ยุทธศาสตร์สู่ AEC ตอนที่ 44 3 ปัจจัยแห่งความสำเร็จ (2)

0
521

พุธที่แล้วผมบอกว่าปัจจัยแรกแห่งความสำเร็จคือความยากง่ายในการทำธุรกิจนั้นไทยเราทำได้ค่อนข้างดี ขณะที่ปัจจัยที่สองคือความโปร่งใสไร้คอร์รัปชั่นนั้นไทยเราสอบตกมาโดยตลอดและปีล่าสุดอันดับโลกไทยเรายังร่วงจากที่ 88  ลงไปอยู่ที่ 102  จาก 177 ประเทศ

ปัจจัยที่สามที่บริษัทระดับโลกเขาดูกันเวลาจะไปลงทุนที่ประเทศไหนคือเรื่องความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานซึ่งเป็น 1 ใน 4 เกณฑ์ที่ทาง International Institute for Management Development  (IMD) เขาใช้วัดความสามารถ ในการแข่งขันของแต่ละประเทศ ได้แก่ ความสามารถทางเศรษฐกิจ ประสิทธิภาพของภาครัฐ ประสิทธิภาพของ ภาคธุรกิจและความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งเมื่อวัดทั้ง 4 เกณฑ์นั่นแล้ว ไทยเราได้ที่ 27 ของโลกจาก 60 ประเทศที่เขาวัดกัน แพ้สิงคโปร์ที่ได้ที่ 5 และมาเลเซียที่ได้ที่ 15  ชนะฟิลิปปินส์และอินโดนีเซียที่ได้อันดับที่ 38 และ 39 ส่วน 4 อันดับแรกของโลกคือ สหรัฐฯ สวิสเซอร์แลนด์ ฮ่องกงและสวีเดนครับ

เมื่อดูเฉพาะความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานนั้นไทยเรามีความพร้อมเป็นอันดับที่ 48 ของโลก นับว่าค่อนข้างแย่นะครับเมื่อเปรียบเทียบกับสิงคโปร์และมาเลเซียซึ่งได้อันดับที่ 12 และ 25

การที่ไทยเรามีความพร้อมเป็นอันดับที่ 48 ของโลกนี่แหล่ะครับที่รัฐบาลไทย ใช้มาเป็นเหตุผลสำคัญเหตุผลหนึ่ง ในการเร่งรัดการสร้างรถไฟความเร็วสูงเพื่อให้เรามีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานเทียบเคียงกับประเทศอื่นๆ ซึ่งฟังดูผิวเผินน่าจะเป็นเรื่องดีแต่ผมว่าเป็นเรื่องที่น่าเศร้ามากๆ เพราะเวลาที่ IMD เขาวัดความพร้อมด้านโครง สร้างพื้นฐานนั้นเขาวัดความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานทั้ง 5 ด้านด้วยกันคือ (หนึ่ง) โครงสร้างพื้นฐานเบื้องต้น เช่น ถนนหนทางรางรถไฟ การขนส่งทางน้ำทางอากาศ (สอง) โครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยี เช่นการลงทุนใน ระบบโทรคมนาคมและเทคโนโลยี จำนวนวิศวกร (สาม) โครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ เช่น งบลงทุนด้าน R&D ของทั้งภาครัฐและเอกชน ความสามารถในการสร้างนวัตกรรม (สี่) โครงสร้างพื้นฐานด้านสุขภาพและ      สิ่งแวดล้อม เช่น ค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพ อายุเฉลี่ย อัตราการใช้น้ำและบำบัดน้ำเสีย กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับ สิ่งแวดล้อม และ (ห้า) โครงสร้างพื้นฐานด้านการศึกษา เช่น จำนวนครูต่อนักเรียน ความสามารถการใช้ภาษา ระบบจัดการการศึกษา

พอลงไปดูในรายละเอียดการประเมินจะพบว่า ความจริงแล้วความพร้อมด้านถนนหนทางรางรถไฟของไทยเรานั้นได้อันดับที่ค่อนข้างดีนะครับคืออันดับที่ 25 ขณะที่อีก 4 ด้านที่เหลือไทยเราได้อันดับที่แย่มากคือ  โครงสร้าง พื้นฐานด้านเทคโนโลยีเราได้ที่ 47 โครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ได้ที่ 40 โครงสร้างพื้นฐานด้านสุขภาพ และสิ่งแลดล้อมได้ที่ 55 และโครงสร้างพื้นฐานด้านการศึกษา 51

สรุปได้ว่าความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานของไทยที่แย่กว่าประเทศอื่นๆแท้ที่จริงแล้วเป็นเพราะความไม่พร้อมด้านเทคโนโลยี วิทยาศาสตร์ สุขภาพ สิ่งแวดล้อมและการศึกษาต่างหาก ไม่ใช่ความไม่พร้อมด้านถนนหนทาง รางรถไฟ และนี่เป็นความจริงที่เราไม่เคยได้ยินจากรัฐบาลหรือคนที่อยากจะเร่งรัดให้สร้างรถไฟความเร็วสูง

เพราะฉะนั้นอย่าแปลกใจนะครับถ้ารัฐบาลไทยเราจะลงทุนไปมหาศาลในรถไฟความเร็วสูงแต่อันดับความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานเราจะไม่ขยับดีขึ้นเลยและบริษัทระดับโลกจะยังไม่มาลงทุนในไทยเหมือนเดิม

ถ้าประเทศไทยเรามีงบประมาณเหลือเฟือไว้ลงทุน ผมก็จะไม่เศร้าอะไรหรอกครับ แต่นี่งบลงทุนมีนิดเดียว ต้องใช้วิธีกู้มาลงทุน แต่ยังจะลงทุนในเรื่องที่ผิด แทนที่จะไปลงทุนพัฒนาเทคโนโลยี วิทยาศาสตร์ สุขภาพ สิ่งแวดล้อมและการศึกษากลับจะไปลงทุนรถไฟความเร็วสูง เหมือนๆกับตั้งใจที่จะส่งลูกไปเรียนโรงเรียนแย่ๆที่ ค่าเทอมถูกๆ เพื่อประหยัดเงินไว้ให้พ่อเอาไปซื้อรถสปอร์ตขับเล่นยังไงยังงั้นเลยนะครับ

หรือเพราะคนที่ผลักดันเรื่องนี้เขาเป็น “ผลผลิต” มาจากระบบการศึกษาที่ “ห่วย” ของประเทศไทยเรา ก็ไม่รู้ เศร้าจังเลยนะครับ

[smartslider3 slider="9"]