ยุทธศาสตร์ชาติ 20ปี
Amazing AEC สำหรับเดลินิวส์ฉบับวันอาทิตย์ที่ 28 ตุลาคม 2561
เมื่อห้าหกปีที่แล้ว ตอนที่ผมเขียนหนังสือและเดินสายบรรยายบอกกับผู้คนทั่วประเทศว่าเมืองไทยเราไม่มียุทธศาสตร์ หลายคนก็เถียงผมว่าเป็นไปได้อย่างไรที่ไทยจะไม่มียุทธศาสตร์ ? สุดท้ายเมื่อปี พ.ศ. 2558 เลขาธิการสภาพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติสมัยนั้นก็ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า “…ยุทธศาสตร์ชาติถือเป็นเรื่องใหม่ในกลไกบริหารประเทศ….”
หลังจากนั้นมาผมก็ไม่จำเป็นต้องไปเถียงกับคนที่มาค้านผมอีกเลยว่าตกลงเมืองไทยเรามียุทธศาสตร์หรือไม่ ก็ขนาดเลขา ฯ สภาพัฒน์เป็นคนออกมาบอกเองว่ายุทธศาสตร์ชาติเป็นเรื่องใหม่ แต่กลับมีคำถามใหม่ว่าแล้ว “แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ” ที่เรามีมาแล้ว 12 ฉบับคืออะไร? ไม่ใช่ยุทธศาสตร์หรืออย่างไร คำตอบที่ได้คือ ไม่ใช่แต่เป็นแค่ “ไกด์ไลน์” หรือแนวทางให้รัฐบาลทั้งหลายเลือก แต่ก็ไม่ได้เป็นการบังคับว่าจะต้องทำตามแผน ฯ ดังนั้นใครเข้ามาเป็น รัฐบาลไม่ว่าจะมา จากการเลือกตั้งหรือปฏิวัติ ก็สามารถพาประเทศไปในทางซ้ายขวาได้ตามอัธยาศัย
ในอดีตตอนที่ประเทศเพื่อนบ้านยังไม่สงบยังมีสงคราม ไทยเราเป็นประเทศเดียวที่สงบสุขไม่มีสงคราม ธุรกิจระดับโลก จึงเลือกมาลงทุนในเมืองไทยกันจนไทยเรา “โชติช่วงชัชวาลย์” ต่อมาเมื่อสงครามในประเทศเพื่อนบ้านสงบ และพวกเขาตั้งหลักกันได้และเริ่มเขียนยุทธศาสตร์กัน สถานการณ์ก็เปลี่ยนไป จนล่าสุดมีนักวิเคราะห์ระดับโลกหลายสถาบันคาดการณ์ ตรงกันว่าอีกราว ๆ 30 ปีเวียดนามจะแซงไทยเรา
ส่วนไทยเราหลังจากรู้ตัวแล้วว่า “ไร้ยุทธศาสตร์” ก็เริ่มตั้งคณะกรรมการมาร่างยุทธศาสตร์และสุดท้ายเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2561 ที่ผ่านมาเราก็มียุทธศาสตร์ชาติ 20ปี ( 2561 – 2580) กันอย่างเป็นทางการ
ในยุทธศาสตร์ชาตินั้น “ตำแหน่งประเทศ” ซึ่งต้องทำการวิเคราะห์สถานการณ์โลก และวิเคราะห์จุดอ่อนจุดแข็งโอกาส ความท้าทาย หรือ SWOT เสียก่อน นั้นเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง เพราะไม่เช่นนั้นเราก็จะไม่รู้ว่าจะพัฒนาประเทศกันอย่างไร ถ้าการพัฒนาประเทศ เป็นเหมือนการเดินทาง “ตำแหน่งประเทศ” ก็คือจุดหมายปลายทางนั่นเอง ว่าเราจะไปเชียงใหม่ หรือภูเก็ต คนที่จะร่วมเดินทางซึ่ง หมายถึงคนทั้งประเทศก็จะได้รู้ว่าจะต้องเตรียมตัวเตรียมเสื้อผ้ากันอย่างไร แต่ถ้าตำแหน่งประเทศไม่ชัดเจน ก็เปรียบเสมือนเราชวน เพื่อนไปเที่ยวแต่ไม่บอกเพื่อนว่าจะพาไปเที่ยวที่ไหนนั่นเอง
ในยุทธศาสตร์ชาติ 20ปี วิสัยทัศน์ประเทศไทยคือ “ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาแล้วด้วยการ พัฒนาตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” หรือสรุปสั้นๆเป็นคติพจน์ประจำชาติว่า “มั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน”
“ความมั่นคงหมายถึง การมีความมั่นคงปลอดภัยจากภัยและการเปลี่ยนแปลงทั้งภายในและภายนอกประเทศในทุกระดับ ทั้งระดับประเทศ สังคม ชุมชน ครัวเรือนและปัจเจกบุคคล และมีความั่นคงในทุกมิติ ทั้งมิติทางการทหาร เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมและการเมือง….”
“ความมั่งคั่งหมายถึง ประเทศไทยมีการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องและมีความยั่งยืนจนเข้าสู่กลุ่มประเทศรายได้สูง ความเหลื่อมล้ำของการพัฒนาลดลง ประชากรมีความอยู่ดีมีสุขได้รับผลประโยชน์จากการพัฒนาอย่างเท่าเทียมกันมากขึ้น และมีการพัฒนาอย่างทั่วถึงทุกภาคส่วน มีคุณภาพชีวิตตามมาตรฐานขององค์การสหประชาชาติ ไม่มีประชาชนที่อยู่ใน ภาวะความยากจน เศรษฐกิจในประเทศมีความเข้มแข็ง ขณะเดียวกันต้องมีความสามารถในการแข่งขันกับประเทศต่างๆ ทั้งในตลาดโลกและตลาดภายในประเทศ….”
“ความยั่งยืนหมายถึง การพัฒนาที่สามารถสร้างความเจริญ รายได้และคุณภาพชีวิตของประชาชนให้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจที่อยู่บนหลักของการใช้ การรักษาและการฟื้นฟูฐานทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน ไม่ใช้ทรัพยากรธรรมชาติจนเกินพอดี ไม่สร้างมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม….”
ผมลอกนิยามของมั่นคงมั่งคั่งยั่งยืนมาให้อ่าน เพราะอาทิตย์หน้าจะมาบอกต่อว่าแค่เริ่มก็เขียนกันไม่เป็นเสียแล้ว !! **
ยุทธศาสตร์ชาติ 20ปี (2)
Amazing AEC สำหรับเดลินิวส์ฉบับวันอาทิตย์ที่ 4 พฤศจิกายน 2561
อาทิตย์ที่แล้วผมทิ้งท้ายว่าประเทศเราแค่เริ่มเขียนยุทธศาสตร์ชาติ 20ปี (2561 – 2580) ก็เขียนกันไม่เป็นเสียแล้วเพราะวิสัยทัศน์ ประเทศไทยที่เขียนเอาไว้ว่า “ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาแล้วด้วยการ พัฒนาตามหลักปรัชญา เศรษฐกิจพอเพียง” แล้วขยายความเอาไว้ยาวเหยียด
วิสัยทัศน์ประเทศไทยที่เขียนไว้ยาวๆนั้น ทุกประเทศในโลกล้วนอยากเป็นอย่างนั้นเหมือนกับเราทั้งนั้น ไม่แปลกอะไร แต่ที่ ประเทศอื่นๆ ไม่เหมือนเราก็คือเขามี “ตำแหน่งประเทศที่สั้นกระชับชัดเจน” ส่วนไทยเราไม่มี
เมื่อไทยเราไม่มีตำแหน่งประเทศที่สั้นกระชับชัดเจนนั้นทำให้ กระทรวงทบวงกรมต่าง ๆ จึงสามารถเลือกทำงานที่พวกเขาอยากทำได้ตามอำเภอใจ การทำงานของหน่วยราชการต่าง ๆ จึงเป็นการทำงานแบบต่างคนต่างทำ แต่ทำถูกต้องตามวิสัยทัศน์ประเทศหมดทุกหน่วยงาน ลองคิดดูสิครับว่างานไหนของกระทรวงไหนที่จะไม่สอดคล้องกับความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน ฯลฯ บ้าง ใครอยากทำ อะไรจึงสามารถเขียนของบประมาณได้หมด ผลที่ตามมาก็คืองบประมาณของประเทศซึ่งมีอยู่ อย่างจำกัดนั้นจึงถูกใช้กันแบบ “เบี้ยหัวแตก”
ประเทศที่มีตำแหน่งประเทศชัดเจน การจัดสรรรงบประมาณก็จะทำได้ง่ายชัดเจน เรียงลำดับกันตามสำคัญ หน่วยงานไหนที่มี หน้าที่ตามตำแหน่ง ประเทศก็จะได้รับการจัดสรรงบประมาณมากกว่าและได้ก่อนหน่วยงานอื่นๆ
ส่วนประเทศไทยเมื่อนอกจากจะใช้งบประมาณแบบ “เบี้ยหัวแตก” แล้วยังไม่พอ ยังถูกซ้ำเติมด้วย “การคอร์รัปชั่น” เสียอีก เม็ดเงินที่มีอยู่อย่างน้อยนิดจึงใช้ได้จริงน้อยลงไปอีก “เบี้ยหัวแตก” จึงกลายเป็น “เบี้ยหัวแบะ” แย่ลงไปอีก
เมื่อมาเลเซียเขามีตำแหน่งประเทศที่วางเอาไว้อย่างชัดเจนว่าจะใช้ “นวัตกรรม” เป็นเครื่องมือหลักในการขับเคลื่อนประเทศ เขาก็ทุ่มเทงบประมาณภาครัฐไปเพื่อยกระดับ “นวัตกรรม” ของประเทศ จนวันนี้มาเลเซียกำลังจะกลายไปเป็นประเทศที่แข่งขัน ด้วยนวัตกรรมเหมือนกับประเทศพัฒนาแล้วทั้งหลาย เช่นสหรัฐ เยอรมัน สิงคโปร์ ทิ้งให้ไทยอยู่ในกลุ่มประเทศที่แข่งขันด้วย ประสิทธิภาพการผลิตซึ่งด้อยกว่าเขาอยู่หนึ่งขั้นทั้ง ๆ ที่เราก็เขียนกันในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติกันมาโดยตลอด
ตำแหน่งประเทศที่ดีและสั้นกระชับชัดเจนนั้นต้องถูกกำหนดมาจากการวิเคราะห์สถานการณ์เศรษฐกิจสังคมการเมืองของโลกและภูมิภาคว่าจะเกิดอะไรขึ้น เพราะถ้าเราวิเคราะห์ไม่ทะลุว่าจะเกิดอะไรขึ้นในอนาคต เราก็จะบอกไม่ได้ว่าเราต้องเตรียมตัวอย่างไร เหมือนกับคุณพ่อคุณแม่ถ้ามองภาพไม่ออกว่าสังคมไทยจะเป็นอย่างไรในอนาคต เราก็จะไม่สามารถเตรียมลูกเราได้ถูกต้อง เหมือนกับนักธุรกิจถ้ามองตลาดในอนาคตไม่ขาดก็ต้องเจ๊งในที่สุด
เมื่อวิเคราะห์สถานการณ์ในอนาคตได้แล้ว ก็ต้องทำการวิเคราะห์จุดแข็งจุดอ่อนโอกาสและความท้าทายหรือ SWOT ของประเทศ เพื่อจะหาว่าไทยเรามีความสามารถอะไรที่เก่งกว่าประเทศอื่น ๆ และความเก่งที่ว่านั้นจะยังเป็นความเก่งที่มีประโยชน์ในอนาคตอีก หรือไม่ และถ้าหากมีประเทศอื่นๆอยากจะมาแข่งขันกับเราในด้านที่เราเก่งนั้น เราจะยังเก่งกว่า และจะสามารถเอาชนะคู่แข่งได้อยู่ หรือไม่
เมื่อวิเคราะห์ทั้งสองเรื่องนี้ได้ชัดเจน ไม่หลอกตัวเองแล้ว เราก็จะสามารถเลือกตำแหน่งประเทศได้ชัดเจน ว่าเราจะเป็นประเทศแบบไหน แข่งขันด้วยอะไร
เมื่อมีตำแหน่งประเทศชัดเจน เรื่องที่สามที่ต้องมีในการเขียนยุทธศาสตร์ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมาก ๆ แต่ไทยเราไม่เคยมีเลย ก็คือ “นโยบายกำหนดแนวปฏิบัติ” ที่จะกำหนดกรอบแนวทางว่าหน่วยงานไหนต้องทำอะไรอย่างไรเมื่อไหร่ใช้งบประมาณเท่าไหร่ และต้องประสานกับหน่วยงานอื่นอย่างไร จึงจะทำให้ประเทศเดินหน้าไปตามยุทธศาสตร์ที่วางเอาไว้ได้จริง ***
เขียนยุทธศาสตร์ชาติแบบสิงคโปร์
Amazing AEC สำหรับเดลินิวส์ฉบับวันอาทิตย์ที่ 12 พฤศจิกายน 2561
สองตอนที่ผ่านมาผมบอกท่านผู้อ่านว่าไม่เคยมียุทธศาสตร์ชาติที่แท้จริง และเมื่อเริ่มเขียนยุทธศาสตร์ชาติ 20ปี ก็เริ่มแบบผิดทาง เพราะแค่การวางตำแหน่งประเทศ ก็วางไว้เสียกว้างเวิ้งว้าง และสิ่งที่เมืองไทยเรายังไม่เคยมีจนกระทั่งตอนนี้ก็คือ “นโยบายกำหนด แนวปฏิบัติ” ที่จะกำหนดกรอบแนวทางว่าหน่วยงานไหนต้องทำอะไรอย่างไรเมื่อไหร่ใช้งบประมาณเท่าไหร่และต้องประสานกับ หน่วยงานอื่นอย่างไร จึงจะทำให้ประเทศเดินหน้าไปตามยุทธศาสตร์ที่วางเอาไว้ได้จริง
สิงคโปร์เมื่อตอนแยกตัวออกจากมาเลเซียในปี พ.ศ. 2508 นั้น สถานะความเจริญของประเทศไม่ได้แตกต่างจากประเทศไทยเราเลย ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม จะว่าไปแล้วไทยเราดูดีกว่าสิงคโปร์เสียอีกเพราะประเทศมีพื้นที่มากกว่า มีทรัพยากรมนุษย์มากกว่า แถมมีทรัพยากรธรรมชาติมากกว่าสิงคโปร์เยอะแยะ
ลี กวน ยู จึงทำการวิเคราะห์ SWOT ของประเทศและพบว่าตำแหน่งประเทศที่เหมาะสมของสิงคโปร์คือการเป็น “ศูนย์กลางการค้าขายและศูนย์กลางการเงิน” ของภูมิภาค ซึ่งจะเป็นไปได้ก็ต่อเมื่อคนสิงคโปร์ต้องสื่อสารและทำงาน “เก่ง” กว่าคนในประเทศเพื่อนบ้าน และการทำธุรกิจในสิงคโปร์นั้นจะต้องสะดวกสบาย ง่ายและโปร่งใส
ลี กวน ยู จึงสั่งการให้สถาบันการศึกษาทุกระดับในสิงคโปร์สอนเป็นภาษาอังกฤษเพื่อที่คนสิงคโปร์จะทำให้พูดภาษาอังกฤษเก่งกัน ทุกคน จะได้สามารถสื่อสารกับคนทั้งโลกได้ จนคนสิงคโปร์สามารถใช้ภาษาอังกฤษได้ดีที่สุดในภูมิภาค นอกจากนี้ ลี กวน ยู ยังเน้น ลงทุนในระบบการศึกษา ลงทุนในการสร้างคน ลงทุนดึงคนเก่งระดับต้น ๆของประเทศมาเป็นครู จนวันนี้เด็กนักเรียนสิงคโปร์มีความเก่งเป็นที่ 1ของโลก
ในขณะเดียวกัน ลี กวน ยู ก็เร่งปฏิรูปและลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานซึ่งไม่ได้หมายความถึงแค่ถนนหนทางและรางรถไฟอย่างที่คนไทยคิด แต่โครงสร้างพื้นฐานในความหมายสากลนั้นโลกเขายังรวมหมายถึงโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การศึกษา สาธารณสุขและสิ่งแวดล้อมอีกด้วย ปัจจุบันความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานของสิงคโปร์นั้นดี ติดอันดับต้น ๆ ของโลก ส่งผลให้สิงคโปร์มีความสามารถในการแข่งขันติดอันดับต้น ๆ เช่นกัน
ความง่ายในการเริ่มต้นและทำธุรกิจในสิงคโปร์ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่จะดึงดูดให้ธุรกิจทั้งโลกอยากมาลงทุนใน สิงคโปร์ ลี กวน ยู จึงให้ความสนใจเป็นพิเศษ จนวันนี้สิงคโปร์ติดอันดับหนึ่งหรือสองในด้านความง่ายในการทำธุรกิจ
ตั้งแต่อยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษจนถึงตอนที่แยกตัวออกมาจากมาเลเซีย สิงคโปร์ก็ยังเต็มไปด้วยคอร์รัปชั่นเรียกว่าหนักหนา เหมือนประเทศไทยในยุคสมัยปัจจุบันนี้เลย ลี กวน ยู ก็รู้ดีว่าไม่มีประเทศไหนจะมาลงทุนในสิงคโปร์หรอก ถ้าสิงคโปร์ยังเต็มไปด้วยการคอร์รัปชั่น เขาจึงยืนเป็นกำแพงเหล็กให้หน่วยปราบคอร์รัปชั่นของสิงคโปร์ที่ชื่อ CPIB ไล่ปราบคนโกงอย่างไม่ไว้หน้า รัฐมนตรีร่วมรัฐบาลโกง ลี กวน ยู ก็ไฟเขียวให้จับติดคุก ปราบกันจนกระทั่งวันนี้สิงคโปร์มีความโปร่งใสติดอันดับต้น ๆ ของโลก
เมื่อตำแหน่งประเทศชัดเจน ยุทธศาสตร์ชาติจึงชัดเจนและมี “นโยบายกำหนดแนวปฏิบัติ” ที่ทำให้ผู้นำ หน่วยงานต่างๆ และคนใน ประเทศรู้ว่าใครต้องทำอะไร เมื่อไหร่ อย่างไร และผลของการทำงานของแต่ละฝ่ายนั้นจะมาเสริมกันตอนไหน จึงทำให้สิงคโปร์ยกระดับประเทศเป็นศูนย์กลางการค้าการเงินของอาเซียนได้อย่างน่าอะเมซิ่ง
เวลาสิงคโปร์เขียนยุทธศาสตร์นั้น คณะที่มาช่วยกันเขียนนั้นเป็นคณะเล็ก ๆ แต่เก่งทุกคน เวลาเขียนก็เขียนกันสั้น ๆ กระชับ ชัดเจน รู้สาเหตุปัญหา รู้ว่าประเทศต้องการอะไร และรู้ว่าใครต้องทำอะไรเมื่อไหร่ อย่างไร ด้วยงบประมาณเท่าไหร่และ จะวัดผลได้อย่างไร ผลของการเขียนยุทธศาสตร์ดีและทำเป็น จึงทำให้สิงคโปร์ยกระดับประเทศหนีห่างไปไทยไปเป็น “ประเทศพัฒนาแล้ว” ซึ่งสะท้อน ผ่านรายได้เฉลี่ยต่อหัวของคนสิงคโปร์ซึ่งมากกว่าของคนไทยเกือบ 10 เท่า ทั้งๆที่เมื่อ ก่อนคนของสองประเทศนี้มีรายได้เฉลี่ยต่อหัว พอๆกัน ***
จุดอ่อนแผนแม่บทยุทธศาสตร์ชาติ 20ปี (1)
Amazing AEC สำหรับเดลินิวส์ฉบับวันอาทิตย์ที่ 30 มิถุนายน 2562
อีกไม่เกินหนึ่งเดือน เราคงจะมีรัฐบาลใหม่เข้ามาบริหารประเทศ ซึ่งรัฐบาลที่แล้วได้วางยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีพร้อมแผนแม่บท ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. 2561 – 2580) ให้เป็นกรอบในการบริหารประเทศต่อไป ผมจึงขอเริ่มเขียนถึงเรื่องนี้เพื่อจะได้เป็น การบ้านให้รัฐบาลใหม่เอาไปทำให้ดีขึ้น เพราะเมื่อ 7 ปีที่แล้ว ตอนที่ผมเริ่มเขียนบทความเตือนสังคมไทยว่าน่าเป็นห่วงอย่างมาก เพราะประเทศเราไม่มียุทธศาสตร์ หลายฝ่าย ในสังคมไทยเกิดอาการงง ไม่เข้าใจและไม่ยอมรับว่าเป็นไปได้อย่างไรที่ไทยไม่มี ยุทธศาสตร์ จนกระทั่งปลายปีพ.ศ. 2558 เมื่ออดีตเลขาธิการสภาพัฒน์ฯให้สัมภาษณ์ หนังสือพิมพ์ว่ายุทธศาสตร์เป็นเรื่องใหม่ ในการบริหารราชการแผ่นดินนั่น แหล่ะจึงเกิดกระแสยุทธศาสตร์ชาติขึ้นมา
เมื่อยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2561 ผมได้วิจารณ์ว่าไม่ใช่ยุทธศาสตร์ที่ดีซึ่งหลายๆ ชาติใน AEC เขาเคยเขียนและเคยทำจนสำเร็จกันมาแล้ว แต่มันคือแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯของสภาพัฒน์ฉบับนาน 20 ปีนั่นเอง แต่ก็ได้ ยินคำตอบกลับมาว่าให้รอดูแผนแม่บทฯ เสียก่อนเพราะรายละเอียดต่างๆจะอยู่ในนั้น เมื่อรัฐบาล ประกาศแผนแม่บทฯออกมาใน วันที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2562 ผมจึงรีบอ่านอย่างตื่นเต้นและอ่านอย่างละเอียด นี่คือข้อสังเกตบางประการที่ผมได้พบและหวังว่ารัฐบาล ใหม่จะรีบแก้ไขโดยเร่งด่วน
เมื่อยุทธศาสตร์ชาติเขียนเอาไว้กว้าง ไม่โฟกัส ทำให้ทิศทางประเทศในอนาคตไม่ชัด แผนแม่บทฯก็เลยกว้างตามไปด้วย รัฐบาลใหม่ ควรจะเลือกโฟกัสและเรียงลำดับความสำคัญ เพราะทุกประเทศต่างมีทรัพยากรอาทิ เงินทุน บุคคลากร เวลา เทคโนโลยีที่จำกัด แม้ว่า ไทยจะมีจุดอ่อนค่อนข้างมาก นั่นก็เพราะเราบริหารประเทศแบบไร้ยุทธศาสตร์มานานนั่นเอง รัฐบาลใหม่สามารถที่จะเลือกเขียน แผนแม่บทฯใหม่ให้โฟกัสมากยิ่งขึ้นและต้องทำโดยทันทีทำเป็นอย่างแรก
แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20ปี ประเด็นอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต ซึ่งมีอยู่ 5 อุตสาหกรรม คืออุตสาหกรรม ชีวภาพ อุตสาหกรรมและบริการการแพทย์ครบวงจร อุตสาหกรรมและบริการดิจิทัล ข้อมูลและปัญญาประดิษฐ์ อุตสาหกรรมและบริการ ขนส่งและโลจิสติก อุตสาหกรรมความมั่นคงของประเทศ ซึ่งอุตสาหกรรมทั้ง 5 นี้เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ด้านการสร้างความ สามารถในการแข่งขัน
เป้าหมายและตัวชี้วัดของของหลายๆอุตสาหกรรม เขียนไว้แค่กว้าง ๆ เช่นอุตสาหกรรมชีวภาพ มีเป้าหมายให้มีการขยายตัวขึ้น ตัวชี้วัดคืออัตราการขยายตัวของอุตสาหกรรมชีวภาพ โดยมีค่าเป้าหมายขยายตัวร้อยละ 10 ในทุก ๆ 5 ปีของการใช้แผน ขณะที่ อุตสาหกรรมและบริการทางการแพทย์และอุตสาหกรรมและบริการดิจิทัลฯ มีค่าเป้าหมายขยายตัวร้อยละ 5 ในทุก ๆ ช่วง 5 ปี เป้าหมายก็กว้างเกินไป ค่าเป้าหมายก็แสนจะธรรมดาขยายตัวร้อยละ 5 ร้อยละ 10 ไม่ต้องเสียเวลามานั่งเขียนยุทธศาสตร์ชาติและแผนแม่บท ฯ อุตสาหกรรมเหล่านี้ก็คงจะเติบโตร้อยละ 5 ร้อยละ 10 กันได้เองอยู่แล้ว
แผนย่อยอุตสาหกรรมต่อเนื่องจากการพัฒนาระบบคมนาคม ยิ่งน่าตกใจเพราะมีระบุแนวทางจะทำอยู่ 4 ด้านคือผลักดันการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมยานยนต์ทั้งระบบไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้าอัจฉริยะ พลังงานไฮโดรเจน หรือพลังงานทางเลือกอื่น ๆ เขียนแนวทางไว้ กว้างมากแต่ไม่มีเป้าหมายไม่มีตัวชี้วัดไม่มีอะไรเลย เหมือนกับแนวทางการเสริมสร้างความสามารถ ในการแข่งขันของผู้ประกอบ การสายการบินด้านการขนส่งผู้โดยสารและสินค้าและการส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมระบบราง สรุปแล้วแผนแม่บทฯ การพัฒนาระบบคมนาคม 3 ใน 5 ด้านไม่มีเป้าหมาย ไม่มีตัวชี้วัด น่าตกใจไหมครับ
ส่วนเป้าหมายจะเป็นศูนย์กลางการซ่อมบำรุงอากาศยานในภูมิภาคโดยเฉพาะอากาศยานรุ่นใหม่ มีตัวชี้วัดคือส่วนแบ่งการตลาด ของจำนวนอากาศยานที่เข้าซ่อมในภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก มีค่าเป้าหมาย 10 ปีแรก ไทยมีส่วนแบ่งการตลาดร้อยละ 1 ผมพิมพ์ไม่ผิด ท่านอ่านไม่ผิดหรอกครับ ไทยเราตั้งเป้าจะเป็นศูนย์กลาง ฯ ที่มีส่วนแบ่งร้อยละ 1 เมื่อสิ้นสุดยุทธศาสตร์ชาติ 20ปี ไทยเราก็จะกลาย เป็นศูนย์กลางซ่อมบำรุงอากาศยาน ฯ ด้วยส่วนแบ่งการตลาดร้อยละ 4 ครับ ศูนย์กลางอย่างไร?
อุตสาหกรรมความมั่นคงของประเทศยิ่งน่าตกใจเพราะจะวัดกันที่อัตราการขยายตัวของอุตสากรรมนี้ แต่ 5 ปีแรก ตัวชี้วัดยังจัดทำไม่เสร็จครับ ยังมีเรื่องน่าตกใจอีกมากในแผนแม่บท ฯ ยุทธศาสตร์ชาติ 20ปี ที่จะเอามาฝากจะได้แก้ไขกันถูกทาง****
จุดอ่อนแผนแม่บทยุทธศาสตร์ชาติ 20ปี (2)
Amazing AEC สำหรับเดลินิวส์ฉบับวันอาทิตย์ที่ 7 กรกฎาคม 2562
อาทิตย์ที่แล้วผมชี้ให้เห็นว่าในแผนแม่บทยุทธศาสตร์ชาติ 20ปี ประเด็นอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต นั้นมีจุดอ่อนด้านตัวชี้วัด และค่าเป้าหมาย เกือบทุกอุตสาหกรรมในหมวดนี้โดยเฉพาะเป้าหมายที่ไทยจะเป็นศูนย์กลางการซ่อมบำรุงอากาศยานในภูมิภาค ที่ตั้งค่าเป้าหมายคือส่วนแบ่งการตลาดไว้เพียงร้อยละ 1 ในสิบปีแรกและร้อยละ 4 เมื่อสิ้นสุดยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งต่ำจนไม่น่าจะ เรียกว่าเราตั้งเป้าจะเป็นศูนย์กลางการซ่อมบำรุงฯ ได้ อาทิตย์นี้ผมจะมาชี้จุดอ่อนของแผนแม่บทฯ ประเด็นผู้ประกอบการและ วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมยุคใหม่ หรือ SMEs
เป้าหมายใหญ่คือ SMEs มีบทบาทต่อระบบเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น โดยมีตัวชี้วัดคือสัดส่วน GDP ของ SMEs ต่อ GDP ของ ประเทศ ต้องเป็นร้อยละ 45 เมื่อถึงปีพ.ศ. 2565 แล้วเพิ่มขึ้นร้อยละ 5 ทุกๆ 5 ปี เมื่อถึงปีสุดท้ายของยุทธศาสตร์ชาติ 20ปี คือ พ.ศ. 2580 สัดส่วน ดังกล่าวจะเป็นร้อยละ 60 เป้าหมายใหญ่ดูเหมือนจะดี แต่สัดส่วน GDP ของ SMEs ที่ต่ำขนาดนี้แสดงว่าที่ผ่านมายังไม่มีรัฐบาลไหน สามารถช่วยยกระดับความสำคัญของ SMEs ขึ้นมาได้จริงๆเลย พอดูลึกไปถึงแผนย่อยด้านการสร้างความเข้มแข็งผู้ประกอบการอัจฉริยะ ซึ่งมี 5 แนวทาง เช่น พัฒนาทักษะผู้ประกอบการโดยวางรากฐานการศึกษาทั้งในและนอกระบบให้กับเยาวชนรุ่นใหม่ให้ มีทักษะและจิตวิญญาณในการประกอบธุรกิจ และ การสร้างและพัฒนาผู้ประ กอบการในทุกระดับให้มีจิตวิญญาณผู้ประกอบการ ซึ่งเรื่องนี้สิงคโปร์ทำได้ดีมาก ๆ จึงน่าดีใจที่ไทยเราเริ่มให้ความสำคัญ เรื่องนี้บ้าง แต่พอดูเป้าหมายและตัวชี้วัดด้านนี้กลับไม่ได้เขียนเอาไว้เลย เช่นเดียวกับการส่งเสริมการรวมกลุ่มและสร้างเครือข่ายของผู้ประกอบการให้เข้มแข็ง ก็ไม่มีเป้าหมายและตัวชี้วัดเช่นกัน
แผนย่อยการสร้างโอกาสและการเข้าถึงบริการทางการเงิน มี 6 แนวทาง อาทิ หาแหล่งเงินทุนและช่องทางการเข้าถึงแหล่งเงินทุนรูป แบบใหม่ ๆ สร้างแพลตฟอร์มการเข้าถึงบริการทางการเงิน พัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินเพื่อตอบสนองความต้องการที่เหมาะสมกับ กลุ่มผู้สูงอายุ เกษตรกร พัฒนาระบบการประเมินเครดิตโดยใช้ข้อมูลทั้งทางด้านการเงินและ ที่ไม่ใช่ด้านการเงิน ฯลฯ อ่านแล้วดู เหมือนเข้าใจปัญหาการเข้าถึงเงินทุนของ SMEs แต่พอดูลึกลงไปถึงเป้าหมายและตัว ชี้วัด กลับเขียนไว้เสียกว้างและวัดแค่ 2 ตัวชี้วัด คือ อัตราการขยายตัวของสินเชื่อ SMEs และ อัตรามูลค่าการระดมทุนผ่านตลาดทุน ซึ่งตัวชี้วัดแค่สองตัวนี้ไม่สามารถสะท้อนความ สำเร็จของทั้ง 6 แนวทางได้อย่างแน่นอน
แผนย่อยการสร้างโอกาสเข้าถึงตลาด ซึ่งเน้นไปที่การสนับสนุนผู้ประกอบการให้มีอัตลักษณ์และตราสินค้าที่เด่นชัดให้ ความสำคัญ กับการผลิตโดยใช้ตลาดนำโดยเฉพาะตลาดที่มีมูลค่าสูงๆซึ่งเป็นเรื่องที่ดีมาก เพราะหลายประเทศโดยเฉพาะญี่ปุ่นที่สามารถขายของ ได้ราคาแพงๆนั้นก็เพราะสินค้าของเขามีอัตลักษณ์และตราสินค้าที่เด่นชัด แต่ก็เหมือนเดิมคือแผนแม่บท ฯ มีแนวทาง แต่ไม่มีเป้าหมายและตัวชี้วัดด้านการสร้างอัตลักษณ์และตราสินค้า จึงไม่รู้ว่าเรื่องนี้เป็นหน้าที่ของใคร และจะวัดผลเรื่องสำคัญเรื่องนี้อย่างไร?
เรื่องส่งเสริมการขยายช่องทางการตลาดผ่านการใช้สื่อแบบดั้งเดิมและอินเทอร์เน็ต สำหรับ SMEs ทุกระดับรวมถึงเกษตรกรและ วิสาหกิจชุมชนซึ่งเป็นเรื่องที่ดีที่เขียนเอาไว้ แต่ก็เช่นเดิมคือ พอถึงเป้าหมายและตัวชี้วัดกลับดูแค่การขยายตัวของมูลค่าค้าขายบนอินเทอร์เน็ตของ SMEs โดยไม่ได้แบ่งว่าเป็น SMEs ประเภทไหน เกษตรกรหรือวิสาหกิจชุมชน ดังนั้นจึงเป็นไปได้สูงที่การขยายตัวอาจจะประสบความสำเร็จ แต่เกษตรกรและวิสาหกิจชุมชนอาจจะล้มเหลวกับการขายของบนอินเทอร์เน็ต ที่น่าประหลาดใจก็คือ ในประเด็นการสร้างโอกาสเข้าถึงตลาดของ SMEs แผนแม่บทฯกลับไปเลือกเอา ตัวชี้วัดระดับชาติ คืออันดับความสามารถในการ แข่งขันด้านการค้าระหว่างประเทศโดย IMD มาใส่เอาไว้ด้วยดูแล้วชวน ให้สงสัยว่าสามารถเอาดัชนีประเทศมาชี้วัดความสามารถ ของ SMEs ได้ด้วยหรือ?
แผนย่อยการสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจ SMEs ซึ่งมีอยู่ 6 แนวทาง อ่านแล้วดูเหมือนจะดีเพราะเขียนไว้ ครอบคลุม กว้างขวาง ถ้าทำได้จะดีมากโดยเฉพาะการสร้างโอกาสให้ SMEs สามารถเข้าถึงตลาดจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ แต่พอถึงตัวชี้วัดกลับมี ตัวชี้วัดเพียงตัวเดียวคือ อันดับนโยบายของภาครัฐที่มีต่อ SMEs ด้านการสนับสนุนและความสอดคล้องของนโยบาย ซึ่งไม่รู้ว่าเป็น ดัชนีที่ใครจัดทำ ***
จุดอ่อนแผนแม่บทยุทธศาสตร์ชาติ 20ปี (3)
Amazing AEC สำหรับเดลินิวส์ฉบับวันอาทิตย์ที่ 14 กรกฎาคม 2562
ด้านการเกษตรซึ่งในบทสรุปผู้บริหารก็ระบุชัดว่ามีบทบาทสำคัญในการสร้างความมั่นคงด้านอาหารและสร้างรายได้เข้าสู่ประเทศ รวมทั้งเป็นแหล่งจ้างงานสำคัญ การพัฒนาภาคการเกษตรให้มีศักยภาพและขีดความสามารถทางการแข่งขันจะเป็นปัจจัยแห่งความ สำเร็จที่จะช่วยให้การดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติในด้านต่างๆสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ได้ตามเป้าหมาย อ่านแล้วดูเหมือน แผนแม่บทยุทธศาสตร์ชาติกำลังจะมาช่วยยกระดับศักยภาพของภาคการเกษตร
แต่พอดูเป้าหมายและตัวชี้วัดกลับตั้งเป้าอัตราการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศสาขาเกษตรเพียงแค่ 3.8 เปอร์เซ็นต์ ในช่วง 5 ปีแรก ส่วนอีก 3 ช่วงหลังช่วงละ 5 ปีก็ตั้งเป้าขยายตัวแค่ช่วงละ 3 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นการตั้งเป้าและตัวชี้วัดต่ำมากอย่างน่าตกใจ ส่วนเป้าหมายและตัวชี้วัดด้านผลิตภาพการผลิตของภาคการเกษตร หรือ Productivity ตั้งเป้า หมายให้ภาคการเกษตรมี Productivity สูงขึ้นช่วงละ 1.0 ถึง 1.3 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นเอง ต่ำจนนึกไม่ออกว่าถ้าภาคการเกษตรของประเทศไทยมี Productivity สูงขึ้น 1 เปอร์เซ็นต์นิด ๆ แล้ว ภาคการเกษตรของไทยจะอยู่รอดได้อย่างไร?
เมื่อดูลึกลงไปในแผนย่อยด้านการเกษตร เช่นด้านเกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่น สินค้าเกษตรปลอดภัย สินค้าเกษตรชีวภาพ สินค้าเกษตรแปรรูป สินค้าที่มีการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่/อัจฉริยะ มีการตั้งเป้าให้มีอัตราการขยายตัวของมูลค่าของสินค้า เกษตรทั้ง 5 กลุ่มนี้ เพียง 3 เปอร์เซ็นต์ในทุก ช่วง 5 ปีของแผนแม่บทฯ ซึ่งต่ำจนทำให้คิดว่าจากนี้ไปอีก 20 ปี สินค้าเกษตร ทั้ง 5 กลุ่มนี้คงจะเหมือนเดิม ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น
ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคด้านคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร ซึ่งผมไม่รู้และไม่เคยได้ยินว่าใครจัดทำ ลองหาดูก็ ไม่เจอ ในช่วงแรกของแผนแม่บทฯปีพ.ศ. 2561 ถึง 2565 ค่าเป้าหมายจึงระบุได้แค่ว่า “อยู่ระหว่างการตรวจสอบ / จัดทำ ค่าเป้าหมาย” การมีแผนแม่บทฯแล้วแต่ดัชนีชี้วัดยังจัดทำไม่เสร็จหมายความว่าอย่างไร?
ถ้าแผนแม่บทยุทธศาสตร์ชาติ 20ปี ด้านการเกษตรเขียนแนวทางอย่างกว้างๆและตั้งเป้าหมายไว้ต่ำขนาดนี้ ก็คาดการณ์ได้ว่า เมื่อครบ 20 ปีของยุทธศาสตร์ชาติ ภาคการเกษตรของไทยก็คงจะไม่ไปไหน และมีแนวโน้มสูงที่จะล้าหลังภาคการ เกษตรประเทศอื่นๆ เกษตรกร ไทยก็คงจะต้องยากจนกันต่อไป
รัฐบาลใหม่น่าจะกำหนดให้มีทีมพิเศษลองไปศึกษาเรื่อง OKRs ซึ่งย่อมาจากคำว่า Objective and Key Results วัตถุประสงค์และผลลัพธ์ที่สำคัญ ซึ่งบริษัทระดับโลก เช่น อินเทล กูเกิ้ล ยูทูปและอีกนับไม่ถ้วนเอามาใช้จนสามารถทำให้บริษัทเติบโตได้อย่าง มหัศจรรย์ กลายเป็นบริษัทระดับโลกได้ภายในระยะเวลาอันสั้น เพื่อเอามาปรับปรุงแผนแผนแม่บทยุทธศาสตร์ชาติให้มีเป้าหมาย ที่ชัดและวัดผลได้จริง ที่สำคัญจะได้ช่วยยกระดับประเทศให้ก้าวหน้าได้อย่างก้าวกระโดด อย่างที่ประชาชนคาดหวัง
การตั้งเป้าหมายดีขึ้น 1 – 3 เปอร์เซ็นต์ จะไม่สามารถสร้างแรงบันดาลใจ แรงฮึดและโฟกัสให้ภาครัฐและภาคเอกชนร่วมใจกันพัฒนาประเทศได้ นักบริหารระดับโลกเขามียุทธศาสตร์ว่าเวลาตั้งเป้าหมายให้ตั้งสูงไว้ก่อน Shoot For The Moon “ให้เล็งไปที่ ดวงจันทร์ ถึงแม้จะพลาดก็ยังมีโอกาสไปถึงดวงดาว” ถ้าตั้งเป้าหมายไว้ต่ำแม้จะไปถึงเป้าแต่ก็จะไม่ได้ไปไหน
ตัวอย่างของการตั้งเป้าแบบสูง ๆ แบบให้เล็งไปที่ดวงจันทร์แล้วทั้งชาติทุ่มเทช่วยกันจนสำเร็จนั้นเกิดขึ้นในปีพ.ศ. 2504 เมื่อ ประธานาธิบดี จอห์น เอฟ เคนเนดี้ ประกาศตั้งเป้าจะส่งคนไปเหยียบดวงจันทร์เป็นชาติแรกในโลกให้ได้ภายใน 10 ปี ทั้ง ๆ ที่ในขณะ นั้นเทคโนโลยีด้านอวกาศของสหรัฐยังแพ้สหภาพโซเวียตที่เพิ่งส่งยานวอสสต็อก 1 พร้อมนักบินอวกาศไปโคจรรอบโลกสำเร็จเป็นชาติแรก เมื่อตั้งเป้าไว้สูง ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจึงต้องทุ่มเททรัพยากรแบบมีโฟกัสจนสำเร็จ ในที่สุดสหรัฐก็สามารถส่งยาน อพอลโล 11 พร้อม “นีล อาร์มสตรอง”ไปเหยียบดวงจันทร์ได้สำเร็จเป็นชาติแรกของโลก ในปีพ.ศ. 2512 ตามเป้าหมาย ***
จุดอ่อนแผนแม่บทยุทธศาสตร์ชาติ 20ปี (4)
Amazing AEC สำหรับเดลินิวส์ฉบับวันอาทิตย์ที่ 21 กรกฎาคม 2562
แผนแม่บทยุทธศาสตร์ชาติ 20ปีประเด็นการท่องเที่ยวนั้น เขียนไว้ว่าในอนาคตอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจะมีการแข่งขันที่รุนแรงมาก ยิ่งขึ้นเนื่องจากหลายประเทศจะใช้การท่องเที่ยวในการสร้างรายได้ให้กับประเทศ ดังนั้นไทยจึงต้องพัฒนายกระดับขีดความสามารถ ในการแข่งขันและสร้างความหลากหลายของแหล่งท่องเที่ยวให้สอดคล้องกับความต้องการของนักท่องเที่ยว โดยมีการตั้งเป้าหมาย ว่าเมื่อถึงปีพ.ศ. 2580 สัดส่วน GDP การท่องเที่ยวต่อ GDP ประเทศต้องเพิ่มขึ้น 30 เปอร์เซ็นต์ อัตราส่วนรายได้จากการท่องเที่ยวเมือง หลักและเมืองรอง เป็น 60 : 40 และอันดับความสามารถทางการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวของไทย โดย Travel & Tourism Competitiveness Index (TTCI) ต้องอยู่ 1 ใน 24 อันดับแรกของโลก
TTCI จัดอันดับความสามารถทางการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวของไทยไว้ที่ 34 จากทั้งหมด 136 ประเทศที่มีการจัดอันดับกัน ประเทศที่มีความสามารถดีที่สุดในโลกสามอันดับแรกคือ สเปน ฝรั่งเศส และสหรัฐตามลำดับ โดยมีญี่ปุ่นได้อันดับ ที่ 4 ทำได้ดี ที่สุดจากเอเชีย ส่วนประเทศในอาเซียนที่เก่งกว่าไทยคือ สิงคโปร์อันดับที่ 13 และมาเลเซียอันดับที่ 26 ขณะที่ ประเทศเพื่อนบ้าน แม้จะเก่งวันเก่งคืน แต่อันดับความสามารถก็ยังตามหลังไทยค่อนข้างห่าง เวียดนามได้อันดับที่ 67 สปป.ลาวอันดับที่ 94 และ กัมพูชาอันดับที่ 101
การจัดอันดับของ TTCI นั้นไม่ได้จัดลำดับความเก่งจากจำนวนนักท่องเที่ยวและรายได้จากการท่องเที่ยวซึ่งไทยเราทำได้ดี ติดอันดับ ต้นๆของโลก โดยเฉพาะด้านรายได้ แต่จัดจากความสามารถทั้งสิ้น 12 ด้าน ด้านที่ไทยเราทำได้ดี 5 อันดับแรก โดยตัวเลขในวงเล็บ คือลำดับความสามารถล่าสุดซึ่งจัดเมื่อพ.ศ. 2560 เมื่อเปรียบเทียบกับ 136 ประเทศ คือ ทรัพยากร ธรรมชาติ (7) โครงสร้างพื้นฐาน เพื่อการท่องเที่ยว (16) ความสามารถในการแข่งขันด้านราคา (18) โครงสร้างพื้นฐานการ เดินทางทางอากาศ (20) ความพร้อมด้าน วัฒนธรรมเพื่อการท่องเที่ยว (37)
ส่วนด้านที่เราทำได้แย่มาก 3 อันดับสุดท้ายคือ สุขภาพและสุขอนามัย (90) ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน (118) และความ ยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม (122) ปัญหาทั้งสามด้านนี้คนไทยคงรู้ดีว่าไม่ใช่ปัญหาเฉพาะนักท่องเที่ยวเท่านั้นแต่ยัง เป็นปัญหาใหญ่และ เรื้อรังของคนไทยเช่นกัน ดังนั้นถ้าจะทำให้ไทยมีอันดับความสามารถทางการท่องเที่ยวดีขึ้นนั้นจะ ต้องแก้ปัญหาเหล่านี้ให้ได้ ซึ่งเป็นเรื่องไม่ง่ายเลย การตั้งเป้าโดยมีตัวชี้วัด ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินจากอันดับที่ 118 ในปัจจุบันให้ดีขึ้นไปติด 55 อันดับแรก และความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมจากอันดับที่ 122 ให้ดีขึ้นไปติด 80 อันดับแรก เป็นการตั้งเป้าที่ท้าทาย เป็นเรื่องดีมาก ซึ่งจะต้องทำให้ได้ แต่ความสามารถด้านสุขภาพและสุขอนามัยของนักท่องเที่ยวซึ่ง ปัจจุบันได้อันดับที่ 90 คนเขียนแผนแม่บทคง ไม่คิดว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาที่ต้องแก้ไข จึงไม่มีเป้าหมายและตัวชี้วัดที่จะพัฒนาและปรับปรุงปัญหานี้ให้ดีขึ้น น่าเป็นห่วง
เมื่อเจาะลึกแผนย่อยการท่องเที่ยวซึ่งมี 6 ด้านคือการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เชิงธุรกิจ เชิงสุขภาพ ทางน้ำ การท่องเที่ยว เชื่อมโยงภูมิ ภาคและการพัฒนาระบบนิเวศการท่องเที่ยวนั้น เป้าหมายและตัวชี้วัดของ 5 เรื่องแรกเน้นไปที่การขยายตัวของรายได้เป็นหลัก ทำให้ เห็นภาพชัดเจนว่าคนเขียนแผนแม่บทนั้นให้ความสนใจเรื่องรายได้จากการท่องเที่ยวเพียงเรื่องเดียว ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง พราะ การส่งเสริมการท่องเที่ยวที่เน้นแต่รายได้ ก็ย่อมจะส่งผลกระทบต่อความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมและการท่องเที่ยวอย่างแน่นอน
ส่วนแผนย่อยการท่องเที่ยวเชื่อมโยงภูมิภาค ซึ่งเขียนไว้ดีมากว่ามีแนวทางที่จะพัฒนาเส้นทางการท่องเที่ยวที่เชื่อมโยงระหว่าง ประเทศในภูมิภาค โดยใช้ประโยชน์จากโครงข่ายคมนาคมที่มีอยู่แล้วและกำลังจะเกิดขึ้นใหม่ ส่งเสริมและบูรณาการความร่วมมือ ภายใต้กรอบความร่วมมือในระดับอนุภูมิภาคและอาเซียน พัฒนาและยกระดับพิธีการผ่านแดนของการเดินทางในทุกรูปแบบอย่าง ไร้รอยต่อส่งเสริมการตลาดร่วมกันกับอาเซียน แต่กลับมีเป้าหมายเพียงเป้าหมายเดียวคือไทยเป็นจุดเชื่อมต่อการเดินทางของนัก ท่องเที่ยวในอาเซียน ตัวชี้วัดก็มีเพียงตัวเดียวคืออัตราการขยายของจำนวนนักท่องเที่ยว ชาวต่างชาติที่เดินทางผ่านแดนระหว่างไทย กับอาเซียน แผนแม่บทฯจึงชี้ชัดว่าเราอยากจะเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวของอาเซียนเพียงอย่างเดียว ส่วนการร่วมมือกับอาเซียนใน มิติต่างๆที่เขียนไว้อย่างดีกลับไม่มีเป้าหมายและตัวชี้วัด ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้สูงมากที่ไทยเราจะเน้นการท่องเที่ยวเฉพาะของ บ้านเราประเทศเดียวเหมือนเดิม ***
จุดอ่อนแผนแม่บทยุทธศาสตร์ชาติ 20ปี (5)
Amazing AEC สำหรับเดลินิวส์ฉบับวันอาทิตย์ที่ 28 กรกฎาคม 2562
ผมเขียนถึงจุดอ่อนแผนแม่บทยุทธศาสตร์ชาติ 20ปี มา 4 ตอนแล้ว แต่ก็ยังมีอีกมากมายหลายจุดที่ต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน แต่ถ้าเขียนทั้ง หมดก็เกรงว่าจะยาวเกินไปเพราะมีจุดอ่อนเยอะมากเหลือเกิน เลยจะขอสรุปให้จบภายในอาทิตย์นี้และอาทิตย์หน้าเท่านั้น โดยจะขอยกเอาจุดอ่อนที่เห็นได้อย่างชัดเจน
เริ่มกันที่แผนแม่บทฯ การปรับเปลี่ยนค่านิยมและวัฒนธรรม ซึ่งมีเป้าหมายให้คนไทยมีคุณธรรม จริยธรรม ค่านิยมที่ดีงาม ฯลฯ มีตัวชี้วัดคือ “ดัชนีคุณธรรม 5 ประการ” ประกอบด้วยความซื่อสัตย์สุจริต การมีจิตสาธารณะ การเป็นอยู่อย่างพอเพียง การกระทำ อย่างรับผิดชอบ ความเป็นธรรมทางสังคม ต้องเพิ่มขึ้น 10 – 20 เปอร์เซ็นต์ในแต่ละช่วง 5 ปี คำถามสำคัญก็คือ ดัชนีคุณธรรม 5 ประการที่จะใช้เป็นตัวชี้วัดนั้นจัดทำเสร็จหรือยัง? เพราะเท่าที่ติดตามผมพบว่าจนถึงเดือนมีนาคมปีนี้ ดัชนีคุณธรรม 5 ประการก็ยังจัดทำไม่เสร็จ
ส่วนการปรับเปลี่ยนค่านิยมและวัฒนธรรมซึ่งมีเป้าหมายคือคนไทยเป็นมนุษย์ที่มีความพร้อมทุกมิติตามมาตรฐานและสมดุลทั้งด้านสติปัญญา คุณธรรมจริยธรรม มีจิตวิญญาณที่ดี เข้าใจในการปฏิบัติตนปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมดีขึ้น อ่านแล้วน่าสนใจเพราะกว้างขวางครอบคลุมดี แต่กลับมีตัวชี้วัดเพียงตัวเดียวคือ “ประชากรอายุ 13 ปีขึ้นไปมีกิจกรรมการปฏิบัติตนที่สะท้อนการมีคุณธรรม จริยธรรม” เพิ่มขึ้น 5 เปอร์เซ็นต์ทุก ๆ 5 ปีนั้น กิจกรรมการปฏิบัติตนฯ ที่ว่าจะวัดกันอย่างไร? ใครเป็นผู้วัด? และตัวชี้วัดตัวนี้ครอบคลุมดีและเพียงพอที่จะบอกได้ว่าเป้าหมายดังกล่าวบรรลุได้จริงหรือไม่?
แผนการส่งเสริมศักยภาพผู้สูงอายุ ให้เป็นพลังในการขับเคลื่อนประเทศ ส่งเสริมให้มีงานทำหลังเกษียณ สร้างเสริมสุขภาพ ฟื้นฟูสุขภาพ การป้องกันโรคให้ผู้สูงอายุ พร้อมจัดสภาพแวดล้อมให้เป็นมิตรับผู้สูงอายุและหลักประกันทางสังคมที่สอดคล้องกับความจำเป็นพื้นฐานในการดำรงชีวิต เขียนไว้กว้างขวางครอบคลุมเหมาะสมกับการเป็นสังคมผู้สูงอายุของไทยเรา ซึ่งจะเป็นปัญหาใหญ่ ที่รอการแก้ไขในอนาคต แต่กลับเขียนตัวชี้วัดไว้เพียงตัวเดียวคือ “เปอร์เซ็นต์ของผู้สูงอายุที่มีงานทำ และรายได้เหมาะสม” ซึ่งลำพัง การมีงานทำของคนสูงอายุนั้นจะไม่สามารถวัดเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้อย่างแน่นอน
แผนแม่บทยุทธศาสตร์ 20ปี ด้านศักยภาพการกีฬาซึ่งเขียนเอาไว้ว่าให้ความสำคัญกับการกีฬาและนันทนาการบนฐานของวิทยาศาสตร์ เพื่อเป็น เครื่องมือในการเสริมสร้างการพัฒนา สร้างสุขภาวะ พัฒนาจิตใจ สร้างความสามัคคีของคนในชาติ หล่อหลอมการ เป็นพลเมืองดี พัฒนาคุณภาพชีวิต ฯลฯ เขียนไว้อย่างดีอีกเช่นเคยแต่กลับมีตัวชี้วัดหลักเพียงตัวเดียวคือ “อายุเฉลี่ยของการ มีสุขภาพดี” เพิ่มขึ้นอย่าง ต่อเนื่องจากไม่น้อยกว่า 68 ปีในช่วงพ.ศ. 2561-65 แล้วค่อยๆเพิ่มไปถึงไม่น้อยกว่า 75 ปีเมื่อถึงปี พ.ศ. 2580 ทั้งที่ควรจะมีตัวชี้วัดที่ หลากหลายครบถ้วนกว่านี้
แผนแม่บทยุทธศาสตร์ 20ปี ด้านความเสมอภาคและหลักประกันทางสังคม ซึ่งเขียนไว้อย่างดีว่าการพัฒนาประเทศในระยะ 20 ปีข้างหน้า จำเป็น ต้องให้ความสำคัญกับการสร้างความเป็นธรรมและหลักประกันทางสังคมที่เป็นธรรมอย่างบูรณาการและเป็นระบบ ซึ่งมีการพูดถึง การปฏิรูปภาษีและการคุ้มครองผู้บริโภค แต่การปฏิรูปภาษีนั้นกลับไม่มีเป้าหมายและไม่มีตัวชี้วัด เช่นเดียวกับการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งเขียนไว้อย่างดีว่าจะพัฒนาระบบและกลไกการคุ้มครองผู้บริโภคให้มีประสิทธิภาพและสนับสนุนองค์กรของผู้บริโภคให้มีความเข้มแข็ง ป้องกันการละเมิดสิทธิผู้บริโภค ฯลฯ แต่ก็ไม่มีเป้าหมายและตัวชี้วัดใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภคเลย
แผนแม่บทยุทธศาสตร์ 20ปี ด้านการเติบโตอย่างยั่งยืนซึ่งมี 5 แผนย่อยที่เขียนไว้ครอบคลุมดีและมีตัวชี้วัดระดับสากลใช้ได้ แต่ในเรื่องการยกระดับ กระบวนทัศน์เพื่อกำหนดอนาคตประเทศ ที่มีเป้าหมายว่าคนไทยมีคุณลักษณะและพฤติกรรมที่พึงประสงค์ด้านสิ่งแวดล้อมและ คุณภาพชีวิตที่ดี โดยมีตัวชี้วัดคือ “ดัชนีตระหนักรู้ด้านสิ่งแวดล้อม” ซึ่งตั้งเป้าไว้ว่า 20 เปอร์เซ็นต์ใน ทุกๆช่วง 5 ปี ซึ่งเขียนไว้ลอย ๆ จึงไม่รู้ว่าเป็น 20 เปอร์เซ็นต์ของอะไร? ที่น่าตกใจกว่านั้นก็คือดัชนีตระหนักรู้ด้านสิ่ง แวดล้อมนั้นยังจัดทำไม่เสร็จหรือยังไม่มีนั่นเอง ***
แผนปฏิรูปประเทศ ฉบับภาษาวิบัติ
“มองมุมเกษมสันต์” สำหรับเดลินิวส์ฉบับวันอาทิตย์ที่ 14 มีนาคม 2564
เมื่อเจ็ดแปดปีที่แล้ว ผมเริ่มเตือนประเทศไทยด้วยการเขียนบทความและบรรยายตามที่ต่างๆว่าประเทศไทยไม่มียุทธศาสตร์ ซึ่งเป็นต้นเหตุของการที่ประเทศไทยพัฒนาได้ช้ากว่าประเทศอื่นๆ
อีกสามปีต่อมาจึงมีผู้บริหารสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมออกมายอมรับว่ายุทธศาสตร์เป็นเรื่องใหม่ในการบริหารประเทศ หลังจากนั้นไทยเราก็มีกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ และสุดท้ายเราก็ได้ “ยุทธศาสตร์ชาติ 20ปี” ในเดือนตุลาคม 2561 ซึ่งผมวิจารณ์ว่ามันยังไม่ใช่การเขียนยุทธศาสตร์ที่ถูกต้องอยู่ดี เราไม่สามารถเรียกมันได้ว่าเป็นยุทธศาสตร์ ผู้เกี่ยวข้องหลายคนก็ออกมาชี้แจงว่าขอให้รอดูแผนแม่บทยุทธศาสตร์ชาติ เสียก่อนค่อยวิจารณ์
เมื่อแผนแม่บทยุทธศาสตร์ชาติ ประกาศออกมาในเดือนเมษายน 2562 ผมก็รีบอ่านอย่างละเอียดและเขียนบทความวิจารณ์อย่างหนักต่ออีกว่าเป็นแผนแม่บทที่เลอะเทอะมาก ใครสนใจอ่านบทความวิจารณ์ยุทธศาสตร์และแผนแม่บทของผมย้อนหลัง ลองไปหาอ่านย้อนหลังได้ที่ www.kasemsantaec.com
ก่อนหน้านั้นได้มีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องแผนปฏิรูปประเทศในเดือนเมษายน 2561 ดังนั้นเมื่อมียุทธศาสตร์ชาติและแผนแม่บทออกมา สำนักงานสภาพัฒนฯ ในฐานะสำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศจึงได้เสนอร่างแผนการปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง) ให้คณะรัฐมนตรีซึ่งก็ได้พิจารณาให้ความเห็นชอบเรียบร้อยแล้วในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เมื่อมีการเผยแพร่ผมก็รีบอ่านอย่างละเอียดเช่นเดิม โดยมีความหวังว่าแผนปฏิรูป (ฉบับปรับปรุง) นี้จะแก้ไขและปิดจุดอ่อนยุทธศาสตร์ชาติและแผนแม่บทได้
แผนปฏิรูป (ฉบับปรับปรุง) นี้ มีแผนปฏิรูปประเทศทั้งหมด 13 ด้านคือ 1 การเมือง 2 การบริหารราชการแผ่นดิน 3 กฎหมาย 4 กระบวนการยุติธรรม 5 เศรษฐกิจ 6 ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 7 สาธารณสุข 8 สื่อสารมวลชน เทคโนโลยีสารสนเทศ 9 สังคม 10 พลังงาน 11 การป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ 12 การศึกษา และ 13 วัฒนธรรม กีฬา แรงงานและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์
เมื่อเริ่มอ่าน ผมรู้สึกได้ทันทีว่าคงไม่มีรัฐมนตรีคนไหนได้อ่านแผนปฏิรูป และผู้บริหารสภาพัฒน์ฯก็ไม่น่าจะได้อ่าน เพราะพอเริ่มอ่านก็รู้สึกได้ทันทีว่ามีการใช้ภาษาอังกฤษอย่างฟุ่มเฟือยเกินความจำเป็นจนน่ากังวลใจ แถมในแต่ละแผนปฏิรูปการใช้ภาษาอังกฤษก็ไม่ค่อยจะสอดคล้องกัน ทำให้เข้าใจไปว่าผู้ใหญ่คงจะไม่ได้อ่านและก็คงไม่มีบรรณาธิการใหญ่อ่านแผนปฏิรูปนี้เพื่อตรวจสอบและปรับปรุงให้ทั้ง 13 แผนมีความสอดคล้องกันทั้งวิธีการเขียนและการใช้ภาษาอังกฤษ
เมื่ออ่านบทนำของแผนฯ ก็เจอการเขียนว่า “….กิจกรรมปฏิรูปประเทศที่จะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยน แปลงต่อประชาชนอย่างมีนัยสำคัญ (Big Rock)….” แบบนี้ถึง 4 ครั้ง ซึ่ง “กิจกรรมปฏิรูปประเทศที่จะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อประชาชนอย่างมีนัยสำคัญ” ก็มีความหมายชัดเจนในตัวอยู่แล้ว ไม่มีความจำเป็นอะไรที่จะต้องมาวงเล็บภาษาอังกฤษต่อท้ายอีก
ผมจึงเริ่มนับคำภาษาอังกฤษที่ใช้ในแผนปฏิรูปและพบว่าในแผนทั้งหมดที่มีความยาวรวม 354 หน้านั้น มีการใช้ภาษาอังกฤษมากถึง 1,203 คำ ทั้งเขียนไว้ในวงเล็บและใช้แทนภาษาไทยไปเลย ซึ่งมากกว่า 70 เปอร์เซ็นต์นั้นเป็นการใช้ที่ไม่มีความจำเป็นและไม่ถูกต้อง
ผมคิดว่าการเขียนเอกสารราชการที่สำคัญเช่นแผนการปฏิรูปประเทศและเป็นประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีนั้น สมควรที่จะเขียนโดยใช้ภาษาไทยเป็นหลัก จะใช้ภาษาอังกฤษมาเสริมก็ต่อเมื่อไม่มีคำภาษาไทยที่เหมาะสมหรือเกรงว่าความหมายในภาษาไทยคำนั้นอาจจะคลุมเครือ หรือเป็นศัพท์ทางเทคนิคในภาษาต่างประเทศที่ยังไม่มีการบัญญัติเป็นภาษาไทยเท่านั้น
ที่น่าจะต้องแก้ไขอย่างมากในแผนฯนี้ก็คือการเอาภาษาอังกฤษมาต่อท้ายคำภาษาไทยที่เราใช้กันบ่อยจนมีความเข้าใจตรงกันชัดเจนอยู่แล้ว อาทิ วาระแห่งชาติ (National Agenda) เนื้อหา (Content) ความไม่แน่นอน (Uncertainty) ความเคารพ (Respect) มิตรภาพ (Friendship) หรือ แอพพลิเคชั่น (Application) เป็นต้น คำประเภทนี้ภาษาไทยมีความชัดเจนในตัวเอง คนไทยใช้กันบ่อย อ่านแล้วก็เข้าใจตรงกัน ทำไมจะต้องเอาภาษาอังกฤษมาใส่วงเล็บต่อท้ายไว้ในเอกสารราชการอีก แม้แต่คำว่า เชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ ในแผนฯ นี้ก็ยังอุตส่าห์มีวงเล็บภาษาอังกฤษว่า ( COVID-19) ต่อท้ายอีกไม่รู้กลัวใครจะไม่เข้าใจ
วันอาทิตย์ (Sunday) หน้าผมจะมาเขียน (Write) ต่อถึงการใช้ภาษาอังกฤษ (English) ในแผนปฏิรูปฯซึ่งผมเป็นห่วง (Worry) มากๆ (Very Much) แต่ก็มีเรื่องสนุก (Fun) และเรื่องเศร้า (Sad) เคล้าน้ำตา (Tears) มาให้อ่านด้วยนะครับ ***
แผนปฏิรูปประเทศ ฉบับภาษาวิบัติ (2)
“มองมุมเกษมสันต์” สำหรับเดลินิวส์ฉบับวันอาทิตย์ที่ 21 มีนาคม 2564
อาทิตย์ที่แล้วผมเริ่มต้นเอาไว้ว่าแผนการปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง) ที่ประกาศออกมาในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มีการใช้ภาษาอังกฤษมากถึง 1,203 คำ ทั้งเขียนไว้ในวงเล็บและใช้แทนภาษาไทยไปเลย ซึ่งมากกว่า 70 เปอร์เซ็นต์นั้นเป็นการใช้ที่ไม่มีความจำเป็นและไม่ถูกต้อง และที่น่าจะต้องแก้ไขอย่างมากก็คือการเอาภาษาอังกฤษมาต่อท้ายคำภาษาไทยที่ใช้กันบ่อยจนมีความเข้าใจตรงกันชัดเจนอยู่แล้ว อาทิ วาระแห่งชาติ (National Agenda) เนื้อหา (Content) มิตรภาพ (Friendship) หรือ แอพพลิเคชั่น (Application) เป็นต้น แม้แต่คำว่า เชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ ในแผนฯ นี้ก็ยังอุตส่าห์มีวงเล็บภาษาอังกฤษว่า ( COVID-19) ต่อท้ายอีก
เรื่องที่สองที่ต้องปรับปรุงก็คือการใช้ภาษาอังกฤษแทนภาษาไทยและเขียนผสมกันไปเลยระหว่างภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ทั้งๆที่แผนฯนี้เป็นประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นเอกสารสำคัญทางราชการ ตัวอย่างเช่น ในแผนปฏิรูปฯ ด้านการบริหารราชการแผ่นดิน มีการเขียนว่า “…ระบบบริหารราชการของหน่วยงานที่ขับเคลื่อน Agenda นั้น ทั้งหน่วยงานส่วนกลาง…” หรือ “…กำหนดให้อำเภอและท้องถิ่นในจังหวัดที่มีผลสัมฤทธิ์สูงนำระบบ e-Service ไปทดลองให้บริการแก่ประชาชน…”
แผนปฏิรูปฯ ด้านการสาธารณสุข มีการเขียนว่า “…คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข finalize ข้อเสนอ แล้วนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี…” “…ต่อยอด ผลิต จัดหา stockpile จำหน่าย การตลาด …” หรือ “กำหนด priority” ขณะที่แผนปฏิรูปฯด้านสื่อสาร มวลชนฯ มีการเขียนว่า “…โดยอาจเริ่มดำเนินการพิจารณาค่าใช้จ่ายบริการอินเทอร์เน็ตหรือ Digital Media ให้มีราคาถูกลง และการให้บริการอินเทอร์เน็ต Wifi ฟรีแก่ประชาชน ……. และในลักษณะ Social Media” ส่วนแผนปฏิรูปฯ ด้านพลังงาน ซึ่งใช้ภาษาอังกฤษมากที่สุดถึง 434 คำ ก็มีการเขียนว่า “…โดยควรจัดทำ Roadmap การบริหารจัดการแหล่งต่างๆที่จะหมดอายุสัมปทานให้ชัดเจน …” ในแผนปฏิรูปฯด้านการศึกษา มีการเขียนว่า “…เพื่อผู้จบการศึกษามีความพร้อมในการทำงาน “Ready to Work” ที่มีสภาวะพลวัต …”
จะเห็นได้ว่าคำภาษาอังกฤษที่ใช้กันในตัวอย่างข้างต้นนี้ สามารถใช้คำภาษาไทยทดแทนได้อย่างง่ายดาย ไม่มีความจำเป็นแต่อย่างใดที่จะต้องเขียนแผนปฏิรูปฯแบบไทยสามคำอังกฤษคำ อย่างที่ได้ยกตัวอย่างมาให้อ่านกัน
เรื่องความสับสนในการเขียนทับศัพท์ภาษาไทยเป็นภาษาอังกฤษก็มีให้เห็น เป็นที่น่าสงสัย เช่นคำว่า “ตำบล” ซึ่งในแผนปฏิรูปฯด้านสังคมคำว่าตำบล มีวงเล็บท้ายภาษาไทยว่า (Tambon) ขณะที่แผนปฏิรูปฯด้านวัฒนธรรม กีฬาฯ เขียนว่า “… โครงการ ๑ ตำบล ๑ ชนิดกีฬา ( One Tambol One Sport: OTOS)…” สะกดด้วยตัว เอ็นและตัวแอล กันสนุกสนาน หรือพอจะเขียนทับศัพท์ภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทยก็เขียนทับศัพท์กันแบบสับสน โดยเฉพาะคำว่า Digital ที่มีการเขียนทับศัพท์เป็นภาษาไทยทั้ง “ดิจิทัล” และ “ดิจิตอล” แต่ที่ผม “เซอร์ไพรส์” ที่สุดก็คือแม้แต่แผนปฏิรูปด้านวัฒนธรรมฯ ซึ่งควรจะใช้ภาษาให้ถูกต้องที่สุด ก็ยังมีการเขียนทับศัพท์เช่น “…๔) พัฒนามาตรฐานสินค้าและบริการวัฒนธรรมที่เป็นแบรนด์ของชาติหรือตราสินค้า (Logo) กลางของประเทศไทย…” อ่านแล้วทั้งเสียใจและสับสน
ในเอกสารราชการนั้น สิ่งที่ผมชอบก็คือการใช้เลขไทย แต่ในแผนปฏิรูปฯฉบับนี้ มีการใช้เลขไทยไปผสมกับภาษาอังกฤษจนผมไม่สบายใจ เช่น “…การขับเคลื่อนนโยบาย “Thailand ๔.๐”…” “สนับสนุนให้ใช้ยุทธศาสตร์ G๒G (Government to Government) กับประเทศ…” และ “…ใช้จัดทำร่างแผน PDP ๒๐๒๒ โดยผ่านการรับฟังความเห็น…” ในแผนปฏิรูปฯ ด้านพลังงาน ซึ่งคำเหล่านี้สามารถเขียนเป็น “ไทยแลนด์ ๔.๐” “G2G” และ “PDP2022” ซึ่งน่าจะเหมาะสมกว่า
การไม่ตรวจคำที่พิมพ์ผิดก็เป็นอีกเรื่องที่ผมคิดว่าคงไม่มีการทำกันอย่างจริงจัง เพราะยังพบคำที่พิมพ์ผิด แม้จะไม่มากแต่ก็ไม่สมควรจะมีคำพิมพ์ผิดแม้แต่คำเดียวเพราะเป็นเอกสารราชการสำคัญของประเทศ เป็นแผนปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง)
นอกจากนี้ คำที่พิมพ์ผิดหากเป็นคำที่สะกดผิดนั้น ความหมายก็คงจะเปลี่ยนไปไม่มาก แต่หากเป็นการพิมพ์ผิดเช่นในแผนปฏิรูปด้านวัฒนธรรม กีฬา แรงงานและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ที่ตอนอ้างอิงความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ยังตั้งเป้าพัฒนาคนไทยให้พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 (ปีค.ศ. 2001-2100) แต่พอเขียนเป็นแผนปฏิรูปฯ เริ่มตั้งแต่บทนำก็เขียนเลยว่า “…มีสมรรถนะสอดรับกับบริบทการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ ๒๒…” ในกิจกรรมปฏิรูปที่ 5 การบริหารจัดการศักยภาพบุคลากรของประเทศ ก็ยังระบุว่า “…เด็กวัยเรียนได้รับการพัฒนาทักษะสำหรับการเตรียมพร้อมสู่ศตวรรษที่ ๒๒ …” และ “…การศึกษาเพื่อพัฒนาสู่การมีทักษะสำหรับศตวรรษที่ ๒๒…” ความหมายผิดเป็นร้อยปี
ตีความได้สองแบบคือ คนที่ทำแผนปฏิรูปด้านวัฒนธรรมฯ เป็นคนมองการณ์ไกลมาก มองไกลกว่ายุทธศาสตร์ชาติไปอีกเป็นร้อยปี หรือเป็นคนสะเพร่า พิมพ์ผิดจากศตวรรษที่ 21 กลายเป็นศตวรรษที่ 22 แล้วไม่ตรวจสอบให้เรียบร้อย ซึ่งใครจะตีความให้เป็นแบบไหนก็ตามใจครับ
นี่ขนาดยังไม่ได้เขียนถึงเป้าหมายและตัวชี้วัดของแผนฯ ผมยังรู้สึก (Feel) เศร้าใจ (Sad) ที่เราทำแผนปฏิรูปประเทศกันสะเพร่าขนาดนี้ หรือตอนทำคงไม่คิดว่าจะมีคนอ่านแบบละเอียดยิบอย่างผม สงสัยจะรู้จักคนอย่างผมน้อยไป You know me little go !!! ***
ต้องปฏิรูปคนเขียนแผนปฏิรูป
“มองมุมเกษมสันต์” สำหรับเดลินิวส์ฉบับวันอาทิตย์ที่ 28 มีนาคม 2564
สองอาทิตย์ที่ผ่านมาผมได้เขียนบอกว่าในแผนปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง) ที่พึ่งประกาศออกมาปลายเดือนที่แล้วมีการใช้ภาษา ไทยปนภาษาอังกฤษมากเกินไปจนผมเรียกว่าเป็น แผนปฏิรูปประเทศ ฉบับภาษาวิบัติ ถ้ายังไม่ได้อ่าน อยากให้ลองไปหาอ่านย้อน หลังดูได้ที่ www.kasemsantaec.com ซึ่งมีบทความที่ผมเคยวิพากษ์ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีและแผนแม่บทยุทธศาสตร์ชาติให้อ่านด้วย
นอกจากภาษาวิบัติแล้ว ในแผนปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง) นี้การตั้งเป้าหมายและตัวชี้วัด ยังเป็นจุดอ่อนที่สำคัญเช่นเดียวกับการเขียนแผนพัฒนาเศรษฐกิจสังคมแห่งชาติ ยุทธศาสตร์ชาติและแผนแม่บทยุทธศาสตร์ชาติ ที่ผ่านมา เพราะทั้งเป้าหมายและตัวชี้วัดยังเขียนให้ ลอยๆกว้างๆ ที่สำคัญเป้าหมายกับตัวชี้วัดไม่สัมพันธ์กัน
ตัวอย่างเช่นในแผนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง กิจกรรมปฏิรูปที่ 3 การสร้างความสามัคคีปรองดองสมานฉันท์ของคนในชาติ ที่วันนี้ทุกคนต่างก็รู้ดีว่าเป็นปัญหาที่สำคัญที่สุดของประเทศชาติ ในเป้าหมายเขียนเอาไว้ว่า “ประชาชนมีความปรองดองสมานฉันท์และความขัดแย้งทางการเมืองในสังคมไทยลดลง” ขณะที่ตัวชี้วัดเขียนไว้แค่ว่า “มีข้อเสนอที่ระบุแนวทาง กลไกและมาตรการในการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ของประชาชนและขจัดความขัดแย้งทางการเมืองในสังคม” อ่านแล้วคงพอนึกภาพกันออกว่าถ้าเป้าหมายและตัวชี้วัดเขียนไว้กว้างและลอยขนาดนี้ การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองในบ้านเราคงไปไหนไม่ได้ไกล
ขณะที่ กิจกรรมปฏิรูปที่ 4 การส่งเสริมการพัฒนาพรรคการเมือง มีเป้าหมาย “พรรคการเมืองเป็นสถาบันทางการเมืองของประชาชน สุจริต โปร่งใสและตรวจสอบได้ มีกระบวนการคัดเลือกผู้มีความรู้ความสามารถ ซื่อสัตย์สุจริตและมีคุณธรรมจริยธรรม เข้ามาเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง” อ่านแล้วคนอ่านมีภาพในความฝันตามไปเลยว่าการเมืองไทยคงจะได้พัฒนากันเสียที แต่พอไปอ่านตัวชี้วัดที่เขียนเอาไว้ว่า “1 จำนวนสมาชิกพรรคการเมืองทั้งหมดเพิ่มขึ้น 2 จำนวนสาขาพรรคการเมืองทั้งหมดเพิ่มขึ้น และ 3 จำนวนตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดทั้งหมดเพิ่มขึ้น” อ่านแล้วฝันสลายทันที เป้าหมายเขียนไว้เสียสวยหรู แต่ตัวชี้วัดกลับไปวัดกันที่จำนวนสมาชิก จำนวนสาขาพรรคการเมืองเสียอย่างนั้น แล้วเป้าหมายจะบรรลุกันได้อย่างไร เมื่อครบระยะเวลาตามแผนก็ไปตรวจสอบตัวชี้วัด แล้วก็จะประกาศว่าตัวชี้วัดผ่านหมดแต่การเมืองไทยยังน้ำเน่าอยู่เท่าเดิม
การเขียนเป้าหมายและตัวชี้วัดในยุทธศาสตร์ประเทศหรือบริษัทนั้น ประเทศที่พัฒนาแล้วหรือบริษัทระดับโลก เขามีวิธีการตั้ง เป้าหมายแบบที่เรียกว่า “เล็งไปที่ดวงจันทร์” หรือ Shoot for the Moon หมายความว่าให้ตั้งเป้าสูงๆ เพื่อให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันทุ่มเทแรงกายแรงใจเพื่อจะไปให้ถึงเป้าหมายอันยิ่งใหญ่นั้น ถ้าทำเต็มที่แล้วไปไม่ถึงดวงจันทร์ ก็ยังมีโอกาสไปถึงดวงดาว แต่ถ้าตั้งเป้าต่ำๆ ทำถึงเป้าได้ง่ายๆ คนก็จะไม่ทุ่มเทกายใจ และถ้าทำได้ไม่ถึงเป้าหมาย ผลที่ได้ก็จะต่ำต้อยจนประเทศหรือบริษัทไม่ก้าวหน้าไปไหน
ในแผนการปฏิรูปประเทศด้านเศรษฐกิจ กิจกรรมปฏิรูปที่ 3 การเพิ่มโอกาสของผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็กในอุตสาหกรรมและบริการเป้าหมาย ในตอนต้นเขียนให้เห็นความสำคัญของ SMEs เอาไว้ว่า “ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) นับเป็นแกนกลางสำคัญของเศรษฐกิจไทย โดยรายได้ของ SMEs ในปี 2562 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 43 ของ GDP ….” โดย 1 ใน 3 เป้าหมาย คือ “SMEs มีความสามารถในการแข่งขันและมีผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศทั้งประเทศสูงขึ้น” เป็นเป้าหมายที่ดูเหมือนจะดี แต่เมื่อมาดูตัวชี้วัดของเป้าหมายนี้ซึ่งผมลอกมาคำต่อคำเขียนเอาไว้ว่า “สัดส่วนผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศทั้งประเทศ คิดเป็นร้อยละ 42 ในปี 2565” หลายคนคงต้องขยี้ตา
ผมเขียนไม่ผิดและท่านผู้อ่านก็ตาไม่ฝาดหรอกครับ ไทยเราตั้งเป้าหมายให้ SMEs ที่บอกว่าสำคัญกับประเทศไทยให้ “หดตัวลง” เมื่อเปรียบกับ GDP ของประเทศ จาก 43 เปอร์เซ็นต์ในปี 2562 ให้ลดลงเป็น 42 เปอร์เซ็นต์ในปี 2565 การตั้งเป้าแบบนี้ไม่ใช่การเล็งดวงจันทร์หรือเล็งยอดมะพร้าวแน่ๆ แต่เป็นการเล็งลงไปในบ่อบาดาลชัดๆ
ยิ่งอ่านแผนปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง) ละเอียดมากขึ้นเท่าไหร่ ผมก็ยิ่งมั่นใจมากขึ้นเท่านั้นว่า คนที่รับผิดชอบแผนปฏิรูปประเทศ ไม่ได้อ่านแผนฯแน่ๆ และที่มั่นใจมากไปกว่านั้นก็คือแผนปฏิรูปประเทศฉบับภาษาวิบัตินี้จะไม่สามารถปฏิรูปประเทศไทยได้อย่างแน่นอน
ถ้าจะปฏิรูปประเทศให้สำเร็จได้จริงๆ ไทยต้องปฏิรูปทั้งวิธีคิด วิธีเขียนแผนและปฏิรูปคนรับผิดชอบการปฏิรูปประเทศเสียก่อน ***
ทางรอดประเทศไทย
Amazing AEC สำหรับเดลินิวส์ฉบับวันอาทิตย์ที่ 1 ธันวาคม 2562
หกเจ็ดปีที่แล้ว เมื่อผมออกมาเตือนว่าไทยเราไม่มียุทธศาสตร์ หลายฝ่ายไม่เข้าใจ และคนส่วนมากไม่เชื่อเพราะคิดว่าจะเป็นไปได้อย่างไรที่เมืองไทยไม่มียุทธศาสตร์ จนกระทั่งอดีตเลขาฯสภาพัฒน์ออกมาให้สัมภาษณ์ว่ายุทธศาสตร์เป็นเรื่องใหม่ในการบริหารราชการแผ่นดินนั่นล่ะ ที่ทำให้ทุกคนเริ่มเข้าใจ
หลังจากนั้นไทยเราก็มียุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีและแผนแม่บทยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งผมขอเตือนอีกครั้งเป็นครั้งที่นับไม่ถ้วนว่ายุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีนั้นยังไม่ใช่ยุทธศาสตร์ชาติที่ดี ที่หลายชาติซึ่งประสบความสำเร็จเขามีกัน ส่วนแผนแม่บทฯนั้นถือว่าแย่ที่สุดในบรรดาแผนแม่บทต่างๆที่ผมเคยเห็น นั่นหมายความว่าไทยเรายังขาดยุทธศาสตร์และแผนแม่บทฯอยู่ อันตรายมาก
เมื่อตอนที่มีคสช.ใหม่ๆ และรัฐบาลยังเป็นนายทหารเสียส่วนใหญ่ กระทรวงพาณิชย์เชิญผมไปอภิปรายในงานระดมสมองทูตพาณิชย์ไทยในทั่วโลกว่าจะเพิ่มการส่งออกกันได้อย่างไร? ในงานผู้ร่วมอภิปรายท่านหนึ่งพูดถึงภาวะเศรษฐกิจโลก ขณะที่อีกท่านหนึ่งพูดถึงแวลูเชนและการที่ไทยจะต้องพยายามไต่ขึ้นไปตามแวลูเชนนั้นให้ได้ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มการส่งออก
ส่วนผมบอกว่าไทยเราต้องเลิกหลอกตัวเองกันเสียที การยกข้ออ้างเศรษฐกิจโลกว่าไม่ดีเลยทำให้การส่งออกของเราไม่ดี ถ้าเช่นนั้นเวียดนามและอีกหลายประเทศซึ่งยังส่งออกได้ดี อยู่ในโลกใบอื่นคนละโลกกับเราหรืออย่างไร ทำไมเขายังส่งออกได้
ผมยังบอกต่ออีกว่าการส่งออกของไทยจะส่งออกได้ไม่มากเหมือนเดิมอีกแล้วเพราะหนึ่งสินค้าเกษตรที่เคยเป็นพระเอกนั้น จะไม่ได้เป็นพระเอกอีกต่อไป เพราะแต่ละประเทศก็ย่อมจะไม่เอาอนาคตประเทศของเขามาพึ่งสินค้าเกษตรประเทศอื่น แถมราคาสินค้าเกษตรก็จะไม่ขยับไปไหน ยกเว้นบางปีที่ภูมิอากาศในบางประเทศไม่ดี ผลผลิตการเกษตรบางประเทศเสียหายเท่านั้นเอง สอง สินค้าอุตสาหกรรมของไทยที่เคยส่งออกได้นับวันจะล้าสมัย โลกไม่ต้องการซื้อแล้ว และสาม สินค้าอุตสาหกรรมสมัยใหม่ที่โลกต้องการเช่นโทรศัพท์มือถือ ไทยเราไม่สามารถผลิตได้ เลยไม่มีส่งออก
แต่ทั้งนี้คนผิดไม่ใช่กระทรวงพาณิชย์ เพราะมีหน้าที่เป็นเสมือนเซลส์แมน ถ้าประเทศไม่มีของดีที่ตลาดโลกต้องการ กระทรวงพาณิชย์จะไม่มีวันขายของได้ ต้องแก้ที่การวางตำแหน่งประเทศในยุทธศาสตร์ให้ถูกต้อง เราถึงจะรู้ว่าประเทศจะเดินหน้าไปทางไหน เราต้องเน้นส่งเสริมการลงทุนด้านไหน เราควรผลิตอะไร วันนี้สิ่งที่ผมพูดบนเวทีหกเจ็ดปีที่แล้วยังถูกต้องหมด ไทยเรายังส่งออกไม่ได้เหมือนเดิม แต่สิ่งที่ไม่เหมือนเดิมก็คือกระทรวงพาณิชย์เลิกเชิญผมไปบรรยายแล้ว
เมื่อผมออกมาเตือนว่าไทยเราจะติดกับดักการเติบโต จีดีพีจะโตราวๆ 3 ก๊อกๆแก๊กๆ ไปอย่างนี้อีกสามสิบปี เพราะเราไม่มียุทธศาสตร์ และเวียดนามกำลังจะแซงเมืองไทยเพราะเขาจะโตเฉลี่ย 6 เปอร์เซ็นต์ในช่วงเวลาเดียวกัน คนส่วนมากยังไม่เชื่อ บางคนออกมาตำหนิผมว่าไม่รักชาติ ต่อมาเมื่อองค์กรระดับโลกทำงานวิจัยออกมาและพบว่าภายในปีพ.ศ. 2593 จีดีพีของเวียดนามจะแซงประเทศไทย คำตำหนิผมเลยเงียบไป แต่มีคำอธิบายออกมาว่าเพราะขนาดจีดีพีเราใหญ่กว่าเราเลยโตน้อยกว่าเวียดนาม คนอธิบายคงไม่รู้จักจีน อินเดีย อินโดนีเซียซึ่งจีดีพีใหญ่กว่าเราแต่เติบโตได้ดีกว่าเรา ถ้ามีการยกสามประเทศนี้ขึ้นมาก่อน คงมีคำอธิบายว่าเพราะประเทศเหล่านี้มีขนาดจีดีพีที่ใหญ่ มีประชากรเยอะเลยโตกว่าเรา ออกมาให้ได้ฟังกัน
อัตราการเติบโตของจีดีพีที่ลดลงอย่างต่อเนื่องเป็นสิ่งยืนยันที่ผมเตือนสังคมไทยนั้นเป็นเรื่องที่ถูกต้อง เพราะจากที่เราเคยโตเฉลี่ย 4.6 เปอร์เซ็นต์ในช่วงปีพ.ศ. 2534-2543 ลดลงเหลือ โตเฉลี่ย 4.4 เปอร์เซ็นต์ในช่วงปีพ.ศ. 2544-2553 ถ้าปีนี้เราโชคดีเศรษฐกิจโต 2.6 เปอร์เซ็นต์ จะทำให้ 9 ปีที่ผ่านมาในช่วงปีพ.ศ. 2554-2562 เราโตเฉลี่ยเพียง 3.0 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น
แม้ผมจะมองเห็นภาพร้ายประเทศไทยล่วงหน้าและพูดเขียนเตือนอยู่เรื่อยๆ แต่ผมก็ยังมีความหวังอยู่เสมอว่าประเทศไทยเราสามารถพลิกกลับมาเติบโตและยิ่งใหญ่ได้อีกครั้ง แต่ต้องรีบลงมือแก้ไขทันที รอไม่ได้อีกแล้ว อาทิตย์หน้าจะมาบอกว่าต้องแก้ไขกันอย่างไร? ***
ทางรอดประเทศไทย (2)
Amazing AEC สำหรับเดลินิวส์ฉบับวันอาทิตย์ที่ 8 ธันวาคม 2562
อาทิตย์ที่แล้วผมทิ้งท้ายเอาไว้ว่าแม้ว่าผมจะมองเห็นภาพร้ายประเทศไทยล่วงหน้า และพูดเขียนเตือนอยู่เรื่อยๆ แต่ผมก็ยังมีความหวังอยู่เสมอว่าประเทศไทยสามารถพลิกกลับมาเติบโตและยิ่งใหญ่ได้อีกครั้ง แต่ต้องลงมือแก้ไขทันที รอไม่ได้อีกแล้ว และนี่คือสิ่งที่ไทยต้องทำทันที
อย่างแรกเลยคือไทยต้องยอมรับความจริงก่อนว่าการที่เศรษฐกิจประเทศไทยเติบโตเฉลี่ยน้อยเพียง 3 เปอร์เซ็นต์ในช่วงพ.ศ. 2554-2562 นั้นไม่ใช่เพราะเศรษฐกิจโลกไม่ดี สงครามการค้าหรือค่าเงินบาทแข็ง แต่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ทำให้ความสามารถในการแข่งขันของไทยตกต่ำ ซึ่งสาเหตุหลักก็คือไทยเราไม่มียุทธศาสตร์ ทำให้ประเทศเดินหน้าอย่างสะเปะสะปะ เงินงบประมาณภาครัฐที่มีอยู่อย่างจำกัดจึงถูกใช้ไปอย่างไร้ทิศทาง ทำให้เราติดกับดักประเทศรายได้ปานกลางอย่างเช่นทุกวันนี้ หากไม่ยอมรับความจริงข้อนี้เหมือนเมื่อตอนปีพ.ศ. 2558 ที่ภาครัฐเพิ่งออกมายอมรับว่าเรื่องยุทธศาสตร์เป็นเรื่องใหม่ในการบริหารประเทศ หลังจากที่ผมเตือนไปสามสี่ปี เราจะไม่มีทางหลุดจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง และจะแพ้ประเทศฟิลิปปินส์ มาเลเซียและเวียดนามในที่สุด
เราต้องยอมรับความจริงต่อด้วยว่า ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีที่มีอยู่นั้นไม่ใช่ยุทธศาสตร์ชาติที่ดี ตำแหน่งประเทศกว้างจนเวิ้งว้าง ทำให้แผนแม่บทยุทธศาสตร์ชาติที่เขียนตามมานั้นพลอยเป็นแผนแม่บทฯที่กว้างจนเกินไป แถมตัวชี้วัดยังเลอะเทอะจนน่าตกใจ ปัญหาเรื่องนี้แก้ไขได้โดยไม่ต้องไปแก้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เพราะความที่กว้างจนเกินไปนั้น รัฐบาลทำอะไรก็ย่อมจะถูกต้องตามยุทธศาสตร์ชาติเสมอ แต่จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรีบวางตำแหน่งประเทศใหม่ให้ชัดเจน ต้องโฟกัสในจุดที่เราเก่งจริง มีความได้เปรียบจริง ต่อมาก็ต้องรีบแก้ไขแผนแม่บทฯให้สอดคล้องตำแหน่งประเทศอันใหม่ทันที
เมื่อยอมรับความจริงข้อแรกได้ วิธีการบริหารและแก้ไขปัญหาประเทศก็จะเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง เพราะถ้าไม่ยอมรับความจริงในข้อแรก และมัวแต่โทษดินฟ้าอากาศ เช่นเศรษฐกิจโลก สงครามการค้า ฯลฯ เราก็จะแก้ปัญหาแบบเดิมๆ ซึ่งไอน์สไตน์เองก็บอกใครๆก็รู้ว่า มีแต่คนบ้าเท่านั้นที่ทำอะไรแบบเดิมๆ แต่หวังว่าจะได้ผลแบบใหม่ๆ แต่ถ้าเรายอมรับความจริงว่าทั้งหมดนี้เป็นเรื่องปัญหาโครงสร้างที่เกิดจากการขาดยุทธศาสตร์ เราจะแก้ปัญหาอีกแบบหนึ่งและแก้ตรงจุดมากขึ้น
เรื่องที่สอง ไทยจะต้องแก้ไขปัญหาคอรัปชั่นให้ได้เสียที และต้องยอมรับว่ากระบวนการแก้ไขปัญหาคอรัปชั่นที่มีอยู่ องค์กรอิสระที่ทำงานอยู่ และความตั้งใจจริงของทุกรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาคอรัปชั่นนั้น “ใช้ไม่ได้” กระบวนการ องค์กรอิสระและรัฐบาลยังไม่เข้มแข็ง ไร้ประสิทธิภาพและยังไม่เอาจริงเอาจังพอที่จะแก้ปัญหาคอรัปชั่นของไทยได้
เมื่อยอมรับความจริงดังกล่าวได้แล้ว ไม่ต้องไปมองหาวิธีการแก้ไขปัญหาคอรัปชั่นจากที่ไหนไกล เพราะต้นแบบการแก้ปัญหาคอรัปชั่นแบบฮ่องกงนั้นมีอยู่ แถมเกาหลีใต้ซึ่งเป็นสังคมอุปถัมภ์และรูปแบบการคอรัปชั่นคล้ายคลึงประเทศมากเพราะเป็นการโกงแบบบูรณาการกันอย่างใกล้ชิด ระหว่างภาครัฐ ข้าราชการประจำ นักการเมืองและนักธุรกิจ ก็แก้คอรัปชั่นให้เราดูแล้วว่า ถ้าจะแก้กันจริงๆจะต้องแก้อย่างไร คนไทยโดยทั่วไปก็ต้องเปลี่ยนกระบวนการคิด Mindset ว่าเรื่องการคอรัปชั่นนั้นสามารถแก้ไขได้ ไม่ใช่เรื่องที่แก้ไขไม่ได้ และเข้ามามีส่วนร่วมให้มากกว่านี้
เมื่อคนสามารถคอรัปชั่นได้ เขาก็จะมองอะไรเพี้ยน ทำอะไรก็เพี้ยน เพราะมีเงินเป็นสิ่งจูงใจ ผมมั่นใจอย่างยิ่งว่าถ้าลงมือแก้คอรัปชั่นได้สำเร็จ งบประมาณของรัฐบาลที่บ่นๆกันว่ามีน้อยนั้น จะเหลือให้ลงทุนเพิ่มขึ้นมาอีกอย่างน้อยๆก็ 30 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เคยพูดว่าเมืองไทยถ้าไม่โกงเสียอย่าง ถนนจะปูด้วยทองคำก็ยังได้ นั่นขนาดในสมัยก่อนการคอรัปชั่นยังไม่หนักเหมือนในปัจจุบัน ในสมัยนี้ถ้าปราบคอรัปชั่นสำเร็จ อย่าว่าแต่ถนนปูด้วยทองคำเลย ทั้งสนามบินและรางรถไฟพร้อมสถานี ก็ยังสามารถสร้างด้วยทองคำได้เลย
เรื่องเดียวของการปราบคอรัปชั่นของเกาหลีใต้ ที่ไทยเราจะต้องไม่เลียนแบบเป็นอันขาดก็คือ ในอดีต มีอยู่ช่วงหนึ่งประธานาธิบดีเกาหลีใต้เลือกปราบคนคอรัปชั่นแต่เฉพาะฝ่ายตรงกันข้ามแต่กลับปล่อยให้พรรคพวกตนเองคอรัปชั่นกันได้ ทำให้ประเทศล่มจม ก่อนที่ผู้นำสมัยต่อมาจะลุกขึ้นมาปฎิรูประบบการปราบคอรัปชั่น จนปราบได้สำเร็จอย่างที่ผมเขียนไว้ในตอนต้น ***
ทางรอดประเทศไทย (จบ)
Amazing AEC สำหรับเดลินิวส์ฉบับวันอาทิตย์ที่ 15 ธันวาคม 2562
ตอนที่แล้วผมบอกว่าทางรอดของไทยข้อแรกก็คือเราต้องยอมรับความจริงว่าการที่เศรษฐกิจไทยไม่เติบโตนั้นเป็นปัญหาโครงสร้างซึ่งเกิดจาการที่ไทยเราไม่มียุทธศาสตร์ และข้อที่สองคือเราจะต้องเร่งแก้ไขคอรัปชั่นให้ได้ โดยเราต้องยอมรับความจริงด้วยว่ากระบวนการแก้ไข องค์กรอิสระที่ทำงานอยู่และความตั้งใจจริงของทุกรัฐบาลที่ผ่านมายังไม่ดีพอที่จะแก้ไขปัญหาคอรัปชั่น
เกาหลีใต้ซึ่งเป็นสังคมอุปถัมภ์และมีการคอรัปชั่นมีการบูรณาการระหว่างรัฐบาล ข้าราชการ นักการเมืองและนักธุรกิจเหมือนไทย สามารถปราบคอรัปชั่นได้สำเร็จก็เพราะผู้นำเขามีความตั้งใจจริง ปฏิรูปองค์กรปราบคอรัปชั่น เน้นการปราบก่อนการป้องกัน และที่สำคัญที่สุดเขารู้ดีว่าการเปิดโอกาสให้ประชาชน สื่อมวลชนเข้าถึงข้อมูลของภาครัฐ เป็นส่วนสำคัญทำให้ปราบคอรัปชั่นสำเร็จได้
หัวใจของการปราบคอรัปชั่นก็คือการมีระบบตรวจสอบและถ่วงดุล หรือ Check and Balance ที่มีประสิทธิภาพ ถ้าภาครัฐทุกหน่วย งานรวมถึงองค์กรอิสระและเรกูเลเตอร์ต่างๆของไทยสามารถถูกตรวจสอบและถ่วงดุลได้ ถ้าประชาชนสื่อมวลชนสามารถเข้าถึงข้อมูลต่างๆได้ง่าย ทุกหน่วยงานก็จะถูกตรวจสอบได้ง่ายและตลอดเวลา โดยเฉพาะหน่วยงานและองค์กรอิสระที่มีหน้าที่ปราบคอรัปชั่นจะต้องโดนตรวจสอบและถ่วงดุลก่อนคนอื่นๆ เช่นเดียวกับประเทศที่มีคอรัปชั่นน้อยกว่าไทยเรา
เรื่องที่สามก็คือคุณภาพของคน ความจริงที่น่าตกใจก็คือปัจจุบันคุณภาพของนักเรียนไทยนั้นยังสู้ประเทศอื่นๆไม่ได้และนับวันจะแพ้เขามากขึ้นเรื่อยๆ ผลการทดสอบของ Programme for International Student Assessment (PISA) ซึ่งเพิ่งประกาศออกมาเมื่อต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา เด็กไทยสอบตกหมดทั้งสามวิชาคือการอ่านเพื่อความเข้าใจ วิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ซึ่งเป็นสามวิชาสำคัญเพื่อการเป็นผู้ชนะในอนาคต โดยเฉพาะการอ่านเพื่อการทำความเข้าใจนั้น PISA ถึงกับระบุในการประกาศผลเลยว่าความสามารถในการอ่านเพื่อความเข้าใจของเด็กไทยนั้นอยู่ในข่ายลดลงในอัตราที่เพิ่มขึ้น สะท้อนความล้มเหลวของการจัดการศึกษาของไทยอย่างชัดเจน จำเป็นต้องปฏิรูปโดยเร่งด่วนที่สุด โดยต้องปฏิรูปทั้งคุณภาพที่ตกต่ำและความเหลื่อมล้ำของคุณภาพการศึกษาไปพร้อมๆกัน
อีกเรื่องที่สำคัญมากและต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วนก็คือความเป็นไทยที่เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ใจกว้าง มีน้ำใจ มีอัธยาศัยไมตรี ยืดหยุ่น อยู่ร่วมกันได้ไม่ว่าจะเป็นคนเชื้อชาติใดสัญชาติใด ซึ่งเคยเป็นเสน่ห์สำคัญที่เป็นเอกลักษณ์ของคนไทยและเมืองไทย บัดนี้หายไปหมดแล้ว คนไทยเราทุกวันนี้ใจแคบใจร้อนหัวร้อน น้ำใจไมตรีหาได้ยากขึ้นมาก เรารังเกียจคนต่างชาติต่างศาสนาต่างความคิดและกล้าแสดงออกถึงความเกลียดชังนั้นอย่างเต็มที่ในรูปของ Hate Speech โดยเฉพาะบนสื่อสังคมออนไลน์โดยไม่รู้สึกว่าเป็นสิ่งที่ผิด
เรื่องที่สี่คือภาครัฐ องค์กรอิสระและเรกูเลเตอร์ทั้งหมดจะต้องถูกปฏิรูปอย่างรุนแรงและเร่งด่วนที่สุด ไทยเราที่ติดกับดักประเทศรายได้ปานกลางและเกิดปัญหาสารพันจนโลกให้ฉายา “คนป่วยรายใหม่ของเอเชีย” กับเรานั้นก็เพราะภาครัฐของไทยล้มเหลว ไร้ประสิทธิภาพและคอรัปชั่น การที่ประเทศไม่มียุทธศาสตร์ การคอรัปชั่นและความเหลื่อมล้ำสูงขณะที่คุณภาพคนคุณภาพการศึกษาคุณธรรมและความสามารถในการแข่งขันต่ำ การที่ไทยกำลังจะถูกมาเลเซีย ฟิลิปปินส์และเวียดนามแซงนั้นเป็นผลมาจากการที่ภาครัฐของไทยล้มเหลวนั่นเอง
เรื่องที่ห้าก็คือ ทั้งสี่เรื่องข้างต้นนั้นจะต้องถูกแก้ถูกปฏิรูปพร้อมๆกันอย่างรวดเร็วและรุนแรง โดยคนและภาคส่วนอื่นๆในสังคมไทยที่ยังไม่เคยมีโอกาสเข้ามามีส่วนร่วมในการปฏิรูปประเทศ เราเคยเอาเศรษฐีเข้ามามีส่วนร่วมผลก็คือเศรษฐีรวยขึ้น เราเคยเอาตัวแทนธุรกิจขนาดใหญ่เข้ามามีส่วนร่วมผลก็คือธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีตัวแทนเข้าร่วมเติบโตขึ้น เราเคยเอานักการเมือง ข้าราชการ ทหาร นักวิชาการเข้ามาปฏิรูป ผลก็คือคนที่มีส่วนร่วมดีขึ้นรวยขึ้น การปฏิรูปครั้งต่อไปจะต้องเป็นการปฏิรูปที่คนไทยทุกคนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงและเท่าเทียม โดยเฉพาะคนไทยที่เป็นคนส่วนมากของประเทศ เช่นเกษตรกร SMEs คนชั้นกลาง คนยากคนจน คนเหล่านี้จะได้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นและรวยขึ้นบ้าง
ที่สำคัญกระบวนการปฏิรูปคราวนี้จะต้องถูกตรวจสอบและถ่วงดุลกันตั้งแต่นาทีแรกจนถึงนาทีสุดท้าย เพื่อให้มั่นใจว่าจะเป็นการปฏิรูปเพื่อคนทั้งประเทศอย่างแท้จริง ***
ทางรอดประเทศไทย เวอร์ชั่น 2563
“มองมุมเกษมสันต์” สำหรับเดลินิวส์ฉบับวันอาทิตย์ที่ 20 ธันวาคม 2563
เมื่อต้นธันวาคม 2562 ผมเคยเขียนบทความเรื่อง “ทางรอดประเทศไทย” เอาไว้ในเดลินิวส์ ผ่านไปหนึ่งปีเนื้อหายังทันสมัยใช้ได้อยู่ ผมจึงขอสรุปและปรับปรุงบทความสองตอนดังกล่าวให้เหลือเพียงหนึ่งตอนให้อ่านกัน สนใจอ่านบทความเต็ม ขอให้ลองไปอ่านใน www.kasemsantaec.com
แปดปีที่แล้วเมื่อผมออกมาเตือนว่าไทยเราไม่มียุทธศาสตร์ คนส่วนมากไม่เชื่อว่าเมืองไทยจะไม่มียุทธศาสตร์จนกระทั่งอดีตเลขาสภาพัฒน์ฯออกมาให้สัมภาษณ์ยอมรับ หลังจากนั้นไทยเราก็มียุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีและแผนแม่บทฯ ซึ่งผมเตือนอีกครั้งแล้วครั้งเล่า และขอเตือนอีกทีตรงนี้ว่านั่นยังไม่ใช่ยุทธศาสตร์ชาติที่ดี ส่วนแผนแม่บทฯนั้นถือว่าแย่ที่สุดในบรรดาแผนแม่บทต่างๆที่ผมเคยเห็น อันตรายมาก
เมื่อตอนที่มีคสช.ใหม่ๆ กระทรวงพาณิชย์จัดงานระดมสมองทูตพาณิชย์ไทยในทั่วโลกว่าจะเพิ่มการส่งออกกันได้อย่างไร? ผู้ร่วมอภิปรายท่านหนึ่งพูดถึงภาวะเศรษฐกิจโลก อีกท่านหนึ่งพูดถึงการที่ไทยจะต้องพยายามไต่ขึ้นไปตามแวลูเชน เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มการส่งออก ส่วนผมบอกว่าไทยต้องเลิกหลอกตัวเองกันเสียที การยกข้ออ้างเศรษฐกิจโลกว่าไม่ดีเลยทำให้การส่งออกของเราไม่ดี ทำไมเวียดนามและอีกหลายประเทศซึ่งยังส่งออกได้ดีอยู่ เขาอยู่ในโลกใบอื่นคนละโลกกับเราหรืออย่างไร?
แต่คนผิดไม่ใช่กระทรวงพาณิชย์ เพราะมีหน้าที่เป็นเสมือนเซลส์แมน ถ้าประเทศไม่มีของดีที่ตลาดโลกต้องการ กระทรวงพาณิชย์จะไม่มีวันขายของได้ ต้องแก้ที่การวางตำแหน่งประเทศในยุทธศาสตร์ให้ถูกต้อง เราถึงจะรู้ว่าประเทศจะเดินหน้าไปทางไหน เราต้องเน้นส่งเสริมการลงทุนด้านไหน เราควรผลิตอะไร วันนี้สิ่งที่ผมพูดบนเวทีแปดปีที่แล้วยังถูกต้องหมด ไทยเรายังส่งออกไม่ได้เหมือนเดิม แต่สิ่งที่ไม่เหมือนเดิมก็คือกระทรวงพาณิชย์เลิกเชิญผมไปบรรยายแล้ว
เมื่อผมเตือนว่าไทยเราจะติดกับดักการเติบโต จีดีพีจะโตเฉลี่ย 3 เปอร์เซนต์ไปอย่างนี้อีกสามสิบปี เพราะไม่มียุทธศาสตร์ และเวียดนามกำลังจะแซงเมืองไทยเพราะเขาจะโตเฉลี่ย 6 เปอร์เซ็นต์ในช่วงเวลาเดียวกัน คนไม่เชื่อ แต่เมื่อมีองค์กรระดับโลกออกมาบอกว่าภายในปีพ.ศ. 2593 จีดีพีของเวียดนามจะแซงไทย คำตำหนิผมเลยเงียบไป อัตราการเติบโตของจีดีพีที่ลดลงอย่างต่อเนื่องเป็นสิ่งยืนยันที่ผมเตือนสังคมไทยนั้นเป็นเรื่องที่ถูกต้อง เพราะจากที่ไทยเคยโตเฉลี่ย 4.6 เปอร์เซ็นต์ในช่วง 2534-2543 ลดลงเหลือโตเฉลี่ย 4.4 เปอร์เซ็นต์ในช่วงปี 2544-2553 และในช่วง 2554-2562 เราโตเฉลี่ยไม่ถึง 3.0 เปอร์เซ็นต์
ส่วนปีนี้เศรษฐกิจไทยคงติดลบใกล้ๆ 7 เปอร์เซ็นต์ ติดลบเท่าๆกับประเทศที่มีคนติดโควิดกันเป็นล้านคน ทั้งๆที่ไทยมีติดโควิดไม่ถึงห้าพันคน ไทยต้องยอมรับความจริงก่อนว่าการที่เศรษฐกิจเติบโตเฉลี่ยลดลงเรื่อยๆ นั้นไม่ใช่เพราะเศรษฐกิจโลกไม่ดี สงครามการค้าหรือค่าเงินบาทแข็งแต่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ทำให้ความสามารถในการแข่งขันของไทยตกต่ำ ซึ่งสาเหตุหลักก็คือไทยเราไม่มียุทธศาสตร์ ทำให้ประเทศเดินหน้าอย่างสะเปะสะปะ เงินงบประมาณภาครัฐที่มีอยู่อย่างจำกัดจึงถูกใช้ไปอย่างไร้ทิศทาง
เราต้องยอมรับความจริงต่อด้วยว่า ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีที่มีอยู่นั้นไม่ใช่ยุทธศาสตร์ชาติที่ดี ตำแหน่งประเทศกว้างจนเวิ้งว้าง ทำให้แผนแม่บทยุทธศาสตร์ชาติที่เขียนตามมานั้นพลอยเป็นแผนแม่บทฯที่กว้างจนเกินไป แถมตัวชี้วัดยังเลอะเทอะจนน่าตกใจ ปัญหาเรื่องนี้แก้ไขได้โดยไม่ต้องไปแก้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรีบวางตำแหน่งประเทศใหม่ให้ชัดเจน ต้องโฟกัสในจุดที่เราเก่งจริง มีความได้เปรียบจริง ต่อมาก็ต้องรีบแก้ไขแผนแม่บทฯให้สอดคล้องตำแหน่งประเทศอันใหม่ทันที เมื่อยอมรับความจริงข้อแรกได้ วิธีการบริหารและแก้ไขปัญหาประเทศก็จะเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง
สอง ไทยจะต้องแก้ไขปัญหาคอรัปชั่นให้ได้เสียทีและต้องยอมรับความจริงว่า กระบวนการ องค์กรอิสระและรัฐบาลยังไร้ประสิทธิภาพพอที่จะแก้ปัญหาคอรัปชั่นของไทยได้ เกาหลีใต้ซึ่งเป็นสังคมอุปถัมภ์และรูปแบบการคอรัปชั่นเหมือนไทยมากเพราะเป็นการโกงแบบบูรณาการกันอย่างใกล้ชิด ระหว่างภาครัฐ ข้าราชการประจำ นักการเมืองและนักธุรกิจ ก็แก้คอรัปชั่นให้เราดูแล้วว่า ถ้าจะแก้คอรัปชั่นให้ได้จริงๆจะต้องแก้อย่างไร คนไทยโดยทั่วไปก็ต้องเปลี่ยนกระบวนการคิดว่าเรื่องการคอรัปชั่นนั้นสามารถแก้ไขได้และต้องเข้ามามีส่วนร่วมให้มากกว่านี้
เรื่องเดียวของการปราบคอรัปชั่นของเกาหลีใต้ ที่ไทยจะต้องไม่เลียนแบบเป็นอันขาดก็คือ ในอดีต ประธานาธิบดีเกาหลีใต้คนหนึ่งเลือกปราบคนคอรัปชั่นแต่เฉพาะฝ่ายตรงกันข้าม ปล่อยให้พวกตนเองคอรัปชั่นกันได้ จนทำให้ประเทศล่มจม ก่อนที่ผู้นำสมัยต่อมาจะลุกขึ้นมาปฎิรูประบบการปราบคอรัปชั่นและปราบได้สำเร็จ