Amazing AEC – คอรัปชั่นใน AEC

0
575

องค์กรความโปร่งใสนานาชาติ ประกาศดัชนีภาพลักษณ์คอรัปชั่นประจำปีพ.ศ. 2562 คราวนี้มีการวัด 180 ประเทศและเขตเศรษฐกิจทั่วโลก ดัชนีภาพลักษณ์คอรัปชั่นของไทยได้คะแนนเท่าเดิมคือ 36 คะแนนจากคะแนนเต็ม 100 แต่อันดับแย่ลงจากอันดับที่ 99 เป็นอันดับที่ 101

หากดูกันเพียงผิวเผินก็คงจะไม่ต้องตกใจอะไรกันมากมายเพราะได้คะแนนเท่าเดิม แต่ถ้าหากหันไปดูคะแนนของเพื่อนบ้าน AEC ให้ดีเราก็จะพบความจริงที่น่าตกใจอย่างมาก เพราะเวียดนามซึ่งเคยได้ 33 คะแนนอันดับที่ 117 เมื่อปีที่แล้ว มาปีนี้แซงประเทศไทยไปได้แล้วโดยได้ 37 คะแนน เป็นอันดับที่ 96

อินโดนีเซีย ยังคงทำได้ดีต่อเนื่องเรื่องการปราบคอรัปชั่น ปีล่าสุดได้ 40 คะแนนเป็นอันดับที่ 85 ดีขึ้นต่อเนื่องจากปีพ.ศ. 2561 ที่ได้ 38 คะแนน อันดับที่ 89 แซงไทยห่างออกไปอีก เรื่องนี้คงต้องยกเครดิตให้กับประธานาธิบดีมือสะอาด โจโค วิโดโด้ เพราะในปีพ.ศ. 2557 ที่เขาเป็นประธานาธิบดีปีแรกนั้น อินโดนีเซียได้เพียง 34 คะแนนเป็นอันดับที่ 107 ยังแพ้ไทยซึ่งได้ 38 คะแนน อันดับที่ 85

ในคอลัมน์นี้เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีที่แล้ว ผมเขียนเอาไว้ว่า “มาเลเซียซึ่งแม้วิกฤติการคอรัปชั่น 1 MDB จะจบลงไปพร้อมๆกับ วิกฤติทางการเมืองและการกลับมาของอดีตนายกรัฐมนตรี ดร.มหาเธร์ แต่ก็ยังเร็วเกินไปกว่าที่คะแนนดัชนีภาพลักษณ์คอรัปชั่น และอันดับจะปรับตัวดีขึ้น ปีล่าสุด (2561)ได้ 47 คะแนน อันดับที่ 61 ดีเป็นอันดับ 3 ของ AEC ต้องจับตาดูว่ามาเลเซียจะสามารถ กลับไปถึงจุดที่เคยได้คะแนนมากกว่า 50 คะแนนเหมือนในอดีต ที่ดร.มหาเธร์เคยทำได้หรือไม่” ผลปรากฎว่า ดร.มหาเธร์ทำได้ครับ เพราะปี 2562 มาเลเซียได้ 53 คะแนนเป็นอันดับที่ 51 คะแนนทะลุ 50 คะแนนไปได้แล้ว ตอกย้ำสิ่งที่ทั้งโลกเขาบอกตรงกันอีกครั้งว่าการปราบคอรัปชั่นจะสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อ “ผู้นำประเทศต้องมีความตั้งใจจริงที่จะปราบคอรัปชั่นหรือมี Political Will นั่นเอง “

สิงคโปร์ก็เป็นประเทศตัวอย่างอีกหนึ่งประเทศที่ผู้นำมี Political Will ที่จะปราบคอรัปชั่นและปราบสำเร็จถึงแม้จะเคยมีการคอรัปชั่นหนักหนาสาหัสเหมือนประเทศไทย และปีนี้สิงคโปร์ก็ยังสามารถรักษาแชมป์ประเทศโปร่งใสที่สุดใน AEC และเอเชียได้ 85 คะแนนเท่าเดิมกับปีที่แล้ว แต่อันดับความโปร่งใสร่วงลงมาหนึ่งอันดับอยู่ที่ 4 ของโลกร่วมกับสวีเดนและสวิตเซอร์แลนด์ ตามหลังที่หนึ่งของโลกคือเดนมาร์กและนิวซีแลนด์ซึ่งโปร่งใสที่สุดในโลกร่วมกันที่ 87 คะแนน โดยมีฟินแลนด์โปร่งใสเป็นลำดับที่สามของโลกด้วยคะแนน 86 คะแนน

บรูไนได้ 60 คะแนน อันดับที่ 35 ลดลงจากที่เคยได้ 63 คะแนนและอันดับที่ 31 เมื่อปีที่แล้ว แต่ถือว่ายังสามารถรักษาตำแหน่งรองแชมป์ความโปร่งใสใน AEC เอาไว้ได้เช่นเดิม

ฟิลิปปินส์ซึ่งปีที่แล้วคะแนนและอันดับเท่ากับประเทศไทย แต่ปี 2562 นี้คะแนนลดลงเหลือ 34 คะแนน อันดับร่วงลงไปอยู่ที่ 113 ซึ่งน่าจะเป็นผลมาจากการที่ศาลฟิลิปปินส์ตัดสินคดีคอรัปชั่นอีเมลด้า มาร์กอส แบบปล่อยให้ค่อยๆหลุดไปทีละคดีสองคดีแบบค้านความรู้สึกประชาชน

ส่วนสปป.ลาวและเมียนมาได้ 29 คะแนนเท่ากันและเท่าเดิมทั้งสองประเทศ เป็นอันดับที่ 130 ของโลกดีขึ้นสองอันดับทั้งสองประเทศเช่นกัน แม้คะแนนจะดูไม่ค่อยสูง แต่เมื่อดูคะแนนเก่าในปีพ.ศ. 2555 เมียนมาซึ่งเคยได้เพียงแค่ 15 คะแนน อันดับที่ 172 เกือบบ๊วยในโลก และคะแนนเก่าของสปป.ลาวที่เคยได้แค่ 21 คะแนน อันดับที่ 160 ก็ต้องถือว่าทั้งสองประเทศทำได้ดีและมาได้ไกลมากแล้ว ตรงกันข้ามกับกัมพูชาที่ปีนี้ได้คะแนนเท่าเดิมคือ 20 คะแนน อันดับร่วงลงหนึ่งอันดับไปอยู่อันดับที่ 162 ทั้งๆที่กัมพูชาในอดีตเคยได้คะแนนสูงกว่าทั้งเมียนมาและสปป.ลาว

ประเทศในกลุ่มอาเซียนบวกหกที่ทำผลงานได้ดีที่สุดก็คือนิวซีแลนด์ที่ได้แชมป์โลก 87 คะแนน ตามมาด้วยออสเตรเลียที่ได้ 77 คะแนนอันดับที่ 12 ญี่ปุ่นได้ 73 คะแนนได้อันดับที่ 20 เกาหลีใต้ได้ 59 คะแนนดีขึ้นสองคะแนนได้อันดับที่ 39 ส่วนจีนได้คะแนนเพิ่มขึ้นอีกสองคะแนนมาเท่ากับอินเดียซึ่งได้เท่าเดิมคือ 41 คะแนนได้อันดับที่ 80 เช่นเดียวกับอินโดนีเซีย

[smartslider3 slider="9"]