พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกฯคนแรกที่ได้ให้คำขวัญวันเด็กเดียวซ้ำกันนานสามปีในช่วงปีพ.ศ. 2529-31 คือ “นิยมไทย มีวินัย ใช้ประหยัด ใจสัตย์ซื่อ ถือคุณธรรม” ก่อนที่พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณจะทำตามบ้างโดยใช้คำขวัญเดียวคือ “รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ใจสัตย์ซื่อ ถือคุณธรรม” สำหรับปีพ.ศ. 2532-33 ซึ่งเป็นสองปีแรกของการเข้ามาเป็นนายกฯ ก่อนที่จะเปลี่ยนคำขวัญเป็น “รู้หน้าที่ มีวินัย ใฝ่คุณธรรม นำชาติพัฒนา” ในปีพ.ศ. 2534
ซึ่งไม่ทราบว่าเป็นเหตุบังเอิญหรือตั้งใจที่มีคำว่า “ชาติพัฒนา” อยู่ในคำขวัญเพราะในปีต่อมา คุณสุวัจน์ ลิปตพัลลภก็ได้เปลี่ยนชื่อพรรคปวงชนชาวไทยไปเป็น “พรรคชาติพัฒนา” ซึ่งได้ชูพลเอกชาติชายเป็นต้นแบบของพรรคมาโดยตลอด
นายกฯชวน หลีกภัยก็เป็นอีกคนหนึ่งซึ่ง “ประหยัด” ตามพลเอกเปรมโดยได้ให้คำขวัญซ้ำกันถึงสามครั้งในรอบ 6 ปีคือใช้คำขวัญ “ยึดมั่นประชาธิปไตย ร่วมใจพัฒนา รักษาสิ่งแวดล้อม” สำหรับปีพ.ศ. 2536-7 ส่วนปีพ.ศ. 2538 เปลี่ยนส่วนหน้าเล็กน้อยเป็น “สืบสานวัฒนธรรมไทย ร่วมใจพัฒนา รักษาสิ่งแวดล้อม” ต่อมาสมัยที่สองซึ่งคุณชวนกลับมาเป็นนายกฯได้ใช้คำขวัญที่ว่า “ขยัน ประหยัด ซื่อสัตย์ มีวินัย” สำหรับปีพ.ศ. 2541-2 และ “มีวินัย ใฝ่เรียนรู้ คู่คุณธรรม นำประชาธิปไตย” สำหรับปีพ.ศ. 2543-4 โดยคำขวัญของนายกฯชวนนั้นมีการใช้คำใหม่อยู่สามคำคือ “ประชาธิปไตย พัฒนาและสิ่งแวดล้อม” ซึ่งน่าแปลกใจมากที่คำว่า “ประชาธิปไตย” นั้นยังไม่เคยถูกใช้ในคำขวัญวันเด็กมาก่อนเลย ทั้งๆที่ประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยมาก่อนที่จะเริ่มจัดงานวันเด็กเสียอีก
คำว่า “ยาเสพติด” นั้นปรากฏในคำขวัญวันเด็กครั้งแรกในสมัยนายกฯ บรรหาร ศิลปะอาชา ในปีพ.ศ. 2539 “มุ่งหาความรู้ เชิดชูความเป็นไทย หลีกไกลยาเสพติด” ก่อนที่พลเอกชวลิต ยงใจยุทธจะมาใช้ด้วยในปีพ.ศ. 2540 ว่า “รู้คุณค่าวัฒนธรรมไทย ตั้งใจใฝ่ศึกษา ไม่พึ่งพายาเสพติด” ทั้งนี้ในปีพ.ศ. 2539 ที่นายกฯบรรหารได้ใส่คำว่า “ยาเสพติด” ไว้ในคำขวัญนั้นเป็นช่วงที่ไทยกำลังเผชิญกับปัญหายาเสพติดอย่างหนัก และเป็นปีเดียวกับที่นายกฯบรรหารได้เปลี่ยนชื่อ “ยาม้า” ไปเป็น “ยาบ้า”
นายกฯทักษิณ ชินวัตรที่ชอบ “คิดนอกกรอบ” นั้นให้คำขวัญที่เขียนไม่เน้นการมีสัมผัสเสียงและสะท้อนความเป็นตัวตนของคุณทักษิณคือเน้นเรื่องการ “เรียนรู้ตลอดชีวิต คิด อ่านและกล้า” ซึ่งไม่เคยมีในคำขวัญมาก่อน เช่นคำขวัญของปีพ.ศ. 2546 “เรียนรู้ตลอดชีวิต คิดอย่างสร้างสรรค์ ก้าวทันเทคโนโลยี” และคำขวัญของปีพ.ศ. 2548 “เด็กรุ่นใหม่ต้องขยันอ่าน ขยันเรียน กล้าคิด กล้าพูด”
ในปีพ.ศ. 2550 ซึ่งพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์เป็นนายกฯ ได้ให้คำขวัญที่มีคำว่า “พอเพียง” เป็นครั้งแรกคือ “มีคุณธรรมนำใจ ใช้ชีวิตพอเพียง หลีกเลี่ยงอบายมุข” ขณะที่นายกฯอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้ใช้คำใหม่ที่ไม่ซ้ำใคร คือคำว่า “จิต” มีคำว่าทั้งจิตบริสุทธิ์และจิตสาธารณะ” และเน้นเรื่องการ “คิด” เหมือนนายกฯทักษิณ เช่นคำขวัญปีพ.ศ. 2552 “ฉลาดคิด จิตบริสุทธิ์ จุดประกายฝัน ผูกพันรักสามัคคี” และคำขวัญปีพ.ศ. 2554 ที่ว่า “รอบคอบ รู้คิด มีจิตสาธารณะ”
นายกฯยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้เริ่มใช้คำว่า “ปัญญา” ซึ่งน่าแปลกอีกเช่นกันที่ยังไม่เคยมีนายกฯคนไหนใช้มาก่อน โดยได้ให้คำขวัญของปีพ.ศ. 2555 ว่า “สามัคคี มีความรู้ คู่ปัญญา คงรักษาความเป็นไทย ใส่ใจเทคโนโลยี” ก่อนที่จะพาเด็กไทยไปอาเซียนด้วยการใช้คำว่า “อาเซียน” ในคำขวัญปีพ.ศ. 2556 ที่ว่า“รักษาวินัย ใฝ่ความรู้ เพิ่มพูนปัญญา นำพาไทยสู่อาเซียน” ถือเป็นปีแรกที่คำขวัญวันเด็กไทยเริ่มก้าวไกลไปสู่ภาคต่างประเทศและเกาะติดกระแสอาเซียนที่ช่วงนั้นกำลังมาแรง ก่อนจะให้คำขวัญสุดท้ายในปีพ.ศ. 2557 ว่า “กตัญญู รู้หน้าที่ เป็นเด็กดี มีวินัย สร้างไทยให้มั่นคง”
แม้ว่าในประเทศเพื่อนบ้านและประเทศอื่นๆ จะจัดงานวันเด็กเหมือนกับเรา แต่เท่าที่ได้พยายามตรวจสอบดูกลับไม่พบว่ามีประเทศไหนที่ให้คำขวัญวันเด็กทุกปีเหมือนกับไทยเราเลย