) หน้าผมจะมาเขียน (Write) ต่อถึงการใช้ภาษาอังกฤษ (English) ในแผนปฏิรูปฯซึ่งผมเป็นห่วง (Worry) มากๆ (Very Much) แต่ก็มีเรื่องสนุก (Fun) และเรื่องเศร้า (Sad) เคล้าน้ำตา (Tears) มาให้อ่านด้วยนะครับ

เชิญอ่าน แผนการปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง)

[smartslider3 slider="9"]