Amazing AEC – คอร์รัปชั่นใน AEC (2)

0
642


อาทิตย์ที่แล้วผมไล่เรียงให้เห็นคะแนนดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชั่นของ CLMV ไปแล้ว อาทิตย์นี้เรามาดูของประเทศใน AEC ที่เหลือกันครับ

เริ่มที่สิงคโปร์ประเทศที่สะอาดและโปร่งใสที่สุดของ AEC ปีล่าสุด พ.ศ. 2560 สิงคโปร์ได้คะแนน 84 คะแนนได้อันดับที่ 6 ของโลกตามหลัง 5 ประเทศคือ นิวซีแลนด์ 89 คะแนนอันดับที่ 1 เดนมาร์ก 88 คะแนนอันดับที่ 2 ฟินแลนด์ นอร์เวย์ และสวิสเซอร์แลนด์ ซึ่งมีคะแนนเท่ากันที่ 85 คะแนนและได้อันดับ 3 ร่วมกัน เมื่อดูย้อนหลังไป 6 ปี จะพบว่าสิงคโปร์ โปร่งใสติดอันดับระหว่าง 5 ถึง 8 ไม่ต่ำกว่านั้น และเคยได้คะแนนสูงสุดที่ 87 ต่ำสุด 84 ความโปร่งใสไร้คอร์รัปชั่นของ สิงคโปร์นั้นต้องยกเครดิตให้ผู้นำประเทศซึ่งวางรากฐานไว้ดีตั้งแต่นายกฯ ลีกวนยู เพราะเขายืนเป็นกำแพงเหล็กให้ CPIB หน่วยงานปราบคอร์รัปชั่นของสิงคโปร์ยืนพิงและไล่จับคนโกงได้ทุกระดับไม่เว้นแม้กระทั่งรัฐมนตรีร่วมรัฐบาล นายกฯ คนต่อๆ มาก็ยังสามารถช่วยรักษาความแข็งแกร่งของ CPIB ไว้ได้จนกระทั่งสิงคโปร์ยังคงเป็นแชมป์ประเทศโปร่งใสของ AEC เอาไว้ได้มาโดยตลอด และเป็นหนึ่งในต้นแบบประเทศที่สามารถปราบคอร์รัปชั่นได้เพราะ “ผู้นำมีความตั้งใจจริง” ซึ่งไทยเรายังไม่เคยมีผู้นำที่มีความตั้งใจจริงเช่นนั้น

บรูไนก็ยังคงเป็นประเทศที่ได้คะแนนสูงเป็นอันดับ 2 ใน AEC มาอย่างต่อเนื่องโดยปีนี้ได้ 62 คะแนนอันดับที่ 32 ดีขึ้นมา โดยตลอด เพราะเมื่อ 6 ปีที่แล้วบรูไนเคยได้ 55 คะแนนอันดับที่ 46 ซึ่งการที่มีความโปร่งใสสูงเกิน 50 คะแนนนี้จะช่วยให้ บรูไนสามารถดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศได้ง่ายขึ้นเพื่อมารองรับวันที่น้ำมันและก๊าซธรรมชาติหมดประเทศในอีก 20 ปีเศษข้างหน้า

มาเลเซียเป็นประเทศที่ได้คะแนนสูงเป็นอันดับ 3 ของ AEC มาอย่างต่อเนื่องเช่นกัน โดยปีล่าสุดได้ 47 คะแนนอันดับที่ 62 ของโลกต่ำกว่ามาตรฐานที่มาเลเซียเคยทำได้สูงกว่า 50 คะแนนเช่นในอดีต โดยเฉพาะในช่วงที่ดร.มหาเธร์เป็นนายกฯและ เอาจริงเอาจังเรื่องการปราบคอร์รัปชั่น แต่เมื่อนายกฯคนปัจจุบัน นาจิ๊บ ราซัคเข้ามารับตำแหน่งและมีเหตุอื้อฉาวเรื่องการ คอร์รัปชั่นของกองทุน 1MDB หลายหมื่นล้านบาทและทุกหลักฐานต่างชี้ชัดไปที่นายกฯนาจิ๊บว่า เป็นคนสำคัญในการกระทำดังกล่าว แต่ด้วยอำนาจทางการเมืองที่นายกฯนาจิ๊บยังมีอยู่เต็มมือจนไม่มีใครทำอะไรเขาได้ แม้กระทั่งดร.มหาเธร์ อดีตนายกฯซึ่งออกมาเคลื่อนไหวด้วยก็ยังไม่สามารถขับไล่นายกฯนาจิ๊บให้พ้นจากตำแหน่งได้ มาเลเซียคงจะต้องรอจน กระทั่งถึงการเลือกตั้งครั้งใหม่ช่วงเดือนสิงหาคมปีนี้ว่าทางอัมโนจะส่งใครมาเป็นนายกฯแทนนายกฯนาจิ๊บ และนายกฯ คนใหม่จะจัดการอย่างไรกับเรื่องการคอร์รัปชั่นของ 1 MDB จะปล่อยให้เรื่องค่อยๆ เงียบไปเองหรือจะจัดการกับนายกฯ นาจิ๊บ หรือการเมืองมาเลเซียจะพลิกให้ดร.มหาเธร์กลับมาเป็นนายกฯอีกสมัยเพื่อจัดการเรื่องนี้ให้มาเลเซียใสสะอาด

อินโดนีเซียซึ่งเมื่อเมื่อปีพ.ศ. 2555 ได้คะแนนเพียง 32 คะแนนต่ำกว่าไทย 5 คะแนนและได้อันดับที่ 118 ต่ำกว่าไทย 30 อันดับ พอมาถึงปีนี้อินโดนีเซียซึ่งจัดการเรื่องคอร์รัปชั่นได้ดีขึ้นและคะแนนสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องได้คะแนนเท่ากับไทย 37 คะแนนอันดับที่ 96 ความจริงอินโดนีเซียสามารถแซงไทยได้ตั้งแต่ปีที่แล้ว แต่โชคของไทยยังดีที่คะแนนของเขาคงที่ จากปีที่แล้วขณะที่ไทยเราได้คะแนนดีขึ้นปีนี้คะแนนสองประเทศเลยเท่ากัน องค์กรปราบคอร์รัปชั่นของอินโดนีเซีย KPK ที่มีชื่อแปลเป็นไทยได้อย่างน่าเกรงขามว่า “องค์กรถอนรากถอนโคนคอร์รัปชั่น” เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้คะแนนของ อินโดนีเซียดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผู้นำประเทศที่มือสะอาดและเอาจริงเอาจังเรื่องคอร์รัปชั่นเช่น โจโควี่ ก็เป็นอีกส่วนสำคัญ เรียกว่าเรื่องความโปร่งใสของประเทศมาทันเวลากับที่อินโดนีเซียกำลังโตวันโตคืนจนประเทศจะกระโดดจากประเทศที่มีอำนาจซื้อในระดับท็อป 20 ของโลกไปติดอันดับ 4 ของโลกในอีก 30 ปีเศษข้างหน้า ซึ่งในปีนั้นฟิลิปปินส์ เวียดนามและ มาเลเซียจะมีอำนาจซื้อแซงประเทศไทยกันถ้วนหน้า

ฟิลิปปินส์ซึ่งเคยได้เพียง 34 คะแนนในปีพ.ศ. 2555 และได้คะแนนสูงขึ้นเป็น 35 และ 38 คะแนนในอีกสองปีต่อมา ก่อนจะเริ่มมีคะแนนลดลงเหลือ 35 คะแนนตั้งแต่ปีพ.ศ. 2558 และลดลงเหลือ 34 คะแนนได้อันดับที่ 111 ในปีนี้ เหตุผลที่ คะแนนของฟิลิปปินส์ลดลงในช่วงหลังนี้ก็เพราะการลุย “วิสามัญ” ผู้ค้ายาของประธานาธิบดีดูเตอร์เต้ เพราะองค์กร ความโปร่งใสนานาชาติเขาถือว่าการไม่เคารพกระบวนการยุติธรรมนั้นทำให้ความโปร่งใสของประเทศลดลงนั่นเอง

[smartslider3 slider="9"]