Amazing AEC – คอรัปชั่นในไทยเลวร้ายถึงจุดต่ำสุด (จบ)

0
704

อาทิตย์ที่แล้วผมบอกว่าสถานการณ์คอรัปชั่นในไทยเลวร้ายถึงจุดต่ำสุดแล้วเพราะสาเหตุ 6 ประการคือ

1 ไทยยังไม่เคยมีผู้นำที่มือ สะอาดและมีความตั้งใจจริงที่จะปราบคอรัปชั่นให้ได้สำเร็จ

2 หน่วยงานปราบคอรัปชั่นในเมืองไทยนั้นยังยึดติดอยู่กับการ “ปราม” การคอรัปชั่นมากกว่าการ “ปราบ” ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ที่ผิดพลาดอย่างร้ายแรง อาทิตย์นี้มาว่ากันต่อ

3 หน่วยงานปราบคอรัปชั่นในไทย ทั้งหลายเช่น ป.ป.ช. คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ผู้ตรวจการแผ่นดิน ป.ป.ท. DSI ยังขาด ความโปร่งใสในการทำงานและยังไม่มีระบบที่เปิดโอกาสให้หน่วยงานอื่น สื่อมวลชนและประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลและเข้าไป ตรวจสอบการทำงานของหน่วยงานเหล่านั้นได้ว่าปราบคอรัปชั่นอย่างมีประสิทธิภาพและโปร่งใสหรือไม่ ยังขาดการตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจหรือ Check and Balance ดังนั้นถ้าหากหน่วยงานปราบคอรัปชั่นเหล่านี้ทำสิ่งที่ไม่ถูกต้องเสียเอง ก็จะไม่มีใครสามารถเข้าไปตรวจสอบได้ซึ่งเรื่องนี้เป็นอันตรายอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในช่วงหลังๆที่หน่วยงานปราบคอรัปชั่นทั้งหลายมีท่าทีชวนให้สงสัย ถึงความเป็นองค์กรที่ดีมีจริยธรรมและโปร่งใสมากขึ้นเรื่อยๆ

การปราบคอรัปชั่นในอินโดนีเซียซึ่งปัจจุบันทำคะแนนดัชนีภาพลักษณ์คอรัปชั่นได้ 40 คะแนนแซงไทยไปได้สองปีแล้วนั้น ทุกหน่วยงานถูกตรวจสอบได้หมดไม่มีข้อยกเว้น ยกตัวอย่างการจัดการเลือกตั้งในอินโดนีเซียนั้นมี Check and Balance อย่างดีโดย กกต.(KPU) มีหน้าที่เพียงจัดการเลือกตั้งให้เรียบร้อยเท่านั้น หากเกิดข้อสงสัยเรื่องความโปร่งใสหรือเกิดความขัดแย้งระหว่างผู้สมัครกับกกต. ก็จะมีคณะกรรมการสอดส่องดูแลการเลือกตั้งระดับชาติ (Bawaslu) ทำหน้าที่วินิจฉัยและมีอำนาจสั่งการให้กกต.จัดการเลือก ตั้งใหม่ ส่วนการให้ใบเหลืองใบแดงก็เป็นหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ หากการตัดสินให้ใบเหลืองใบแดงไม่โปร่งใส ป.ป.ช. (KPK) จะเป็นคนจัดการกับศาลรัฐธรรมนูญ แต่หาก ป.ป.ช.ทำงานไม่โปร่งใส สื่อมวลชนจะเป็นคนจัดการตรวจสอบป.ป.ช. และหากสื่อมวลชนทำงานไม่โปร่งใส คณะกรรมการกำกับดูแลสื่อมวลชนก็จะทำหน้าที่ตรวจสอบสื่อมวลชนอีกทีหนึ่ง

เมื่อการจัดการเลือกตั้งโปร่งใสก็เลยได้ผู้นำที่ดี เมื่อระบบปราบคอรัปชั่นได้ผู้นำที่ดีและมี Check and Balance อินโดนีเซียก็เลยปราบคอรัปชั่นได้ดีกว่าไทย

4 ในอดีตสื่อมวลชนไทยยังมีจริยธรรมและยังมีความกล้าในการที่จะต่อสู้กับการคอรัปชั่นกันอยู่บ้าง แต่ในปัจจุบันนอกจาก สื่อมวลชนจะไม่มีความกล้าหาญที่จะแฉการคอรัปชั่นเหมือนในอดีตแล้ว สื่อมวลชนบางส่วนกลับฉวยโอกาสใช้ความเป็นสื่อไป แสวงหาผลประโยชน์ที่มิควรจะได้จากนักการเมือง ภาครัฐ รัฐวิสาหกิจและเอกชนอีกด้วย เช่นมีการขอผลประโยชน์ผ่านการจัดสัมมนาและกิจกรรมพิเศษ การเข้าไปเป็นที่ปรึกษานักการเมืองและรัฐมนตรีก็ทำกันอย่างเปิดเผย ปัจจุบันนักจัดรายการทีวี วิทยุ คอลัมนิสต์จำนวนไม่น้อยต่างใช้พื้นที่สื่อที่ตัวเองมีเชียร์ฝ่ายตัวเองและด่าฝ่ายตรงกันข้ามแบบเต็มที่อย่างน่าตกใจ ไร้จริยธรรมและไม่เกรงกลัวการถูกตรวจสอบ

5 ภาคเอกชนไทยปัจจุบันมีความ “ด้านได้อายอด” มากยิ่งขึ้นจนเห็นได้ชัด ขาดทั้งจริยธรรมและความละอายใจกระโดดเข้า มาร่วมคอรัปชั่นกับรัฐบาลและภาครัฐเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ทางธุรกิจกันอย่างครึกโครมมากกว่าในอดีตเป็นอย่างมาก การประมูลสัมปทานต่างๆ การก่อสร้างขนาดใหญ่ การจัดซื้อจัดจ้างรายการสำคัญๆของภาครัฐล้วนมีกลุ่มทุนขนาดใหญ่อยู่เบื้องหลัง มูลค่าทรัพย์สินของมหาเศรษฐี 40 คนแรกของประเทศซึ่งเพิ่มขึ้นเกือบ 8 เท่าในช่วง 12 ปีที่ผ่านมา จนทำให้คนเพียง 40 คนครอบ ครองทรัพย์สินเป็นสัดส่วนสูงถึง 32 เปอร์เซ็นต์ของทรัพย์สินทั้งประเทศ เป็นภาพสะท้อนที่น่าตกใจของความสัมพันธ์อันแนบแน่นระหว่างภาครัฐและกลุ่มทุน รวมถึงสะท้อนถึงความล้มเหลวในการปราบคอรัปชั่นของไทยอีกด้วย

6 คนไทยส่วนมากยังยอมรับเรื่องการคอรัปชั่นว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตไปเสียแล้ว ต่างจากประเทศที่ปราบ คอรัปชั่นได้สำเร็จซึ่งคนของเขาจะไม่ทำผิดและจะไม่ยอมทนต่อการคอรัปชั่น แต่คนไทยส่วนมากยัง “ปากว่าตาขยิบ” ปากบอกไม่ยอมรับไม่ยอมทนและกลับทำตัวเป็นส่วนหนึ่งของการคอรัปชั่นเสียเอง แม่ค้าหาบเร่แผงลอย วินมอเตอร์ไซค์ แท็กซี่ คนเมาแล้วขับ คนทำผิดกฎจราจร ล้วนแต่กล้าทำผิดกฎหมายเพราะรู้ว่าถ้าทำผิดแล้วถูกจับได้ พวกเขาก็จะสามารถยัดเงินให้เจ้าหน้าที่เพื่อจะได้รอดจากความผิดเหล่านั้นได้ สังคมไทยวันนี้มาถึงจุดที่ว่า คนทำผิดไม่อายและกล้าที่จะยัดเงินเพื่อให้พ้นผิดและเจ้าหน้าที่ก็กล้ารับเงินและไม่อายที่จะปล่อยคนผิดไปเช่นกัน

[smartslider3 slider="9"]