โตเกียวโอลิมปิก : ฤา ประวัติศาสตร์จะซ้ำรอยเดิม? – มุมมองเกษมสันต์

0
452

โตเกียวโอลิมปิก : ฤา ประวัติศาสตร์จะซ้ำรอยเดิม?

เหลืออีก 2 เดือนพอดีก็จะถึงวันเปิดการแข่งขันโอลิมปิกฤดูร้อนที่โตเกียวแล้ว แต่ยังมีประชาชนออกมาคัดค้านกันอย่างมาก และ เสียงดังมากขึ้นเรื่อย ๆ ล่าสุดจากการทำโพลล์ คนญี่ปุ่น 80 เปอร์เซ็นต์ไม่เห็นด้วยที่จะให้มีการจัดการแข่งขัน

โอลิมปิกนั้น คือ กีฬาเพื่อความเป็นเลิศ ดังนั้นเมืองที่จะเสนอตัวเป็นเจ้าภาพได้จะต้องมีสนามกีฬา หมู่บ้านนักกีฬา โครงสร้างพื้นฐานด้านการกีฬา และ การเดินทางตามเงื่อนไขที่ทาง “คณะกรรมการโอลิมปิกสากล” (IOC) กำหนด ซึ่งเงื่อนไขทั้งหมดนี้จะต้องเอื้อให้นักกีฬาทั่วโลกที่เข้ามาร่วมแข่งขันสามารถรีด และ เค้นเอาศักยภาพสูงสุดของพวกเขาออกมาให้ได้

นอกจากนี้เมืองที่จะเสนอตัว เช่น คราวนี้คือโตเกียว จะต้องได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลกลาง และ ประชาชนต้องสนับสนุน เมืองที่จะเสนอตัวจะต้องทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเพื่อหาเสียงสนับสนุนและเสนอให้ IOC ทราบด้วยว่าคนในเมืองนั้นๆเอาด้วย แล้วทำไมเมื่อคนญี่ปุ่นออกมาคัดค้านกันมากขนาดนี้ IOC จึงยังทำเป็นหูทวนลมยืนยันจะจัดต่อ แถมคณะกรรมการจัดการแข่งขันในญี่ปุ่นเองก็ยืนยันจะจัดต่อไป สอดรับกับการสนับสนุนให้เดินหน้าจัดของรัฐบาลญี่ปุ่น?
การจัดโอลิมปิกนั้นเน้นความเป็นเลิศทางด้านการกีฬา ดังนั้นต้นทุนในการจัดจึงมหาศาล ซึ่งจะมีการลงทุนใหญ่ๆอยู่ 3 ส่วนด้วยกันคือ
หนึ่ง ด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านการกีฬา
สอง ค่าจัดการการแข่งขัน
สาม การบูรณะเมือง
ในการเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกฤดูร้อนครั้งแรกของโตเกียวเมื่อปีพ.ศ. 2507 นั้น โตเกียวได้ควักกระเป๋าลงทุนเป็นเงินราว 60,000 ล้านบาท ลองคิดดูก็แล้วกันว่าเมื่อ 57 ปีที่แล้วนั้นเงิน 60,000 ล้านบาทจะมีค่าสูงขนาดไหน ในประวัติศาสตร์โอลิมปิกสมัยใหม่ เมืองริโอ เดอ จาเนโร ของบราซิลที่เคยเป็นเจ้าภาพเมื่อปีพ.ศ. 2559 ได้ถูกบันทึกเอาไว้ว่ามีการลงทุนเพื่อจัดโอลิมปิกสูงที่สุดเท่าที่เคยมีกันมา คือลงทุนไปถึง 400,000 ล้านบาท

เมื่อต้นทุนในการจัดสูงขนาดนี้ เมืองที่จะเสนอตัวเป็นเจ้าภาพส่วนมากจึงมักจะเป็นเมืองที่มีแผนการพัฒนาเมืองอยู่แล้ว มีแผนจะลงทุนสร้างสนามกีฬา บ้านพัก และ โครงสร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน อาทิ ถนน ทางด่วน ทางรถไฟ เป็นต้น และ จะอาศัยการจัดโอลิมปิกมาเร่งการพัฒนาเมืองให้เร็วขึ้น แทนที่จะค่อย ๆ ลงทุนไปในระยะเวลา 20 – 30 ปี ก็อาศัยการเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกมาเร่งการลงทุนให้เร็วขึ้น โตเกียวก็เช่นกัน ที่อาศัยการเป็นเจ้าภาพในปี พ.ศ. 2507 เร่งลงทุนพัฒนารถไฟ “ชินกันเซน” และเริ่มให้บริการก่อนการแข่งขันเริ่มเพียงไม่นาน

แต่ถ้าอยากจะเป็นเจ้าภาพโอลิมปิก เพราะ “หน้าใหญ่” ส่วนมากจะจบลงด้วยการ “หน้าจ๋อย” เพราะขาดทุนการมหาศาลกันทั้งสิ้น อย่างที่ ริโอ เดอ จาเนโร ก็ขาดทุนไปราว 62,000 ล้านบาท เจ้าภาพโอลิมปิกฤดูร้อนที่สามารถทำกำไรจนเป็นต้นแบบให้เมืองอื่น ๆ ทำตามคือ ลอสแอนเจลิส ที่เป็นเจ้าภาพในปีพ.ศ. 2527 เพราะทำกำไรได้ราว 7,750 ล้านบาท เพราะการจัดครั้งนั้นคิดนอกกรอบ เน้นการหารายได้จากการถ่ายทอดสดมากกว่าการจัดครั้งก่อน ๆ ที่เน้นการขายตั๋วให้มาชมในสนามแข่งขัน เน้นการลงทุนร่วมของภาคเอกชน และ มีการลงทุนที่น้อยกว่าเมืองอื่น ๆ เพราะลอสแอนเจลิสมีโครงสร้างพื้นฐานพร้อมค่อนข้างมากอยู่แล้ว เพราะต้องลงทุนสูง ต้องจัดให้ดีเยี่ยม และ มีโอกาสขาดทุนสูง IOC ซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์การจัด จึงต้องมีสัญญาอย่างรัดกุมกับเมืองที่จะเสนอตัว จะมาทำเป็นเล่น ๆ ไม่ได้ โตเกียวโอลิมปิก ก็เช่นเดียวกัน โตเกียวต้องทำสัญญากับ IOC ไว้อย่างชัดเจนว่าจะต้องจัดให้เรียบร้อย หากไม่สามารถจัดได้โตเกียวจะต้องโดนปรับอย่างมหาศาล และ ที่สำคัญ IOC เป็นเพียง “ผู้เดียว” ที่มีสิทธิบอกเลิกสัญญานี้

ไม่ว่าในสัญญาจะระบุถึงสวัสดิภาพ และ ความปลอดภัยของนักกีฬาที่เข้าร่วมไว้อย่างไรก็ตาม ตราบใดที่ IOC มอง (ผ่านแว่นของ IOC) แล้วว่าการระบาดของโควิด-19 นั้น ไม่กระทบกับสวัสดิภาพ และ ความปลอดภัย และ การออกมาคัดค้านของคนญี่ปุ่นนั้นไม่มีน้ำหนักพอ โตเกียวก็จำเป็นจะต้องเดินหน้าจัดต่อไป หากไม่จัดก็ต้องยอมจ่ายค่าปรับ
IOC เองก็มองว่ารายได้ค่าลิขสิทธิ์จากการจัดโอลิมปิกเป็นรายได้หลักของเขา 4 ปีจะมีที ก็ต้องยื้อจนนาทีสุดท้ายเพื่อรายได้ของตัวเอง ทางออกทางเดียวของเรื่องนี้จึงอยู่ที่การเจรจาระหว่างโตเกียว และ IOC อย่างเข้าอกเข้าใจกันว่าจะหาทางลงด้วยการไม่จัดได้อย่างไร? เงินที่ลงทุนไปแล้วจะทำอย่างไร? และ เนื่องจากรายได้ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการแข่งขัน การถ่ายทอดสดเป็นเรื่องสำคัญทั้งโตเกียว และ IOC จึงได้มีการทำประกันเรื่องต่าง ๆ เอาไว้ด้วย บริษัทประกันต่าง ๆ คิดอย่างไร ?

มีการคาดการณ์กันว่าถ้ามีการยกเลิก Tokyo Olympic บริษัทประกันทั้งหลายอาจจะต้องจ่ายค่าชดเชยให้ เป็นจำนวนเงินสูงที่สุดในประวัติศาสตร์การประกันของโลกเลยทีเดียว ซึ่งแน่นอนว่าบริษัทประกันทั้งหลายย่อมจะต้องหาทางที่จะไม่จ่ายเช่นกัน ดังนั้นการจะยกเลิกจัดจึงไม่ใช่เรื่องง่ายทั้งสำหรับโตเกียว , IOC และ บริษัทประกัน
ถึงนาทีนี้ก็ต้องดูใจรัฐบาลญี่ปุ่นว่าจะทำอย่างไร เพราะ ล่าสุด นายก ฯ โยชิฮิเดะ ซูกะ ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ว่ารัฐบาลจะไม่เห็นแก่โอลิมปิกมากกว่าประชาชน แต่ก็โยนภาระไปที่ IOC ว่า อำนาจการตัดสินใจขั้นสุดท้ายว่าจะจัด หรือ ไม่จัดนั้น อยู่ที่ IOC
ในอดีต โตเกียวโอลิมปิกนั้นเคยโดนยกเลิกมาแล้วเมื่อปีพ.ศ. 2483 เพราะเกิดสงครามโลกครั้งที่สอง ถ้าคราวนี้โตเกียวโอลิมปิกจะถูกยกเลิกเพราะสงครามโรคโควิด-19 ก็อย่าได้แปลกใจ เพราะประวัติศาสตร์มักซ้ำรอยเดิมเสมอ

โตเกียวโอลิมปิก

[smartslider3 slider="9"]