ตอน โควิดกับความเก่งของประเทศ2 (จบ)
อาทิตย์ที่แล้วผมเอา NIKKEI COVID-19 Recovery Index ที่จัดอันดับความสามารถในการฟื้นตัวของประเทศต่าง ๆ จากโควิด ซึ่งไทยได้ที่ 119 รองสุดท้ายจาก 120 ประเทศ มาเปรียบเทียบกับการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ของ Institute for Management Development หรือ IMD ซึ่งปี 2564 ไทยได้ที่ 28 จาก 64 เขตเศรษฐกิจ ดีขึ้นหนึ่งอันดับจากที่ 29 ปีที่แล้ว แต่เมื่อดูย้อนหลังไป 12 ปี กลับพบว่าไทยไม่ได้เก่งขึ้นเลย จึงสรุปได้ว่าความสามารถในการรับมือกับ โควิด-19 และความสามารถในการแข่งขันของประเทศต่าง ๆ นั้น สอดคล้องกัน NIKKEI ไม่ได้ประเมินไทยต่ำเกินไป
อาทิตย์นี้เลยจะขอเขียนถึงความสามารถในการแข่งขันทางดิจิทัล และความสามารถในการสร้าง และดึงดูดคนเก่งของประเทศต่าง ๆ ซึ่งเป็นอีกสองตัวชี้วัดที่สำคัญต่อการอยู่รอดของประเทศในอนาคตมาให้อ่านกัน
ความสามารถในการแข่งขันทางดิจิทัล (Digital Competitiveness Ranking) นั้น IMD ก็เป็นสถาบันที่วัดเช่นกัน ประเทศที่มีความ สามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลมากที่สุดในโลกจาก 63 เขตเศรษฐกิจของปีล่าสุด 2563 ตามลำดับคือ สหรัฐ สิงคโปร์ เดนมาร์ก สวีเดน ฮ่องกง สวิตเซอร์แลนด์ สิงคโปร์นั้นเก่งเป็นที่ 2 ของโลกเลยทีเดียว ส่วนไทยได้ที่ 39 ดีขึ้น 1 อันดับจากปีที่แล้ว ประเทศอื่นๆในอาเซียนนั้นได้อันดับ (ตัวเลขในวงเล็บ) ดังนี้ มาเลเซีย (26) อินโดนีเซีย (56) ฟิลิปปินส์ (57) ขณะที่ประเทศคู่เจรจากับเรานั้นได้อันดับดังนี้ เกาหลีใต้ (8) ออสเตรเลีย (15) จีน (16) นิวซีแลนด์ (22) ญี่ปุ่น (27) และอินเดีย (48)
การวัดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัล จะวัดจาก 3 หมวดหลัก คือ ความรู้ เทคโนโลยี และความพร้อมในอนาคต โดยใน
หมวดความรู้จะวัดจากความสามารถพิเศษ การฝึกอบรม และการศึกษา ความเข้มข้นทางวิทยาศาสตร์
หมวดเทคโนโลยีวัดจาก โครงสร้างการควบคุม เงินทุน และโครงสร้างเทคโนโลยี
ขณะที่หมวดความพร้อมในอนาคตจะวัดจากทัศนคติที่ปรับตัวได้ ความคล่องตัวทางธุรกิจ และการรวมกันของเทคโนโลยีสารสนเทศ เรียกว่าตรวจสอบกันครบถ้วนทุกด้านทีเดียว
หมวดที่ไทยทำได้ดีคือเทคโนโลยี และความพร้อมในอนาคตเพราะทุนพร้อม เทคโนโลยีพร้อม และรัฐยังไม่เข้ามายุ่งมากเกินไป แต่ที่ต้องปรับปรุงอย่างเร่งด่วนคือหมวดความรู้ เพราะเราได้อันดับที่ 43 โดยเฉพาะด้านการฝึกอบรม และการศึกษาซึ่งได้อันดับที่ 55 แย่ลงกว่าปีที่แล้วซึ่งได้ที่ 50 อีกหมวดที่แย่คือ ความพร้อมในอนาคตที่ไทยพร้อมเป็นอันดับที่ 45 แม้จะดีขึ้นจากที่ 50 ในปีที่แล้วก็ตามเพราะด้านทัศนคติที่ปรับตัวได้ ไทยได้อันดับที่ 53 ยังไม่ดี ปลายเดือนกันยายนที่จะถึงนี้ IMD ก็จะประกาศอันดับออกมาอีกครั้ง ถึงตอนนั้นมาดูว่าทั้งปีที่ภาครัฐ และเอกชนไทยต้องปรับตัว Work From Home กันนั้นทำให้ไทยเราเก่งด้านดิจิทัลขึ้นบ้างหรือเปล่า?
เห็นภาพชัดแล้วว่าความสามารถทั้งทางด้านทั่วไป และความเก่งด้านดิจิทัลเราเก่งแค่ระดับกลาง ๆ โดยมีจุดอ่อนใหญ่อยู่ที่การศึกษาและการฝึกอบรม สิ่งที่หลายประเทศแก้ไขเพื่อเพิ่มความสามารถของประเทศเมื่อคนของเขายังไม่เก่งพอก็คือการพยายามสร้างคนเก่งหรือ Talent (คนที่มีความสามารถพิเศษ) ขึ้นมาให้ได้ ถ้าสร้างเองไม่ได้ก็จะใช้วิธีดึงดูด ชักชวนคนเก่งจากต่างประเทศให้เข้ามาทำงานในประเทศตัวเองเพื่อเร่งสร้างความเก่งให้ประเทศ
ก็เป็น IMD อีกนั่นล่ะที่มีตัววัดการสร้างและดึงดูดคนเก่ง นั่นก็คือ IMD World Talent Ranking (WTR) ซึ่งวัดจากสามเรื่องใหญ่ๆด้วยกันคือ หนึ่ง การลงทุนและพัฒนา ซึ่งจะวัดจากการลงทุนและพัฒนาคนเก่งๆในประเทศ สอง ความสามารถในการดึงดูดคนเก่งจากต่างประเทศให้อยากเข้ามาในทำงานในประเทศ และสามวัดจากทักษะและศักยภาพของคนเก่งทั้งหมดที่มีอยู่ในปัจจุบัน
ผลการจัดอันดับปีล่าสุด 2563 จาก 63 เขตเศรษฐกิจพบว่าประเทศซึ่งสร้างและดึงดูด “คนเก่ง” ได้ดีที่สุดในโลกตามลำดับคือ สวิตเซอร์แลนด์ เดนมาร์ก ลักเซมเบิร์ก ไอซ์แลนด์ สองประเทศหลังนี้ทำได้ดีขึ้นมาอย่างรวดเร็วและน่าทึ่ง ส่วนสวีเดนที่เคยอยู่อันดับ 3 ตกลงไปอยู่อันดับ 5 ในอาเซียนประเทศที่สร้างและดึงดูดคนเก่งได้ดีที่สุดเรียงตามลำดับคือ สิงคโปร์ (9) มาเลเซีย (25) ไทย (43) อินโดนีเซีย (45) และ ฟิลิปปินส์ (48) ส่วนประเทศคู่เจรจาของเรา ออสเตรเลีย (13) ไต้หวัน (20) นิวซีแลนด์ (21) เกาหลีใต้ (31) ญี่ปุ่น (38) จีน (40) และ อินเดีย (62)
ดูจากอันดับของประเทศที่อยู่อันดับต้น ๆ ถ้าอ่านชื่อประเทศแล้วรู้สึกอยากไปทำงานที่นั่น ก็แปลว่าการจัดอันดับนั้นจัดได้ถูกต้องแล้ว คนไทยเองอยู่ในประเทศไทยมานานอาจจะเคยชิน ไม่รู้สึกว่าประเทศเราเปลี่ยนแปลงไปมากน้อยเพียงใด แต่ในสายตาคนเก่งทั่วโลกผ่านมาตรวัดของ IMD พบว่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาอันดับการสร้างคนเก่งของเราและความน่าสนใจที่คนเก่ง ๆ จะมาทำงานในไทยนั้นลดลงจากอันดับที่ 37 ของโลกลงมาอยู่ที่ 43 แล้ว สร้างคนเก่งได้แย่ลงแถมคนเก่งในต่างประเทศก็อยากมาทำงานในไทยน้อยลง
เขียนมาสองอาทิตย์ติดกันเพื่อจะบอกว่า ความสามารถในการแข่งขันทั้งแบบทั่วไป และแบบดิจิทัลของไทยเราติดกับดักอยู่ในระดับกลาง ๆ มานานพอสมควร แถมเสน่ห์ที่เคยมีในการดึงดูดคนเก่ง ๆ จากทั่วโลกให้อยากมาทำงานในไทยก็ลดลงเสียอีก ทั้งหมดเป็นผลมาจากระบบการศึกษาที่ล้มเหลว ภาครัฐที่อ่อนแอ และการคอรัปชั่นที่ฝังรากลึกของไทยเราเอง
ที่น่ากังวลก็คือวันนี้คนที่มีหน้าที่รับผิดชอบทั้งหลายของประเทศ ก็ยังใช้แนวคิดเดิมๆวิธีการเดิม ๆ ในการแก้ปัญหา ทำให้นึกถึงไอน์สไตน์ที่เคยกล่าวเอาไว้ว่า “มีแต่คนเสียสติเท่านั้นที่ชอบคิดและทำแบบเดิม ๆ แต่หวังว่าจะได้ผลแบบใหม่ ๆ ที่ดีกว่าเดิม”