ยุทธศาสตร์สู่ AEC ตอนที่ 100 เจ็ดยุทธศาสตร์ปราบโกง

0
464

ข่าวนายทหารใหญ่รับลูกตัวเองเข้าทำงานอย่างมีอภิสิทธิ์อย่างชนิดที่คนรับกันไม่ได้ทั้งบ้านทั้งเมือง แต่คนที่ทำ และพวกพ้องกลับมองเป็นเรื่องปกติที่คนมีอำนาจเขาสามารถทำกันได้ ตอกย้ำความเชื่อของผมว่าอย่าไปฝากความหวังกับคนชั้นนำในการปราบคอร์รัปชั่น

การจะปราบคอร์รัปชั่นได้นั้นจะต้องมียุทธศาสตร์และต้องสร้างระบบที่

หนึ่ง) ทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูลต่างๆ เช่น งบประมาณของภาครัฐและขององค์กรต่างๆ ค่าใช้จ่ายในโครงการต่างๆ รวมถึงข้อมูลเงินเดือนและทรัพย์สิน โดยใช้ระบบไอทีเข้ามาช่วย เช่น เอาคอมพิวเตอร์ที่สามารถเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ดังกล่าวไปไว้ตามองค์กร ธุรกิจ สถาบันการศึกษา และองค์กรภาคประชาชน ต้องทำให้ข้อมูลต่างๆ ของภาครัฐไม่ใช่ความลับแต่เป็นสิ่งที่เปิดเผย ทุกคนสามารถเข้ามาสืบค้นได้ง่าย ในขณะเดียวกัน ระบบไอทีที่ว่าต้องสามารถเป็นเครื่องมือที่ทุกคนสามารถร้องเรียนหรือชี้เบาะแสการคอร์รัปชั่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สอง) ขีดเส้นให้ชัดเจนว่าอะไรคือเรื่องที่ถูกต้อง ทำได้ อะไรเป็นการคอร์รัปชั่น หากทำถือเป็นความผิด โดยเฉพาะเรื่องที่ก้ำกึ่ง หรือ “คอร์รัปชั่นสีเทา” เช่น การฝากลูกเข้าโรงเรียน เข้าทำงาน การช่วยเหลือพวกพ้องในการได้งานขององค์กรตัวเอง ต้องทำให้ทุกคนเข้าใจตรงกันว่า อะไรคือ “คอร์รัปชั่น” อะไรไม่ใช่

สาม) เมื่อมีมาตรฐานชัดเจน การลงโทษเรื่องการคอร์รัปชั่นนั้น จะต้องทำอย่างรุนแรงและลงโทษขั้นสูงสุดไม่ว่าจะเป็นการคอร์รัปชั่นครั้งแรก หรือทำมาหลายครั้ง ตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ วงเงินมากหรือน้อย

สี่) ต้องทำให้คนที่อยู่ในองค์กรเดียวกัน หากรู้เห็นเรื่องการคอร์รัปชั่นต้องรีบแจ้งเบาะแสเพื่อการปราบปราม ด้วยการสร้างแรงจูงใจคือให้รางวัลอย่างเต็มที่ เมื่อคดีดังกล่าวสิ้นสุด ในขณะเดียวกันต้องแรงกดดันให้ผู้ที่รู้เห็น ต้องรีบแจ้งเบาะแสด้วยการลงโทษผู้ที่อยู่รอบข้างไม่ว่าจะเป็นเจ้านาย เพื่อนร่วมงานหรือลูกน้อง ที่รู้เห็นแต่ไม่ยอมแจ้งเบาะแส ประหนึ่งว่าเป็นผู้สมรู้ร่วมคิด ถึงแม้ว่าเขาจะไม่ได้ประโยชน์จากการคอร์รัปชั่นนั้นเลยก็ตาม

ห้า) ในการปราบปรามคอร์รัปชั่นต้องตระหนักอยู่เสมอว่าทุกคนที่มีอำนาจอาจจะเป็นคนโกงได้ทุกเมื่อ ไม่ว่า ปูมหลังจะเคยเป็นคนดีมาแค่ไหนก็ตาม เพราะฉะนั้นระบบนี้จะต้องทำให้ทุกคนโดนตรวจสอบได้หมด ยิ่งตำแหน่งใหญ่ ยิ่งเป็นองค์กรที่มีหน้าที่ตรวจสอบคนอื่น ระบบจะต้องเปิดโอกาสให้ตรวจสอบคนเหล่านี้ได้ง่ายกว่าคนอื่นๆ และหากทำผิดบทลงโทษก็จะต้องหนักกว่าคนอื่นๆ หากเป็นองค์กรที่มีหน้าตรวจสอบโดยตรง เช่น ปปช. ปปท. ปปง. ดีเอสไอ ฯลฯ จะต้องถูกตรวจสอบถึงประสิทธิภาพในการทำงานเพิ่มเติมอีกด้วย เพราะการไร้ประสิทธิภาพขององค์กรพวกนี้เช่นปล่อยให้คดีหมดอายุความ หรือหาหลักฐานจับกุมไม่ได้ซักที เท่ากับเป็นการช่วยฟอกตัวให้กับคนเลวที่คอร์รัปชั่น

หก) ในการแก้ไขเรื่องคอร์รัปชั่นนั้นจะต้องเริ่มต้นที่การปราบการจับกุมและการลงโทษคนคอร์รัปชั่นจนกระทั่งประชาชนเกิดความมั่นใจในระบบและองค์กรที่ทำงานด้านนี้ หลังจากนั้นจึงค่อยสร้างภูมิคุ้มกันด้วยการรณรงค์

เจ็ด) บทเรียนจากต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศที่มีปัญหานี้หนักหนาเหมือนไทย บอกเราว่าจะปราบคอร์รัปชั่นได้สำเร็จ ผู้นำสูงสุดของประเทศต้องลงมือเองอย่างจริงจัง ทั้งทำตัวให้เป็นแบบอย่างและสนับสนุนการทำงานขององค์กรที่มีหน้าที่ปราบคอร์รัปชั่นอย่างเต็มที่

[smartslider3 slider="9"]