ขึ้นต้นบทความวันนี้ด้วยคำสามคำ ความเชื่อ เรือดำน้ำและไอโฟน ซึ่งได้รับผลจาก “ความเชื่อ” ในทิศทางที่ต่างกัน
การซื้อ #เรือดำน้ำ มูลค่า 22,500 ล้านบาทซึ่งกองทัพเรือมี “ความเชื่อ” ว่าประเทศไทยมีความจำเป็นจะต้องมีเรือดำน้ำ การจัดซื้อทั้งหลายก็เป็นไปอย่างโปร่งใสและเป็นงบประมาณที่ทางกองทัพเรือจัดสรรอย่างดี ถูกต้องและชอบธรรม แต่ประชาชนจำนวนไม่น้อยมี “ความเชื่อ” ว่าประเทศไทยในขณะนี้ยังไม่มีความจำเป็นต้องมีเรือดำน้ำและรัฐบาลควรใช้งบประมาณที่จะเอาไปซื้อเรือดำน้ำไปใช้ด้านอื่นจะเหมาะสมกว่า
ผมพูดในรายการ Good Morning ASEAN ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุอสมท.ทั่วประเทศตอนเจ็ดโมงเช้า เมื่อวันจันทร์ที่ 24 สิงหาคมที่ผ่านมา ว่าถ้ากองทัพเรือพยายามที่จะชี้แจงด้วยข้อเท็จจริงเรื่องความจำเป็น ความโปร่งใส ฯลฯ แต่ไม่ยอมรับว่าที่ประชาชนคัดค้านนั้นมันเป็นเรื่อง “ความเชื่อ” กองทัพเรือจะไม่สามารถเปลี่ยนหรือลบล้าง “ความเชื่อ” ของประชาชนได้ และเรื่องจะไม่จบง่ายๆ เพราะมันเป็นเหมือนการเถียงกันคนละเรื่อง
ในบ่ายวันเดียวกันนั้นเองกองทัพเรือตั้งโต๊ะแถลงข่าว มีผู้แถลงทีมใหญ่ แต่งกายเต็มยศ แบ่งกันแถลงคนละหัวข้อ เน้นแต่ข้อเท็จจริงล้วนๆ และสะท้อนความมั่นใจอย่างมาก ซึ่งนอกจากจะผิดหลักการสื่อสารในภาวะวิกฤติอย่างร้ายแรงและยังไม่สามารถจะเปลี่ยน “ความเชื่อ” ของประชาชนได้แล้ว แต่ยังกลับทำให้ประชาชนที่ยังตัดสินใจไม่ได้ว่าจะ “เชื่อ” ฝั่งไหนดีระหว่างฝั่งจะซื้อกับฝั่งไม่อยากให้ซื้อ ตัดสินใจไปเชื่อฝั่งที่ไม่อยากให้ซื้อเรือดำน้ำมากยิ่งขึ้น
ที่สำคัญการแถลงข่าวของกองทัพเรือนั้นทำให้ นายกฯเกิด “ความเชื่อ” ว่ากองทัพเรือควรจะเลื่อนการซื้อเรือดำน้ำออกไปก่อน ซึ่งเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องในการบริหาร “ความเชื่อ” ของประชาชนซึ่งเป็นหนึ่งในหัวใจสำคัญของการบริหารประเทศ ในขณะที่ผู้นำกองทัพเรือและเหล่าทัพต่างๆ คงจะเข้าใจเรื่องนี้ได้ยาก เพราะการบริหารเหล่าทัพนั้นไม่จำเป็นต้องบริหาร “ความเชื่อ” ของกำลังพล เพราะในเหล่าทัพ เมื่อนายสั่งทุกคนต้องทำตามไม่มีข้อยกเว้น ไม่ว่าจะเชื่อหรือไม่ก็ตาม
เรื่องเรือดำน้ำนั้น ถ้ากองทัพเรือไม่เริ่มการบริหาร “ความเชื่อ” ของประชาชนและไม่เริ่มฝึกฝนเรื่องการสื่อสารกับสาธารณะและการสื่อสารในภาวะวิกฤติเสียใหม่ ฟันธงไว้ตรงนี้เลยว่าทุกครั้งที่กองทัพเรือจะซื้อเรือดำน้ำ ประชาชนจะลุกขึ้นมาต่อต้านทุกครั้ง และคงจะจัดซื้อได้ภายใต้รัฐบาลที่มาจากการปฏิวัติเพียงกรณีเดียว
จากกองทัพเรือมาดูเอกชนที่บริหาร “ความเชื่อ” ของประชาชนได้ดีเลิศ จนทำให้มูลค่าของบริษัทมีมูลค่าทะลุ 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทยก็กว่า 60 ล้านล้านบาท สูงที่สุดในโลกเป็นบริษัทแรกไปเมื่อกลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา หลังจากที่เคยทำสถิติเป็นบริษัทแรกในโลกที่มีมูลค่าบริษัททะลุ 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐไปเมื่อปีพ.ศ. 2561 นั่นคือบริษัทแอปเปิลเจ้าของไอโฟน ไอแพด คอมพิวเตอร์แอปเปิลและอีกหลายๆผลิตภัณฑ์นั่นเอง
เมื่อตอนสตีฟ จ็อบส์และเพื่อนๆก่อตั้ง แอปเปิลนั้น จ็อบส์และเพื่อนมี “ความเชื่อ” ว่าถ้าเขาสามารถผลิตคอมพิวเตอร์ที่มีศักยภาพสูงออกมาให้คนใช้ได้ ผู้ใช้คอมฯของเขาซึ่งแม้จะเป็นเพียงคนธรรมดาก็จะมีศักยภาพหรือพลังพิเศษเอาไว้ต่อสู้กับบริษัทฯยักษ์ใหญ่ทั้งหลายได้ คนธรรมดาคนหนึ่งจะกลายเป็นคนพิเศษที่มีศักยภาพทำอะไรก็ได้ เหมือนกับเขาเป็นเจ้าของบริษัทขนาดใหญ่ มีเงินทุนทำอะไรได้มากมาย จ็อบส์กำลังปลดปล่อยศักยภาพในตัวของคนธรรมดาให้กลายเป็นคนพิเศษขึ้นมาได้
จนมาถึงวันนี้ แอปเปิลที่ทิม คุก ซีอีโอคนปัจจุบันซึ่งเป็นผู้นำให้กลายเป็นบริษัทฯที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลก ก็ยังคงมี “ความเชื่อ” ดังกล่าว และยังคงสามารถถ่ายทอด “ความเชื่อ” ดังกล่าวให้ออกมาเป็นสินค้าคุณภาพสูง ทั้งคอมพิวเตอร์ #ไอโฟน ไอแพด ฯลฯ ได้อย่างยอดเยี่ยม จนผู้บริโภคมี “ความเชื่อ” เดียวกับบริษัทและกลายเป็นสาวกไปในที่สุด
ดังนั้นวันนี้ไม่ว่าแอปเปิลจะออกผลิตภัณฑ์อะไรใหม่ๆออกมา และไม่ว่าราคาของผลิตภัณฑ์นั้นจะแพงกว่าของคู่แข่งมากแค่ไหนก็ตาม แต่ก็จะมีสาวกแอปเปิลไปเข้าคิวรอซื้อข้ามวันข้ามคืน ยอมจ่ายเงินแพงๆ เพียงเพื่อจะบอกโลกว่าพวกเขามีความเชื่อเดียวกับสตีฟ จ็อบส์ ทิม คุกและแอปเปิล ที่สำคัญอย่าได้พยายามที่จะไปเปลี่ยนแปลง “ความเชื่อ” ดังกล่าวของสาวกแอปเปิล เป็นอันขาด เพราะเปลี่ยนได้ยากมาก
ถ้ามีโอกาส อาทิตย์หน้าอาจจะเขียนเรื่องการบริหาร “ความเชื่อ” ในการบริหารเศรษฐกิจของประเทศไทยให้อ่านกัน