มุมมองเกษมสันต์ ตอน แผนปฏิรูปประเทศ ฉบับภาษาวิบัติ (2)

0
533

อาทิตย์ที่แล้วผมเริ่มต้นเอาไว้ว่าแผนการปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง) ที่ประกาศออกมาในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มีการใช้ภาษาอังกฤษมากถึง 1,203 คำ ทั้งเขียนไว้ในวงเล็บและใช้แทนภาษาไทยไปเลย ซึ่งมากกว่า 70 เปอร์เซ็นต์นั้นเป็นการใช้ที่ไม่มีความจำเป็นและไม่ถูกต้อง และที่น่าจะต้องแก้ไขอย่างมากก็คือการเอาภาษาอังกฤษมาต่อท้ายคำภาษาไทยที่ใช้กันบ่อยจนมีความเข้าใจตรงกันชัดเจนอยู่แล้ว อาทิ วาระแห่งชาติ (National Agenda) เนื้อหา (Content) มิตรภาพ (Friendship) หรือ แอพพลิเคชั่น (Application) เป็นต้น แม้แต่คำว่า เชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ ในแผนฯ นี้ก็ยังอุตส่าห์มีวงเล็บภาษาอังกฤษว่า ( COVID-19) ต่อท้ายอีก

เรื่องที่สองที่ต้องปรับปรุงก็คือการใช้ภาษาอังกฤษแทนภาษาไทยและเขียนผสมกันไปเลยระหว่างภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ทั้งๆที่แผนฯนี้เป็นประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นเอกสารสำคัญทางราชการ ตัวอย่างเช่น ในแผนปฏิรูปฯ ด้านการบริหารราชการแผ่นดิน มีการเขียนว่า “…ระบบบริหารราชการของหน่วยงานที่ขับเคลื่อน Agenda นั้น ทั้งหน่วยงานส่วนกลาง…” หรือ “…กำหนดให้อำเภอและท้องถิ่นในจังหวัดที่มีผลสัมฤทธิ์สูงนำระบบ e-Service ไปทดลองให้บริการแก่ประชาชน…”

แผนปฏิรูปฯ ด้านการสาธารณสุข มีการเขียนว่า “…คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข finalize ข้อเสนอ แล้วนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี…” “…ต่อยอด ผลิต จัดหา stockpile จำหน่าย การตลาด …” หรือ “กำหนด priority” ขณะที่แผนปฏิรูปฯด้านสื่อสาร มวลชนฯ มีการเขียนว่า “…โดยอาจเริ่มดำเนินการพิจารณาค่าใช้จ่ายบริการอินเทอร์เน็ตหรือ Digital Media ให้มีราคาถูกลง และการให้บริการอินเทอร์เน็ต Wifi ฟรีแก่ประชาชน ……. และในลักษณะ Social Media” ส่วนแผนปฏิรูปฯ ด้านพลังงาน ซึ่งใช้ภาษาอังกฤษมากที่สุดถึง 434 คำ ก็มีการเขียนว่า “…โดยควรจัดทำ Roadmap การบริหารจัดการแหล่งต่างๆที่จะหมดอายุสัมปทานให้ชัดเจน …” ในแผนปฏิรูปฯด้านการศึกษา มีการเขียนว่า “…เพื่อผู้จบการศึกษามีความพร้อมในการทำงาน “Ready to Work” ที่มีสภาวะพลวัต …”

จะเห็นได้ว่าคำภาษาอังกฤษที่ใช้กันในตัวอย่างข้างต้นนี้ สามารถใช้คำภาษาไทยทดแทนได้อย่างง่ายดาย ไม่มีความจำเป็นแต่อย่างใดที่จะต้องเขียนแผนปฏิรูปฯแบบไทยสามคำอังกฤษคำ อย่างที่ได้ยกตัวอย่างมาให้อ่านกัน

เรื่องความสับสนในการเขียนทับศัพท์ภาษาไทยเป็นภาษาอังกฤษก็มีให้เห็น เป็นที่น่าสงสัย เช่นคำว่า “ตำบล” ซึ่งในแผนปฏิรูปฯด้านสังคมคำว่าตำบล มีวงเล็บท้ายภาษาไทยว่า (Tambon) ขณะที่แผนปฏิรูปฯด้านวัฒนธรรม กีฬาฯ เขียนว่า “… โครงการ ๑ ตำบล ๑ ชนิดกีฬา ( One Tambol One Sport: OTOS)…” สะกดด้วยตัว เอ็นและตัวแอล กันสนุกสนาน หรือพอจะเขียนทับศัพท์ภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทยก็เขียนทับศัพท์กันแบบสับสน โดยเฉพาะคำว่า Digital ที่มีการเขียนทับศัพท์เป็นภาษาไทยทั้ง “ดิจิทัล” และ “ดิจิตอล” แต่ที่ผม “เซอร์ไพรส์” ที่สุดก็คือแม้แต่แผนปฏิรูปด้านวัฒนธรรมฯ ซึ่งควรจะใช้ภาษาให้ถูกต้องที่สุด ก็ยังมีการเขียนทับศัพท์เช่น “…๔) พัฒนามาตรฐานสินค้าและบริการวัฒนธรรมที่เป็นแบรนด์ของชาติหรือตราสินค้า (Logo) กลางของประเทศไทย…” อ่านแล้วทั้งเสียใจและสับสน

ในเอกสารราชการนั้น สิ่งที่ผมชอบก็คือการใช้เลขไทย แต่ในแผนปฏิรูปฯฉบับนี้ มีการใช้เลขไทยไปผสมกับภาษาอังกฤษจนผมไม่สบายใจ เช่น “…การขับเคลื่อนนโยบาย “Thailand ๔.๐”…” “สนับสนุนให้ใช้ยุทธศาสตร์ G๒G (Government to Government) กับประเทศ…” และ “…ใช้จัดทำร่างแผน PDP ๒๐๒๒ โดยผ่านการรับฟังความเห็น…” ในแผนปฏิรูปฯ ด้านพลังงาน ซึ่งคำเหล่านี้สามารถเขียนเป็น “ไทยแลนด์ ๔.๐” “G2G” และ “PDP2022” ซึ่งน่าจะเหมาะสมกว่า

การไม่ตรวจคำที่พิมพ์ผิดก็เป็นอีกเรื่องที่ผมคิดว่าคงไม่มีการทำกันอย่างจริงจัง เพราะยังพบคำที่พิมพ์ผิด แม้จะไม่มากแต่ก็ไม่สมควรจะมีคำพิมพ์ผิดแม้แต่คำเดียวเพราะเป็นเอกสารราชการสำคัญของประเทศ เป็นแผนปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง)

นอกจากนี้ คำที่พิมพ์ผิดหากเป็นคำที่สะกดผิดนั้น ความหมายก็คงจะเปลี่ยนไปไม่มาก แต่หากเป็นการพิมพ์ผิดเช่นในแผนปฏิรูปด้านวัฒนธรรม กีฬา แรงงานและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ที่ตอนอ้างอิงความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ยังตั้งเป้าพัฒนาคนไทยให้พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 (ปีค.ศ. 2001-2100) แต่พอเขียนเป็นแผนปฏิรูปฯ เริ่มตั้งแต่บทนำก็เขียนเลยว่า “…มีสมรรถนะสอดรับกับบริบทการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ ๒๒…” ในกิจกรรมปฏิรูปที่ 5 การบริหารจัดการศักยภาพบุคลากรของประเทศ ก็ยังระบุว่า “…เด็กวัยเรียนได้รับการพัฒนาทักษะสำหรับการเตรียมพร้อมสู่ศตวรรษที่ ๒๒ …” และ “…การศึกษาเพื่อพัฒนาสู่การมีทักษะสำหรับศตวรรษที่ ๒๒…” ความหมายผิดเป็นร้อยปี

ตีความได้สองแบบคือ คนที่ทำแผนปฏิรูปด้านวัฒนธรรมฯ เป็นคนมองการณ์ไกลมาก มองไกลกว่ายุทธศาสตร์ชาติไปอีกเป็นร้อยปี หรือเป็นคนสะเพร่า พิมพ์ผิดจากศตวรรษที่ 21 กลายเป็นศตวรรษที่ 22 แล้วไม่ตรวจสอบให้เรียบร้อย ซึ่งใครจะตีความให้เป็นแบบไหนก็ตามใจครับ

นี่ขนาดยังไม่ได้เขียนถึงเป้าหมายและตัวชี้วัดของแผนฯ ผมยังรู้สึก (Feel) เศร้าใจ (Sad) ที่เราทำแผนปฏิรูปประเทศกันสะเพร่าขนาดนี้ หรือตอนทำคงไม่คิดว่าจะมีคนอ่านแบบละเอียดยิบอย่างผม สงสัยจะรู้จักคนอย่างผมน้อยไป You know me little go !!!!

[smartslider3 slider="9"]