Amazing AEC – จุดอ่อนแผนแม่บทยุทธศาสตร์ชาติ (2)

0
533

อาทิตย์ที่แล้วผมชี้ให้เห็นว่าในแผนแม่บทยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็นอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคตนั้นมีจุดอ่อนด้าน ตัวชี้วัดและค่าเป้าหมาย เกือบทุกอุตสาหกรรมในหมวดนี้โดยเฉพาะเป้าหมายที่ไทยจะเป็นศูนย์กลางการซ่อมบำรุงอากาศ ยานในภูมิภาคที่ตั้งค่าเป้าหมายคือส่วนแบ่งการตลาดไว้เพียงร้อยละ 1 ในสิบปีแรกและร้อยละ 4 เมื่อสิ้นสุดยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งต่ำจนน่าไม่น่าจะเรียกว่าเราตั้งเป้าจะเป็นศูนย์กลางการซ่อมบำรุงฯ ได้ อาทิตย์นี้ผมจะมาชี้จุดอ่อนของแผนแม่บทฯ ประเด็นผู้ประกอบการและวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมยุคใหม่ หรือ SMEs

เป้าหมายใหญ่คือ SMEs มีบทบาทต่อระบบเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น โดยมีตัวชี้วัดคือสัดส่วน GDP ของ SMEs ต่อ GDP ของ ประเทศต้องเป็นร้อยละ 45 เมื่อถึงปีพ.ศ. 2565 แล้วเพิ่มขึ้นร้อยละ 5 ทุกๆ 5 ปี เมื่อถึงปีสุดท้ายของยุทธศาสตร์ชาติคือ พ.ศ. 2580 สัดส่วนดังกล่าวจะเป็นร้อยละ 60 เป้าหมายใหญ่ดูเหมือนจะดี แต่สัดส่วน GDP ของ SMEs ที่ต่ำขนาดนี้แสดงว่าที่ ผ่านมายังไม่มี รัฐบาลไหนสามารถช่วยยกระดับความสำคัญของ SMEs ขึ้นมาได้จริงๆเลย พอดูลึกไปถึงแผนย่อยด้านการ สร้างความเข้มแข็งผู้ประกอบการอัจฉริยะ ซึ่งมี 5 แนวทาง เช่น พัฒนาทักษะผู้ประกอบการโดยวางรากฐานการศึกษาทั้ง ในและนอกระบบให้กับเยาวชนรุ่นใหม่ให้มีทักษะและจิตวิญญาณในการประกอบธุรกิจ และ การสร้างและพัฒนาผู้ประกอบการในทุกระดับให้มีจิตวิญญาณผู้ประกอบการ ซึ่งเรื่องนี้สิงคโปร์ทำได้ดีมากๆ จึงน่าดีใจที่ไทยเราเริ่มให้ความสำคัญ เรื่องนี้บ้าง แต่พอดูเป้าหมายและตัวชี้วัดด้านนี้กลับไม่ได้เขียนเอาไว้เลย เช่นเดียวกับการส่งเสริมการรวมกลุ่มและสร้าง เครือข่ายของผู้ประกอบการให้เข้มแข็ง ก็ไม่มีเป้าหมายและตัวชี้วัดเช่นกัน

แผนย่อยการสร้างโอกาสและการเข้าถึงบริการทางการเงิน มี 6 แนวทาง อาทิ หาแหล่งเงินทุนและช่องทางการเข้าถึง แหล่งเงินทุนรูปแบบใหม่ๆ สร้างแพลตฟอร์มการเข้าถึงบริการทางการเงิน พัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินเพื่อตอบสนอง ความต้องการที่เหมาะสมกับกลุ่มผู้สูงอายุ เกษตรกร พัฒนาระบบการประเมินเครดิตโดยใช้ข้อมูลทั้งทางด้านการเงินและที่ไม่ใช่ด้านการเงิน ฯลฯ อ่านแล้วดูเหมือนเข้าใจปัญหาการเข้าถึงเงินทุนของ SMEs แต่พอดูลึกลงไปถึงเป้าหมายและตัวชี้วัด กลับเขียนไว้เสียกว้างและวัดแค่ 2 ตัวชี้วัดคือ อัตราการขยายตัวของสินเชื่อ SMEs และ อัตรามูลค่าการระดมทุนผ่าน ตลาดทุน ซึ่งตัวชี้วัดแค่สองตัวนี้ไม่สามารถสะท้อนความสำเร็จของทั้ง 6 แนวทางได้อย่างแน่นอน

แผนย่อยการสร้างโอกาสเข้าถึงตลาด ซึ่งเน้นไปที่การสนับสนุนผู้ประกอบการให้มีอัตลักษณ์และตราสินค้าที่เด่นชัดให้ ความสำคัญกับการผลิตโดยใช้ตลาดนำโดยเฉพาะตลาดที่มีมูลค่าสูงๆซึ่งเป็นเรื่องที่ดีมาก เพราะหลายประเทศโดยเฉพาะญี่ปุ่นที่สามารถขายของได้ราคาแพงๆนั้นก็เพราะสินค้าของเขามีอัตลักษณ์และตราสินค้าที่เด่นชัด แต่ก็เหมือนเดิมคือแผนแม่บทฯ มีแนวทางแต่ไม่มีเป้าหมายและตัวชี้วัดด้านการสร้างอัตลักษณ์และตราสินค้า จึงไม่รู้ว่าเรื่องนี้เป็นหน้าที่ของใคร และจะวัดผลเรื่องสำคัญเรื่องนี้อย่างไร?

เรื่องส่งเสริมการขยายช่องทางการตลาดผ่านการใช้สื่อแบบดั้งเดิมและอินเทอร์เน็ต สำหรับ SMEs ทุกระดับรวมถึงเกษตรกรและวิสาหกิจชุมชนซึ่งเป็นเรื่องที่ดีที่เขียนเอาไว้ แต่ก็เช่นเดิมคือ พอถึงเป้าหมายและตัวชี้วัดกลับดูแค่การขยายตัวของมูลค่าค้าขายบนอินเทอร์เน็ตของ SMEs โดยไม่ได้แบ่งว่าเป็น SMEs ประเภทไหน เกษตรกร หรือวิสาหกิจชุมชน ดังนั้นจึงเป็นไปได้สูงที่การขยายตัวอาจจะประสบความสำเร็จ แต่เกษตรกรและวิสาหกิจชุมชนอาจจะล้มเหลวกับการขายของบนอินเทอร์เน็ต ที่น่าประหลาดใจก็คือในประเด็นการสร้างโอกาสเข้าถึงตลาดของ SMEs แผนแม่บทฯ กลับไปเลือกเอาตัวชี้วัดระดับชาติ คืออันดับความสามารถในการแข่งขันด้านการค้าระหว่างประเทศโดย IMD มาใส่เอาไว้ด้วยดูแล้วชวนให้สงสัยว่าสามารถเอาดัชนีประเทศมาชี้วัดความสามารถของ SMEs ได้ด้วยหรือ? แผนย่อยการสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจ SMEs ซึ่งมีอยู่ 6 แนวทาง อ่านแล้วดูเหมือนจะดีเพราะเขียนไว้ ครอบคลุมกว้างขวาง ถ้าทำได้จะดีมากโดยเฉพาะการสร้างโอกาสให้ SMEs สามารถเข้าถึงตลาดจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ แต่พอถึงตัวชี้วัดกลับมีตัวชี้วัดเพียงตัวเดียวคือ อันดับนโยบายของภาครัฐที่มีต่อ SMEs ด้านการสนับสนุนและความสอดคล้องของนโยบาย ซึ่งไม่รู้ว่าเป็นดัชนีที่ใครจัดทำ

[smartslider3 slider="9"]