Amazing AEC – จุดอ่อนแผนแม่บทยุทธศาสตร์ชาติ (1)

0
665

อีกไม่เกินหนึ่งเดือน เราคงจะมีรัฐบาลใหม่เข้ามาบริหารประเทศ ซึ่งรัฐบาลที่แล้วได้วางยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีพร้อมแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. 2561 – 2580) ให้เป็นกรอบในการบริหารประเทศต่อไป ผมจึงขอเริ่มเขียนถึงเรื่องนี้ เพื่อจะได้เป็นการบ้านให้รัฐบาลใหม่เอาไปทำให้ดีขึ้น เพราะเมื่อ 7 ปีที่แล้ว ตอนที่ผมเริ่มเขียนบทความเตือนสังคมไทย ว่าน่าเป็นห่วงอย่างมากเพราะประเทศเราไม่มียุทธศาสตร์ หลายฝ่ายในสังคมไทยเกิดอาการงง ไม่เข้าใจและไม่ยอมรับว่าเป็นไปได้อย่างไรที่ไทยไม่มียุทธศาสตร์ จนกระทั่งปลายปีพ.ศ. 2558 เมื่ออดีตเลขาธิการสภาพัฒน์ฯให้สัมภาษณ์ หนังสือพิมพ์ว่ายุทธศาสตร์เป็นเรื่องใหม่ในการบริหารราชการแผ่นดินนั่น แหล่ะจึงเกิดกระแสยุทธศาสตร์ชาติขึ้นมา

เมื่อยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2561 ผมได้วิจารณ์ว่าไม่ใช่ยุทธศาสตร์ที่ดี ซึ่งหลายๆชาติใน AEC เขาเคยเขียนและเคยทำจนสำเร็จกันมาแล้ว แต่มันคือแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯของสภาพัฒน์ฉบับนาน 20 ปีนั่นเอง แต่ก็ได้ยินคำตอบกลับมาว่าให้รอดูแผนแม่บทฯ เสียก่อน เพราะรายละเอียดต่างๆจะอยู่ในนั้น เมื่อรัฐบาลประกาศแผนแม่บทฯออกมาในวันที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2562 ผมจึงรีบอ่านอย่างตื่นเต้นและอ่านอย่างละเอียด นี่คือข้อ สังเกตบางประการที่ผมได้พบและหวังว่ารัฐบาลใหม่จะรีบแก้ไขโดยเร่งด่วน

เมื่อยุทธศาสตร์ชาติเขียนเอาไว้กว้าง ไม่โฟกัส ทำให้ทิศทางประเทศในอนาคตไม่ชัด แผนแม่บทฯ ก็เลยกว้างตามไปด้วย รัฐบาลใหม่ควรจะเลือกโฟกัสและเรียงลำดับความสำคัญ เพราะทุกประเทศต่างมีทรัพยากร อาทิ เงินทุน บุคคลากร เวลา เทคโนโลยี ที่จำกัด แม้ว่าไทยจะมีจุดอ่อนค่อนข้างมาก นั่นก็เพราะเราบริหารประเทศแบบไร้ยุทธศาสตร์มานานนั่นเอง รัฐบาลใหม่สามารถที่จะเลือกเขียนแผนแม่บทฯใหม่ให้โฟกัสมากยิ่งขึ้น และต้องทำโดยทันทีทำเป็นอย่างแรก

แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็นอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต ซึ่งมีอยู่ 5 อุตสาหกรรม คืออุตสาหกรรม ชีวภาพ อุตสาหกรรมและบริการการแพทย์ครบวงจร อุตสาหกรรมและบริการดิจิทัล ข้อมูลและปัญญาประดิษฐ์ อุตสาหกรรมและบริการขนส่งและโลจิสติก อุตสาหกรรมความมั่นคงของประเทศ ซึ่งอุตสาหกรรมทั้ง 5 นี้เป็นส่วนหนึ่ง ของยุทธศาสตร์ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน

เป้าหมายและตัวชี้วัดของของหลายๆอุตสาหกรรม เขียนไว้แค่กว้างๆ เช่นอุตสาหกรรมชีวภาพ มีเป้าหมายให้มีการขยายตัวขึ้น ตัวชี้วัดคืออัตราการขยายตัวของอุตสาหกรรมชีวภาพ โดยมีค่าเป้าหมายขยายตัวร้อยละ 10 ในทุกๆ 5 ปีของการใช้ แผน ขณะที่อุตสาหกรรมและบริการทางการแพทย์และอุตสาหกรรมและบริการดิจิทัลฯ มีค่าเป้าหมายขยายตัวร้อยละ 5 ในทุกๆช่วง 5 ปี เป้าหมายก็กว้างเกินไป ค่าเป้าหมายก็แสนจะธรรมดาขยายตัวร้อยละ 5 ร้อยละ 10 ไม่ต้องเสียเวลามานั่ง เขียนยุทธศาสตร์ชาติและแผนแม่บทฯ อุตสาหกรรมเหล่านี้ก็คงจะเติบโตร้อยละ 5 ร้อยละ 10 กันได้เองอยู่แล้ว

แผนย่อยอุตสาหกรรมต่อเนื่องจากการพัฒนาระบบคมนาคม ยิ่งน่าตกใจเพราะมีระบุแนวทางจะทำอยู่ 4 ด้านคือผลักดัน การเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมยานยนต์ทั้งระบบไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้าอัจฉริยะ พลังงานไฮโดรเจน หรือพลังงานทางเลือกอื่นๆ เขียนแนวทางไว้กว้างมากแต่ไม่มีเป้าหมายไม่มีตัวชี้วัดไม่มีอะไรเลย เหมือนกับแนวทางการเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการสายการบินด้านการขนส่งผู้โดยสารและสินค้าและการส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมระบบราง สรุปแล้วแผนแม่บทฯการพัฒนาระบบคมนาคม 3 ใน 5 ด้านไม่มีเป้าหมาย ไม่มีตัวชี้วัด น่าตกใจไหมครับ

ส่วนเป้าหมายจะเป็นศูนย์กลางการซ่อมบำรุงอากาศยานในภูมิภาคโดยเฉพาะอากาศยานรุ่นใหม่ มีตัวชี้วัดคือส่วนแบ่งการ ตลาดของจำนวนอากาศยานที่เข้าซ่อมในภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก มีค่าเป้าหมาย 10 ปีแรก ไทยมีส่วนแบ่งการตลาดร้อยละ 1 ผมพิมพ์ไม่ผิดท่านอ่านไม่ผิดหรอกครับ ไทยเราตั้งเป้าจะเป็นศูนย์กลางฯที่มีส่วนแบ่งร้อยละ 1 เมื่อสิ้นสุดยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ไทยเราก็จะกลายเป็นศูนย์กลางซ่อมบำรุงอากาศยานฯ ด้วยส่วนแบ่งการตลาดร้อยละ 4 ครับ ศูนย์กลางอย่างไร?

อุตสาหกรรมความมั่นคงของประเทศยิ่งน่าตกใจเพราะจะวัดกันที่อัตราการขยายตัวของอุตสากรรมนี้ แต่ 5 ปีแรก ตัวชี้ วัดยังจัดทำไม่เสร็จครับ ยังมีเรื่องน่าตกใจอีกมากในแผนแม่บทฯยุทธศาสตร์ชาติที่จะเอามาฝากจะได้แก้ไขกันถูกทาง

[smartslider3 slider="9"]